Thai / English

สหภาพแรงงาน คืออะไร ทำไมจึงต้องมีสหภาพแรงงาน ?

สหภาพแรงงาน คือ
          สหภาพแรงงาน คือ องค์กรที่จัดตั้งขึ้นโดยคนงาน เป็นอิสระจากอำนาจของรัฐบาล นายจ้าง และมีการบริหารตามระบอบประชาธิปไตยที่สมาชิกทุกคนมีส่วนร่วมในการกำหนดและควบคุมนโยบายต่างๆ

วัตถุประสงค์หลักของการจัดตั้งสหภาพแรงงาน มีดังนี้

  1. คุ้มครอง แสวงหาผลประโยชน์ของลูกจ้างทุกคนที่เป็นสมาชิกในเรื่องเงินเดือน ค่าจ้าง สวัสดิการ ความสะดวกสบายและความปลอดภัยในการทำงาน รวมไปถึงหลักประกันความมั่นคงตลอดทั้งชีวิตและอนาคตของครอบครัว
  1. มีสิทธิและส่วนร่วมในการบริหารกิจการร่วมกับนายจ้างในการปรับปรุงวิธีทำงานให้ดีขึ้น เพื่อคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นของคนงาน รวมไปถึงคุณภาพชีวิตที่ดีในด้านที่อยู่อาศัยในสังคมอย่างมีเกียรติมีศักดิ์ศรีแห่งความเป็นมนุษย์ ตั้งอยู่บนพื้นฐานของการสร้างความสัมพันธ์อันดีระหว่างนายจ้างและสหภาพแรงงาน โดยยึดหลักของความเป็นอิสระ และความเสมอภาคอย่างแท้จริง
  1. มีส่วนร่วมในการพัฒนาที่อยู่อาศัยและชุมชน ส่งเสริมให้ชุมชนจัดตั้งศูนย์เด็กเล็ก สนามเด็กเล่น สวัสดิการร้านค้าสหกรณ์ออมทรัพย์ พัฒนาที่อยู่อาศัยและสภาพแวดล้อม
  1. มีสิทธิและส่วนร่วมทางการเมืองทุกระดับตั้งแต่ระดับท้องถิ่นจนถึงระดับชาติ ทั้งเป็นผู้มีสิทธิไปใช้สิทธิเลือกตั้ง และเป็นผู้สมัครรับเลือกตั้งไปเป็นผู้แทนของผู้ใช้แรงงาน ในการตรากฎหมายต่างๆ เพื่อคุ้มครองสิทธิและให้ความเป็นธรรมแก่ผู้ใช้แรงงานทุกคน สหภาพแรงงานช่วยพัฒนาชุมชนในรูปกิจกรรมชุมชน

ลักษณะสำคัญของสหภาพแรงงาน

  1. สหภาพแรงงานคือ องค์กรทางชนชั้น สหภาพแรงงาน คือ องค์กรของคนงาน โดยคนงาน และเพื่อคนงาน
  1. สหภาพแรงงาน คือ องค์กรเพื่อการต่อสู้
  1. สหภาพแรงงาน คือ องค์กรที่ทำให้ความมุ่งหวังและความปรารถนาของชนชั้นกรรมาชีพเป็นความจริง หมายถึงว่า องค์กรสหภาพแรงงานจะทำงานเพื่อตอบสนองความมุ่งหวังและสิทธิประโยชน์ของคนงาน
  1. สหภาพแรงงาน คือ องค์กรมวลชน สหภาพแรงงานเป็นองค์กรของคนงานพื้นฐานและคนงานการผลิต คนงานเหล่านี้มีโอกาสที่จะถูกเอารัดเอาเปรียบจากนายจ้างมากที่สุด ซึ่งสหภาพแรงงานเป็นองค์กรที่รวมคนงานไว้มากที่สุดเท่าที่จะมากได้ โดยไม่คำนึงถึงความแตกต่างทางเพศ อายุ ภูมิลำเนา สังคมดั้งเดิม พื้นเพทางการศึกษา และศาสนา

หน้าที่ของสหภาพแรงงาน
          สหภาพแรงงานจะดำเนินการให้บรรลุวัตถุประสงค์ เพื่อความกินดีอยู่ดี ความมั่นคงและก้าวหน้าของคนงาน จำเป็นอย่างยิ่งที่สหภาพแรงงานจะต้องมีหน้าที่และดำเนินกิจกรรมตามหน้าที่อย่างเคร่งครัดเพื่อบรรลุวัตถุประสงค์

สหภาพแรงงานมีหน้าที่ ดังต่อไปนี้

  1. เป็นศูนย์รวมพลังความสามัคคีของคนงาน โดยพยายามประสานให้คนงานทุกคนเข้าร่วมเป็นสมาชิก และให้โอกาสสมาชิกทุกคนเข้ามามีส่วนร่วมในกิจกรรมของสหภาพแรงงานอย่างสม่ำเสมอ โดยมีการบริหารงานแบบประชาธิปไตยอย่างแท้จริง
  1. ให้คำปรึกษาหารือกับสมาชิกหรือคนงานทั่วไปที่ต้องการคำแนะนำ และให้ความช่วยเหลือสมาชิกอย่างจริงจัง ในเรื่องที่ไม่ได้รับความเป็นธรรม
  1. รับเรื่องร้องทุกข์เมื่อสมาชิกมาร้องเรียน กรณีไม่ได้รับความเป็นธรรมเกี่ยวกับการทำงาน เงื่อนไขการจ้างที่นายจ้างฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามข้อตกลง หรือกฎหมายแล้วแต่กรณี
  1. ทำหน้าที่เป็นตัวแทนลูกจ้างในสถานประกอบการในการเจรจาต่อรองกับฝ่ายนายจ้าง ตั้งแต่ระดับโรงงานถึงระดับชาติ กรณีเป็นกรรมการไตรภาคีระดับชาติ ต้องถือว่าเป็นตัวแทนของคนงานทุกคนที่ต้องทำหน้าที่ปกป้องคุ้มครองคนงานอย่างเต็มที่
  1. ร่วมกับสหภาพแรงงานต่างๆที่รวมตัวกันเป็นขบวนแรงงาน เพื่อเคลื่อนไหวผลักดันเรียกร้องต่อรัฐบาล ให้มีการเปลี่ยนแปลงกฎหมายที่เกี่ยวข้องด้านแรงงาน เพื่อคุ้มครองสิทธิของลูกจ้างเพิ่มขึ้น เช่น เพิ่มค่าจ้างขั้นต่ำ ผลักดันการประกันสังคม กองทุนประกันการว่างงาน ผลักดันกฎหมายสถาบันคุ้มครองสุขภาพ ความปลอดภัยและสิ่งแวดล้อมในสถานประกอบการ และกฎหมายแรงงานสัมพันธ์ให้อำนาจต่อรองกับสหภาพแรงงาน
  1. เข้าร่วมเป็นสมาชิกองค์การแรงงานระหว่างประเทศ เพื่อความสมานฉันท์กับขบวนการแรงงานทั่วโลก ภายใต้ปรัชญาความเชื่อที่ว่า คนงาน คือพี่น้องกัน เพื่อสร้างอำนาจต่อรองกับนายทุนระดับโลก ให้เปลี่ยนแปลงนโยบายเศรษฐกิจต่างๆขององค์การค้าโลก ธนาคารโลกที่ส่งผลกระทบต่อชีวิต ความมั่นคงในการทำงานของคนงานทั่วโลก
  1. สหภาพแรงงานต้องจัดให้มีการศึกษาเสริมทักษะ ความรู้ด้านอาชีพ ฝีมือแรงงาน และความรู้ทางด้านเศรษฐกิจ สังคม และการเมือง ตั้งแต่ระดับพื้นฐานจนถึงขั้นสูงสุด
  1. ส่งเสริมสนับสนุนให้สมาชิกมีบทบาทและส่วนร่วมทางการเมืองทั้งในระดับท้องถิ่นจนถึงระดับชาติ เพื่อให้มีตัวแทนขบวนการแรงงานในการบริหารประเทศและการตรากฎหมายต่างๆที่จะคุ้มครองสิทธิและผลประโยชน์ให้กับคนงานทุกคนอย่างยุติธรรม
  1. สร้างแรงงานสัมพันธ์ที่ดีระหว่างนายจ้างกับลูกจ้าง และระหว่างลูกจ้างด้วยกันบนพื้นฐานของความเสมอภาคและศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์

สหภาพแรงงาน ตามระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ มีสหภาพแรงงานอยู่เพียง 2 ประเภท คือ

  • สหภาพแรงงานที่จัดตั้งขึ้นในบริษัทเดียว หรือกิจการเดียว โดยสมาชิกเป็นลูกจ้างคนงานนายจ้างหรือสถานประกอบการเดียวกัน โดยที่สหภาพแรงงานประเภทนี้จะต้องมีลูกจ้างอย่างน้อย 10 คนที่ลงทะเบียนเข้าสังกัดเป็นสมาชิก
  • สหภาพแรงงานที่จัดตั้งตามสายอุตสาหกรรม โดยจะต้องมีสมาชิกอย่างน้อย 10 คนที่ทำงานในสายอุตสาหกรรมเดียวกัน ไม่ว่าจะเป็นลูกจ้างต่างบริษัทกัน หรือต่างสถานประกอบการ หรือต่างนายจ้างกันได้

          นอกจากนี้สหภาพแรงงานในบริษัทเดียวกัน หรือในกิจการเดียว อาจจำแนกได้เป็นสองระดับ ดังต่อไปนี้

  1. สหภาพแรงงานระดับพนักงานลูกจ้างธรรมดา คือ สหภาพแรงงานที่มีสมาชิกจากลูกจ้างชั้นธรรมดาที่ไม่มีอำนาจในการจ้าง การลดค่าจ้าง การเลิกจ้าง การให้บำเหน็จหรือการลงโทษ
  1. สหภาพแรงงานระดับผู้บังคับบัญชา คือ สหภาพแรงงานที่มีสมาชิกมาจากลูกจ้างที่มีอำนาจในการจ้าง การลดค่าจ้าง การเลิกจ้าง การให้บำเหน็จ หรือการลงโทษซึ่งลูกจ้างชั้นผู้บังคับบัญชาจะร่วมจัดตั้งหรือเป็นสมาชิกสหภาพแรงงานเดียวกับลูกจ้างธรรมดาไม่ได้

          สหพันธ์แรงงาน คือ องค์กรที่ประกอบด้วยองค์กรสมาชิกอย่างน้อยสององค์กรสหภาพแรงงาน และต้องขึ้นทะเบียนกับนายทะเบียนของกระทรวงฯ ในปัจจุบันมีสหภาพแรงงานที่ขึ้นทะเบียนอย่างเป็นทางการอยู่ 19 แห่ง แต่มีสหพันธ์แรงงานไม่ถึง 10 แห่งที่ดำเนินกิจกรรมด้านแรงงานอย่างแข็งขันจริงจัง

          สภาองค์การลูกจ้าง คือ องค์กรแรงงานระดับชาติ หรือเป็นศูนย์กิจกรรมแรงงานระดับชาติที่จดทะเบียนโดยถูกต้องตามกฎหมายกับทางราชการ โดยมีองค์กรสมาชิกไม่ต่ำกว่า 15 องค์กรซึ่งอาจเป็นสหภาพแรงงานหรือสหพันธ์ก็ได้ ในปัจจุบันมีสภาแรงงานที่จดทะเบียนอยู่ 9 แห่ง

          คณะกรรมการลูกจ้าง เป็นองค์กรที่ตั้งขึ้นโดยลูกจ้างด้วยความสมัครใจของตนเองในสถานที่ทำงานของตน เพื่อการหารือร่วมกันระหว่างนายจ้างและลูกจ้าง คณะกรรมการลูกจ้างใช้ระบบทวิภาคีที่จัดตั้งขึ้นในสถานประกอบการที่มีลูกจ้างไม่ต่ำว่า 50 คนในที่เดียวกัน

          กลุ่มสหภาพแรงงานย่านต่างๆ เป็นองค์กรซึ่งเกิดจากการรวมตัวกันของสหภาพแรงงานที่ทำการภายในพื้นที่เดียวกัน หรือใกล้เคียวกัน เป็นลักษณะการรวมตัวอย่างไม่เป็นทางการ อาจจะเป็นการจัดประชุมร่วมกัน หรือมีการจัดกิจกรรมการศึกษาร่วมกัน

ที่มา : แผ่นพับ “ทำไมต้องมีสหภาพแรงงาน” จัดทำโดย ศูนย์อเมริกันเพื่อแรงงานนานาชาติ และหนังสือ “ไดอารี่แรงงาน ปี 2546” จัดทำโดย มูลนิธิฟรีดริค เอแบร์ท(FES)