Thai / English

ลืมกำพืดต้นเหตุสหภาพอ่อนแอ ชี้หนุนพิพิธภัณฑ์แรงงานเป็นแหล่งเรียนรู้



05 .. 57
http://voicelabour.org

วงเสวนาประวัติศาสตร์ชี้สหภาพแรงงานไทยขาดการถ่ายทอดเรื่องราวการต่อสู้ในอดีต ทำให้แรงงานรุ่นใหม่ไม่รู้จักและไม่เข้าร่วม ส่วนที่มีอยู่ก็มุ่งแต่เรื่องเฉพาะหน้าของตนจนหลงลืมความเป็นขบวน ขาดเอกภาพจนส่งผลให้ขบวนการแรงงานไม่เข้มแข็ง เสนอให้แต่ละสหภาพมีพิพิธภัณฑ์หรือมุมประวัติศาสตร์ของตัวเอง และต้องช่วยกันสนับสนุนพิพิธภัณฑ์แรงงานไทยให้มีบทบาทเป็นแหล่งเรียนรู้ด้านประวัติศาสตร์แรงงานไทย เพื่อให้สังคมได้เห็นคุณค่าของแรงงานทั้งในเรื่องการมีส่วนในการพัฒนาประเทศ และการต่อสู้ให้เกิดสิทธิต่างของคนทำงานในสังคม

มูลนิธิพิพิธภัณฑ์แรงงานไทย ร่วมกับ มูลนิธิฟรีดริค เอแบร์ท จัดเสวนาเรื่อง พิพิธภัณฑ์แรงงานไทย – แนวทางการพัฒนาเป็นศูนย์การเรียนรู้ เมื่อวันที่ 3 มิถุนายน 2557 ณ ห้องเพชรชมพู โรงแรมบางกอกพาเลซ กรุงเทพฯ โดยมีนักวิชาการด้านประวัติศาสตร์และพิพิธภัณฑ์ร่วมอภิปราย

ในวงเสวนาแสดงความเห็นว่า ประวัติศาสตร์เป็นเรื่องสำคัญที่จะทำให้การมุ่งไปข้างหน้ามีทิศทางที่ถูกต้องไม่ซ้ำรอยความผิดพลาด เปรียบเสมือนการขับรถไปข้างหน้าแต่ก็ต้องมีกระจกมองข้างหลังด้วย และว่าสังคมไทยที่กำลังเป็นอยู่ในปัจจุบันก็เพราะไม่ยอมเอาบทเรียนจากประวัติศาสตร์มาใช้

ในส่วนของแรงงานก็กลายเป็นกลุ่มที่สังคมไม่ให้การนับถือยกย่องทั้งที่มีส่วนร่วมในการพัฒนาประเทศนี้มาตลอด นั่นเพราะไม่มีการบอกเล่าเรียนรู้เรื่องราวของแรงงานอย่างให้ความสำคัญต่อเนื่อง ทำให้แรงงานซึ่งที่จริงแล้วก็คือคนทำงานทุกคน ขาดรากเหง้ากลายเป็นกลุ่มที่ไม่มีคุณค่ากับสังคมเหมือนกับกลุ่มอื่นที่ได้รับการยอมรับยกย่องมากกว่าเช่นกลุ่มทุนธุรกิจ

มีข้อเสนอว่า สหภาพแรงงานต่างๆควรจะมีพิพิธภัณฑ์หรือแหล่งเรียนรู้ประวัติศาตร์ของสหภาพเอง เพื่อให้แรงงานได้รู้จักกำพืดของตัวเอง เพราะปัจจุบันแรงงานที่เข้ามาใหม่ๆมักไม่ค่อยยอมรับและเข้าร่วมเป็นสมาชิกของสหภาพ เพราะคิดว่าตัวเองสบายแล้วโดยไม่รู้ว่าผลประโยชน์และสิทธิต่างๆนั้นได้มาจากการต่อสู้ของคนรุ่นก่อนๆ ส่วนสหภาพใหญ่หลายแห่งแม้จะมีภาพว่าเข้มแข็งแต่ก็มักจะสนใจแต่เฉพาะเรื่องของตนเองจนไม่สนใจในการรวมตัวสร้างเอกภาพให้เข้มแข็งเหมือนขบวนการแรงงานในอดีตที่ต่อสู้ได้กฎหมายสำคัญๆ เช่นประกันสังคม หรือการลาคลอด 90 วัน

ส่วนพิพิธภัณฑ์แรงงานไทยที่เกิดขึ้นมา 20 ปีแล้วนั้น จัดเป็นพิพิธภัณฑ์ด้านประวัติศาสตร์ที่นำเสนอเฉพาะเรื่องแรงงาน ถือว่าเป็นศูนย์การเรียนรู้อยู่แล้วที่ทำให้สังคมได้รับรู้เรื่องราวของแรงงานได้มากขึ้น เป็นแหล่งท่องเที่ยวที่ทั้งคนไทยและต่างประเทศจะได้ทั้งความบันเทิงและความรู้ และควรพัฒนาเนื้อหาให้ไม่เป็นเพียงแต่นำเสนอเรื่องราวในอดีต แต่ควรต้องมีเรื่องสถานการณ์หรือประเด็นแรงงานสำคัญๆในปัจจุบันที่ต้องนำมาเสนอเพื่อเชื่อมให้เห็นอนาคตของแรงงาน เช่นการเปิดเสรีประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน หรือ AEC แล้วสถานการณ์ของแรงงานไทยจะเป็นอย่างไร

ทั้งนี้นักวิชาการเห็นว่า พิพิธภัณฑ์แรงงานไทยเป็นสิ่งที่มีคุณค่าต่อสังคม ภาครัฐหรือหน่วยงานธุรกิจเอกชนที่ทำเรื่องความรับผิดชอบต่อสังคม หรือ CSR ก็สามารถให้การสนับสนุนด้านเงินทุนได้ แต่ในแง่ความยั่งยืนแล้ว องค์กรแรงงานซึ่งมีเครือข่ายจำนวนมากควรต้องช่วยกันรักษาสถานที่ประวัติศาสตร์ของตัวเองไว้ให้ได้เป็นลำดับแรก ซึ่งก็จะช่วยให้คุณค่าของผู้ใช้แรงงานปรากฎต่อสังคมตลอดไป