Thai / English

อวสานยุคแรงงานต้นทุนต่ำจีน วิวัฒนาการขานรับเศรษฐกิจโลก



26 .. 54
ผู้จัดการ

ในประเทศที่เชื่อกันว่าเป็นดินแดนแห่งแรงงานราคาถูก ประเทศที่มีประชากรราว 1,300 ล้านคน และเศรษฐกิจเติบโตโดดเด่นตลอด 20 ปีบนกระดูกสันหลังของแรงงานราคาถูก วันนี้เกมเริ่มเปลี่ยนไป

ทศวรรษที่ผ่านมา จากคำบอกเล่าของเฮเลน เคียว นักเศรษฐศาสตร์ของโกลด์แมน แซคส์ในฮ่องกง ค่าแรงที่แท้จริงสำหรับแรงงานภาคการผลิตในจีนเพิ่มขึ้นปีละเกือบ 12% อันเป็นผลจากเศรษฐกิจที่เติบโตในอัตราเลขสองหลักมาตลอด 2 ทศวรรษ ซึ่งถูกกระตุ้นจากการก่อสร้างโครงสร้างสาธารณูปโภคและที่อยู่อาศัยภายในประเทศที่ถึงวันนี้ยังคงดำเนินอยู่เหมือนเดิม ประกอบกับความต้องการสินค้าออกของจีนอย่างไม่รู้จักหยุดหย่อนจากประเทศพัฒนาแล้ว

นอกจากนี้ เมื่อรวมกับข้อเท็จจริงที่ว่ารัฐบาลจีนที่กังวลกับช่องว่างที่ถ่างกว้างระหว่างคนรวยกับคนจน ได้เพิ่มค่าแรงขั้นต่ำในมณฑลการผลิตใหญ่ที่สุดทั้ง 5 จาก 14% เป็น 21% เมื่อปีที่ผ่านมา

ทั้งหมดนี้ ฮาร์ลีย์ เซเยดิน ประธานสมาคมหอการค้าอเมริกาในจีนตอนใต้ สรุปได้อย่างเดียวว่า ‘ยุคแห่งแรงงานราคาถูกในแดนมังกรจบสิ้นแล้วอย่างไม่อาจหลีกเลี่ยงได้’

กระนั้น ใช่ว่าต้นทุนแรงงานในจีน แม้แต่ในพื้นที่ที่ค่าแรงสูงที่สุดอย่างกวางตุ้ง จะสูงกว่าส่วนอื่นๆ โดยเฉพาะในประเทศพัฒนาแล้ว ค่าแรงในภาคการผลิตของจีนอยู่ที่แค่ 3.10 ดอลลาร์ต่อชั่วโมง (เทียบกับ 22.30 ดอลลาร์ในสหรัฐฯ) แม้ทางตะวันออกของประเทศจะสูงกว่านั้น 50% ก็ตาม

ทว่า ความได้เปรียบด้านต้นทุนต่อชั่วโมงกำลังหดตัวอย่างรวดเร็ว แดเนียล โรเซน ผู้อำนวยการในจีนของโรเดียม กรุ๊ป บริษัทที่ปรึกษาในนิวยอร์กซิตี้ ชี้ว่าสำหรับบริษัทส่วนใหญ่ ไม่ว่าจะเป็นบรรษัทข้ามชาติขนาดเล็ก กลาง หรือใหญ่ การตัดสินใจเรื่องทำเลผลิตมักถูกขับดันด้วยปัจจัยหลายอย่าง แต่อย่างแรกคือค่าแรง

ผลกระทบที่ส่งแรงกระเพื่อมจากความจริงข้อนี้มหาศาลและกว้างไกลทั่วโลก เริ่มจากจีนเอง การผลักดันให้ขึ้นค่าแรงที่ถูกตรึงไว้มาหลายปีส่งผลให้เกิดการประท้วงรุนแรงของแรงงานเมื่อปีที่แล้ว (อาทิ การฆ่าตัวตายของพนักงาน 14 คนในฟ็อกซ์คอนน์ ผู้ผลิตสินค้าอาทิ ไอแพ็ด) ในทางตรงข้าม การขึ้นค่าแรงทำให้หลายอย่างในมณฑลทางตะวันตกของจีนดีขึ้น ปีที่แล้ว บรรษัทข้ามชาติและบริษัทแดนมังกรจีนเองหลายแห่งขยายตัวหรือกลับมาปักหลักในพื้นที่นี้เนื่องจากค่าแรงยังถือว่าถูก

จากมุมมองของจีน นั่นเป็นสิ่งที่ต้องแลก แอนดี้ รอธแมน ประธานฝ่ายกลยุทธ์มหภาคประจำจีนของซีแอลเอสเอ ซีเคียวริตี้ส์ในเซี่ยงไฮ้ บอกว่าคนในเสฉวนและเหอหนานยังสามารถอยู่ใกล้บ้านได้โดยมีงานดีๆ ทำ แทนที่จะต้องอพยพไปทางตะวันออกกันทุกปีและอาศัยอยู่ในบ้านพักคนงานของบริษัทที่ห่างไกลจากครอบครัว

เศรษฐกิจที่เปลี่ยนแปลงจาก ‘เมด อิน ไชน่า’ จะเป็นประโยชน์ต่อทั้งชาติร่ำรวยและประเทศยากจน ประเทศอย่างกัมพูชา ลาว อินเดีย และเวียดนามกำลังเลือกโรงงานผลิตที่มีแรงงานราคาถูกที่สุดบางแห่งที่ถูกจีนทอดทิ้ง และจากการศึกษาล่าสุดโดยบริษัทที่ปรึกษา บอสตัน คอนซัลติ้ง กรุ๊ป (บีซีจี) มีหลักฐานปรากฏแล้วว่าอย่างน้อยการเปลี่ยนแปลงฐานการดำเนินงานด้านการผลิตกำลังโยกย้ายกลับสู่อเมริกา

ปีที่ผ่านมา แวม-โอ บริษัทผลิตของเล่นราคาถูก ประกาศว่ากำลังย้ายการผลิตจานร่อนและฮูลาฮูป 50% จากจีนและเม็กซิโกกลับเมืองลุงแซม ซึ่งถือเป็นความเคลื่อนไหวที่จะทำให้เกิดการจ้างงานใหม่นับร้อยตำแหน่งในสหรัฐฯ

แน่นอน ผู้ผลิตของเล่นตลอดจนผู้ผลิตรองเท้าและสิ่งทอ เป็นอุตสาหกรรมกลุ่มแรกๆ ที่มุ่งหน้าสู่จีนในอดีตในฐานะที่เป็นแหล่งผลิตที่เชื่อถือได้และมีแรงงานราคาถูกที่สุด แต่หากมองทัศนคติที่เปลี่ยนไปของนักเศรษฐศาสตร์ในช่วงทศวรรษที่ผ่านมาจะพบสาเหตุว่าทำไมบริษัทอย่างแวม-โอจึงตัดสินใจย้ายกลับอเมริกา

จากงานศึกษาของบีซีจีในปี 2000 อัตราค่าแรงเฉลี่ยของจีนอยู่ที่ 36% ของสหรัฐฯ เมื่อปรับตามประสิทธิภาพการผลิต แต่มาถึงปลายปี 2010 ส่วนต่างนั้นหดเหลือ 48% และบีซีจีประเมินว่าตัวเลขจะเดินหน้าเป็น 69% ในปี 2015

ฮัล เซอร์คิน หุ้นส่วนอาวุโสของบีซีจีและผู้เขียนรายงานฉบับดังกล่าวชี้ว่า นั่นเป็นเหตุผลที่การพิจารณาระยะสั้น จีนยังคงเป็นตัวเลือกอยู่ การหารือในห้องประชุมของบริษัทมากมายในขณะนี้ไม่ได้มุ่งประเด็นที่การปิดโรงงานในดินแดนหลังม่านไม้ไผ่ แต่มองไกลไปถึงคำถามที่ว่าโรงงานแห่งใหม่จะอยู่ที่ใดมากกว่า

บางทีผลลัพธ์สำคัญที่สุดจากค่าแรงที่เพิ่มขึ้นในจีนอาจเป็นการทำให้ประชาชนมีรายได้เพิ่มขึ้น ซึ่งเป็นสิ่งที่ทุกคนให้ความสนใจ โดยเฉพาะประเทศคู่ค้ารายใหญ่ของจีนที่ต้องการอย่างเร่งด่วนให้พญามังกรเพิ่มการบริโภคเพื่อลดความไม่สมดุลมหาศาลในระบบการค้าโลก การขึ้นค่าแรงอาจทำให้รายได้และกำไรของผู้ส่งออกอย่างชาร์ลส์ ฮับส์ และบริษัทของจีนนับพันแห่งในทุกอุตสาหกรรมลดลง แต่กระบวนการนี้เป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้อันเป็นผลจากการที่จีนกำลังพัฒนาตัวเองขึ้นเป็นประเทศที่มั่งคั่งขึ้นและมีอัตราแลกเปลี่ยนเข้มแข็งขึ้น

ขณะเดียวกัน บรรษัทข้ามชาติมากมายที่เริ่มโฟกัสการดำเนินการผลิตในจีนเพราะนอกจากค่าแรงถูก เช่นโรงงานของเอชพีในฉงชิงที่ผลิตแล็ปท็อปป้อนตลาดอเมริกาอย่างเดียวนั้น ระยะหลังเริ่มมีความคิดเปลี่ยนไป ในการสำรวจเมื่อ 8 ปีที่แล้ว สภาหอการค้าอเมริกันทางใต้ของจีนพบว่า สมาชิก 75% เน้นที่ตลาดส่งออกเป็นหลัก มาปีที่แล้ว ตัวเลขดังกล่าวลดลง โดย 75% ของผู้ตอบแบบสอบถาม 1,800 คนบอกว่าปฏิบัติการการผลิตของตนในจีนเน้นที่ตลาดแดนมังกร สาเหตุสำคัญที่สุดคือแรงงานจีนรวยขึ้น ดังนั้น สำหรับทุกคนที่เกี่ยวข้อง การขึ้นค่าแรงของจีนจึงถือเป็นข่าวดีสำหรับเศรษฐกิจโลกที่กำลังมีปัญหารุมเร้ามากมาย