Thai / English

ก่อสร้างอ่วมพิษค่าจ้าง300ชง5ข้อรัฐเร่งแก้

วิกฤตแรงงาน-ขึ้นค่าจ้างแรงงาน 300 บาท ป่วนไม่หยุดภาคก่อสร้าง สมาคมอุตสาหกรรมก่อสร้างไทยร้องรัฐ 5 มาตรการเร่งสางปัญหาด่วน

23 .. 56
โพสต์ทูเดย์

นายอังสุรัสมิ์ อารีกุล นายกสมาคมอุตสาหกรรมก่อสร้างไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ เปิดเผยว่าสมาคมฯได้รับการร้องเรียนจากสมาชิกสมาคมที่มีอยู่กว่า 500 บริษัท ถึงผลกระทบจากปัญหาการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ 300 บาททั่วประเทศ ส่งผลให้เกิดการขาดแคลนแรงงานและทำให้ต้นทุนการก่อสร้างสูงขึ้น โดยมีการเรียนอย่างจริงจังในปีที่ผ่านมา และทวีความรุนแรงมากขึ้นเรื่อยๆ

ทั้งนี้ปัญหาการขึ้นค่าแรงงาน ไม่ได้ส่งผลต่อการขาดแคลนแรงงานจำนวนมากแต่เพียงอย่างเดียว แต่มีผลกระทบกับโครงการที่มีการประมูลไปก่อนที่จะมีการปรับขึ้นค่าแรง ซึ่งทางสมาคมฯได้เสนอให้รัฐบาลเร่งหามาตรการแก้ไข แต่ที่ผ่านมารัฐบาลกลับไม่ใส่ใจในการที่จะแก้ปัญหาดังกล่าว ทางสมาคมจึงต้องมาร้องเรียนอีกครั้ง โดยได้เสนอ 5 มาตรการเร่งด่วนได้แก่

1.ให้ภาครัฐลดเพดานการหักค่าเค หรือสูตรการขอเงินชดเชยค่างานก่อสร้าง จากเดิมบวกลบ 4% เหลือบวกลบ 2% เป็นการชั่วคราว เพื่อช่วยเพิ่มเงินทุนหมุนเวียนในระหว่างการปรับตัวเพื่อยกระดับฝีมือแรงงาน

2. ขอให้ผู้ประกอบการก่อสร้างสามารถเคลื่อนย้ายแรงงานต่างด้าว ไปยังโครงการก่อสร้างต่างๆ ที่ผู้ประกอบการกำลังก่อสร้างอยู่ได้ทั่วประเทศ เพื่อลดปัญหาความขาดแคลนแรงงาน

3.ขอขยายสัญญางานก่อสร้างภาครัฐทั่วประเทศ อีก 180 วัน เนื่องจากผลกระทบจากการขาดแคลนแรงงานรุนแรง จึงทำให้ไม่สามารถส่งมอบงานตามที่ระบุไว้ในสัญญาที่จะส่งมอบได้

4.ขอให้หน่วยงานราชการใช้ค่าปรับรายวันในอัตราตายตัว 0.01% เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนของผู้ประกอบการจากผลกระทบการขาดแคลนแรงงาน

5. ให้ผู้ประกอบการก่อสร้างสามารถประกันผลงานของตนเองได้เมื่อผลงานก่อสร้างนั้นผ่านไป 6 เดือน โดยไม่ต้องใช้ค้ำประกันจากธนาคาร เป็นการลดภาระค่าใช้จ่ายที่ต้องเสียค่าธรรมเนียมให้กับธนาคาร และยังเป็นการเพิ่มเงินทุนหมุนเวียน ซึ่งทางสมาคมฯจะนัดหมายเพื่อยื่นหนังสือเรียกร้องต่อนายกรัฐมนตรีต่อไป และหากไม่ได้คำตอบจากรัฐบาลภายใน 1 เดือน หลังจากยืื่นหนังสือจะทำการประท้วง

สำหรับอุตสาหกรรมก่อสร้างไทยเมื่อปี 2555 มีมูลค่า ประมาณ 9.27 แสนล้านบาท เติบโต 17% โดยมีแรงงานในอุตสาหกรรมนี้ 2.8 ล้านคน เป็นแรงงานต่างด้าวประมาณ 2 แสนคน ส่วนปี 2556 การลงทุนภาคก่อสร้างไทยจะมีมูลค่าประมาณ 9.9 แสนล้านบาท เติบโตขึ้น 8.5%

ด้านนายวัฒนวุฒิ พิทยาวัฒน์ หุ้นส่วนผู้จัดการ หจก.ไพทีคอนสตรัคชั่น จ.ชุมพร ดำเนินธุรกิจรับเหมาก่อสร้างงานภาครัฐ กล่าวว่าผู้รับเหมาก่อสร้างในภาครัฐในภาคใต้ได้รับผลกระทบหนักสุด เนื่องจากแรงงานในภาคใต้จะไม่นิยมทำรับเหมาก่อสร้าง โดยจะนิยมทำงานในภาคการเกษตรและท่องเที่ยวเป็นหลัก ทำให้ต้องพึ่งแรงงานจากภาคอีสานเป็นหลัก

"ผลจากการเพิ่มค่าจ้างแรงงงานขั้นต่ำเท่ากันทั่วประเทศ ตั้งแต่เดือน ม.ค.ที่ผ่านมา ส่งผลให้แรงงานยิ่งขาดแคลนหนัก เพราะแรงงานจากภาคอีสานก็หนีกลับไปทำงานที่บ้านเกิดของตนเองและแรงงานก็หายากทำให้งานก่อสร้างไม่ทัน ทำให้มีปัญหาความล่าช้าในงานก่อสร้าง ซึ่งในช่วง 1 ปีที่ผ่านมาที่รับงานก่อสร้างอาคารประเภทโรงพยาบาลและโรงเรียน ไม่ได้มีกำไรจากงานก่อสร้าง โดยมีความคิดว่าจะปรับไปรับงานที่เน้นเครื่องจักร เช่นงานก่อสร้างถนน รวมไปถึงรับงานในภาคเอกชนมากขึ้น"นายวัฒนวุฒิกล่าว