Thai / English

เลห์แมน-เมอร์ริล“ล้ม”สะเทือน“แรงงาน”งินเดือนเฉลี่ยในวอลล์สตรีทตกฮวบฮาบ



15 .. 51
ผู้จัดการ

รอยเตอร์ – การล้มละลายของเลห์แมน บราเธอร์ส และการถูกเทคโอเวอร์ของเมอร์ริลลินช์ ได้ส่งผลสะเทือนอย่างรุนแรง ต่อตลาดแรงงานในภาคการเงินการธนาคาร ที่กำลังย่ำแย่ของสหรัฐฯ และอาจจะส่งผลทำให้เงินเดือนเฉลี่ยในวอลล์สตรีทลดฮวบลงมาด้วย

เลห์แมนกำลังจะยื่นขอให้ศาลคุ้มครองภายใต้ภาวะล้มละลาย ส่วนเมอร์ริลก็จะถูกควบรวมไปเป็นส่วนหนึ่งของแบงก์ออฟอเมริกา เท่ากับว่าวาณิชธนกิจยักษ์ 4 แห่งที่จัดเป็นเสาหลักทั้ง 4 ของวอลสตรีทหายไปถึง 2 เสา ในชั่วเวลาเพียงข้ามคืนเท่านั้น

บรรดาเฮดฮันเตอร์หรือผู้ไล่ล่าหาผู้บริหารเข้าไปประจำบริษัทต่าง ๆ รวมทั้งบริษัทที่ปรึกษาตลาดแรงงานกล่าวว่า ภาคการเงินการธนาคารของสหรัฐฯได้ลดคนงานไปแล้วมากกว่า 100,000 ตำแหน่งในปีนี้ และจากสถานการณ์ที่เป็นอยู่มีเค้าว่าจะต้องปลดพนักงานเพิ่มอยู่ไม่น้อยกว่า 50,000 ตำแหน่ง

“วันจันทร์(15)จะต้องมีการส่งเรซูเม่หรือประวัติการทำงานเพื่อสมัครงานกันขนานใหญ่แน่นอน” ไมเคิล คาร์ป ประธานฝ่ายบริหารของออปชั่นส์ กรุ๊ปในนิวยอร์คซึ่งเป็นบริษัทที่ปรึกษาและเฮดฮันเตอร์กล่าว

“และจะส่งผลต่อระดับเงินเดือนในปีนี้ทั้งในวอลสตรีทและทั่วโลก” เขากล่าว

“ปีทองแห่งผลตอบแทนอันสูงลิ่วในอุตสาหกรรมบริการทางการเงินสิ้นสุดลงแล้ว คนที่มองหางานก็จะหางานได้ยากมากขึ้น อย่างพนักงานของแบร์สเติร์นส์ที่ยังไม่ได้งานเป็นต้น”

เมื่อวันอาทิตย์(14)ที่ผ่านมา การเจรจาในชั่วโมงสุดท้ายเพื่อขายหุ้นของเลห์แมน ยังคงประสบความล้มเหลวโดยสิ้นเชิง และทำให้เลห์แมนต้องเลือกที่จะประกาศภาวะล้มละลาย

ในขณะเดียวกัน แบงก์ออฟอเมริกา ซึ่งเป็นธนาคารใหญ่เป็นอันดับสองของสหรัฐฯเมื่อวัดจากสินทรัพย์ ก็สรุปการเจรจาเพื่อควบรวมเมอร์ริล ลินช์ ที่มีกิจการนายหน้าค้าหลักทรัพย์รายใหญ่ที่สุดของโลก ท่ามกลางความประหลาดใจของใครต่อใคร แต่ก็เห็นชัดว่าเป็นความพยายามป้องกันมิให้เมอร์ริลต้องประสบกับชะตากรรมเช่นเดียวกับเลห์แมน

กุสตาโว ดอลฟีโน ประธานของไวท์ร็อค บริษัทจัดหางานกล่าวว่า หลายฝ่ายคาดกันว่า ในจำนวนพนักงานเมอร์ริลซึ่งไม่ใช่โบรกเกอร์ที่มีอยู่ราว 60,000 คนนั้น แบงก์ออฟอเมริกาจะปลดมากกว่า 40% หรือเท่ากับราว 24,000 คน ซึ่งเมื่อรวมกับพนักงานอีกราว 26,000 คนจากเลห์แมนก็ส่งผลสะเทือนต่อตลาดแรงงานอย่างรุนแรง

และหากว่าสถาบันการเงินทั้งสองต้องหายไปก็จะทำให้เมืองนิวยอร์ก ซึ่งพึ่งพาอุตสาหกรรมการเงินอย่างมากต้องกระทบกระเทือนไปด้วย

“พวกทำงานด้านการเงินจะไม่ได้รับเงินเดือนอย่างที่เคยได้รับมาก่อนหน้านี้ เพราะพวกเขาต้องร้องขอให้บริษัทรับเข้าทำงาน ไม่ได้เลือกบริษัทที่จะไปทำงานเหมือนเมื่อก่อนอีกแล้ว” ดอลฟิโนกล่าวพร้อมทั้งเสริมด้วยว่าทั้งรัฐบาลกลางและมลรัฐต่าง ๆก็อาจเก็บภาษีรายได้ได้น้อยลง และทำให้ภาครัฐไม่มีทางเลือกต้องหันมาขึ้นภาษีเพื่อให้ได้รายได้เท่าเดิม

แม้ว่าวอลล์สตรีทจะไม่ใช่ผู้ว่าจ้างรายใหญ่ที่สุดของนิวยอร์ก แต่ก็เป็นเสาหลักด้านเศรษฐกิจของเมืองแห่งนี้ เชื่อกันว่าพนักงานหนึ่งคนในภาคการเงินของเมืองสามารถสร้างรายได้มากกว่ารายได้ของผู้ทำงานอื่น ๆ 4 อาชีพรวมกันเสียอีก อันเนื่องมาจากเงินเดือนที่สูงลิบลิ่วของพวกเขา

ปัญหาวิกฤตสินเชื่อที่ดำเนินมาราวหนึ่งปี ได้ก่อให้เกิดการขาดดุลงบประมาณทั้งของนครและมลรัฐนิวยอร์ก

วิลเลี่ยม ธอมป์สันซึ่งเป็นหัวหน้าฝ่ายการเงินของเมืองนิวยอร์กแสดงความวิตกว่า ปัญหาของเลห์แมนจะส่งผลต่อเศรษฐกิจและรายได้จากภาษีของนิวยอร์ก นอกจากนี้ผลสะเทือนจากเลห์แมนอาจกระจายออกไปในช่วงหลายเดือนข้างหน้า เพราะตลาดหุ้นอาจตกรุนแรงไม่เฉพาะแต่ในสหรัฐฯอาจรวมทั้งทั่วโลก ซึ่งจะทำให้บริษัทการเงินอื่น ๆที่กำลังอยู่ในสถานะคาบลูกคาบดอกตอนนี้ร่วงลงไปด้วย

บรรดาที่ปรึกษาในตลาดแรงงานกล่าวว่าการดิ้นรนหางานทำอาจทำให้บรรดาผู้ที่มีความสามารถไหลไปตามแรงซื้อตัวของบริษัทต่าง ๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งต่างประเทศที่ยังไม่ประสบปัญหาเรื่องเศรษฐกิจมากเท่ากับสหรัฐฯ

คาร์ปกล่าวว่าบรรดาเฮดจ์ฟันด์ , กองทุนบริหารสินทรัพย์และบริษัทครอบครัวต่าง ๆจะได้รับผลดีจากการที่เลห์แมนและเมอร์ริลปลดคนงานจำนวนมาก เพราะพนักงานฝีมือดีจะไหลเข้าสู่บริษัทเหล่านี้

นอกจากนี้บริษัทในตะวันออกกลางและรัสเซียก็กำลังมองหามืออาชีพจากสหรัฐฯเข้าไปทำงานด้วย และตอนนี้บริษัทเหล่านี้สามารถเลือกพนักงานได้แล้ว และเป็นโอกาสที่จะได้คนเก่ง ๆเข้าไปปรับปรุงการทำงานให้แข็งแกร่งและแข่งขันในระดับนานาชาติได้มากขึ้น