Thai / English

แรงงานพม่าสร้างห้างดังเชียงใหม่ก่อม็อบประท้วงค่าแรงหาย

ศูนย์ข่าวเชียงใหม่ - แรงงานก่อสร้างพม่าห้างดังเมืองเชียงใหม่ก่อม็อบประท้วงหลังสงสัยค่าแรงหาย จังหวัดเร่งตั้งเวที 3 ฝ่ายเคลียร์ ด้านนายจ้างแจงมีกำหนดเวลาทำงานชัดเจน ส่วนเงินยันจ่าย 300 บาทครบถ้วนแถมโอนเข้าบัญชีโดยตรง ส่วนจัดงานจังหวัดชี้เป็นปัญหาการสื่อสาร

31 .. 56
ผู้จัดการ

วันนี้ (30 พ.ค.) แรงงานชาวพม่าจำนวนกว่า 60 คนได้รวมตัวกันที่บริเวณสถานที่ก่อสร้างห้างเซ็นทรัล เฟสติวัล ก่อนจะเดินเท้าไปชุมนุมกันต่อที่วัดทรายมูลพม่า และเคลื่อนขบวนต่อมายังศาลากลางจังหวัดเชียงใหม่ เพื่อประท้วงกรณีที่ได้รับค่าจ้างไม่ครบถ้วนและถูกหักเงิน ซึ่งการแก้ปัญหาดังกล่าวได้มีการส่งตัวแทนเข้าหารือร่วมกับฝั่งนายจ้าง และสำนักงานจัดหางานจังหวัดเชียงใหม่ โดยมีนายดิเรก ทะจันทร์ จัดหางานจังหวัดเชียงใหม่ เป็นประธานในการประชุม

การชุมนุมของกลุ่มแรงงานชาวพม่าซึ่งเป็นแรงงานที่ทำงานก่อสร้างห้างเซ็นทรัล เฟสติวัล บนถนนเชียงใหม่-ลำปางในครั้งนี้ สืบเนื่องจากกลุ่มแรงงานชาวพม่าอ้างว่าได้รับเงินค่าแรงไม่ครบถ้วนตามอัตราค่าจ้าง รวมทั้งถูกหักเงินโดยบริษัทผู้รับเหมา ทำให้กลุ่มแรงงานออกมาชุมนุม และเดินทางมายังศาลากลางจังหวัดเชียงใหม่เพื่อหารือกับฝ่ายนายจ้างและสำนักงานจัดหางานจังหวัดเชียงใหม่เพื่อหาข้อยุติในเรื่องดังกล่าว

ทั้งนี้ การก่อสร้างห้างเซ็นทรัล เฟสติวัลนั้นอยู่ในความรับผิดชอบของบริษัท เพาเวอร์ไลน์ เอ็นจิเนียริ่ง จำกัด (มหาชน) เป็นผู้ดำเนินการ และมีบริษัท เก่งพัฒนา จำกัด เป็นผู้รับผิดชอบในส่วนของแรงงานชาวพม่ากลุ่มดังกล่าว

ในที่ประชุมร่วม 3 ฝ่าย ซึ่งประกอบด้วย ตัวแทนจากฝั่งลูกจ้าง ตัวแทนจากบริษัท เพาเวอร์ไลน์ เอ็นจิเนียริ่ง จำกัด (มหาชน) และสำนักงานจัดหางานจังหวัดเชียงใหม่นั้น ฝ่ายลูกจ้างระบุว่ามีข้อสงสัยเกี่ยวกับการดำเนินการในส่วนของการจ้างงาน การทำงาน และค่าแรง ประกอบด้วยกรณีความไม่ชัดเจนในเรื่องของวันเวลาการทำงานและวันหยุด รวมถึงระยะเวลาการทำงานที่น้อยเกินไป ทำให้ได้เงินไม่คุ้มกับค่าใช้จ่าย กรณีการจ่ายค่าจ้างที่ไม่มีกำหนดเวลาชัดเจน กรณีเงินค่าจ้างที่ได้รับไม่ตรงกับอัตราค่าจ้างแรงงานขั้นต่ำ 300 บาท โดยไม่ทราบสาเหตุว่าเงินส่วนที่หายไปนั้นเกิดจากอะไร และกรณีที่ฝ่ายนายจ้างขาดการดูแลในเรื่องสวัสดิภาพและความเจ็บป่วย

ขณะที่ฝั่งบริษัท เพาเวอร์ไลน์ เอ็นจิเนียริ่ง จำกัด (มหาชน) ได้ชี้แจงว่า กรณีความไม่ชัดเจนเรื่องวันเวลาการทำงานนั้นมีการกำหนดไว้ชัดเจนว่าแรงงานจะต้องทำงาน 6 วันต่อสัปดาห์ โดยให้วันอาทิตย์เป็นวันหยุด และมีวันหยุดประจำปีอีก 13 วัน หากทำงานในวันหยุดนักขัตฤกษ์ก็จะได้รับค่าแรงเป็น 2 เท่า อย่างไรก็ตาม หากวันใดแรงงานไม่มีหน้าที่รับผิดชอบหรือผู้รับเหมาช่วงไม่ได้มอบหมายงานใดๆ ให้ทำแรงงานต้องแจ้งแก่บริษัทเพื่อที่จะได้จัดสรรให้ไปทำงานในส่วนอื่นๆ แทน มิฉะนั้นก็จะไม่ได้รับเงินรายได้ประจำวันนั้นๆ

ส่วนกรณีการจ่ายเงินค่าจ้าง บริษัทยืนยันว่ามีการจ่ายเงินวันละ 300 บาทตามอัตราค่าจ้างแรงงานขั้นต่ำ โดยจะมีการจ่ายเงินทุกวันที่ 10 และ 25 ของเดือน ทั้งในส่วนของค่าจ้างตามจำนวนวันที่ทำงานและค่าล่วงเวลาต่างๆ ซึ่งเงินทั้งหมดจะมีการโอนเข้าบัญชีของแรงงานโดยตรง เนื่องจากแรงงานจะมีบัตรเอทีเอ็มที่ทางบริษัทได้ดำเนินการเปิดบัญชีให้อยู่แล้ว โดยเงินที่บริษัทจ่ายก็จะเป็นไปตามที่ผู้รับเหมาหรือผู้ที่มีหน้าที่ดูแลได้บันทึกและจัดทำเป็นรายงานส่งมายังบริษัท ซึ่งในส่วนนี้สามารถตรวจสอบได้ แต่มีพนักงานส่วนหนึ่งที่เข้ามาทำงานใหม่และยังไม่ได้เปิดบัญชีจะได้รับเป็นเงินสดแทน

ด้านกรณีการดูแลสวัสดิภาพและการเจ็บป่วย ยืนยันว่าหากเกิดการเจ็บป่วยหรืออุบัติเหตุ บริษัทมีการดูแลอย่างเต็มที่ โดยมีการนำตัวเข้ารักษาในโรงพยาบาลและสำรองเงินจ่ายไปก่อนหากยังไม่มีการทำประกันสังคม แต่หากทำประกันสังคมถูกต้องตามกฎหมายแล้วแรงงานก็สามารถใช้สิทธิตามระบบได้

ด้านนายดิเรก ทะจันทร์ จัดหางานจังหวัดเชียงใหม่ ระบุว่า จากการรับฟังกรณีปัญหาดังกล่าวและข้อมูลจากทั้งสองฝ่าย เห็นว่าปัญหาสำคัญอยู่ที่การขาดการสื่อสารและให้ข้อมูลที่ครบถ้วนถูกต้องแก่แรงงาน จึงได้กำชับให้ฝั่งนายจ้างให้ความสำคัญต่อเรื่องดังกล่าวให้มากยิ่งขึ้น โดยควรจัดให้มีการประชุมชี้แจงข้อมูลต่างๆ อย่างสม่ำเสมอ รวมทั้งจัดหาล่ามที่มีความสามารถเพื่อช่วยถ่ายทอดข้อมูลที่ถูกต้อง รวมทั้งขอให้บริษัทผู้รับผิดชอบโครงการตรวจสอบและกวดขันการดำเนินการของบริษัทผู้รับเหมาช่วงในการดูแลแรงงานและการรายงานข้อมูลการทำงานของแรงงานเพื่อไม่ให้เกิดปัญหาขึ้นอีกในอนาคต

รายงานข่าวแจ้งว่า สาเหตุที่รายได้ของแรงงานหายไปบางส่วนตามที่แรงงานระบุว่าได้เงินเฉลี่ยเพียงวันละ 240-260 บาทนั้น เนื่องจากบริษัทผู้รับเหมาช่วงซึ่งดูแลกลุ่มแรงงานมีการหักเงินจากค่าแรงของแรงงานเพื่อเป็นค่าดำเนินการทำใบอนุญาตทำงาน ค่าอุปกรณ์และเครื่องมือป้องกันต่างๆ เป็นต้น ซึ่งการหักเงินดังกล่าวเดิมมีการแจ้งแรงงานไว้ตั้งแต่ก่อนเข้าทำงานรวมทั้งระบุจำนวนเงินแล้ว แต่ในเวลาต่อมากลับมีการเปลี่ยนแปลงตัวเลขและหักเงินเพิ่ม ทำให้แรงงานไม่พอใจจนนำมาสู่การรวมตัวประท้วงในครั้งนี้