Thai / English

ค่าแรง300ป่วนงานประมูลคมนาคม"ถนน-สะพาน-ทางด่วน"ต้นทุนพุ่ง2-5%



16 .. 56
เครือมติชน

นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผย "ประชาชาติธุรกิจ" ว่า จากการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ 300 บาท คาดว่าจะส่งผลกระทบต่อการกำหนดราคากลางงานก่อสร้างกระทรวงคมนาคมที่ยังไม่ได้เริ่มเปิดประมูล เช่น งานถนน สะพาน รถไฟฟ้า เป็นต้น แต่ไม่ได้เป็นนัยสำคัญมากนัก เนื่องจากงานก่อสร้างส่วนใหญ่ใช้เครื่องจักรกลมากกว่าแรงงาน รวมทั้งในสัญญาก่อสร้างมีข้อกำหนดการชดเชยค่าเคให้กับผู้รับเหมาอยู่แล้ว

แรงงานขาดน่ากลัวกว่าแพง

"ที่น่าเป็นห่วงมากที่สุดขณะนี้คือแรงงานก่อสร้างขาดแคลนหนักโดยเฉพาะแรงงานฝีมือ ในปีนี้จะมีการก่อสร้างโครงการขนาดใหญ่เกิดขึ้นมาก เช่น รถไฟฟ้าสายสีเขียว รถไฟชานเมืองสายสีแดงว ผมมอบหมายให้หน่วยงานที่รับผิดชอบประสานกับผู้รับเหมาให้บริหารจัดการเรื่องแรงงานให้ดีเพื่อไม่ให้ส่งผลกระทบต่อโครงการ"

ทั้งนี้ กรมทางหลวงชนบท (ทช.) ได้ทำการประเมินผลกระทบค่าแรง 300 บาท พบว่าในส่วนของงานถนนลาดยาง ค่าก่อสร้างเพิ่มขึ้นประมาณ 0.69% ถนนคอนกรีตค่าก่อสร้างเพิ่มประมาณ 1.92% ส่วนงานสะพานและท่อลอดเหลี่ยม ค่าก่อสร้างเพิ่ม 1.25% ส่วนรถไฟฟ้าคาดว่าจะทำให้ค่าก่อสร้างเพิ่มขึ้นประมาณ 5%

ทล.-ทช.ต้นทุนเพิ่ม 2%

นายชาติชาย ทิพย์สุนาวี อธิบดีกรมทางหลวงชนบท กล่าวว่า ในภาพรวมถือว่าค่าแรง 300 บาท มีผลกระทบต่อโครงการก่อสร้างของกรมน้อยมาก เมื่อเทียบกับราคาวัสดุก่อสร้างที่ปรับตัวสูงขึ้น เพราะมีการกำหนดค่าจ้างขั้นต่ำให้กับแรงงานเกินจาก 300 บาทอยู่แล้ว ปัจจุบันกรมไม่ได้ทบทวนราคากลางใหม่ ยังคงใช้ราคาเดิมที่ประเมินไว้ก่อนหน้านี้ในการเปิดประมูล

"กรณีงานประมูลใหม่ที่ยังไม่ได้กำหนดราคากลาง อาจจะต้องปรับใหม่ตามที่กรมบัญชีกลางกำลังจะปรับปรุงใหม่อยู่ในขณะนี้ เพื่อให้สอดคล้องกับภาวะตลาดทั้งค่าแรงและราคาวัสดุก่อสร้าง" นายชาติชายกล่าว

ทางหลวงต้นทุนเพ่ม 2%

นายชัชวาล บุญเจริญกิจ อธิบดีกรมทางหลวง (ทล.) เปิดเผยว่า กรมได้ประเมินราคากลางโครงการประมูลงานถนนและสะพานเมื่อปลายปีที่แล้ว ตามค่าแรง 300 บาทและราคาวัสดุก่อสร้าง ซึ่งราคากลางเพิ่มขึ้นเฉลี่ย 2% จึงไม่ส่งผลกระทบมากนัก

อย่างไรก็ตาม โครงการขนาดใหญ่ เช่น มอเตอร์เวย์ 2 สายใหม่ที่กำลังจะเปิดประมูล กรมได้ปรับปรุงราคากลางใหม่ให้เป็นปัจจุบัน พบว่าสายบางปะอิน-โคราช ค่าก่อสร้างและเวนคืนเพิ่มประมาณ 19,500 ล้านบาท จากเดิม 69,100 ล้านบาท เพิ่มเป็น 88,600 ล้านบาท แยกเป็นค่าก่อสร้าง 82,000 ล้านบาท ค่าเวนคืน 6,600 ล้านบาท ค่าคุมงานก่อสร้าง 1,000 ล้านบาท

ส่วนสายบางใหญ่-กาญจนบุรี เพิ่มขึ้นประมาณ 8,514 ล้านบาท จากเดิม 45,886 ล้านบาท เพิ่มเป็น 54,400 ล้านบาท แยกเป็นค่าก่อสร้าง 49,000 ล้านบาท ค่าเวนคืนที่ดิน 5,400 ล้านบาท ค่าคุมงานก่อสร้าง 480 ล้านบาท คาดว่าเริ่มประมูลเดือนเมษายนนี้ หลัง พ.ร.ก.เงินกู้ 2.2 ล้านล้านบาท ผ่านการพิจารณาของรัฐสภาแล้ว

รฟม.แจงไม่กระทบรถไฟฟ้า

นายพีระยุทธ สิงห์พัฒนากุล รองผู้ว่าการการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) เปิดเผยว่า รฟม.ได้ส่งแผนกรอบวงเงินลงทุนที่ได้มีการทบทวนใหม่งานก่อสร้างงานโยธา โครงการรถไฟฟ้าสาย

สีเขียว (หมอชิต-สะพานใหม่-คูคต) วงเงิน 26,569 ล้านบาท และสายสีชมพู (แคราย-มีนบุรี) วงเงิน 58,624 ล้านบาท ให้กระทรวงคมนาคมพิจารณา ก่อนนำเสนอ ครม.พิจารณาิและเปิดประมูลก่อสร้างต่อไป

"คาดว่างานก่อสร้างรถไฟฟ้าไม่น่าจะได้รับผลกระทบมาก เพราะส่วนใหญ่จะใช้เครื่องจักรกลเป็นหลัก"

สำหรับการประกวดราคาคาดว่าจะเริ่มได้ในเดือนกุมภาพันธ์นี้ แยกเป็น 4 สัญญาคือ สัญญาที่ 1 งานโยธา จากหมอชิต-สะพานใหม่ วงเงิน 14,207 ล้านบาท สัญญาที่ 2 งานโยธาจากสะพานใหม่-คูคต 6,115 ล้านบาท สัญญาที่ 3 งานสร้างเดโป้ (ศูนย์ซ่อมบำรุง) 3,638 ล้านบาท และสัญญาที่ 4 งานระบบ วงเงิน 2,609 ล้านบาท

รถไฟเร่งล้างท่อสายสีแดง

ด้านความคืบหน้าสายสีแดง (บางซื่อ-รังสิต) ผู้สื่อข่าวรายงานเพิ่มเติมว่า ในวันที่ 18 มกราคมนี้ การรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) จะเซ็นสัญญาก่อสร้างสัญญาที่ 1 งานก่อสร้างสถานีกลางบางซื่อและศูนย์ซ่อมบำรุง กับกิจการร่วมค้า SU (บมจ.ซิโน-ไทย เอ็นจิเนียริ่งฯ และ บมจ.ยูนิค เอ็นจิเนียริ่งฯ) วงเงิน 29,828 ล้านบาท

สัญญาที่ 2 งานก่อสร้างงานโยธาและสถานี ซึ่ง ครม.อนุมัติราคาของ บมจ.อิตาเลียนไทยฯแล้ว วงเงิน 21,235 ล้านบาท รอการอนุมัติจากองค์การเพื่อความร่วมมือระหว่างประเทศแห่งญี่ปุ่น (ไจก้า) คาดว่าจะเซ็นสัญญาได้ในเดือนกุมภาพันธ์นี้

ส่วนสัญญาที่ 3 งานออกแบบจัดหารถไฟฟ้าและติดตั้งระบบอาณัติสัญญาณ 27,926 ล้านบาท คาดว่า ร.ฟ.ท.จะเดินหน้าเปิดซองราคาผู้รับเหมาที่ยื่นประมูล 4 รายต่อไป เพื่อให้โครงการเสร็จเร็วขึ้นหลังล่าช้ามานานกว่า 2 ปีแล้ว