Thai / English

ไอแอลโอระบุเอเชียยังไม่สิ้นยุคแรงงานถูก

แรงงานสากลชี้เอเชียดาหน้าขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ ไม่ได้หมายความถึงการหมดยุคแรงงานราคาถูก ยังห่างไกลค่าแรงขั้นต่ำในโลกตะวันตก

30 .. 56
กรุงเทพธุรกิจ

สำนักข่าวต่างประเทศรายงานว่า เมืองที่มีความมั่งคั่งของจีน อย่าง กว่างโจว และเสิ่นเจิ้น เตรียมที่จะปรับเพิ่มค่าจ้างแรงงานขั้นต่ำขึ้นอีก 19% ในวันแรงงานสากล 1 พ.ค.นี้ ซึ่งการเคลื่อนไหวดังกล่าวสอดคล้องกับการปรับขึ้นค่าจ้างแรงงานขั้นต่ำที่เกิดขึ้นในปีนี้ในแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ภูมิภาคที่ถือเป็นหนึ่งในคู่แข่งหลักของจีนในด้านอุตสาหกรรมการผลิตที่ต้องใช้แรงงานจำนวนมาก อย่าง สิ่งทอ รองเท้า ของเล่น และอาหารแปรรูป

เมื่อเดือนม.ค.ที่ผ่านมา ไทยเพิ่งประกาศปรับขึ้นค่าแรงงานขั้นต่ำทั่วประเทศราววันละ 10 ดอลลาร์ หรือ 300 บาท ถือเป็นการเพิ่มขึ้นทีเดียว 65% ขณะที่มาเลเซียก็เพิ่งประกาศแผนปรับขึ้นค่าจ้างแรงแรงงานขั้นต่ำเป็นครั้งแรก มาอยู่ที่ 300 ดอลลาร์ หรือประมาณ 9,000 บาทต่อเดือน เพิ่มจากแนวทางเดิมราว 50% ส่วนที่กรุงจาการ์ตา เมืองหลวงของอินโดนีเซีย ค่าแรงงานขั้นต่ำปรับขึ้นมาราว 40% มาอยู่ที่ 226 ดอลลาร์ หรือประมาณ 6,780 บาท

นายมัลเต ลูบเคอร์ ผู้เชี่ยวชาญอาวุโสด้านแรงงาน จากองค์กรแรงงานสากล (ไอแอลโอ) ในกรุงเทพมหานคร ระบุว่า กระแสการปรับขึ้นค่าจ้างแรงงานขั้นต่ำดังกล่าว อาจไม่ได้หมายความถึงการสิ้นสุดยุคแรงงานราคาถูก แต่อาจจะเป็นแค่เรื่องแรงงานราคาถูก ที่ได้รับเงินเพิ่มขึ้นเท่านั้น

ไอแอลโอ คำนวณให้เห็นว่า พนักงานโรงงานในฟิลิปปินส์ จะได้รับเงินค่าจ้างกลับบ้านราวชั่วโมงละ 1.40 ดอลลาร์ หรือประมาณ 42 บาท เทียบกับแรงงานในสหรัฐที่ได้ค่าแรงชั่วโมงละ 23.30 ดอลลาร์ หรือราว 699 บาท

ข้อมูลจากไอแอลโอ ยังแสดงให้เห็นว่า ค่าแรงงานขั้นต่ำโดยเฉลี่ยรายเดือน ปรับตามอัตราเงินเฟ้อในเอเชีย เพิ่มขึ้นมาเกือบ 2 เท่าในช่วงทศวรรษที่ผ่านมา โดยมีจีนเป็นประเทศที่มีการปรับขึ้นมากสุด ตามนโยบายของรัฐบาลกรุงปักกิ่ง ที่ต้องการกระตุ้นรายได้ และการบริโภคภายในประเทศ ควบคู่ไปกับการโยกย้ายฐานการลงุทนจากมณฑลแถบชายฝั่งทะเล ไปยังพื้นที่ตอนในประเทศ

การที่ค่าจ้างแรงงานเพิ่มสูงขึ้น แม้กระทั่งในมณฑลที่ขึ้นชื่อว่าเป็นชนบทของจีน ทำให้ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา อุตสาหกรรมที่ต้องใช้แรงงานจำนวนมาก พากันโยกย้ายฐานการผลิตจากจีน ไปยังประเทศอื่นๆ อย่าง บังกลาเทศ กัมพูชา อินโดนีเซีย และเวียดนาม ซึ่งสำหรับผู้ผลิตในประเทศเหล่านี้ ค่าแรงที่เพิ่มขึ้นได้เริ่มส่งผลต่อส่วนต่างผลกำไรของแต่ละรายแล้ว โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในช่วงที่ผู้นำเข้าจากสหรัฐ และยุโรป พากันหั่นส่วนต่างราคาอย่างหนัก ในช่วงเวลาที่บ้านเกิดตกอยู่ในภาวะเศรษฐกิจถดถอย และอัตราว่างงานอยู่ในระดับสูง

นายเปอร์โนโม นาร์มิอาดิ ประธานสมาคมนายจ้างในเมืองเบกาซี ซึ่งเป็นศูนย์กลางโรงงานผลิตเสื้อผ้า และรองเท้าของอินโดนีเซีย ซึ่งมีค่าจ้างแรงงานขั้นต่ำเพิ่มขึ้นมาแล้ว 40% นับแต่เดือนม.ค.ที่ผ่านมา ระบุว่า ลูกค้าของโรงงานต่างๆ ไม่ยอมจ่ายเงินเพิ่มขึ้นแม้แต่บาทเดียว ทั้งยังบอกด้วยว่า พวกเขาสามารถไปทำสัญญาผลิตกับโรงงานในเวียดนามได้ตลอดเวลา

อย่างไรก็ดี การที่อุตสาหกรรมที่ใช้แรงงานจำนวนมาก จะสามารถโยกฐานการผลิตไปหาประเทศที่มีต้นทุนการผลิตต่ำกว่า ยังเป็นเรื่องที่หลายฝ่ายกังขาอยู่

นายฟาม ธุย ลิว ผู้อำนวยกาารบริษัทฮานอย เอ็มซา ฮาโปร โรงงานผลิตเสื้อผ้าของบริษัทเกาหลีใต้ในเวียดนาม ระบุว่า เขาเคยได้ยินเกี่ยวกับความเป็นไปได้ที่บางบริษัทจะย้ายฐานการผลิตไปยังประเทศอื่น ที่มีค่าจ้างถูกกว่า อย่าง ลาว หรือพม่า แต่ลาวก็เป็นประเทสขนาดเล็ก ที่ไม่มีแรงงานมากพอ ขณะที่พม่าก็ยังมีโครงสร้างพื้นฐานที่ย่ำแย่

ทางด้านนายเหงียน กวาง วินห์ ผู้อำนวยวิทยาลัยอุตสาหกรรมสิ่งทอแห่งฮานอย ระบุว่า ผู้นำเข้าทุกรายจำเป็นต้องยอมรับในราคาสินค้าที่เพิ่มสูงขึ้น ถ้าหากยังต้องการนำเข้าจากเวียดนามอยู่ และว่า ส่วนต่างกำไรของโรงงานผลิตแห่งต่างๆ ลดลงอย่างมาก เพราะราว 65% ของกำไรที่ได้มา จะต้องนำไปจ่ายเป็นค่าจ้างแรงงาน เทียบกับระดับ 50% เมื่อราว 5 ปีก่อน

ค่าแรงที่เพิ่มขึ้น ยังกดดันให้ผู้ผลิตเอเชียต้องดำเนินการผลิตให้มากขึ้น เพื่อการอยู่ รอด โดนนางสาวกัณญภัค ตันติพิพัฒน์พงศ์ โฆษกสมาคมผู้ผลิตอาหารสำเร็จรูปของไทย แสดงความเห็นว่า ค่าจ้างขั้นต่ำวันละ 300 บาทนั้น ช่วยให้ผู้ผลิตสามารถรักษาแรงงานในภาคการผลิตไว้ได้