Thai / English

‘ซัมซุง’ กับข้อหาใช้แรงงานเด็กในจีน (อีกแล้ว)



22 .. 57
ประชาไท

ในช่วงกลางเดือนกรกฎาคม 2014 ที่ผ่านมา องค์กรไชนาเลเบอร์วอชท์ (China Labor Watch) ซึ่งเป็นกลุ่มเอ็นจีโอที่ติดตามสถานการณ์ละเมิดสิทธิแรงงานในประเทศจีน ได้ออกมาเปิดเผยว่าบริษัทซินหยางอิเล็กทรอนิกส์ (Shinyang Electronics) บริษัทผู้ผลิตชิ้นส่วนอุปกรณ์ให้กับแบรนด์ซัมซุง (Samsung) ได้จ้างแรงงานอายุต่ำกว่า18 และ 16 ปี รวมทั้งยังมีการละเมิดกฎหมายหลายด้าน เช่น ไม่จ่ายค่าแรงล่วงเวลา ใช้ทำงานเกินเวลา ไม่มีประกันสังคม รวมทั้งยังไม่มีการฝึกอบรมแก่พนักงานอีกด้วย

โดยหลังจากข่าวได้เผยแพร่ออกไปทางซัมซุงได้ออกมาแถลงว่าได้ระงับการทำธุรกิจกับซินหยางเป็นการชั่วคราวเพราะพบหลักฐานว่าน่าจะมีการใช้แรงงานเด็กจริง นอกจากนี้ทางการจีนก็กำลังสอบสวนเรื่องนี้เช่นกัน และหากผลการสอบสวนยืนยันว่าโรงงานนี้จ้างแรงงานเด็กอย่างผิดกฎหมายจริง ซัมซุงก็จะยุติการทำธุรกิจกับซินหยางเป็นการถาวร

ทั้งนี้ซัมซุงยังย้ำว่าได้ตรวจสอบผู้ผลิตชิ้นส่วนอุปกรณ์ให้แก่บริษัทอย่างสม่ำเสมอ เพราะซัมซุงมีนโยบายไม่ใช้แรงงานเด็กอยุ่แล้ว ซึ่งโรงงานของซินหยางอิเล็กทรอนิกส์นี้ ซัมซุงระบุว่าได้ทำการตรวจสอบมาแล้วถึง 3 ครั้งตั้งแต่ปี 2013 แต่ก็ยังเกิดข้อกล่าวหาดังกล่าวขึ้น โดยซัมซุงจะเพิ่มการตรวจสอบเพื่อป้องกันไม่ให้เกิดเหตุการณ์เช่นนี้ขึ้นอีก

ส่วนไชนาเลเบอร์วอชท์ได้ระบุว่าระบบตรวจสอบของซัมซุงไร้ประสิทธิภาพ เพราะนอกจากจ้างแรงงานเด็กแล้ว โรงงานของซินหยางอิเล็กทรอนิกส์ ยังมีปัญหาเรื่องการละเมิดสิทธิของคนงานอื่นๆ เช่น การไม่จ่ายค่าแรงนอกเวลาทำงาน, ให้ทำงานนอกเวลามากเกินควร, ไม่มีประกันสังคม รวมทั้งไม่มีการการฝึกอบรมด้านความปลอดภัยในการทำงานให้กับพนักงานอีกด้วย

ข่าวคราวของซัมซุงที่เกี่ยวโยงกับปัญหาเรื่องการใช้แรงงานเด็กจากบริษัทผู้ผลิตชิ้นส่วนอุปกรณ์ในจีนนั้นมีมาตั้งแต่ปี ค.ศ. 2008 ที่เอ็นจีโอในยุโรปได้เปิดเผยสำรวจด้านความรับผิดชอบต่อสังคมของบริษัท (CSR) ของแบรนด์โทรศัพท์มือถือรายใหญ่ที่สุดของโลก 5 บริษัท ได้แก่ แอลจี (LG), โมโตโรลา (Motorola), โนเกีย (Nokia), ซัมซุง (Samsung), และโซนี่ อีริคสัน (Sony Ericsson) ระหว่างปี ค.ศ.2006 - 2007 ซึ่งเป็นการสำรวจชีวิตคนงานในจีน, อินเดีย, ไทย และฟิลิปปินส์ พบว่าคนงานที่ทำงานให้กับบริษัทผู้ผลิตชิ้นส่วนอุปกรณ์ให้กับแบรนด์โทรศัพท์ที่กล่าวไปนั้นมีสภาพการทำงานและความเป็นอยู่ที่เลวร้ายรวมทั้งยังมีการใช้แรงงานเด็กอีกด้วย

ในปี ค.ศ. 2013 ซัมซุงได้สั่งให้ตรวจสอบโรงงานของบริษัทผู้ผลิตชิ้นส่วนอุปกรณ์ในจีนเกือบ 250 แห่ง หลังจากที่ไชนาเลเบอร์วอชท์ (เจ้าเก่า) ได้ออกมาระบุว่าโรงงานของบริษัทผู้ผลิตชิ้นส่วนอุปกรณ์ให้แก่ซัมซุงนั้นมีการใช้แรงงานเด็กอายุต่ำกว่า 16 ปี

ในครั้งนั้น ซัมซุงระบุว่าการตรวจสอบจะมีตั้งแต่การลงพื้นที่โรงงานที่เซ็นสัญญากับซัมซุงของเจ้าหน้าที่ส่วนกลางจำนวน 105 แห่ง ขณะที่โรงงานอีก 144 แห่งที่ไม่มีสัญญาผูกมัดแต่ผลิตชิ้นส่วนป้อนซัมซุงจะมีเพียงการตรวจสอบทางเอกสารหมายเลขและทะเบียนประวัติของพนักงาน นอกจากนี้ซัมซุงยังรับปากว่าจะก็จะทำการปรับปรุงมาตรฐานต่างๆ ของบริษัทผู้ผลิตชิ้นส่วนอุปกรณ์ รวมถึงการตรวจสอบสภาพการทำงานและความเป็นอยู่ของแรงงานโดยผู้เชี่ยวชาญจากภายนอกเพื่อความโปร่งใสอีกด้วย

ทั้งนี้ในรายงาน Sustainability Report 2014 ซึ่งเป็นรายงานฉบับล่าสุดของซัมซุง อ้างว่าผู้ตรวจสอบภายนอกระบุว่าไม่เจอการจ้างแรงงานเด็กในบริษัทผู้ผลิตชิ้นส่วนอุปกรณ์ในจีน แต่กระนั้นยังคงมีปัญหาอื่นๆ เช่น ความปลอดภัยในการทำงาน รวมทั้งปัญหาสภาพความเป็นอยู่ของแรงงานในจีนอยู่บ้าง

เปิดชีวิตใน “ซินหยางอิเล็กทรอนิกส์” บริษัทผลิตชิ้นส่วนให้กับ “ซัมซุง” ในจีน

ในรายงาน ANOTHER SAMSUNG SUPPLIER EXPLOITING CHILD LABOR : Investigation of Shinyang Electronic Co.Ltd. (Dongguan) ของไชนาเลเบอร์วอชท์ ที่เผยแพร่ในช่วงกลางเดือนกรกฎาคม 2014 ที่ผ่านมา ระบุว่าซินหยางอิเล็กทรอนิกส์นั้นเป็นบริษัทที่มีผู้ลงทุนสัญชาติเกาหลีใต้ ผลิตและประกอบชิ้นส่วนโทรศัพท์ให้กับบริษัทซัมซุง มีการจ้างงานแรงงานประมาณ 1,200 คน ตั้งอยู่ในนิคมอุตสาหกรรม Wanfuling Industrial Park มณฑลตงกวนประเทศจีน และมีประเด็นเรื่องการละเมิดสิทธิแรงงานที่สำคัญๆ ดังต่อไปนี้

การจ้างงาน

ในด้านระบบการจ้างงานนั้นพบว่าซินหยางมักจะรับพนักงานที่มีอายุต่ำกว่า 35 ปี อ่านออกเขียนได้ สุขภาพแข็งแรง และซินหยางมักจะจ้างงานแรงงานหญิงมากกว่าชาย นอกจากนี้ยังพบว่ามีกรณีให้พนักงานเซ็นชื่อลงในสัญญาจ้างงานที่ไม่มีรายละเอียด (กระดาษเปล่า) ซึ่งถือว่าเป็นการละเมิดกฎหมายแรงงานจีน

การจ้างงานของซินหยางกว่า 40% ใช้ลักษณะการจ้างงานชั่วคราวที่มีสัญญาระยะสั้น ไม่บรรจุเป็นพนักงานประจำ โดยพนักงานชั่วคราวเหล่านี้จะไม่ได้รับการฝึกอบรมก่อนเข้าทำงาน พนักงานใหม่จะถูกบรรจุเข้าไลน์ผลิตภายหลังจากที่บริษัทฯ รับเข้าทำงานและผ่านตรวจร่างกาย 2 วัน

นอกจากนี้ซินหยางยังไม่จ่ายเงินค่าประกันสังคมให้กับพนักงานสัญญาจ้างชั่วคราว รวมทั้งไม่ได้จ่ายสวัสดิการเกี่ยวกับการประกันชีวิตอย่างครบถ้วนให้กับพนักงานประจำ

โดยส่วนใหญ่แล้วพนักงานของซินหยางทำงานถึง 11 ชั่วโมงต่อวัน และทำงานเดือนละ 30 วัน นอกจากนี้ในรายงานยังระบุว่าพนักงานในซินหยางไม่มีการรวมตัวกันเป็นสหภาพแรงงานอีกด้วย

ความปลอดภัยในการทำงาน

สำหรับความปลอดภัยในการทำงาน พบว่าพนักงานไม่ได้รับการฝึกอบรมด้านความปลอดภัยก่อนการเข้าทำงาน ตามที่บัญญัติไว้ตามกฎหมายแรงงานของจีน พนักงานมีการสัมผัสกับสารเคมีที่เป็นอันตรายโดยตรง อย่างเช่นแอลกอฮอล์ที่ใช้ในงานอุตสาหกรรม และทินเนอร์ เป็นต้น สำหรับอุปกรณ์ป้องกันต่างๆ นั้น หากพนักงานไม่ร้องขอ พวกเขาก็จะไม่ได้รับอุปกรณ์ป้องกันจากโรงงาน ไม่ว่าจะเป็นถุงมือหรือหน้ากากป้องกัน ทั้งที่โรงงานควรเตรียมไว้ให้พนักงานก่อน

พนักงานสัญญาจ้างชั่วคราวหลายร้อยคนของซินหยางอิเล็กทรอนิกส์ไม่ได้ค่าจ้างจากการทำงานล่วงเวลา ซึ่งถือว่าเป็นการละเมิดกฎหมายแรงงานของจีน

แรงงานเด็ก

สำหรับประเด็นเรื่อง “แรงงานเด็ก” นั้น พบว่าซินหยางอิเล็กทรอนิกส์มีการจ้างงานทั้ง “พนักงานฝึกงาน” (อายุต่ำกว่า 18 ปี) รวมทั้งจ้างงานแรงงานเด็ก (อายุต่ำกว่า 16 ปี) ซึ่งการจ้างแรงงานเด็กนั้นถือว่าเป็นการละเมิดกฎหมายแรงงานของจีน

โดยการจ้างงานแรงงานอายุต่ำกว่า 18 ปี มาฝึกงานในโรงงานเพื่อเป็นพนักงานฝึกงานนั้น ใช้สัญญาจ้างชั่วคราวโดยไม่ได้มีการปกป้องคุ้มครองแรงงานฝึกงานนี้เป็นพิเศษแต่อย่างใด พนักงานฝึกงานเหล่านี้ส่วนใหญ่จะเป็นเด็กที่พึ่งจบในระดับมัธยมปลายที่ต้องออกมาหาเงินเพื่อใช้ในการเรียนต่อในระดับวิทยาลัย พวกเขาจะได้สัญญาการทำงานระยะสั้นจนถึงช่วงเปิดการเรียนในระดับวิทยาลัย มีการเข้างานในวันหยุดและทำงานล่วงเวลาเช่นเดียวกับแรงงานที่อายุเกิน 18 ปี แต่ทางซินหยางกลับไม่ได้จ่ายเงินสมทบประกันสังคมและสวัสดิการให้กับพนักงานฝึกงานเหล่านี้ตามกฎหมาย

สำหรับการจ้างงานแรงงานเด็กนั้น ในรายงานระบุว่ามีพนักงานอย่างน้อย 5 คนอายุไม่ถึง 16 ปี ที่ทำงานอยู่ในซินหยาง แรงงานเด็กเหล่านี้ไม่มีสัญญาจ้างงานรวมทั้งได้รับค่าจ้างต่ำกว่าพนักงานปกติอีกด้วย โดยพวกเขาทำงานถึง 11 ชั่วโมงเท่ากับผู้ใหญ่ แต่ได้รับค่าจ้างแค่ 10 ชั่วโมงเท่านั้น ซึ่งแน่นอนว่านี่เป็นการกระทำที่ละเมิดกฎหมายแรงงานของจีน (อีกเช่นเคย) รวมทั้งเข้าเกณฑ์ความผิดที่องค์การแรงงานระหว่างประเทศ (ILO) ระบุไว้ว่าเป็น “การทำงานที่เป็นอันตรายทั้งทางร่างกายและจิตใจต่อเด็ก” อย่างชัดเจน

โดยพวกเขาได้รับค่าแรงเพียง 7.5 หยวน ต่อชั่วโมงเท่านั้นซึ่งหากเมื่อคิดรายได้รวมต่อสัปดาห์ (บวกค่าทำล่วงเวลาและทำงานในสันหยุดแล้ว) พวกเขาจะมีรายได้เฉลี่ยเพียง 450 หยวน ซึ่งต่ำกว่าพนักงานผู้ใหญ่ที่มีรายได้เฉลี่ยประมาณ 670 หยวน ต่อสัปดาห์