Thai / English

ธุรกิจเล็งทิ้ง “สิงคโปร์” เข้าจีน-ไทย หลังเจอต้นทุนแพง-ขาดแคลนแรงงาน

เอเจนซี - เนื่องจากอัตราผลกำไรที่ลดลงหนักที่สุดในรอบระยะเวลาอย่างน้อย 1 ทศวรรษ จึงกำลังผลักดันให้พวกบริษัทในสิงคโปร์หาทางขยับขยายไปอยู่ที่อื่น เพื่อหนีต้นทุนที่พุ่งขึ้นตลอดจนภาวะการเติบโตที่ชะลอตัวซึ่งล้วนเป็นปัจจัยเบียดบังศักยภาพการทำกำไร ด้วยเหตุ

26 .. 56
ผู้จัดการ

ผลสำรวจบริษัทจดทะเบียน 268 แห่งในตลาดสิงคโปร์โดยธอมสัน รอยเตอร์ พบว่า 57% มีอัตราผลกำไรจากการดำเนินงานในช่วง 3 ไตรมาสแรกของปี 2012 ลดลงจากช่วงเดียวกันปีก่อนหน้า ซึ่งถือเป็นสถิติสูงสุดสำหรับระยะเวลา 9 เดือนในรอบ 10 ปีที่ผ่านมา

ทั้งนี้ การขาดแคลนแรงงานอย่างรุนแรงกำลังสร้างปัญหาให้แก่ธุรกิจในสิงคโปร์ จากการที่รัฐบาลคุมเข้มนโยบายคนเข้าเมือง ขณะที่อัตราเติบโตขยายตัวของเศรษฐกิจแดนลอดช่องก็สะดุดตามภาวะการส่งออกที่ได้รับผลพวงจากภาวะเศรษฐกิจโลกซึมเซา

ผลสำรวจชี้ด้วยว่า บริษัท 54% ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้มีอัตราผลกำไรลดลงรุนแรง ทำสถิติเทียบเท่าในปี 2009 ที่เศรษฐกิจโลกถดถอยหลังจากเลห์แมน บราเธอร์สล้มละลาย

ตัวเลขนี้ได้มาจากการสำรวจงบดุลของบริษัทเกือบ 1,000 แห่งที่มีมูลค่าตลาดอย่างน้อย 100 ล้านดอลลาร์สิงคโปร์ (80.8 ล้านดอลลาร์สหรัฐ) ขึ้นไป ทั้งในสิงคโปร์ มาเลเซีย อินโดนีเซีย ไทย และฟิลิปปินส์

อย่างไรก็ดี สถานการณ์ปัญหารุนแรงเป็นอย่างมากในสิงคโปร์ ตลาดขนาดเล็กที่กำลังถึงจุดอิ่มตัว และขาดแคลนผู้บริโภคชนชั้นกลางแบบที่พวกเพื่อนบ้านซึ่งเป็นเศรษฐกิจตลาดเกิดใหม่มีกัน นอกจากนี้ อัตราเงินเฟ้อในแดนลอดช่องยังพุ่งขึ้นรุนแรง

ชาน ชอง เบง ประธานสมาคมวิสาหกิจขนาดกลางและเล็กของสิงคโปร์ และประธานกรรมการกูดริช โกลบัล บริษัทพรมและกระดาษติดผนังที่มีธุรกิจใน 8 ประเทศ เป็นหนึ่งในผู้ประกอบการที่โยกย้ายสำนักงานใหญ่จากสิงคโปร์ไปยังประเทศที่มีต้นทุนถูกกว่าและตลาดใหญ่กว่า

ชานเผยว่า เตรียมย้ายสำนักงานใหญ่และการปฏิบัติการบางส่วน เช่น การพัฒนาผลิตภัณฑ์ไปยังอู่เจียง ใกล้ๆ กับเซี่ยงไฮ้ แต่การปฏิบัติการด้านการขายและการตลาดจะยังคงอยู่ในสิงคโปร์

ชานแจงว่า ธุรกิจในสิงคโปร์กำลังเผชิญสถานการณ์ยากลำบากอย่างยิ่ง ที่ร้ายที่สุดคือปัญหาด้านบุคลากร ขณะที่ในจีนมีช่องทางการขยายตัวเหลือเฟือ

ในส่วนกูดริช โกลบัลนั้น การเติบโตในแดนลอดช่องชะลอตัวมาตลอด 2-3 ปีหลังนี้ ขณะที่ค่าเช่าทะยานขึ้น 30% และค่าแรงบวกเพิ่มถึง 20%

ปัจจุบัน สิงคโปร์ซึ่งอยู่ในฐานะเป็นศูนย์กลางทางการค้าและการเงินที่มีนโยบายเป็นมิตรต่อธุรกิจ กำลังประสบปัญหาตลาดแรงงานตึงตัว จากการที่รัฐบาลต้องจำกัดการไหลเข้าของแรงงานต่างชาติ เพื่อคลายความวิตกกังวลของประชาชน นอกจากนี้แดนลอดช่องยังมีปัญหาราคาอสังหาริมทรัพย์พุ่งโด่ง

แอนดริว ทีโจ ประธานสมาคมภัตตาคารในสิงคโปร์ที่มีสมาชิกกว่า 300 ราย ขานรับว่า ความกดดันจากค่าแรงที่เพิ่มขึ้นและการขาดแคลนแรงงานในเวลานี้ รุนแรงกว่าทั้งเมื่อครั้งเศรษฐกิจถดถอยปี 19997, วิกฤตซาร์ส และวิกฤตการเงินโลกปี 2008

ธุรกิจขนาดกลางและเล็กคือส่วนที่ได้รับผลกระทบหนักที่สุด กิจการเหล่านี้คิดเป็นสัดส่วนกว่าครึ่งของมูลค่าเศรษฐกิจสิงคโปร์ และว่าจ้างแรงงาน 70%

ขณะเดียวกัน ผลสำรวจที่จัดทำโดยหอการค้าอเมริกันในสิงคโปร์พบว่า สมาชิก 15% กำลังพิจารณาย้ายออกนอกแดนลอดช่อง และ 5% ดำเนินการไปแล้ว

เดือนที่ผ่านมา หอการค้าอเมริกันในสิงคโปร์ และองค์กรธุรกิจอีก 8 แห่งร่วมลงนามในหนังสือที่ส่งถึงรัฐบาลสิงคโปร์เพื่อแสดงความกังวลเกี่ยวกับข้อจำกัดที่เข้มงวดกับคนงานต่างชาติมากยิ่งขึ้น ซึ่งอาจส่งผลลบต่อเศรษฐกิจและชื่อเสียงของสิงคโปร์ในฐานะประเทศที่ส่งเสริมเศรษฐกิจแบบเปิดกว้าง

ทางด้านคณะกรรมการพัฒนาเศรษฐกิจแดนลอดช่องยอมรับว่า มาตรการควบคุมคนเข้าเมืองที่เข้มงวดขึ้น กำลังส่งผลต่ออุตสาหกรรมต่างๆ และทางคณะกรรมการได้พยายามดำเนินการหลายประการเพื่อลดทอนปัญหา เช่น ช่วยภาคธุรกิจปรับปรุงศักยภาพการผลิต

กระนั้น บริษัทบางแห่งยังจำเป็นต้องหาทางหนีแรงกดดันภายในประเทศ โดยหันไปมุ่งเน้นที่พวกประเทศเพื่อนบ้านที่โตเร็วกว่าแทน แม้อาจลังเลที่จะทิ้งสิงคโปร์ไปเลย เนื่องจากยังพอใจในเรื่องมาตรฐานความปลอดภัย กฎระเบียบ และความโปร่งใสก็ตาม

ตัวอย่างเช่น เบรดทอล์ก อันเป็นเชนเบเกอรี่และร้านอาหารของสิงคโปร์ที่มีเป้าหมายเพิ่มรายได้เป็น 1,000 ล้านดอลลาร์สิงคโปร์ใน 2-3 ปีหน้า กำลังขยายตัวในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยเฉพาะไทยและจีน เพื่อคานแรงกดดันด้านแรงงานและค่าเช่าในประเทศ

เช่นเดียวกัน คอร์ตส์ เอเชีย ผู้ค้าปลีกผลิตภัณฑ์อิเล็กทรอนิกส์และเฟอร์นิเจอร์ที่มีสาขา 72 แห่งในสิงคโปร์และมาเลเซีย กำลังสร้างเมกะสโตร์ขนาด 13,000 ตารางเมตรทางตะวันออกของจาการ์ตา ซึ่งจะเป็นสาขาใหญ่ที่สุดของบริษัทเมื่อเปิดให้บริการในปีหน้า

เทอร์รี โอคอนเนอร์ ประธานบริหารคอร์ตส์ เอเชีย ย้ำว่า ไม่ได้สบประมาทแนวโน้มการเติบโตของสิงคโปร์ แต่เล็งเห็นว่าอินโดนีเซียและมาเลเซียมีลู่ทางให้เลือกมากกว่า