Thai / English

แรงงานชี้ปิด SMEs ไม่เกี่ยว 300 บาท คาดหลังเดือน ก.พ.ทุกอย่างจะชัดขึ้น



17 .. 56
เครือมติชน

หนึ่งเรื่องที่หลาย ๆ ฝ่ายกังวลหลังจากผ่านพ้นเทศกาลปีใหม่ 2556 คือ การปรับขึ้นอัตราค่าจ้างขั้นต่ำเป็นวันละ 300 บาททั่วประเทศ โดยมีผลประกาศใช้ในวันที่ 1 มกราคม 2556 ที่ผ่านมา

แน่นอนว่าเมื่อมีการปรับขึ้นค่าจ้างจึงส่งผลให้ต้นทุนการผลิตเพิ่มสูงขึ้นตามไปด้วย และนี่คือสาเหตุที่ทำให้เหล่าผู้ประกอบการต่างวิตกกังวลจนบางแห่งเริ่มปิดกิจการบ้างแล้ว ซึ่งผลกระทบที่เกิดขึ้นหลาย ๆ ฝ่ายต่างคิดว่า นี่คือผลกระทบจากการปรับขึ้นอัตราค่าจ้างขั้นต่ำอย่างแน่นอน

แต่ความคิดเห็นดังกล่าว กลับตรงข้ามกับ "น.พ.สมเกียรติ ฉายะศรีวงศ์" ปลัดกระทรวงแรงงาน ที่ได้แถลงข่าวเรื่องสถานการณ์ด้านแรงงานหลังการปรับอัตราค่าจ้างขั้นต่ำวันละ 300 บาท

ทั่วประเทศ ซึ่งได้ชี้แจงจากสถิติจำนวนการเลิกจ้างย้อนหลังไปตั้งแต่ปี 2552-2555 (ข้อมูลกรมการจัดหางาน ณ วันที่ 10 มกราคม 2556) พบว่า หากเริ่มดูจากช่วงไตรมาสแรกของปี 2552 หรือช่วงวิกฤตแฮมเบอร์เกอร์ พบว่ามีการเลิกจ้างงานสูงถึง 30,000 คน จากนั้นสถานการณ์การเลิกจ้างงานในปี 2552 ค่อย ๆ ลดลงตามภาวะเศรษฐกิจที่ดีขึ้นจนถึงช่วงธันวาคม ซึ่งเหลือเพียง 8,185 คน

"ส่วนในปี 2553 ยังอยู่ในสภาวะปกติของการเลิกจ้าง ซึ่งตัวเลขการเลิกจ้างงานจะอยู่ระหว่าง 7,000-9,000 คน กระทั่งเดือนธันวาคม 2553 พบว่าจำนวนการเลิกจ้างงานเหลือเพียง 5,625 คน ซึ่งเป็นตัวเลขการถูกเลิกจ้างงานในช่วงที่ภาวะเศรษฐกิจในประเทศไทยอยู่ในช่วงปกติ"

"สืบเนื่องมาถึงปี 2554 ที่มีตัวเลขการเลิกจ้างในแต่ละเดือนอยู่ระหว่าง 5,000-6,000 คน และที่น่าสนใจคือช่วงเดือนพฤศจิกายนของปี 2554 ซึ่งเป็นช่วงเกิดวิกฤตน้ำท่วม ส่งผลให้จำนวนการเลิกจ้างงานกลับสูงขึ้นอีกถึง 13,254 คน และเดือนธันวาคม 19,140 คน ต่อเนื่องมาจนถึงช่วงต้นปี 2555 ที่พุ่งสูงขึ้นไปจนถึงเดือนกุมภาพันธ์ที่ 15,910 คน"

"จากนั้นจึงค่อย ๆ เริ่มเข้าสู่สภาวะปกติอีกครั้ง ซึ่งดูจากตัวเลขการเลิกจ้างงานที่เริ่มลดลงราว 39.5% เมื่อเดือนเมษายน 2555 ที่แม้จะอยู่ในช่วงของการปรับอัตราค่าจ้างขั้นต่ำ (เฟสแรก) จนกระทั่งถึงช่วงไตรมาสสุดท้ายของปี 2555 ซึ่งมีจำนวนการเลิกจ้างงานเหลือเพียง 5,000-7,000 คนเท่านั้น"

"ดังนั้น จึงมั่นใจได้ว่าขณะนี้จำนวนการเลิกจ้างงานของไทยยังถือว่าอยู่ในภาวการณ์ที่ปกติ และไม่น่าเป็นกังวลเหมือนอย่างที่หลายฝ่ายคาดการณ์ โดยการเลิกจ้างงานตามที่เป็นข่าวนั้นเป็นเรื่องปกติของการประกอบธุรกิจ ซึ่งขณะนี้ยังถือว่าลดลงกว่าหลายปีที่ผ่านมา"

ส่วนผลกระทบที่เกิดขึ้นจากสถานประกอบการในธุรกิจ SMEs ที่ปิดกิจการลง ตามความคิดเห็นของ "น.พ.สมเกียรติ" บอกว่า เกิดจากปัญหาการขาดสภาพคล่องของธุรกิจมากกว่า

ที่จะเกิดจากปัจจัยการปรับค่าจ้างขั้นต่ำ 300 บาททั่วประเทศ

"จากการวิเคราะห์ของกระทรวงแรงงานถึงสถานการณ์การทำงานก่อนผู้ประกอบการจะปิดกิจการลง พบว่าสาเหตุหลักของการปิดกิจการของธุรกิจ SMEs คือ ประสบปัญหาเกี่ยวกับการประกอบธุรกิจ เช่น ขาดออร์เดอร์สั่งซื้อสินค้าอย่างต่อเนื่อง ประกอบกับปัญหาเรื่องการย้ายกิจการจากที่หนึ่งไปยังอีกที่หนึ่ง ซึ่งเมื่อเป็นเช่นนี้จะส่งผลให้ขาดสภาพคล่องจากการบริหารธุรกิจโดยภาพรวม"

"เมื่อดูจากข้อมูลของกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน ที่ได้รวบรวมข้อมูลการเฝ้าระวังสถานการณ์การเลิกจ้างเพื่อความพร้อมในการแก้ไขปัญหา และให้ความคุ้มครองลูกจ้างที่เดือดร้อน

ระหว่างวันที่ 1 มกราคม 2556-9 มกราคม 2556 พบว่ามีสถานประกอบการเลิกจ้างแล้วจำนวน 5 แห่ง จนเกิดผลกระทบต่อลูกจ้าง ทำให้มีจำนวนการเลิกจ้างงาน 421 คน จากจำนวน 1,266 คน

โดยลูกจ้างที่ถูกเลิกจ้างงานได้รับค่าชดเชยตามกฎหมายแล้ว"

"แต่เมื่อวิเคราะห์ถึงรายละเอียดของปัญหาการเลิกกิจการของทั้ง 5 สถานประกอบการแล้วกลับพบว่า เกิดจากปัญหาการขาดสภาพคล่องในกิจการตามที่ได้คาดการณ์ไว้จริง ไม่ใช่เกิดจากผลกระทบต่อการปรับขึ้นค่าจ้าง 300 บาทอย่างแน่นอน เพราะขณะนี้ยังอยู่ในระหว่างเพิ่งเริ่มปรับค่าจ้างขั้นต่ำได้ไม่ถึง 1 เดือน ดังนั้น การปิดกิจการของสถานประกอบการจึงมาจากปัจจัยภายในสืบเนื่องจากปีที่แล้ว และอาจเป็นการกล่าวอ้างผสมรอยว่าเกิดจากการปรับค่าจ้าง 300 บาท เพื่อขอความเห็นใจมากกว่า"

"ผมยืนยันได้เลยว่าไม่มีใคร หรือบริษัทใดได้รับผลกระทบเลิกจ้างจากการปรับขึ้นค่าจ้างในครั้งนี้ ซึ่งผมมองว่ายังเร็วเกินไปที่จะสรุปว่าการเลิกจ้างงานของสถานประกอบการ SMEs ที่ปิดกิจการเป็นสาเหตุจากการปรับค่าจ้างขั้นต่ำ 300 บาท เพราะถ้าหากจะให้ชี้อย่างชัดเจนว่าสิ่งที่เกิดขึ้นเป็นผลมาจากการปรับค่าจ้างหรือไม่นั้น เดือนกุมภาพันธ์นี้น่าจะเกิดความชัดเจนมากขึ้น"

"เพราะถ้าหากผลกระทบเกิดขึ้น และส่อไปในทางที่ไม่ดี ทางกระทรวงแรงงานจะต้องหารือเรื่องมาตรการช่วยเหลือเพื่อปรับใช้ให้เหมาะสมให้กับสถานประกอบการ SMEs อย่างแน่นอน"

เราไม่มีทางนิ่งดูดายอย่างแน่อน อันเป็นคำยืนยันหนักแน่นของปลัดกระทรวงแรงงาน !