Thai / English

ฟังความเห็นเลิกใช้แร่ใยหินก่อนชงครม.

กรมโรงงานเตรียมเปิดรับฟังความเห็นแร่ใยหินครั้งสุดท้ายในวันที่ 19 พ.ย. 2555 ก่อนสรุปเรื่องเสนอครม.ให้ทันภายในปี 2555

15 .. 55
โพสต์ทูเดย์

นายพงษ์เทพ จารุอำพรพรรณ รองอธิบดีกรมโรงงานอุตสาหกรรม (กรอ.) รักษาการอธิบดีกรมโรงงานอุตสาหกรรม เปิดเผยภายหลังการหารือร่วมกันเครือข่ายรณรงค์ยกเลิกแร่ใยหินประเทศไทย ว่า ในวันที่ 19 พ.ย. 2555 กรมโรงงานอุตสาหกรรม จะจัดทำประชาพิจารณ์รับฟังความคิดเห็นเกี่ยวกับการยกเลิกการใช้แร่ใยหิน จากผู้ที่เกี่ยวข้องทุกฝ่าย ซึ่งน่าจะเป็นการเปิดรับฟังความคิดเห็นครั้งสุดท้าย หลังจากนั้นจะสรุปวิธีการต่างๆ และนำเสนอเข้าที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ภายในปี 2555 ตามข้อตกลงของสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ

ทั้งนี้ ที่ผ่านมากรมโรงงานอุตสาหกรรมได้ดำเนินการจัดรับฟังความคิดเห็นมาแล้ว 4 ครั้ง แต่ยังมีกลุ่มที่ยังมีความคิดเห็นไม่ตรงกัน จึงจะจัดเปิดรับฟังความคิดเห็นอีกครั้ง ซึ่งจะเป็นครั้งสุดท้ายแล้ว โดยในส่วนของกระทรวงอุตสาหกรรมทางครม.ได้มอบหมายให้ศึกษาผลกระทบจากผู้มีส่วนได้ส่วนเสียให้รอบด้าน และจัดทำแผนการการดำเนินการอย่างเป็นระบบหากจะต้องมีการลด หรือยกเลิกการใช้แร่ใยหิน

“ผลสรุปจะออกมาเป็นอย่างไร คงต้องขึ้นอยู่กับรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม และครม. ว่าจะตัดสินอย่างไร ส่วนกระทรวงอุตสาหกรรมได้ทำตามหน้าที่ที่ได้รับมอบหมายมา” นายพงษ์เทพ กล่าว

สำหรับสิ่งที่ครม.มอบหมายมาให้ศึกษาทั้งหมดมีอยู่ 4 ข้อ ได้แก่ 1. ยกเลิกการใช้แร่ใยหิน 2. ให้ศึกษาผลกระทบแลผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย รวมทั้งผลกระทบในทุกด้าน ทั้งการผลิต ตลาด ราคาสินค้า เป็นต้น ซึ่งข้อนี้กระทรวงอุตสาหกรรมเป็นผู้ดูแล 3. ให้กระทรวงการคลังไปดูระบบภาษีที่อาจนำมาใช้ช่วยเหลือ สนับสนุน 4. ให้กระทรวงสาธารณะสุขไปทำข้อมูลถึงโทษของแร่ใยหิน รวมถึงวิธีแก้ไข จะทำได้อย่างไร

ทั้งนี้ ในวันที่ 14 พ.ย. 2555 เครือข่ายรณรงค์ยกเลิกแร่ใยหินประเทศไทย ซึ่งเป็นการรวมตัวกันของเครือข่ายแรงงาน นักวิชาการ องค์กรเอกชน ภาคประชาชน ได้เดินทางมายื่นหนังสือต่อกระทรวง

อุตสาหกรรมขอให้เร่งรัดยกเลิกการนำเข้าวัตถุดิบแร่ใยหิน ยกเลิกการผลิตและจำหน่ายสินค้าที่มีส่วนประกอบของแร่ใยหินที่สามารถใช้วัสดุอื่นทดแทนได้ภายในปี 2555 เพราะที่ผ่านมากระทรวงอุตสาหกรรมยังไม่มีมาตรการใดที่จะยกเลิก เพียงแต่จ้างมหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมธิราชจัดทำแผนการยกเลิกการนำเข้า การผลิตผลิตภัณฑ์ที่มีแร่ใยหินเป็นส่วนประกอบ ซึ่งผลการศึกษาไม่สอดคล้องกับมติครม.

แหล่งข่าวจากกระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวว่า ในเบื้องต้นมหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราชได้กำหนดแนวทางเลิกใช้แร่ใยหินไครโซไทล์ในสินค้า 5 ประเภท คือ 1.กระเบื้องมุงหลังคา กำหนดเวลาการปรับตัว 5 ปี ในปีที่ 3 กำหนดให้เลิกใช้แร่ใยหินในผลิตภัณฑ์กระเบื้องลอนใหญ่ และในช่วงปีที่ 3-5 จะพัฒนาผลิตภัณฑ์ที่ไม่ใช้แร่ใยหินในกระเบื้องลอนเล็ก และเมื่อครบ 5 ปี ทุกโรงงานต้องยกเลิกการใช้แร่ใยหินในกระเบื้องลอนเล็ก

2.กระเบื้องยางปูพื้น ในช่วง 1-2 ปี แรกจะกำหนดให้วิจัยและพัฒนาผลิตภัณฑ์ที่ไม่ใช้แร่ใยหิน และในปีที่ 3 ทุกโรงงานต้องปรับเปลี่ยนเทคโนโลยีผลิตไม่ใช้แร่ใยหิน 3.กระเบื้องแผ่นเรียบ มีหลายโรงงานเลิกใช้แร่ใยหินไปแล้ว จึงกำหนดเวลาปรับตัวภายใน 3 ปี 4.ท่อน้ำแรงดันสูง หรือท่อซีเมนต์ใยหิน ยังไม่มีโรงงานใดยกเลิกการใช้เลย ดังนั้นจึงกำหนดการเลิกใช้เป็นขั้นบันได โดยใน 1-2 ปี แรก ให้ลดการใช้ลง 25% ปีที่ 3 ลดการใช้ 50% ปีที่ 4 ลดการใช้ 75% และปีที่ 5 ต้องลดการใช้ 100% 5.เบรกและคลัทช์ มีผู้ประกอบการบางรายยกเลิกใช้ไปแล้ว กำหนดเวลาปรับตัว 5 ปี