Thai / English

ญี่ปุ่นปรับวิธีคิด-เปิดรับต่างชาติ จุดเปลี่ยน "เจแปน อิงก์" กลางกระแสโลก



14 .. 53
ประชาชาติธุรกิจ

เศรษฐกิจ ของญี่ปุ่นยังไม่หลุดพ้นจากภาวะเงินฝืดที่ดำเนินมาอย่างยาวนาน ยังไม่นับรวมปัญหาอัตราการเกิดของประชากรต่ำ ทำให้การบริโภคในประเทศมีไม่มาก จึงจำต้องพึ่งพาการบริโภคนอกบ้านมาช่วยทดแทนตลาด ในบ้านที่เชื่องช้า

แต่ แม้ญี่ปุ่นจะมีบทบาทมากขึ้นในฐานะผู้นำด้านเทคโนโลยีและนวัตกรรม ทว่าวิธีคิดและวัฒนธรรมองค์กรแบบเดิม ๆ ก็ยังเป็นอุปสรรคสำคัญต่อการโกอินเตอร์ของบริษัทญี่ปุ่น แม้แต่บริษัทชั้นนำของ "เจแปน อิงก์" อย่าง "โตโยต้า" ก็ยังเดินสะดุดจากปมเรียกคืนรถยนต์ครั้งใหญ่

ภาวะเศรษฐกิจที่ซบเซา ของญี่ปุ่น ประกอบกับเศรษฐกิจโลกที่ยังเปราะบาง ทำให้บริษัทญี่ปุ่นเดินมาถึงจุดเปลี่ยนครั้งสำคัญ ไม่เพียงเพื่อประคองธุรกิจให้อยู่รอด แต่ยังรวมถึงการผงาดเป็นผู้เล่นรายใหญ่ในระดับโลกด้วย

"ไฟแนนเชียล ไทมส์" ระบุว่า บริษัทญี่ปุ่นกำลังปรับตัวขนานใหญ่ เพราะตลาดในบ้านซบเซา ทำให้ต้องออกไปพึ่งตลาดต่างประเทศมากขึ้น โดยบรรดาเจแปน อิงก์ เริ่มหันมาเพิ่มความหลากหลายในองค์กรมากขึ้น ซึ่งรวมถึงการเปิดรับ พนักงานชาวต่างชาติ และให้ความสำคัญกับภาษาอังกฤษ จากเดิมที่มีวัฒนธรรมแบบปิด เน้นความเข้มงวดเคร่งครัด และจ้างพนักงานที่พูดภาษาญี่ปุ่นเป็นหลัก

"โตชิบา" เป็นหนึ่งในบริษัทญี่ปุ่นที่เปิดประตูรับชาวต่างชาติ เพื่อเสริมแกร่งในการเป็นบริษัทระดับโลก โดยล่าสุดบริษัทจ้างพนักงานชาวต่างชาติ 35 คน ซึ่ง "เซอิชิโร ซูซูกิ" หัวหน้าฝ่ายทรัพยากรบุคคล เปิดใจว่า โตชิบาพยายามเพิ่มความหลากหลาย ในองค์กร เพราะมีความเป็นไปได้ที่จะเกิดวิกฤต หรือไม�สามารถเติบโตได� หากไม�จ้างพนักงานให้หลากหลายขึ้น

ทั้งนี้ โตชิบามีพนักงานชาวต่างชาติเพียง 250 คน จากพนักงานทั้งหมด 35,000 คน ใน 315 บริษัทในเครือที่อยู่ ทั่วโลก แต่นับจากนี้บริษัทตั้งเป้าจะจ้างพนักงานต่างชาติราว 100 คนต่อปี

เช่น เดียวกับ "ลอว์สัน" ร้านสะดวกซื้อ ที่มีแผนจ้างพนักงานต่างชาติเพื่อรองรับการขยายสาขาในต่างประเทศ โดยในปีหน้าเตรียมจ้างชาวต่างชาติ 20 คน เพื่อเสริมแกร่งในตลาดเอเชีย ขณะที่เชนดิสเคานต์สโตร์ญี่ปุ่น "ดอน กีโฆเต้" (Don Quixote) มีแผนจ้างพนักงานชาวจีนที่จบปริญญาตรี 50 คน จากทั้งหมด 130 คนที่จะรับเพิ่มในฤดูใบไม้ผลิหน้า ส่วน "ราคุเทน" เว็บช็อปปิ้งออนไลน์ชื่อดังเน้นใช้ภาษาอังกฤษเป?นภาษาทางการของบริษัท

น่า สนใจว่า เป้าหมายของเจแปน อิงก์เหล่านี้ ไม่ใช่แค่การเพิ่มทีมผู้บริหารที่จะช่วยขยายธุรกิจนอกบ้าน แต่ยังรวมถึงการสร้างวัฒนธรรมองค์กรที่มีความหลาก หลายมากขึ้น เพื่อกระตุกไอเดียและ มุมมองใหม่ ๆ ในการทำธุรกิจ

เพราะการมี พนักงานที่มีภูมิหลังแตกต่างกันจะช่วยให้บริษัทมีมุมมองที่ต่างออกไป ที่สำคัญการจ้างพนักงานที่สามารถคิดนอกกรอบได้จะเป็นประโยชน์ต่อบริษัท ดังกรณีของลอว์สันที่เคยถูกลูกค้าต่างชาติตั้งคำถามว่าทำไมถึงเตรียมตะเกียบ สำหรับกินซุปมิโซ แทนที่จะใช้ช้อน เพราะผู้บริหารของลอว์สันที่เป็นชาวญี่ปุ่นไม่เคยคิดเรื่องนี้ ส่วนผู้บริหารต่างชาติของดอน กีโฆเต้ ก็มองเห็นในบางเรื่องที่ถูกละเลย เช่นการรักษาความสะอาดในห้องน้ำ และการอบรมให้พนักงานแคชเชียร์ยิ้มให้ลูกค้า

ข้อมูลจาก "โตโย เคไซ" ระบุว่า บริษัทญี่ปุ่นควรจะเปิดโอกาสให้กับพนักงาน ผู้หญิง ชาวต่างชาติ และผู้ที่พูดภาษาอังกฤษได้ เพราะปัจจุบันมีผู้หญิงนั่งเก้าอี้บริหารเพียง 1.2% และมีชาวต่างชาตินั่งในบอร์ดบริหารน้อยมาก ยกเว้นในบริษัทขนาดใหญ่ที่กำลังประสบปัญหา อาทิ "โซนี่" ที่มี "โฮเวิร์ด สตริงเจอร์" นั่งควบเก้าอี้ประธานบริษัทและซีอีโอตั้งแต่ปี 2548 และ "นิสสัน" ที่มี "คาร์ลอส กอส์น" นั่งแท่นซีอีโอ

เว็บไอริช ไทมส์ รายงานว่า แม้บริษัทญี่ปุ่นจะขยายธุรกิจออกไปนอกบ้านนานแล้ว แต่การบริหารและควบคุมก็ยังมาจากบอร์ดบริหารของบริษัทแม่ในญี่ปุ่น นอกจากนี้ ผู้บริหารชาวญี่ปุ่นที่แทบจะพูดอังกฤษไม่ได้กลับออกไปบริหารงานในเอเชีย ยุโรป และสหรัฐ ทั้งที่บริษัทญี่ปุ่นควรเปลี่ยนวัฒนธรรมองค์กรเพื่อรับกระแสโลกาภิวัตน์ ดังกรณีของ "ยูนิโคล" แบรนด์เสื้อผ้าที่ประสบความสำเร็จใน ต่างประเทศ โดยส่วนหนึ่งเกิดจากการให้ความสำคัญกับภาษาอังกฤษ

นอกจากเรื่องภาษา บริษัทญี่ปุ่นยังมีปัญหาจากวัฒนธรรมเดิม ๆ อาทิ การจ้างงานตลอดชีวิต การให้ความสำคัญกับเรื่องอาวุโส และการโปรโมตตำแหน่ง ที่ล่าช้ามาก

ดัง นั้น หากบริษัทไม่ปรับเรื่องวัฒนธรรมและการสื่อสาร ก็อาจเกิดปัญหาตามมาจากความไม่เข้าใจ อย่างกรณีของ "โตโยต้า" ที่ต้องเผชิญกับปัญหาที่ซับซ้อนจากระบบกฎหมายในประเทศต่าง ๆ และผู้บริโภคที่แตกต่างจากญี่ปุ่น

ด้าน "อีโคโนมิสต์" ตั้งข้อสังเกตว่า การจะแก้ปัญหาประชากร ญี่ปุ่นจำเป็นต้องปรับเปลี่ยนวัฒนธรรม เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการผลิต การเพิ่มแรงงานทั้งกลุ่มผู้หญิง คนสูงวัย และแรงงานอพยพ รวมถึงต้องกระตุ้นเศรษฐกิจในประเทศ พร้อม ๆ กับเจาะตลาดต่างประเทศให้ได้

โดย เฉพาะการเพิ่มขีดความสามารถในการผลิต ซึ่งเป็นจุดเปลี่ยนสำหรับบริษัทญี่ปุ่น โดยจะต้องรื้อลำดับชั้นในการบริหารออกไปบ้าง เพื่อให้ได้คนใหม่ ๆ และความคิดใหม่ ๆ ซึ่งจำเป็นต้องเปิดกว้างเรื่อง พนักงานให้หลากหลายมากขึ้น จึงจะสามารถคิดค้นผลิตภัณฑ์ที่ตอบโจทย์ในตลาดต่าง ๆ ได้