Thai / English

สร.ร.ฟ.ท.หาดใหญ่เปิดร้านค้าสวัสดิการ



27 .. 55
ผู้จัดการ

ศูนย์ข่าวหาดใหญ่ - สหภาพแรงงานฯ การรถไฟฯ ได้ฤกษ์เปิดร้านค้าสวัสดิการ SRUT 6&7 บริเวณสถานีรถไฟชุมทางหาดใหญ่ เพื่อเป็นทุนช่วยเหลือ 6 พนักงานที่ถูกเลิกจ้างอย่างไม่เป็นธรรมจากกรณีเรียกร้องให้มีการปรับปรุงความปลอดภัยของรถไฟก่อนให้บริการประชาชน “สาวิทย์ แก้วหวาน” เผยได้ทำการอุทธรณ์คดีเพื่อเรียกร้องความเป็นธรรม ลั่นแม้ไม่ได้รับเงินเดือนจากการรถไฟฯ แล้ว แต่ยังทำงานด้วยอุดมการณ์และประโยชน์ส่วนรวม

วันนี้ (26 ก.ค.) สหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจการรถไฟแห่งประเทศไทย (สร.ร.ฟ.ท.) สาขาหาดใหญ่ ได้ทำการเปิดร้านสะดวกซื้อ SRUT 6&7 ณ ที่ทำการสหภาพฯ บริเวณสถานีรถไฟชุมทางหาดใหญ่ อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา เพื่อช่วยเหลือพนักงานการรถไฟฯ จำนวน 13 คนที่ถูกเลิกจ้างอย่างไม่เป็นธรรม จากเหตุการณ์หยุดเดินรถเพื่อความปลอดภัยของผู้โดยสารหลังเกิดอุบัติเหตุตกรางที่สถานีเขาเต่า อ.หัวหิน จ.ประจวบคีรีขันธ์ มีผู้เสียชีวิต 7 ราย บาดเจ็บ 84 ราย เมื่อวันที่ 5 ตุลาคม 2552 และเรียกร้องให้รัฐปรับปรุง ซ่อมแซมอุปกรณ์

นายวิรุฬห์ สะแกคุ้ม รักษาการประธานสหภาพแรงงานฯ สาขาหาดใหญ่ ซึ่งเป็น 1 ใน 6 พนักงานสาขาหาดใหญ่ กล่าวว่า ร้านค้าสวัสดิการดังกล่าวนั้นเกิดขึ้นด้วยงบโครงการเพียง 200,000 บาทเท่านั้น ที่ทั้งใช้ปรับปรุงสถานที่และซื้อสินค้ามาจำหน่าย ซึ่งนอกจากจะจำหน่ายสินค้าแล้ว ยังเป็นที่แลกเปลี่ยนความคิดเห็นของสมาชิกและคนทั่วไปได้ด้วย

ด้านนายสาวิทย์ แก้วหวาน รักษาการประธานสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจการรถไฟแห่งประเทศไทย กล่าวว่า ผลกระทบต่อการเลิกจ้างนั้นแม้จะเจ็บปวดทั้งตัวเองและครอบครัว แต่ก็ได้ยืนหยัดในความถูกต้องเพื่อความปลอดภัยของประชาชนส่วนใหญ่ และได้ต่อสู้เรียกร้องความเป็นธรรมในทางกฎหมายโดยอยู่ในชั้นฎีกาคดี

ซึ่งตลอดเวลาที่ผ่านมานั้น สร.ร.ฟ.ท.มิได้นิ่งนอนใจ หาทางช่วยเหลือให้ทำงานกับสหภาพฯ เพื่อบรรเทาความเดือดร้อน โดยมีเครือข่ายแรงงานทั้งในและต่างประเทศช่วยรวบรวมเป็นเงินกองทุนได้ 2 ล้านบาท และนำเงินส่วนหนึ่งมาเปิดเป็นร้านค้าสวัสดิการ 2 สาขา คือที่กรุงเทพฯ และหาดใหญ่ เพื่อช่วยเหลือพนักงานที่ถูกไล่ออก โดยกำไร 80% ส่งเข้ากองทุน และอีก 20% เป็นค่าจ้างเจ้าหน้าที่บริหาร

“เรายอมรับในผลกระทบที่เกิดขึ้น แต่ไม่ได้จำนนต่อความอยุติธรรม ทั้ง 13 คนไม่ได้รับเงินเดือนจากการรถไฟแห่งประเทศไทยแล้ว แต่ก็ทำงานให้กับ สร.ร.ฟ.ท.ด้วยเงินเดือนคนละ 7,000 บาทต่ำกว่าค่าแรงขั้นต่ำ ที่ยังอยู่ได้เพราะเรามีอุดมการณ์ และพิสูจน์ให้เห็นแล้วว่า สิ่งที่ สร.ร.ฟ.ท.เรียกร้องให้มีการปรับปรุง พัฒนา เปลี่ยนแปลงนั้นเป็นประโยชน์ต่อส่วนรวม เพราะหลังเหตุการณ์ 5 ต.ค. 52 รัฐบาลได้ผลักดันงบประมาณพัฒนาระบบรางทั้งหมด 1.76 แสนล้านบาท ทั้งการเปลี่ยนหัวรถจักร สร้างรางรถไฟทางคู่ พัฒนารถไฟความเร็วสูง” นายสาวิทย์กล่าว และว่า

ส่วนการช่วยเหลือในระยะยาวนั้น จะพัฒนาในด้านการผลิตสินค้าเองเพื่อเชื่อมโยงกับเครือข่ายแรงงานรัฐวิสาหกิจภายในประเทศ และเครือข่ายแรงงานในต่างประเทศ ซึ่งก็จะเป็นอีกช่องทางหนึ่งที่สามารถหารายได้มาดูแลพนักงานเหล่านี้ที่เสียสละ และยึดมั่นในอุดมการณ์ความถูกต้องเพื่อประโยชน์ส่วนรวม