Thai / English

บอร์ดสปส.ไฟเขียวขยายเวลามาตรการอุ้มธุรกิจ

บอร์ดประกันสังคมไฟเขียวขยายเวลา 2 มาตรการไปอีก 1 ปี อุ้มธุรกิจกระทบขึ้นค่าจ้างเป็นวันละ 300 บาททั่วประเทศทั้งขยายเวลาลดเงินสมทบ 4%

28 .. 55
กรุงเทพธุรกิจ

นพ.สมเกียรติ ฉายะศรีวงศ์ ปลัดกระทรวงแรงงาน ในฐานะประธานคณะกรรมการประกันสังคม กล่าวหลังประชุมคณะกรรมการฯ ว่า ที่ประชุมเห็นชอบขยายเวลาการใช้มาตรการช่วยเหลือธุรกิจที่ได้รับผลกระทบจากการปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำเป็นวันละ 300 บาททั่วประเทศใน 2 มาตรการ ไปอีก 1 ปีโดยเริ่มตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2556 ซึ่งสปส.ได้ใช้มาตรการเหล่านี้อยู่แล้ว ได้แก่ 1.ขยายเวลาการลดเงินสมทบประกันสังคมทั้งฝ่ายนายจ้างและลูกจ้าง ฝ่ายละ 4 % ส่วนเงินสมทบในส่วนของรัฐบาลยังส่งในอัตราเดิมคือ 2.75 %

โดยการลดเงินสมทบนี้จะดำเนินการตลอดทั้งปี ทั้งนี้ จะทำให้เงินสมทบใน 4 กรณีได้แก่ เจ็บป่วย ทุพพลภาพ ตายและคลอดบุตร ซึ่งแต่ละปีกองทุนประกันสังคมเก็บเงินสมทบทั้ง 4 กรณีนี้ได้รวมทั้งหมด 60,000 ล้านบาท จะเก็บเงินสมทบได้เพียง 20,000 ล้านบาท อย่างไรก็ตาม ตนขอยืนยันว่าการที่ยอดเงินสมทบดังกล่าวลดลงไม่ได้ส่งผลกระทบต่อการใช้สิทธิประโยชน์ทั้ง 4 กรณีของผู้ประกันตน เนื่องจากปัจจุบัน สปส.มีเงินสำรองซึ่งสามารถนำมาใช้จ่ายในสิทธิประโยชน์ 4 กรณี วงเงินประมาณ 80,000 ล้านบาท

ประธาน บอร์ด สปส. กล่าวอีกว่า 2.ขยายเวลาการดำเนินโครงการสินเชื่อเพื่อเสริมสภาพคล่องให้แก่ภาคธุรกิจ ซึ่งปัจจุบันมีวงเงินที่สามารถปล่อยกู้ได้อยู่ 10,000 ล้านบาท แต่มีผู้ประกอบการมายื่นกู้เพียง 794 ล้านบาท และที่ประชุมได้เห็นชอบปรับเพิ่มวงเงินกู้ โดยสถานประกอบการที่มีลูกจ้างต่ำกว่า 50 คน จากเดิมกู้ได้ 1 ล้านบาท เพิ่มเป็น 2 ล้านบาท สถานประกอบการที่มีลูกจ้าง 51-200 คน เดิมกู้ได้ 2 ล้านบาท เพิ่มเป็น 4 ล้านบาท และสถานประกอบการที่มีลูกจ้างเกิน 200 คน เดิมกู้ได้ 4 ล้านบาท เพิ่มเป็น 8 ล้านบาท และที่ประชุมได้มอบให้ สปส.ไปหารือกับธนาคารที่ สปส.ฝากเงินกองทุนประกันสังคมไว้ และเป็นธนาคารที่ปล่อยกู้ในโครงการฯ ได้แก่ ธนาคารกรุงเทพ ธนาคารกรุงไทย ธนาคารเกียรตินาคิน ธนาคารแลนด์แอนด์เฮ้าส์ และธนาคารแห่งประเทศไทย เพื่อปรับขั้นตอนการกู้ให้สถานประกอบการสามารถกู้ได้สะดวกมากขึ้น

"ที่ประชุมยังเห็นชอบให้ขยายเวลาการจ้างพนักงานเร่งรัดหนี้สินจำนวน 179 คนไปอีก 1 ปี เนื่องจากสามารถทำงานได้ดีในช่วง 8 เดือนที่ผ่านมา โดยสามารถทวงหนี้จากนายจ้างที่ค้างชำระเงินสมทบกองทุนประกันสังคม 1,290 ล้านบาท จากยอดหนี้ค้างชำระสะสมอยู่กว่า 4,000 ล้านบาท ซึ่งการจ้างเจ้าหน้าที่กลุ่มนี้ใช้เงินทั้งหมด 22 ล้านบาท ถือว่าคุ้มค่ากับเงินเดือนที่จ่ายไป" นพ.สมเกียรติ กล่าว