Thai / English

"โรงงาน"ขู่!! คืนบัตรส่งเสริมลงทุน ต่อรอง BOI ใช้แรงงานต่างด้าวต่อ



26 .. 55
เครือมติชน

BOI ส่งสัญญาณ "ทบทวน" มาตรการผ่อนผันให้ใช้แรงงานต่างด้าวในโรงงานหมดอายุ ผู้ประกอบการ 3 อุตสาหกรรมร้องลั่น ถึงขั้นขอคืน "บัตรส่งเสริม" เหตุนาทีนี้ชั่งน้ำหนักแล้วพบว่า ปัญหาแรงงานสำคัญกว่าสิทธิประโยชน์ ด้านวงการรับสร้างบ้าน ทำหนังสือถึง "ยิ่งลักษณ์" ขอนำเข้าแรงงานด่วน

ผลกระทบที่เกิดขึ้นกับผู้ประกอบการ หลังจากที่ ครม.มีมติให้ปรับค่าแรงขั้นต่ำ 300 บาทเท่ากันทั่วประเทศ มีผลบังคับใช้ในวันที่ 1 มกราคม 2556 ไปแล้ว ปรากฏการขาดแคลนแรงงานยังเป็นปัญหาสำคัญอีกปัญหาหนึ่งที่ยังไม่ได้รับการแก้ไข ทั้งแรงงานก่อสร้างและแรงงานประมง ล่าสุดปัญหานี้ได้ลุกลามไปยังโรงงานอุตสาหกรรมที่ได้รับการส่งเสริมการลงทุน เมื่อคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI) ประกาศที่จะ "ทบทวน" มาตรการผ่อนผันที่อนุญาตให้ใช้แรงงานต่างด้าวเป็นการชั่วคราว ซึ่งจะหมดอายุลงในปลายเดือนธันวาคมที่จะถึงนี้

นายอุดม วงศ์วิวัฒน์ไชย เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI) เปิดเผยกับ "ประชาชาติธุรกิจ" ถึงมาตรการผ่อนผันให้ผู้ได้รับการส่งเสริมการลงทุนสามารถใช้แรงงานต่างด้าว "ชั่วคราว" จนถึงเดือนธันวาคมนี้ ทาง BOI กำลังอยู่ในระหว่างการพิจารณาว่า จะต่อมาตรการผ่อนผันออกไปหรือไม่ โดยขณะนี้กำลังรวบรวมข้อมูลจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องและผู้ที่ได้รับผลกระทบเพื่อประเมินถึงข้อดี-ข้อเสีย นำเสนอต่อระดับนโยบายให้พิจารณาตัดสินใจต่อไป

ทั้งนี้มาตรการผ่อนผันดังกล่าวมีขึ้นหลังจากที่ BOI ได้รับการร้องเรียนจากผู้ประกอบการที่ได้รับการส่งเสริมการลงทุน ขอระยะเวลาปรับตัวที่จะดำเนินการตามนโยบายของ BOI ที่ห้ามใช้แรงงานต่างด้าวในกิจการที่ได้รับการส่งเสริมการลงทุน นโยบายที่ออกมาดังกล่าวได้ส่งผลกระทบต่อปัญหาการขาดแคลนแรงงานในภาคอุตสาหกรรมในทวีความรุนแรงยิ่งขึ้น

อย่างไรก็ตามไม่ว่าการพิจารณาจะออกมาอย่างไร ทางคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุนได้เตรียมแนวทางไว้รองรับ ประกอบไปด้วย 1)การส่งเสริมให้มีการนำเทคโนโลยีอัตโนมัติเข้ามาใช้ในกระบวนการผลิตเพื่อลดการใช้แรงงาน และหากผู้ประกอบการที่ต้องการปรับเปลี่ยนเครื่องจักรก็พร้อมที่จะให้คำแนะนำในการจัดหาเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำให้ พร้อมให้ความช่วยเหลือปรึกษาทางด้านเทคนิค เพื่อให้สามารถใช้

เทคโนโลยีอัตโนมัติได้เร็วขึ้น และ 2) BOI อาจจะยอมให้มีการผ่อนผันการใช้แรงงานต่างด้าวได้ "บางส่วน" ซึ่งขณะนี้อยู่ในระหว่างพิจารณาว่าควรจะเป็นธุรกิจประเภทใด เนื่องจากตามการลงทะเบียนของกระทรวงแรงงาน มีผู้ประกอบการ 101 รายที่ขอผ่อนผันให้ใช้แรงงานต่างด้าว ซึ่ง BOI เห็นว่าตัวเลขผ่อนผันมากเกินไป ควรให้เฉพาะโรงงานที่ได้รับผลกระทบหนักเท่านั้น

"การพัฒนาอุตสาหกรรมต่อเนื่องจะมีปัญหาขาดแคลนแรงงานอยู่แล้ว หากเป็นกรณีทั่วไปไม่ได้มีการห้ามให้ใช้แรงงานต่างด้าว แต่สำหรับในรายที่ได้รับการส่งเสริมการลงทุนอยู่แล้ว ทาง BOI มองว่าเขาได้เปรียบเชิงการแข่งขัน ฉะนั้นจึงควรใช้แรงงานไทยเป็นหลักเพราะได้ประโยชน์หลายทาง คือแรงงานไทยจะได้รับการถ่ายทอดความรู้ด้านเทคโนโลยีมากกว่าที่จะเป็นต่างชาติ สิ่งที่ตามมาคือเมื่อมีความรู้แล้วก็สามารถเปิดกิจการเป็นของตัวเอง ขยายฐานให้เข้มแข็งต่อไป" นายอุดมกล่าว

ด้านนายมังกร ธนสารศิลป์ รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) งานส่งเสริมการค้า การลงทุน กล่าวกับ "ประชาชาติธุรกิจ" ว่า ทาง ส.อ.ท.ได้รับการร้องเรียนจากสมาชิกเกี่ยวกับมาตรการผ่อนผันการใช้แรงงานต่างด้าวของ BOI จะหมดอายุลงในวันที่ 31 ธันวาคม 2555 ทางโรงงานขนาดใหญ่ที่ได้รับการส่งเสริมการลงทุนยังมีความจำเป็นที่จะต้องใช้แรงงานต่างด้าวต่อไป เนื่องจากปัญหาการขาดแคลนแรงงานในประเทศยังไม่คลี่คลาย

ดังนั้นสมาชิกจึงต้องการให้ ส.อ.ท.เปิดการหารือกับ BOI เพื่อยืดเวลาการใช้แรงงานต่างด้าวออกไปอีก เพื่อให้ผู้ประกอบการมีเวลาปรับตัว แต่หากเจรจาแล้ว BOI ยืนยันที่จะ "ยกเลิก" การผ่อนผัน ผู้ประกอบการที่ได้รับการส่งเสริมการลงทุนก็พร้อมที่จะ "คืนบัตรส่งเสริมการลงทุน" แต่ขอให้ BOI ออกมาตรการมารองรับ เนื่องจากผู้ประกอบการเห็นว่าแม้จะคืนบัตรส่งเสริมไปแล้ว แต่ BOI อาจจะพิจารณาคงสิทธิประโยชน์บางประการไว้ให้กับผู้ประกอบการ อาทิ การยกเว้นภาษีนำเข้าเครื่องจักร และในกรณีผู้ประกอบการต่างชาติที่เคยได้รับสิทธิ์ถือครองที่ดิน เมื่อคืนบัตรส่งเสริมแล้ว "จะถือครองที่ดินต่อไปได้หรือไม่"

"ก่อนหน้านี้ทาง BOI แจ้งว่า ใครต้องการใช้แรงงานต่างด้าวก็ให้คืนบัตรที่ได้รับการส่งเสริมการลงทุน ซึ่งหลายโรงงานมองว่าน่าจะเป็นทางออกของปัญหาด้วยซ้ำ เพราะไม่มีทางเลือก บางอุตสาหกรรม

ยังขาดแคลนแรงงานอย่างหนัก ที่สำคัญงานบางประเภทก็ไม่มีแรงงานไทยทำ ในเมื่อมันขาดแคลนแรงงานจริง ๆ แล้วจะให้ทำอย่างไร เร็ว ๆ นี้จะมีการเสนอเข้าในที่ประชุมคณะกรรมการร่วม 3 สถาบันด้วย เพื่อให้ช่วยผลักดันและเร่งหารือกับ BOI"

นายมังกรกล่าวเพิ่มเติมว่า สำหรับผู้ประกอบการที่ร้องเรียนเรื่องนี้เข้ามาที่ ส.อ.ท. หลัก ๆ จะแบ่งเป็น 3 กลุ่มอุตสาหกรรมคือ กลุ่มผู้ผลิตเครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์, กลุ่มผู้ผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ทั้งไทยและญี่ปุ่น และกลุ่มผู้ผลิตรองเท้า โดยเฉพาะกลุ่มผู้ผลิตเครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ที่ใช้แรงงานเข้มข้นมาก ยกตัวอย่าง บริษัท เอ็นเอ็มบี-มินีแบ ไทย จำกัด ที่มีความจำเป็นต้องใช้แรงงานต่างด้าวถึง 1,000 คน จากแรงงานรวมทั้งหมดกว่า 10,000 คน หากไม่ยืดมาตรการออกไปในช่วงที่ขาดแคลนแรงงาน อาจมีความเป็นไปได้ในอนาคตที่จะย้ายฐานการผลิตไปยังประเทศที่มีแรงงานรองรับ

ด้านนางพัชรา ตัณฑยรรยง นายกสมาคมธุรกิจรับสร้างบ้าน กล่าวว่า เมื่อเร็ว ๆ นี้ทางสมาคมได้ทำหนังสือถึงนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ขอให้แก้ไขปัญหาของภาคธุรกิจรับสร้างบ้าน (บ้านสร้างเอง) กำลังได้รับความเดือดร้อนจากการขาดแคลนแรงงานต่างด้าวทั้งไร้ฝีมือและมีฝีมือ อาทิ ช่างฉาบปูน ปูกระเบื้อง จากการรวบรวมข้อมูลของบริษัทรับสร้างบ้านที่เป็นสมาชิกสมาคมกว่า 150 บริษัท คาดว่าจะขาดแคลนอยู่ประมาณ 5,000 คน จากทั้งระบบที่สมาคมอุตสาหกรรมก่อสร้างไทยในพระบรมราชูปถัมภ์ รวบรวมไว้เฉพาะแรงงานต่างด้าว พบว่าขาดแคลนอยู่ประมาณ 100,000 คน

"เดิมเราคิดว่าปัจจัยเสี่ยงปีนี้และปีหน้าจะเป็นเรื่องค่าแรง 300 บาท และต้นทุนก่อสร้างที่เพิ่มขึ้นจากราคาวัสดุก่อสร้างที่ปรับตัวสูงขึ้นตามค่าแรง แต่ทำไปทำมาแรงงานขาดแคลนจะรุนแรงมากกว่า ทางสมาคมจึงขอความช่วยเหลือใน 2 เรื่องคือ 1)ขอนำเข้าแรงงานต่างด้าวเพิ่ม กับ 2)ให้แรงงานต่างด้าวสามารถทำงานข้ามเขตได้ เนื่องจากขณะนี้สมาคมกำลังเดือดร้อนจริง ๆ ทำให้ต้องส่งมอบบ้านให้ลูกค้าช้าไปประมาณ 3-4 เดือน จากเดิมการสร้างบ้าน 1 หลัง จะใช้เวลาสร้าง 6 เดือน และต้องชะลอรับออร์เดอร์ใหม่ออกไป"

ส่วนการแก้ไขปัญหาการขาดแรงงานก่อสร้างในระยะยาว ทางสมาคมร่วมกับมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลตะวันออก วิทยาเขตอุเทนถวาย และสถาบันก่อสร้างแห่งประเทศไทย จะผลิตบุคลากรด้านก่อสร้างมีฝีมือออกมาสู่ตลาดโดยตรง คาดว่าภายในสิ้นปีนี้จะร่างหลักสูตรนวัตกรรมสาขาก่อสร้าง (โฟร์แมน)เสร็จและเริ่มดำเนินการได้ตั้งแต่ปี 2556 เป็นต้นไป