Thai / English

แรงงานต่างชาติถูกไล่ที่เพื่อพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ที่กาตาร์



08 .. 57
ประชาไท

ค่าเช่าที่สูงขึ้นและการถูกขับไล่ออกจากที่พักอาศัยเพื่อนำพื้นที่ไปพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ ส่งผลให้แรงงานต่างชาติในกรุงโดฮา ประเทศกาตาร์ใช้ชีวิตได้ยากลำบากขึ้น

เว็บไซต์ Middle East Eye รายงานว่าเมื่อวันที่ 3 กรกฎาคม 2014 ที่ผ่านมาเจ้าหน้าที่ตำรวจได้ขับไล่ที่คนยากจนและแรงงานต่างชาติในหลายพื้นที่ของกรุงโดฮาและเขตใกล้เคียงออกจากที่พักอย่างต่อเนื่อง โดยมีผู้ได้รับผลกระทบรวมแล้วประมาณ 500 – 1,000 คน ซึ่งที่พักอาศัยเหล่านี้จะถูกแทนที่ด้วยการพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ที่หรูหรามากขึ้น

แรงงานชาวเนปาลผู้หนึ่งที่ถูกไล่ที่ในครั้งนี้ระบุว่าพวกเขาไม่ได้รับการแจ้งเตือนก่อน มีเพียงแค่เจ้าของห้องพักโทรศัพท์มาแจ้งขณะที่ตำรวจมาที่ห้องพัก ซึ่งเป็นเวลาที่พวกเขากำลังออกไปทำงาน

นอกจากนี้ยังมีการระบุว่าหากมีการขัดขืนต่อปฏิบัติการณ์นี้ ผู้พักอาศัยก็จะถูกทุบตีและโยนข้าวของออกจากที่พัก รวมทั้งก่อนหน้านี้ประมาณ 2 เดือนที่พักอาศัยของคนยากจนและแรงงานต่างชาติหลายแห่งที่จะถูกนำไปพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ ก็มีการติดประกาศปิดสถานที่รวมทั้งมีการตัดไฟฟ้าอีกด้วย

การขับไล่ที่ครั้งนี้ได้ก่อให้เกิดการถกเถียงในโลกโซเชียลมีเดีย โดยมีประชาชนแสดงความเห็นว่าเหตุการณ์นี้ไม่สมควรเกิดขึ้นในเดือนรอมฎอน เพราะว่ากาตาร์มีกฎห้ามรับประทานอาหารและดื่มเครื่องในที่สาธารณะช่วงที่ประชาชนถือศีลอดระหว่างเดือนศักดิ์สิทธิ์นี้ ซึ่งการขับไล่ที่จะทำให้แรงงานต่างชาติไม่มีที่อยู่อาศัยนั้นยิ่งจะสร้างความลำบากให้พวกเขาขึ้นไปอีกทวีคูณ

อัตราค่าเช่าที่พักอาศัยที่เพิ่มขึ้นในกรุงโดฮา รวมทั้งปฏิบัติการณ์ ‘ไล่ที่’ ได้สร้างความยากลำบากในการดำรงชีวิตของแรงงานข้ามชาติจาก เนปาล, บังกลาเทศ, อินเดีย, ศรีลังกาและปากีสถาน หลายคนต้องอาศัยอยู่ตามข้างถนน รวมถึงแรงงานที่พยายามกลับไปยังที่พักของพวกเขาแต่ก็ถูกสกัดไว้โดยเจ้าหน้าที่ตำรวจ

อนึ่งจากการที่กาตาร์ได้รับเลือกให้เป็นเจ้าภาพจัดการแข่งขันฟุตบอลโลกในปี ค.ศ. 2022 นั้น กาตาร์มีแผนการทุนสร้างโครงสร้างการคมนาคมขนส่งและการพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ โดยจะมีการเพิ่มปริมาณห้องพักโรงแรมมากว่า 65,000 ห้อง ซึ่งมีมูลค่าการลงทุนสูงกว่า 50 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ

ก่อนหน้านี้ในปี 2013 องค์การนิรโทษกรรมสากล (Amnesty International ) ได้ออกมาระบุว่าแรงงานต่างชาติในกาตาร์อยู่ในสภาพที่ไม่ปลอดภัยทั้งการทำงานและสภาพความเป็นอยู่ รวมถึงได้รับค่าแรงที่ต่ำกว่าที่ควรจะเป็นและบางครั้งก็ยังถูกนายจ้างเบี้ยวค่าแรงอีกด้วย