Thai / English

แรงงานอยุธยาปิดเคสลูกจ้างเหมาอยุธยาเร็วทันใจ



03 .. 57
http://voicelabour.org

กระทรวงแรงงานยุติปัญหาลูกจ้างเหมาค่าแรงหลังรับเรื่องร้องเรียนเพียงหนึ่งวัน นัดทุกฝ่ายถกนานกว่า 6 ชั่วโมง ได้ข้อยุติเป็นที่พอใจกับทุกฝ่าย ลูกจ้างเหมา 11 คนได้รับเงินชดเชยและเงินช่วยเหลือ อีก 1 คนใช้สิทธิฟ้องศาล

เมื่อวันที่ 28 ตุลาคม 2557 เวลาประมาณ 10.00 น. นายวินิจฉัย ศาสตร์วินิจฉัย นักวิชาการชำนาญการสำนักงานสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานจังหวัดพระนครศรีอยุธยาได้เชิญลูกจ้างเหมาค่าแรง ตัวแทนบริษัทเหมาค่าแรงต้นสังกัด และตัวแทนบริษัทที่ลูกจ้างเข้าปฏิบัติงานแห่งหนึ่ง ร่วมหาข้อยุติกรณีที่ลูกจ้างเหมาค่าแรงได้ไปร้องเรียนที่กระทรวงแรงงานเมื่อวันที่ 27 ตุลาคม 2557 โดยมีเจ้าหน้าที่จากกระทรวงแรงงานเข้าร่วมเจรจาด้วย

การเจรจาเริ่มขึ้นเมื่อเวลา 10.00 น. โดยมีการแบ่งกลุ่มลูกจ้างเหมาค่าแรงเป็น 4 กลุ่มคือ กลุ่มลูกจ้างที่เจ็บป่วย ตั้งครรภ์และตาบอด ที่ถูกบีบให้เขียนใบลาออกก่อนจะหมดสัญญาการจ้างโดยไม่ได้รับค่าชดเชยและเงินช่วยเหลือ กลุ่มลูกจ้างที่หมดสัญญาการจ้างแต่ไม่ได้รับค่าชดเชย กลุ่มลูกจ้างที่ไม่ได้รับคืนเงินประกัน และกลุ่มลูกจ้างที่ถูกส่งตัวคืน ซึ่งมีลูกจ้างทั้งหมดรวม 12 คน และได้รับการแก้ไขจำนวน 11 คน มีเพียงกรณีที่ลูกจ้างถูกส่งตัวต้นสังกัดที่ทั้งสามฝ่ายไม่สามารถตกลงกันได้

สำหรับทั้งลูกจ้างทั้ง 11 คนได้รับการชดเชยและช่วยเหลือจากบริษัททั้งสองแห่งดังนี้

1. น.ส.อรวรรณ ยินดี ซึ่งถูกให้เขียนใบลาออกในระหว่างที่ตั้งครรภ์ 6 เดือน ได้รับสิทธิเงินชดเชยและเงินช่วยเหลือ 50,000 บาท

2. นายประเมียน พลเพ็ง ซึ่งถูกแมลงบินเข้าตาจนตาบอด เมื่อกลับเข้าทำงานกลับถูกให้เขียนใบลาออก ได้รับค่าชดเชยจำนวน 4 เดือน

3. น.ส.ขนิษฐา แสงพิรุณ กรณีเจ็บป่วยบ่อยจนถูกให้เขียนใบลาออก ได้รับเงินช่วยเหลือ 25,000 บาท

4. นายชาตรี บุญเลี้ยง กรณีเจ็บป่วยลาหยุดงานต่อเนื่องจนถูกให้เขียนใบลาออก ได้รับค่าชดเชยจำนวน 6 เดือน

5. นายสมพงษ์ พิณเสนาะ กรณีไม่ต่อสัญญาและไม่ได้รับเงินประกัน ได้รับค่าชดเชยจำนวน 6 เดือนพร้อมทั้งได้รับคืนเงินประกัน 3,000 บาท

6. นางวีณา จารุโยธิน กรณีไม่ต่อสัญญา ได้รับค่าชดเชยจำนวน 6 เดือน พร้อมทั้งได้รับเงินค่าจ้างที่บริษัทจ่ายให้ไม่ครบอีก 2,000 บาท

7. นายวัชริน กล่องคำนวณการ กรณีไม่ต่อสัญญา ได้รับค่าชดเชย 3 เดือน

8. นายวรวุฒิ พงษ์เจริญ กรณีไม่ต่อสัญญาได้รับค่าชดเชย 3 เดือน

9. นายวีระวัฒน์ เขียววงศ์ใหญ่ กรณีไม่ต่อสัญญา ได้รับค่าชดเชย 6 เดือน

10. นายอมร แซ่เอี๊ยะ กรณีไม่ต่อสัญญาได้รับค่าชดเชย 8 เดือน

11. นายวิชาญ มีแสงเพ็ชร กรณีไม่ได้รับคืนเงินประกัน ได้รับคืนเงินประกัน 3,000 บาท และดอกเบี้ยเหมาจ่าย 4,000 บาท

ส่วนในกรณีที่มีลูกจ้างถูกส่งตัวคืนนั้น ทางผู้บริหารของบริษัทที่ลูกจ้างเข้าไปปฏิบัติงานไม่ขอเจรจาเนื่องจากก่อนส่งตัวคืนต้นสังกัด ได้ขอพูดคุยกับลูกจ้างแล้วเพื่อขอให้ไปถอนฟ้องกรณีมาตรา 11/1 พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน 2541 แต่ลูกจ้างไม่ยินยอม จึงส่งตัวคืนต้นสังกัด และลูกจ้างยังคงยืนยันไม่ยอมถอนฟ้อง กรณีนี้จึงให้เป็นไปตามกระบวนการของกฎหมายต่อไป จากนั้นได้ทำบันทึกข้อตกลงซึ่งทางฝ่ายนายจ้างยินดีที่จะจ่ายเงินทั้งหมดให้เสร็จสิ้นก่อนวันที่ 15 พฤศจิกายน 2557 นี้ และทางฝ่ายลูกจ้างยินยอมที่จะไม่ใช้สิทธิทางกฎหมายอื่นในการเรียกร้องสิทธิประโยชน์ใดๆกับทั้ง 2 บริษัทฯนี้อีก การเจรจาสิ้นสุดลงเมื่อเวลา 16.30 น.

นักสื่อสารแรงงาน รายงาน