Thai / English

รายงาน: เมื่อจีนเข้มงวดให้บรรษัทข้ามชาติมีสหภาพแรงงาน


วิทยากร บุญเรือง
30 .. 51
ประชาไท

รัฐบาลจีนใช้กฎหมายแรงงานฉบับใหม่รวมถึงการเข้มงวดให้บรรษัทข้ามชาติอนุญาตให้พนักงานในสถานประกอบการของตนจัดตั้งสหภาพแรงงานได้ เพื่อลดความตึงเครียดของชนชั้นกรรมาชีพในประเทศ หลังจากที่ในช่วงหลายปีมานี้พวกเขาก้าวสู่ระบบทุนนิยมอย่างเต็มตัว และเชื้อชวนนักลงทุนจากต่างประเทศโดยใช้จุดเด่นในเรื่องของทุนมนุษย์ที่มีราคาถูก

แต่ยังมีข้อวิจารณ์สำหรับองค์กรที่ควบคุมกิจกรรมสหภาพแรงงานในจีน ที่มีลักษณะรวมศูนย์ มีการควบคุมไม่ปล่อยให้เกิดขบวนการแรงงานที่มีอิสระ และไม่ได้รับการยอมรับจากนานาชาติ

ทั้งนี้ตลาดแรงงานของโลกยังคงยืดหยุ่นเสมอ เมื่อบรรษัทข้ามชาติหลายแห่งเริ่มหาทางหนีทีไล่ด้วยยุทธศาสตร์ "จีนบวกหนึ่ง" เพิ่มการลงทุนประเทศบ้านใกล้เรือนเคียงแถบเอเชีย เพื่อลดการพึ่งพาจากแหล่งผลิตสินค้าในจีนเพียงชาติเดียว

***หลุมหลบภัย***

กว่า 2 ปีหลังจากที่สหพันธ์แรงงานจีน (All China Federation of Trade Unions: ACFTU) ได้รับชัยชนะในการกดดันให้มีการตั้งสหภาพแรงงานในบรรษัทข้ามชาติยักษ์ใหญ่ในกิจการค้าปลีกอย่าง Wal-Mart ได้สำเร็จ

หลังจากนั้นเป็นต้นมา ACFTU ได้ผลักดันให้รัฐบาลจีนกวดขันกับการตั้งสหภาพแรงงานในบรรษัทข้ามชาติต่างๆ ที่ทะลักเข้ามาขุดทองในประเทศที่มีทุนมนุษย์ราคาถูกแห่งนี้ โดยเฉพาะ 500 บรรษัทข้ามชาติชั้นนำของโลก (Fortune 500 company)* ที่ถูกจับตามองว่าละเมิดสิทธิแรงงานอย่างหนัก ในทุกที่ที่พวกเขาไปลงทุนทำกิจการค้าขาย

ตั้งแต่วันที่ 11 มิถุนายน ที่ผ่านมา ACFTU ได้เริ่มแคมเปญรณรงค์ 100 วัน (‘100-day focused action’) โดยเรียกร้องให้ 500 บรรษัทข้ามชาติชั้นนำของโลกที่มาลงทุนในจีน อนุญาตให้พนักงานในสถานประกอบการจัดตั้งสหภาพแรงงานได้

โดยมีเป้าหมายให้มีสหภาพแรงงานในบรรษัทข้ามชาติเหล่านี้ถึง 80% ซึ่งแคมเปญนี้ได้สิ้นสุดในวันที่ 30 กันยายน

ก่อนหน้านั้นเมื่อเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา พบว่าใน 500 บรรษัทข้ามชาติชั้นนำของโลกที่มาลงทุนในจีนมีสหภาพแรงงานเพียง 50% เท่านั้น -- สำหรับนักลงทุน แคมเปญนี้ถูกวิจารณ์ว่าเป็นการรีบร้อนจนเกินเหตุ เมื่อหน่วยงานทางสหภาพแรงงานของรัฐอาจจะดำเนินคดีกับบรรษัทข้ามชาติที่ปฏิเสธการจัดตั้งสหภาพภายในสถานประกอบการ

ทั้งนี้หลายบรรษัทเริ่มขยับตัวและผ่อนปรนตาม เนื่องด้วยพวกเขาได้หว่านเม็ดเงินมหาศาลในการลงทุนในจีนไปแล้ว โดยยักษ์ใหญ่อย่าง IBM และ Volvo ก็เพิ่งยอมให้พนักงานจัดตั้งสหภาพแรงงานในสถานประกอบการในจีนของตน ซึ่งทั้งคู่ตามหลังบรรษัทอย่าง Wal-Mart, Sony, Canon, FedEx, Intel, และ Toyota แต่ทั้งนี้ในภูมิภาคต่างๆ ของโลกที่พวกเขาได้เข้าไปประกอบกิจการนั้น พวกเขากลับต่อต้านลัทธิสหภาพแรงงานอย่างหัวชนฝา

สำหรับแรงงานจีนเริ่มมีความหวังที่ดีขึ้น ตั้งแต่กฎหมายแรงงานฉบับใหม่ถูกบังคับใช้ตั้งแต่ต้นปี ที่กำหนดให้แรงงานจะต้องมีสัญญาจ้างเพื่อลดจำนวนแรงงานจ้างชั่วคราว กำหนดให้ชัดเจนว่าการจ้างงานต้องมีสัญญาเป็นลายลักษณ์อักษร นอกจากนี้ยังกำหนดให้ต้องดูแลรับผิดชอบต่อแรงงานดีขึ้นและกำหนดให้นายจ้างต้องจ่ายค่าสวัสดิการแก่สังคม – ทั้งนี้แรงงานจีนเองอาจจะต้องเรียนรู้สิทธิที่พวกเขาได้บนหน้ากระดาษเพิ่มมากขึ้นในระยะเวลาอีกหลายปีก็เป็นได้

***ไม่เป็นอิสระ****

ACFTU เป็นสหพันธ์แรงงานที่มีสมาชิกมากที่สุดในโลก คือมีสมาชิกประมาณ 193 ล้านคน จากสหภาพแรงงานในเครือของ ACFTU ที่มีมากกว่า 1,7000,000 แห่ง ACFTU ก่อตั้งเมื่อปี 1925 จากนั้นอีกสองปีในปี 1927 รัฐบาลชาตินิยมจีนของเจียง ไค-เชค ก็ได้พยายามทำลายองค์กรแรงงานแห่งนี้

ACFTU กลับมารุ่งเรืองอีกครั้งหลังจากที่พรรคคอมมิวนิสต์จีนเถลิงสู่อำนาจในปี 1949 และเกือบถูกทำลายอีกครั้งเช่นเดียวกัน ในยุคปฏิวัติวัฒนธรรมของจีน -- ACFTU จัดการประชุมสมาชิกครั้งแรกในปี 1957 และตั้งแต่ยุคทศวรรษที่ 1990s เป็นต้นมา ACFTU ถูกควบคุมอย่างเข้มงวดจากกฎหมายสหภาพแรงงานของจีน

ทั้งนี้ ACFTU ถูกวิจารณ์อย่างหนักในเรื่องการเป็นองค์กรแรงงานรวมศูนย์ผูกขาดกิจกรรมทางด้านแรงงานอย่างถูกกฎหมายในจีน เป็นเครื่องมือควบคุมแรงงานของรัฐบาลจีน และในประเทศจีนนั้น สหภาพแรงงานนอกการควบคุมของ ACFTU จะถือว่าเป็นสหภาพแรงงานเถื่อน และหากแรงงานก่อตั้งสหภาพที่เป็นอิสระจาก ACFTU เมื่อใด บ่อยครั้งที่จะต้องถูกลงโทษให้ไปใช้แรงงานในค่ายแรงงานหรือถูกคุมขัง

รวมถึงการไม่ถูกยอมรับจากขบวนการแรงงานในระดับนานาชาติ ซึ่งสมาพันธ์สหภาพแรงงานอิสระนานาชาติ (International Confederation of Free Trade Unions: ICFTU) ได้จัดวางให้ ACFTU เป็นองค์กรแรงงานที่ไม่เป็นอิสระจากรัฐ และวิพากษ์วิจารณ์ว่า ACFTU ไม่ได้มีจุดมุ่งหวังดำเนินกิจกรรมเพื่อเป็นปากเป็นเสียงให้แรงงานเลยทีเดียว

***จีน+1 ***

หลังจากการปรับโครงสร้างและปรับตัวเพื่อรองรับการลงทุนจากต่างชาติใหม่ (รูปธรรมชัดเจนที่สุดก็คือกฎหมายแรงงานฉบับใหม่ของจีน) ทำให้ต้นทุนการลงทุนในจีนสูงขึ้นในช่วงที่ผ่านมา บรรษัทข้ามชาติหลายแห่งต้องหันไปใช้กลยุทธ์ "จีนบวกหนึ่ง" คือเพิ่มการลงทุนประเทศบ้านใกล้เรือนเคียงแถบเอเชีย สำรองไว้เพื่อลดการพึ่งพาจากแหล่งผลิตสินค้าในจีนเพียงชาติเดียว

จีนกลายเป็นแหล่งน่าลงทุนด้านอุตสาหกรรมมากสุดในโลก เมื่อปีที่แล้วสามารถดึงดูดเม็ดเงินได้ 83,000 ล้านดอลลาร์ แต่การลงทุนก็เติบโตอย่างรวดเร็วในประเทศอื่นของเอเชียเช่นกัน โดยเฉพาะเวียดนาม จนทำให้มีคำพูดที่นิยมกันในหมู่นักลงทุนตะวันตกว่า เวียดนามจะตามรอยจีนในอนาคต ส่วนกัมพูชาซึ่งดึงดูดผู้ผลิตเครื่องนุ่งห่มเพราะค่าแรงถูก ก็จะเดินตามรอยเวียดนามต่อไป

"ระบอบคอมมิวนิสต์มีเสถียรภาพมากกว่า" นายซู หัวหน้าคณะเจ้าหน้าที่การเงิน (CFO) เทกซ์ฮอง กล่าว ความเห็นของเขาคล้ายคลึงกับผู้บริหารรายอื่นในเอเชีย แม้แต่ผู้บริหารในสหรัฐบางคนก็เห็นพ้องเช่นกัน แต่ไม่ได้ประกาศอย่างโจ่งแจ้ง

จุดขายสำคัญสุดของเวียดนามที่สามารถดึงดูดบริษัทหลายแห่ง คือ "เสถียรภาพทางการเมือง" โดยเวียดนามมีระบบการปกครองแบบพรรคคอมมิวนิสต์พรรคเดียวเหมือนจีน ทำให้สามารถควบคุมอำนาจได้อย่างมั่นคง มีการเปลี่ยนแปลงนโยบายและตัวผู้นำอย่างช้าๆ

ระบอบประชาธิปไตยที่พบในไทยและฟิลิปปินส์ กลายเป็นปัจจัยลดความเชื่อมั่นของนักลงทุน เพราะเสี่ยงต่อการเกิดรัฐประหารและภาวะไร้เสถียรภาพ บริษัทต่างชาติวิตกต่อความพยายามแก้ไขกฎหมายประกอบธุรกิจคนต่างด้าว หลังเกิดรัฐประหารเมื่อเดือน ก.ย. 2549

แต่กระนั้น โครงสร้างทางสังคมของจีนและเวียดนามมีลักษณะคล้ายคลึงกันโดยเฉพาะวัฒนธรรมการปลูกฝังแนวคิดสังคมนิยม, การมีสหภาพแรงงาน และเช่นเดียวกับจีน ในระยะเวลาไม่กี่ปีที่ผ่านมาขบวนการแรงงานในเวียดนาม (ซึ่งไม่ได้เป็นอิสระจากรัฐ) เริ่มมีการตื่นตัวต่อการกดขี่แรงงานของบรรษัทข้ามชาติ และมีการประท้วงหยุดงานอยู่เนืองๆ

--------

* Fortune 500 company คือเหล่าบรรษัทข้ามชาติยักษ์ใหญ่ที่ถูกจัดอันดับโดยนิตยสาร Fortune เรียงตามอันดับผลประกอบการ

……

ที่มา:

http://en.wikipedia.org/wiki/ACFTU

China: Foreign companies must have unions (IMF, 26-09-2008)

Membership required:Trade unions in China (The Economist, 31-07-2008)

ชีพจรธุรกิจโลก : ต่างชาติตั้งรง.สำรองนอกจีน (เว็บไซต์กรุงเทพธุรกิจ, 21-06-2)

รายงานเกี่ยวเนื่อง:

รายงาน: Coca-Cola กับการรุกคืบแปรรูปแรงงานประจำให้กลายเป็นจ้างเหมาช่วงในจีน