Thai / English

ข้อเรียกร้องของขบวนการแรงงานที่นำเสนอให้รัฐบาลดำเนินการอย่างเร่งด่วน เพื่อแก้ไขปัญหาของผู้ใช้แรงงานในสภาวะวิกฤตเศรษฐกิจ



14 .. 51
ประชาไท

ในวิกฤตเศรษฐกิจของระบบทุนนิยมโลกปัจจุบัน ผลกระทบที่เริ่มเห็นในประเทศไทยมาจากการที่ตลาดส่งออกสินค้าไทยหดตัวลง และบริษัทข้ามชาติที่สร้างโรงงานในไทย มีปัญหาทางด้านการเงิน จนมีการลดการลงทุน สองสิ่งนี้ บวกกับความไร้เสถียรภาพของระบบธนาคารทั่วโลก และบริษัทต่างชาติเริ่มขาดความเชื่อมั่นในระบอบประชาธิปไตยของไทยว่าจะเดินไปในทิศทางใด ทำให้คนงานไทยเริ่มทยอยถูกเลิกจ้างมากขึ้นอย่างต่อเนื่อง

1. ห้ามมิให้นายจ้างปิดงานหรือเลิกจ้างคนงาน และให้ทุกบริษัทต้องจัดทำแผนงานเพื่อรองรับและแก้ไขปัญหา ด้วยวิธีการอื่นแทนการเลิกจ้างคนงานโดยให้สหภาพแรงงานเข้าไปมีส่วนร่วมในการกำหนดนโยบายและจัดทำแผนงาน หรือให้รัฐเข้าแทรกแซง โดยการเข้าไปถือหุ้น และบริหารในสถานประกอบการ

2. เมื่อมีการเลิกจ้างพนักงานเกิดขึ้นโดยอ้างว่าบริษัทประสบภาวะวิกฤติ ขอให้รัฐเข้ามาตรวจสอบข้อเท็จจริงว่าเป็นไปตามที่บริษัทกล่าวอ้างหรือไม่ ถ้าไม่เป็นจริงให้นายจ้างรับลูกจ้างกลับเข้าทำงานโดยไม่มีเงื่อนไข และตัดสิทธิ์การส่งเสริมการลงทุนจาก BOI และถ้านายจ้างประสบปัญหาจริงรัฐต้องจัดให้ลูกจ้างได้รับสิทธิตามกฎหมายที่ลูกจ้างพึงมีสิทธิ์ได้รับตามกฎหมาย

3. สำนักงานประกันสังคมจ่ายเงินทดแทนกรณีว่างงานให้กับลูกจ้างที่ถูกเลิกจ้าง ทุกกรณีโดยไม่มีเงื่อนไขเป็นเวลาหนึ่งปี โดยหักเป็นสัดส่วนเท่าเดิมจากเงินเดือนที่รับจริงของลูกจ้าง และกรณีลูกจ้างใช้สิทธิเป็นผู้ประกันตนตามมาตรา 39 ในพระราชบัญญัติปี พ.ศ. 2533 ให้จ่ายเงินสมทบเฉพาะส่วนลูกจ้างเท่านั้น

4. ประเทศไทย ต้องก้าวไปสู่การเป็นประเทศรัฐสวัสดิการ ซึ่งรายได้ต้องมาจากการจัดเก็บภาษีอัตราก้าวหน้าในสัดส่วนที่เหมาะสม โดยผู้ที่ผู้มีรายได้มากต้องจ่ายมากส่วนผู้ที่มีรายได้น้อยต้องจ่ายน้อย เพิ่มการเก็บภาษีทางตรงกับคนรวยทุกคน เก็บภาษีมรดก ภาษีทรัพย์สิน ภาษีที่ดิน และเพิ่มกำลังซื้อของประชาชนโดยการลดภาษีมูลค่าเพิ่ม รวมถึงการปรับเพิ่มค่าจ้างขั้นต่ำเท่ากันทั่วประเทศ 350 บาทต่อวันเพื่อความเหมาะสมต่อค่าใช้จ่ายจริง

5. ลดค่าใช้จ่ายของภาครัฐโดยการตัดงบประมาณด้านการทหาร และจัดงบประมาณสำหรับแก้ไขปัญหาวิกฤติเศรษฐกิจโดยให้ขบวนการแรงงานเข้าไปมีส่วนร่วมตรวจสอบและวางแผนการใช้งบประมาณในการแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจ และให้รัฐจัดที่พักและอาหารในราคาถูกให้กับประชาชนทั่วไปในทุกพื้นที่

6. รัฐบาลต้องขยายการจ้างงานโดยการลงทุนใน Mega Project ที่ประชาชนส่วนใหญ่ได้รับผลประโยชน์และไม่สร้างผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและชุมชน เช่น การสร้างทางรถไฟคู่ขนาน หรือขยายการสร้างรถไฟฟ้าในการขนส่งสาธารณะในกรุงเทพฯ และตามหัวเมืองใหญ่ๆ เพื่อให้เกิดการจ้างงานเพิ่มขึ้น

7. รัฐบาลต้องยกเลิกกฎหมาย เรื่อง “การจ้างงานในระบบเหมาค่าแรง” เนื่องจากทำให้ผู้ใช้แรงงานขาดความมั่นคงในการประกอบอาชีพ และถูกเอาเปรียบจากนายจ้างประเภทกิจการเหมาค่าแรงโดยการละเมิดสิทธิ์ขั้นพื้นฐานตามกฎหมายแรงงานทุกรูปแบบ ทำให้บริษัทข้ามชาติที่เข้ามาลงทุนขาดความรับผิดชอบต่อสังคมและเป็นการละเมิดศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์

8. รัฐบาลต้องประกาศรับรองอนุสัญญา ILO ฉบับที่ 87 (เรื่อง สิทธิในการรวมตัวเป็นสหภาพ สหพันธ์ และสหกรณ์) และฉบับ 98 (เรื่องการเจรจาต่อรองร่วม)

9. ประชาชนต้องมีสิทธิ์ตรวจสอบและวิพากษ์วิจารณ์คำตัดสินของศาลตามหลักการมาตรฐานสากล

10. รัฐบาลต้องนำร่าง พ.ร.บ.สถาบันส่งเสริมความปลอดภัยอาชีวอนามัยและสิ่งแวดล้อมในการทำงาน พ.ศ. ............ (ฉบับบูรณาการที่ทุกฝ่ายมีส่วนร่วมร่างกฎหมาย) เพื่อให้คณะรัฐมนตรีเห็นชอบ และนำเข้าสู่การพิจารณาของสภาผู้แทนราษฎรโดยด่วน

***องค์กรร่วมในการนำเสนอข้อเรียกร้อง ***

กลุ่มสหภาพแรงงานภาคตะวันออก

กลุ่มสหภาพแรงงานย่านรังสิตและใกล้เคียง

กลุ่มสตรีสู่เสรีภาพ

ศูนย์การศึกษาแรงงาน

สหพันธ์แรงงาน ปิโตรเลียมและเคมีภัณฑ์ แห่งประเทศไทย

สหพันธ์แรงงาน กระดาษและการพิมพ์ แห่งประเทศไทย

โครงการรณรงค์เพื่อแรงงานไทย

หนังสือพิมพ์เลี้ยวซ้าย

กลุ่มประชาธิปไตยเพื่อรัฐสวัสดิการ

วันที่ 14 ธันวาคม 2551