Thai / English

นายจ้างต้องจัดการกับความสับสนของนโยบายแรงงานข้ามชาติ


อานดี้ ฮอลล์ ที่ปรึกษาด้านต่างประเทศของสมาพันธ์แรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์และเครือข่ายสิทธิแรงงานข้ามชาติ
19 .. 57
ประชาไท

แรงงานข้ามชาติจากประเทศเมียนมาร์ราว 2 ล้านคนที่ทำงานอยู่ทั่วประเทศไทยกังวลต่อเส้นตายที่ไม่สมเหตุสมผลเกี่ยวกับการอนุญาตให้ทำงานในประเทศไทย ประเทศทั้งสองตกลงกันเมื่อ พ.ศ. 2546 ว่าคนงานเหล่านี้จะสามารถอยู่ในประเทศไทยได้เพียง 4 ปี จากนั้นต้องกลับประเทศต้นทางไปเป็นเวลาอย่างน้อย 3 ปีเสียก่อนจึงจะสามารถกลับเข้ามาใหม่ได้

การจำกัดระยะเวลาการอยู่ในประเทศไทยนี้บังคับใช้กับแรงงาน “ถูกกฎหมาย” ที่ผ่านกระบวนการพิสูจน์สัญชาติแล้วตั้งแต่ พ.ศ. 2552 เป็นต้นมา เมื่อกระบวนการดังกล่าวสิ้นสุดลงเมื่อปลายปี พ.ศ. 2556 ประเทศเมียนมาร์ได้ออกหนังสือเดินทาง “ชั่วคราว” 2 ล้านฉบับ แต่ก็มีปัญหาการขาดความโปร่งใส การทุจริตของเจ้าหน้าที่ นายหน้าที่ไม่มีการกำกับควบคุม และค่าใช้จ่ายที่สูง นายจ้างและคนงานไม่สามารถดำเนินการตามกระบวนการได้ด้วยตนเองโดยไม่ต้องพึ่งนายหน้าที่มีอิทธิพลเพื่ออำนวยความสะดวกให้กับผู้ที่จ่ายเงินและขัดขวางผู้ที่ไม่จ่าย

ตั้งแต่เดือนมิถุนายน พ.ศ. 2556 หลายเดือนก่อนเกิดความวุ่นวายทางการเมืองในประเทศไทย การอนุญาตให้แรงงานเมียนมาร์ที่ผ่านการพิสูจน์สัญชาติแล้วสามารถอยู่ในประเทศไทยได้ 4 ปี เริ่มครบกำหนด แต่รัฐบาลเมียนมาร์และไทยยังคงนิ่งเฉย ไม่มีการเจรจาระหว่างสองประเทศ และไม่มีการประกาศนโยบายอย่างเป็นทางการว่าแรงงานที่ครบกำหนด 4 ปีจะต้องออกจากประเทศไทย มิฉะนั้นแล้วจะถูกจับกุมและเนรเทศ หรือว่าแรงงานจะสามารถอยู่ต่อไปได้

ในเดือนสิงหาคม เครือข่ายสิทธิแรงงานข้ามชาติ (Migrant Worker Rights Network - MWRN) เปิดเผยถึงสูญญากาศทางนโยบายดังกล่าวและเสนอให้มีการทบทวนการจำกัดระยะเวลา 4 ปี ซึ่งไม่สมเหตุสมผลและไม่เป็นผลดีต่อทั้งแรงงาน นายจ้าง และเศรษฐกิจของไทย แต่ภายในช่วงหลายเดือนที่ผ่านมา การอนุญาตให้พำนักในประเทศของแรงงานเมียนมาร์ 100,000 คนก็ได้หมดอายุไปแล้ว

เมื่อถึงเดือนตุลาคม มีการเจรจาระหว่างเมียนมาร์และไทย เห็นได้ชัดว่าความไร้ความสามารถ เจตนาที่ไม่ดี การทุจริตที่แพร่หลายในกระบวนการพิสูจน์สัญชาติที่ผ่านมา และระบบราชการเป็นปัจจัยที่กำหนดการเจรจานโยบายดังกล่าว มีการละเลยผลประโยชน์ของแรงงานข้ามชาติผู้ดิ้นรนเพื่อความอยู่รอดและเลี้ยงดูครอบครัว เนื่องจากภาคส่วนที่เกี่ยวข้องกลับมุ่งสนใจกับการต่อรองเพื่อผลประโยชน์ของตนบนความสูญเสียของแรงงาน

บันทึกการประชุมต่างๆ บ่งบอกว่าบรรดาเจ้าหน้าที่เห็นพ้องกันว่า เงื่อนไขที่ให้แรงงานกลับประเทศเมียนมาร์ไปเป็นเวลา 3 ปีหลังจากที่ได้อยู่ประเทศไทยมาจนครบกำหนดแล้วนั้นควรเปลี่ยนเป็นการกลับไปเป็นเวลาหนึ่งวันหรือกระทั่งแค่การประทับตราตรวจคนเข้าเมืองตามศูนย์ต่างๆ บริเวณชายแดน เห็นได้ชัดว่ามีการรับฟังความต้องการในส่วนของนายจ้างและความจำเป็นทางเศรษฐกิจ

ทว่าตั้งแต่นั้นมา ยังไม่มีนโยบายทางการใดๆ ออกมา แรงงานข้ามชาติหลายพันคนถูกนายจ้างเลิกจ้างโดยส่วนใหญ่ไม่มีการจ่ายค่าชดเชย นายจ้างจำนวนมากไม่ต้องการประสบปัญหายุ่งยากในกระบวนการต่อวีซ่าที่สับสน ในขณะที่นายจ้างอีกส่วนหนึ่ง (รวมถึงบริษัทส่งออกรายใหญ่ๆ) อ้างความสับสนในการปลดคนงานในช่วงการผลิตต่ำ แรงงานบางส่วนออกจากประเทศไทยก่อนวีซ่าหมดอายุ ในขณะที่อีกส่วนหนึ่งซึ่งวีซ่าหมดอายุแล้วต้องเผชิญการถูกรีดไถจากการที่ต้องจ่ายค่าปรับเนื่องจากอยู่นานเกินกำหนด

มีแรงงานจำนวนมากกลับไปเมียนมาร์แล้วกลับมาไทยโดยอาศัยช่องทางของนายหน้าจัดหางานของเมียนมาร์ที่ถูกกฎหมายแต่ไม่มีการควบคุม โดยต้องจ่ายค่าหนังสือเดินทาง “ถาวร” เล่มใหม่ในราคาแพง อีกกลุ่มหนึ่งทิ้งหนังสือเดินทางฉบับเดิมแล้วจ่ายเงินจำนวนมากแก่เจ้าหน้าที่เป็นค่าหนังสือเดินทางฉบับใหม่ในชื่อใหม่ที่ออกให้โดยศูนย์ออกหนังสือเดินทางที่เคยเปิดทำการในประเทศไทย ซึ่งทำให้ต้องสูญเสียสิทธิประโยชน์จากการประกันสังคมที่สะสมมาเป็นเวลา 4 ปี

แต่สำหรับแรงงานส่วนใหญ่ที่ครบกำหนดระยะเวลาแล้ว พวกเขาต้องติดค้างอยู่ในประเทศไทย เมื่อกำหนดเส้นตายให้ออกนอกประเทศผ่านพ้นไป พวกเขายังอยู่ต่อไปโดยต้องเสี่ยงต่อการถูกจับกุม การรีดไถหรือเนรเทศ สำหรับแรงงานหลายคนค่าปรับการอยู่เกินกำหนดวันละ 500 บาทชนเพดาน 20,000 บาทไปแล้ว

นายจ้างส่วนหนึ่งให้ความช่วยเหลือและที่พักพิงแก่แรงงาน ซึ่งไม่น่าประหลาดใจเมื่อคำนึงถึงความสำคัญของแรงงานเหล่านั้นต่อกระบวนการผลิตและความยุ่งยากและค่าใช้จ่ายในการหาแรงงานข้ามชาติใหม่ๆ บัตรแสดงการได้รับการคุ้มครองต่างๆ เริ่มมีปรากฏให้เห็นและมีการจ่ายสินบนให้กับเจ้าหน้าที่ นายจ้างถูกบอกให้ทำการรวบรวมรายชื่อคนงานที่อยู่เกินกำหนดและส่งไปให้กับเจ้าหน้าที่ท้องถิ่น

พอถึงสิ้นปี พ.ศ. 2556 ก็เกิดเหตุการณ์วุ่นวายทางการเมืองในประเทศไทย แผนการต่างๆ ที่จะจัดการกับสูญญากาศทางนโยบายที่รัฐบาลได้ระบุไว้นั้นไม่สามารถดำเนินการได้เนื่องจากเป็นรัฐบาลรักษาการ แต่ขณะนี้ได้ผ่านไป 6 เดือนแล้ว และควรมีการดูแลแก้ไขเรื่องนี้นานก่อนที่จะเกิดความวุ่นวายและสับสนเช่นนี้ เป็นที่ปรากฏชัดเจนว่าเจ้าหน้าที่และนายหน้าจำนวนมากยังคงอาศัยการขาดความชัดเจนทางนโยบายดังกล่าวในการแสวงหาประโยชน์ให้ตนเอง การอ้างความวุ่นวายทางการเมืองไม่ใช่ข้ออ้างหรือเหตุผลที่จะยอมรับกันได้เลย

ขณะที่ยังคงมีความสับสนทางนโยบายอยู่ เจ้าหน้าที่เมียนมาร์ก็ประกาศว่าจำเป็นต้องมีกระบวนการ “พิสูจน์”ใหม่ที่มีราคาแพงเพื่อประกอบการออกหนังสือเดินทาง “ถาวร” แทนของเดิมที่เป็นฉบับ “ชั่วคราว” มีแต่แรงงานที่มีบัตรประจำตัวประชาชนของเมียนมาร์และทะเบียนบ้านเท่านั้นที่จะสามารถทำหนังสือเดินทางใหม่ได้ กระบวนการในการขอเอกสารเหล่านี้สำหรับแรงงานจำนวนมาก (โดยเฉพาะแรงงานที่อยู่ในชนบท) ใช้เวลานานมาก แต่หากมีการติดสินบนเจ้าหน้าที่ ก็จะเร็วและง่ายขึ้น

การตัดสินใจของเมียนมาร์ที่ต้องการให้มีกระบวนพิสูจน์สัญชาติใหม่นั้นได้เปิดช่องทางให้กับบริษัทนายหน้าของเมียนมาร์ที่ไม่มีการกำกับดูแล ให้มีบทบาทสำคัญในการจัดการให้แรงงานที่ยังอยู่ในประเทศไทยได้มีบัตรประจำตัวประชาชนและทะเบียนบ้านในเมียนมาร์ ท่ามกลางความสับสนทางนโยบาย ผลประโยชน์ของเมียนมาร์จากกระบวนการแรงงานข้ามชาตินั้นเห็นได้ชัดเจน

ปัญหาประการหนึ่งที่ถูกหยิบยกขึ้นมาบ่อยครั้งเกี่ยวกับกระบวนการพิสูจน์สัญชาติครั้งที่ผ่านมาคือ เจ้าหน้าที่และนายหน้าคนไทยได้ประโยชน์มากกว่าเจ้าหน้าที่และนายหน้าของเมียนมาร์ เนื่องจากขั้นตอนต่างๆ ดำเนินไปในประเทศไทยและถูกกำหนดโดยประเทศไทย เห็นได้ชัดว่าเมียนมาร์กำลังเรียกร้องส่วนแบ่งผลประโยชน์ให้มากขึ้น

แรงงานข้ามชาติที่เห็นว่ากระบวนการพิสูจน์สัญชาติที่ผ่านมานั้นไม่ได้มีการพิสูจน์อย่างแท้จริงและต้องการกระบวนใหม่หมด พบว่าตนเองได้รับหนังสือเดินทางชั่วคราวที่ไร้ค่า แม้พวกเขาต้องจ่ายเงินไปก้อนใหญ่ และมีความรู้สึกย่ำแย่ต่อรัฐบาลของตน

ในที่สุด 10 เดือนหลังจากที่แรงงานเมียนมาร์เริ่มประสบปัญหาการอยู่ครบกำหนด และจากความสนใจของสื่อและนานาชาติที่มีต่อวิกฤตทางนโยบายผู้อพยพของไทยอีกกรณีหนึ่ง การตอบสนองของเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องก็เข้ารูปรอยอย่างช้าๆ ส่วนใหญ่เป็นผลจากการตกลงกันโดยไม่เปิดเผย

เจ้าหน้าที่ไทยหารือเพื่อหาทางยกเลิกหรือลดค่าปรับสำหรับการอยู่เกินกำหนดของแรงงานเพื่อช่วยให้พวกเขาอยู่อย่างถูกกฎหมาย ศูนย์ดำเนินการครบวงจรที่จัดการเรื่องการประทับตราการออกและเข้าประเทศและเอกสารอื่นๆ สำหรับแรงงานที่ยังคงถูกต้องตามกฎหมายเปิดทำการเมื่อสัปดาห์ที่แล้วที่ชายแดนไทย/เมียนมาร์

สถานทูตเมียนมาร์ที่กรุงเทพฯ จู่ๆ ก็กลายมาเป็นศูนย์กลางในการออกหนังสือเดินทางถาวร โดยแจกจ่ายเอกสารระบุขั้นตอนที่คลุมเครือและไม่มีตราประทับเป็นทางการให้กับบรรดาบริษัทนายหน้าต่างๆ

แรงงานจำนวนหนึ่งได้ไปรับหนังสือเดินทางถาวรฉบับใหม่ด้วยความช่วยเหลือจากบริษัทนายหน้าจัดหางานเมียนมาร์และบริษัทไทยที่มีเส้นสายที่ดำเนินการตามกระบวนการที่ซับซ้อนและราคาแพง และกำลังรอแนวทางแก้ไขเรื่องการอยู่เกินกำหนดก่อนที่จะมีการประทับตราเข้าและออกนอกประเทศเพื่อให้พวกเขามีสถานะถูกต้องตามกฎหมาย

ความสับสนทางนโยบายที่กำหนดระยะเวลา 4 ปีได้แสดงให้เห็นถึงการไร้ความสามารถ การขาดหลักกฎหมาย การทุจริตอย่างเป็นระบบและการไม่ยินดียินร้ายของผู้มีหน้าที่เกี่ยวข้องในรัฐบาลที่จะสร้างนโยบายการย้ายถิ่นในระยะยาวที่เป็นประโยชน์ต่อแรงงานข้ามชาติ นายจ้าง และเศรษฐกิจ อย่างเท่าเทียมกัน รัฐบาลเมียนมาร์ทำให้ผู้ที่หวังความเป็นธรรมและมาตรการคุ้มครองจากการบริหารปกครองที่กำลังเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว ได้เห็นแล้วว่าพวกเขาไม่อาจหวังอะไรได้เลย

ทางออกหนึ่งจากความสับสนทางนโยบายครั้งนี้คือนายจ้างไทยต้องปฏิเสธที่จะให้ความร่วมมือแก่กระบวนการรีดไถแรงงานข้ามชาติที่ไม่โปร่งใสจากบริษัทนายหน้าที่ไร้การกำกับดูแล บรรดาผู้มีบทบาทที่ทรงอิทธิพลเหล่านี้ ซึ่งก็คือบริษัทส่งออกที่ใช้แรงงานจำนวนมาก เป็นฝ่ายเดียวที่มีอำนาจที่จะยืนหยัดสู้กับรัฐบาลและปกป้องแรงงานของตน ซึ่งเป็นเส้นเลือดของธุรกิจ จากการถูกรังแกและเอารัดเอาเปรียบ

ในขณะเดียวกัน ประชาคมระหว่างประเทศพึงรับรู้ว่าการยืดระยะเวลาการอยู่ในประเทศไทยสำหรับแรงงานข้ามชาติเมียนมาร์หลายล้านคนนั้นได้เสื่อมสลายกลายไปเป็นการแสวงหากำไรและเอารัดเอาเปรียบกันอย่างหน้ามืดตามัวเพียงไร นี่ไม่ใช่วิถีที่รัฐบาลที่ปวารณาตัวจะแก้ไขปัญหาการค้ามนุษย์พึงปฏิบัติแต่เป็นวิธีการปกครองที่ไม่ได้แสดงให้เห็นความมุ่งมั่นที่จะสร้างการเปลี่ยนแปลงใดๆ