Thai / English

แรงงานข้ามชาติในฮ่องกง จัดฉลองวันกรรมกรสากล พร้อมยื่นข้อเรียกร้องต่อรัฐ



02 .. 57
http://voicelabour.org

1 พ.ค. 57 วันกรรมกรสากล สหภาพแรงงานฮ่องกง พร้อมทั้ง สหภาพแรงงานข้ามชาติ องค์กรปกป้องสิทธิแรงงานข้ามชาติ ได้จัดให้มีการเดินขบวนเนื่องในวันข้ามชาติสากลปี 2557 ในการนี้มีกลุ่มแรงงานไทย โดย สมาคมรวมไทยในฮ่องกง สหภาพแรงงานไทยในฮ่องกง ได้ร่วมเดินขบวนเรียกร้องสิทธิของแรงงานผู้ช่วยแม่บ้านต่างชาติ คือ ยกเลิกกฎเหล็กห้ามอยู่เกิน 2 สัปดาห์หลังจากยกเลิกสัญญาจ้าง ให้ขึ้นเงินเดือน ให้ยกเลิกกฎหมายอยู่อาศัยบ้านนายจ้าง และเรียกร้องความยุติธรรมให้กับแรงงานงานที่ถูกทำร้ายร่างกายให้ถือว่า แรงงาน คือแรงงาน แรงงานไม่ใช่ทาส ทั้งนี้เดินขบวนตั้งแต่ Victoria Park ไปยัง ตึกรัฐบาลฮ่องกง รวมระยะทาง 5 กิโลเมตร

นางสาวบังอร ธรรมสร ประธานสมาคมรวมไทยในฮ่องกงกล่าวว่า ด้วยจิตใจที่แข็งแกร่ง ของแรงงานแม่บ้านอินโดนีเซียในฮ่องกง Ms. Erwiana ที่ ต่อสู้กับความอยุติธรรมที่ถูกนายจ้างทำร้ายร่างกาย ทำให้เธอได้รับคัดเลือกจากนิตยสารไทม์ ให้เป็นบุคคลตัวย่าง 1 ใน 100 ทั้งนี้เพราะเธอมีกำลังใจและแรงสนับสนุนจากเพื่อนๆและองค์กรต่างๆในฮ่องกง รวมถึงเครือข่ายทั่วโลก

ในขณะเดียวกัน เวลา 09.30 น ของวันที่ 28เมษายน 2557 ศาลได้นั่งบัลลังก์ตัดสินคดี และล่าสุดเวลา 13.00 น ศาลได้เลื่อนพิจารณาคดีอีกครั้งในวันที่ 20 พฤษภาคม 2557 นี้ ซึ่งบทลงโทษตามกฎหมายแรงงานฮ่องกง นายจ้างมีความผิดต้องได้รับการลงโทษจำคุก ขณะนี้รอเพียงอำนาจศาลตัดสินอีกครั้งเท่านั้น

“การที่แรงงานไทยได้เดินทางไปทำงานเป็นแม่บ้านที่ฮ่องกง ก็เพื่อต้องการเก็บเงินส่งกลับมาที่บ้านในประเทศไทย ซึ่งประเทศไทยได้หันไปจ้างแรงงานข้ามชาติเข้ามาทำงานอาชีพนี้แทน ความแตกต่างกันในการคุ้มครองแรงงานในอาชีพแม่บ้านที่ฮ่องกงมีการดูแลด้านกฎหมายดีกว่า ค่าจ้างตกเดือนละ 16,000 บาท แม้ค่าครองชีพสูงแต่ด้วยการอยู่กินกับนายจ้างมีวันหยุด 1วัน ต่อสัปดาห์ให้ได้ศึกษาหาความรู้ จัดการดูแลเรื่องต่างๆของแรงงาน การดูแลรักษาพยาบาลทำให้มีเงินเหลือเก็บ รัฐบาลก็ดูแลให้การคุ้มครองทางกฎหมาย ซึ่งต่างกับแรงงานข้ามชาติจากเพื่อนบ้านที่มาทำงานในประเทศไทยที่ยังไม่ได้รับความดูแลให้นายจ้างทำตามกฎหมาย ในวันกรรมกรสากลแรงงานไทยในฮ่องกงก็สามารถออกมาเดินขบวนเรียกร้องต่อรัฐบาลฮ่องกงเพื่อให้ได้รับสวัสดิการ การเพิ่มค่าจ้าง ซึ่งมีทั้งแรงงานไทย อินโดนีเซีย ฟิลิปินส์ที่มีการรวมกลุ่มเป็นสมาคม และสหภาพแรงงาน ซึ่งประเทศไทยยังไม่ได้ให้สิทธิการรวมตัวเรียกร้อง ตอนนี้ที่มีการเรียกร้องร่วมกันคือ เงื่อนไขกรณีที่แรงงานในอาชีพอื่นๆ ที่นอกเหนือจากอาชีพผู้ช่วยแม่บ้าน หากอาศัย หรือทำงานอยู่ 7 ปีขึ้นไปจะสามารถอาศัยอยู่ถาวรได้ ไม่ต้องประทับตราเข้าออก แต่อาชีพผู้ช่วยแม่บ้านนั้นไม่ได้รับการผ่อนผันเช่นนั้น ซึ่งเป็นการเลือกปฏิบัติ ในกลุ่มผู้ช่วยแม่บ้านจึงได้มีการออกมาเรียกร้องประเด็นดังกล่าวนี้ด้วย ” นางสาวบังอร กล่าว

นักสื่อสารแรงงาน รายงาน