Thai / English

ค่าแรง300บาทพ่นพิษ220โรงงานส่อเจ๊ง

"เอสเอ็มอี"เหนืออ่วมค่าแรง 300 คาดเดือนมิ.ย. 220โรงงานพะเยา-ลำปางปิดกิจการ "สภาอุตฯ-หอการค้า" โวยเข้าไม่ถึงมาตรการลดผลกระทบของรัฐบาล

11 .. 56
กรุงเทพธุรกิจ

หลังการปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำ 300 บาทในช่วง 2 เดือนที่ผ่านมานับตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค.2556 กระทรวงแรงงาน โดย นายเผดิมชัย สะสมทรัพย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน พร้อมคณะได้ลงพื้นที่เพื่อให้ความรู้และรับฟังข้อมูลผลกระทบจากการขึ้นค่าจ้างของผู้ประกอบการสถานประกอบการขนาดกลางและขนาดย่อมในพื้นที่ภาคเหนือ

นายเผดิมชัย กล่าวว่า ค่าแรงเป็นปัจจัยสำคัญของการผลิตซึ่งใน จ.พะเยา ถือเป็นจังหวัดที่มีการปรับค่าจ้างมากที่สุดใน 2 ระยะ คือจาก 159 บาทเป็น 222 บาท ในปี 2555 และ เป็น 300 บาท ในปี 2556 จึงอยากลงพื้นที่มารับทราบผลกระทบจากผู้ประกอบการที่แท้จริง เพื่อนำไปประกอบการแก้ปัญหา ขณะเดียวกันรัฐบาลได้มีการออกมาตรการมาบรรเทาผลกระทบในหลายมาตรการ ทั้งการเสริมสภาพคล่อง มาตรการลดต้นทุน โดยผ่านกระบวนการลดเงินสมทบประกันสังคมและมาตรการภาษี มาตรการเพิ่มผลิตภาพแรงงาน และ มาตรการส่งเสริมการขายโดยผ่านโครงการธงฟ้า คาราวานสินค้าราคาถูก และโครงการร้านค้าถูกใจ

ในส่วนของการเลิกจ้างจากผลกระทบ 300 บาทใน จ.พะเยามีเพียง 8 ราย ในสถานประกอบการ 5 แห่งเท่านั้น เบื้องต้นจึงประเมินได้ว่าผลกระทบมีไม่มากนัก ส่วนข้อเรียกร้องที่ต้องการให้รัฐบาลจัดสรรงบประมาณมาตั้งกองทุนช่วยเหลือนั้นไม่สามารถทำได้เพราะยังไม่ทราบผลกระทบที่ชัดเจน จึงอยากให้แจ้งผลกระทบที่เกิดขึ้นจริง ส่วนการจ้างแรงงานต่างด้าวก็สามารถไปยื่นขอโควตาได้ที่ศูนย์บริการแบบเบ็ดเสร็จที่ จ.เชียงรายได้

สำหรับสถานการณ์ด้านแรงงานใน จ.พะเยา มีสถานประกอบการจำนวน 1,238 แห่ง มีลูกจ้างรวม 9,009 คน ซึ่งเป็นสถานประกอบการขนาดเล็ก 1,217 แห่ง ขนาดกลาง 17 แห่ง และขนาดใหญ่ 4 แห่ง ส่วนใหญ่เป็นการประกอบธุรกิจประเภทค้าปลีก ค้าส่ง รองลงมาเป็นกิจการก่อสร้าง สถาบันการเงิน

อุตฯพะเยาชี้ธุรกิจรากหญ้าอ่วมหนัก

ด้านนายบุญชู กมุทมาโนชญ์ ประธานสภาอุตสาหกรรมจังหวัดพะเยา กล่าวว่า หลังจากมีการปรับค่าจ้างขั้นต่ำ 300 บาท ได้สร้างผลกระทบอย่างหนักต่อผู้ประกอบการในจังหวัด โดยสถานประกอบการใน จ.พะเยาจะต้องมีการประเมินการวางแผนธุรกิจเป็นไตรมาสต่อไตรมาส จากภาวะต้นทุนธุรกิจที่ก้าวกระโดด โดยการปรับค่าจ้าง 2 ครั้งที่ผ่านมา ทำให้ค่าจ้างขั้นต่ำใน จ.พะเยาปรับเพิ่มขึ้นถึง 90%

"การปรับค่าจ้าง 300 บาท ส่งผลกระทบกับสถานประกอบการเอสเอ็มอีจำนวน 10% หรือประมาณ 100 แห่ง ของสถานประกอบการเอสเอ็มอีทั้งหมด1,238 แห่ง โดยคาดว่าจะเห็นผลกระทบชัดเจนในไตรมาสที่ 2 หรือในเดือนมิ.ย.นี้ ซึ่งกลุ่มธุรกิจเอสเอ็มอีที่มีแนวโน้มจะปิดกิจการ คือกลุ่มสินค้าอุตสาหกรรมพื้นบ้านที่เป็นเอสเอ็มอีระดับรากหญ้า เช่น ตะเกียบ เย็บปักถักร้อย ส่วนธุรกิจขนาดใหญ่ในพื้นที่ไม่ได้รับผลกระทบจากการปรับค่าจ้าง 300 บาท เนื่องจากอิงในหลักเกณฑ์การปรับค่าจ้างจากราคาตลาด ส่วนมาตรการที่รัฐบาลออกมาช่วยเหลือทั้ง 27 มาตรการ ไม่สามารถช่วยเหลือเอสเอ็มอีระดับรากหญ้าได้ เพราะเข้าไม่ถึง เช่น การลดเงินสมทบประกันสังคม 1 % ไม่สามารถช่วยลดต้นทุนได้ เพราะลูกจ้างในสถานประกอบการเอสเอ็มอีมีจำนวนน้อย" นายบุญชู กล่าว

ร้องตั้งกองทุนเยียวยาอุ้มเอสเอ็มอี

นายบุญชู กล่าวอีกว่า การปรับค่าจ้างครั้งนี้ยังส่งผลให้ขีดการแข่งขันของ จ.พะเยาลดลง ไม่สามารถแข่งขันกับสินค้าของประเทศเพื่อนบ้านได้ เช่น จีน เวียดนาม ส่วนที่ว่าหลังจากที่มีการปรับค่าจ้าง 300 บาทแล้วจะมีแรงงานย้ายกลับมาทำงานที่บ้านนั้น ขณะนี้ก็ยังไม่มีแรงงานย้ายกลับมา แรงงานยังคงทำงานอยู่ในกรุงเทพฯเช่นเดิม นอกจากนี้ ยังทำให้วิถีชีวิตของคน จ.พะเยาเปลี่ยนแปลง ความผูกพันระหว่างนายจ้างกับลูกจ้างหายไปด้วย

นายบุญชู กล่าวว่า สิ่งที่ต้องการเรียกร้องให้รัฐบาลช่วยเหลือ ได้แก่ การจัดสรรงบประมาณมาตั้งกองทุนเยียวยาเพื่อช่วยเหลือเอสเอ็มอีโดยตรง เพราะไม่สามารถเข้าถึงแหล่งเงินกู้ได้ และขยายเขตพื้นที่ชายแดนมายัง จ.พะเยา เพื่อให้สามารถจ้างแรงงานต่างด้าวมาทำงานได้มากขึ้น แก้ปัญหาขาดแคลนแรงงาน แม้จะต้องจ่ายค่าจ้าง 300 บาทเท่ากับแรงงานไทย แต่แรงงานต่างด้าวไม่มีวันหยุดเทศกาล ทำให้ผู้ประกอบการสามารถส่งสินค้าได้ตรงตามกำหนดเวลา

เซรามิกลำปางเดือดร้อนหนัก

ส่วนจ.ลำปาง มีสถานประกอบการ 28 ประเภท รวม 4,125 แห่ง ลูกจ้าง 57,523 คน ส่วนใหญ่เป็นสถานประกอบการขนาดเล็ก ได้แก่ การผลิตอาหาร รองลงมาเป็นค้าปลีกค้าส่ง การผลิตไม้และเครื่องเรือน เซรามิกและแก้ว เป็นต้น ขณะที่ในเดือนม.ค.-ก.พ.ที่ผ่านมา มีผู้ประกันตนขอรับประโยชน์ทดแทนกรณีว่างงาน 1,003 คน มีการร้องทุกข์กรณีไม่ได้รับค่าจ้างขั้นต่ำ 300 บาท จำนวน 18 ราย และมีผู้ประกอบการขอรับคำปรึกษาอีก 2 ราย

นายอธิภูมิ กำธรวรรินทร์ ประธานกิติมศักดิ์สภาอุตสาหกรรมจังหวัดลำปาง กล่าวว่า สถานประกอบการใน จ.ลำปางได้มีการปรับตัว โดยการปรับลดการจ้างงานแรงงานที่ไม่มีประสิทธิภาพ ประมาณ 10-30% เช่น ในโรงงานบางแห่งเหลืออยู่ 50 คนจากเดิม 200 คน ซึ่งเมื่อลดจำนวนแรงงานลง ผลิตภัณฑ์ก็ลดน้อยลง ทำให้รายได้น้อยกว่าเดิม และต้องปรับการจ้างงานแบบรายวันเป็นการจ้างแบบรายชิ้นแทน

จี้รัฐตั้งกองทุนชดเชยค่าจ้าง

ส่วนมาตรการการช่วยเหลือภาคธุรกิจของรัฐบาล 15 ข้อนั้น สามารถช่วยเหลือผู้ประกอบการได้บางมาตรการเท่านั้น แต่บางมาตรการแทบใช้ไม่ได้ ซึ่งสิ่งที่ภาคธุรกิจต้องการมากที่สุดคือ การตั้งกองทุนชดเชยส่วนต่างค่าจ้าง แต่รัฐบาลไม่รับข้อเสนอในเรื่องนี้ นอกจากนี้ อยากให้รัฐบาลผ่อนปรนหลักเกณฑ์การกู้สินเชื่อให้ภาคธุรกิจ เพื่อให้สามารถกู้เงินได้สะดวกขึ้น นอกจากนี้อยากให้ขยายเขตจ้างแรงงานต่างด้าว

คาดไตรมาส2ปิดกิจการเพียบ

ขณะนี้ผู้ประกอบการประสบปัญหาหนักมากหลังจากปรับขึ้นค่าจ้างมา 2 ครั้ง และในเดือนเม.ย.นี้จะเกิดวิกฤตเนื่องจากราคาเชื้อเพลิงที่เพิ่มสูงขึ้น ทำให้ช่วงเดือนมิ.ย.นี้ คาดว่าสถานประกอบการเอสเอ็มอีใน จ.ลำปางจะปิดกิจการ 10% หรือ 120 แห่ง จาก 1,200 แห่ง โดยในกลุ่มที่จะปิดกิจการ ได้แก่ เฟอร์นิเจอร์ไม้ เซรามิก ซึ่งนอกจากเรื่องการปรับขึ้นค่าจ้างแล้ว ผู้ประกอบการยังจะมีภาระค่าใช้จ่ายเรื่องค่าวัตถุดิบ ค่าขนส่ง และค่าเชื้อเพลิงด้วย

ทั้งนี้ การปิดกิจการหรือการเลิกจ้างในปัจจุบันอยู่ในกลุ่มธุรกิจรายเล็ก ทำให้รัฐบาลไม่ทราบข้อมูลผลกระทบอย่างแท้จริง

นายกิติศักดิ์ สินวนาทรัพย์ เจ้าของบริษัทลำปางศิลปนคร จำกัด จ. ลำปาง ทำกิจการเซรามิก ยอมรับว่า ที่โรงงานมีลูกจ้างทั้งหมด 265 คน แต่มีลูกจ้างจำนวน 30 คน ที่ยังไม่ปรับขึ้นค่าจ้างให้ 300 บาทตามกฎหมาย เนื่องจากเป็นลูกจ้างใหม่ ยังไม่มีประสบการณ์ แต่ถ้าโรงงานสามารถปรับเพิ่มราคาสินค้าเซรามิกได้ จะปรับค่าจ้างให้กับลูกจ้างที่เหลือ และใน 2 ปีนี้ถือว่า จ.ลำปางมีการปรับขึ้นค่าจ้างแบบก้าวกระโดด จากวันละ 165 บาท เมื่อปี 2554 เป็น 300 บาทในปี 2556 ส่งผลให้ต้นทุนปรับเพิ่มสูงขึ้นถึงร้อยละ 40 กิจการขนาดกลางและเล็กหลายแห่งปิดตัวลงอย่างเงียบๆ แล้วหลายแห่ง

ซึ่งมาตรการช่วยเหลือที่ภาครัฐกำหนดไม่ช่วยแก้ปัญหา ทั้งมาตรการลดภาษี ที่สถานประกอบการลำปางเข้าไม่ถึง เพราะเป็นกิจการครอบครัว รวมถึงมาตรการลดเงินสมทบประกันสังคม ที่ยื่นขอลดในอัตราร้อยละ 3 แต่รัฐบาลลดให้เพียงร้อยละ 1 นอกจากนี้ต้องการให้รัฐบาลเจรจากับธนาคาร เพื่อผ่อนปรนในการปล่อยเงินกู้