Thai / English

"โรงงานอยุธยา"ช็อกแรงงานหนี ซบ"ชลบุรี-ระยอง"รับ300บ.



04 .. 55
เครือมติชน

คนงานในอยุธยาทยอยลาออกซบโรงงานใหญ่รับค่าแรง 300 ส่วนหนึ่งย้ายเข้าชลบุรี ระยอง 4 เดือนมีแรงงานลาออกจากระบบผู้ประกันตนแล้ว 31,000 คน นักวิชาการเตือนเอสเอ็มอีแบกค่าแรงไม่ไหวแน่ คาดปิดกิจการ 1.2 แสนราย ขณะที่ "ทีดีอาร์ไอ" เตือนอาฟเตอร์ช็อก เสนอ 3 ทางเลือกบรรเทาปัญหา

นางปราณี ไชยเดช แรงงานจังหวัดพระนครศรีอยุธยา เปิดเผย "ประชาชาติธุรกิจ" ว่า เหตุการณ์น้ำท่วมใหญ่เมื่อปลายปี 2554 และผลกระทบจากนโยบายการขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ 300 บาท/วัน ใน 7 จังหวัดนำร่องทำให้แรงงานของจังหวัดพระนครศรีอยุธยาที่มีอยู่ในระบบผู้ประกันตนกว่า 300,000 คน เริ่มทยอยลาออกจากงาน เพราะค่าแรงงานขั้นต่ำของอยุธยาอยู่ที่ 265 บาท/วัน และจากการสำรวจพบว่าตั้งแต่เดือนกันยายน 2554 ถึงเมษายนที่ผ่านมามีแรงงานออกจากระบบผู้ประกันตนกว่า 31,000 คน ส่วนหนึ่งย้ายไปทำงานในจังหวัดชลบุรี ระยอง และจังหวัดที่ขึ้นค่าแรงขั้นต่ำเป็น 300 บาท

อย่างไรก็ตาม ผู้ประกอบการรายใหญ่ในนิคมอุตสาหกรรมในอยุธยาได้เริ่มปรับตัวโดยการจ่ายค่าแรงให้สูงขึ้น เพื่อจูงใจแรงงานไม่ให้ไหลไปใน 7 จังหวัดนำร่อง โดยโรงงานบางแห่งจ่ายค่าแรงสูงถึง 365 บาท/วัน

"สิ่งที่กังวลคือ แรงงานจากธุรกิจเอสเอ็มอีจะไหลไปสู่โรงงานขนาดใหญ่มากขึ้น หากเป็นเช่นนี้ต่อไป ภายใน 1-2 ปี แรงงานจะขาดแคลนแน่นอน"

สอดคล้องกับ ดร.เนาวรัตน์ ทรงสวัสดิ์ชัย นายกสมาคมเครื่องหนังที่กล่าวว่า ปัจจุบัน สมาคมมีสมาชิกประมาณ 180 บริษัท ตอนนี้แรงงานในอุตสาหกรรมเครื่องหนัง อาทิ อุตสาหกรรมกระเป๋า รองเท้า ฯลฯ มีการขาดแคลนแรงงานอยู่แล้ว ยิ่งเมื่อมีปัจจัยจากเรื่องค่าแรง 300 บาทมาเพิ่ม ยิ่งทำให้ขาดแคลนหนักเข้าไปอีก ขณะเดียวกัน การเข้าถึงแหล่งเงินทุนต่าง ๆ ของกลุ่มผู้ประกอบการเอสเอ็มอีก็ยังมีข้อจำกัดอยู่มาก โดยเฉพาะเรื่องการขอสินเชื่อจากสถาบันการเงินที่จะต้องมีหลักทรัพย์ค้ำประกัน

ด้านนายพิชิต นิลทองคำ จัดหางานจังหวัดชลบุรีกล่าวว่า มีแรงงานย้ายเข้ามาทำงานในจังหวัดชลบุรีและมาขึ้นทะเบียนกับจัดหางานจังหวัดประมาณ 5% แต่เชื่อว่ามีแรงงานเคลื่อนย้ายมามากกว่านี้ที่ไม่ขึ้นทะเบียนแต่ไปสมัครงานด้วยตนเอง เนื่องจากโรงงานขนาดใหญ่บางแห่งใช้มาตรการจูงใจจ่ายค่าจ้างมากกว่า 300 บาท หากรวมค่าทำงานล่วงเวลา (โอที) ค่าจ้างจะอยู่ที่ประมาณ 500 บาท/วัน อย่างไรก็ตาม ขณะนี้ชลบุรียังขาดแคลนแรงงานอีก 20,000 ตำแหน่ง

ดร.เกียรติอนันต์ ล้วนแก้ว ผู้อำนวยการศูนย์วิจัย มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ (DPURC) ระบุว่า การขึ้นค่าแรงขั้นต่ำทำให้เกิดการเลิกจ้างในระดับที่แตกต่างกัน ยิ่งค่าแรงขั้นต่ำใหม่มีค่าใกล้เคียงกับค่าแรงเฉลี่ยของประเทศ ผลด้านการเลิกจ้างจะยิ่งสูงขึ้น ดังนั้นเมื่อเปรียบเทียบกับการขึ้นค่าแรงขั้นต่ำเป็น 300 บาท ทำให้ค่าแรงใหม่เป็น 75% ของค่าเฉลี่ยของประเทศ ถือว่าอยู่ในระดับที่สูงมาก และอาจส่งผลให้มีการเลิกจ้างเพิ่มขึ้นภายใน 12-18 เดือนข้างหน้า แม้รัฐบาลจะมีมาตรการช่วยเหลือตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 24 เมษายนที่ผ่านมา แต่อาจส่งผลให้มีเอสเอ็มอีต้องปิดกิจการประมาณ 10-15% หรือประมาณ 8 หมื่น-1.2 แสนราย ใน 18 เดือนข้างหน้า

นอกจากนี้จากการสำรวจแนวทางปรับตัวของผู้ประกอบการเอสเอ็มอีใน 8 เดือนข้างหน้า พบว่าผู้ประกอบการมีแผนเลิกจ้างพนักงานในช่วงอายุต่ำกว่า 20 ปี สูงถึง 38.9% พร้อมกับจะเข้มงวดกับประสิทธิภาพการทำงานเพิ่มขึ้นถึง 76.6% ควบคุมต้นทุนในส่วนอื่น 61.3% ใช้อุปกรณ์หรือเครื่องจักรมาแทนพนักงาน 45.1% เพิ่มชั่วโมงการทำงานต่อวัน 36.1% และผู้ประกอบการ 63.4% จะลดการฝึกอบรมหรือการจ่ายงานเป็นชิ้นให้กับพนักงานโดยการวิจัยครั้งนี้ทำการสำรวจระหว่างวันที่ 23-27 เมษายน 2555 มีกลุ่มตัวอย่างเป็นผู้ประกอบการเอสเอ็มอี 536 ราย ใน 7 จังหวัดนำร่องของการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ 300 บาท ได้แก่ กรุงเทพฯ นนทบุรี ปทุมธานี สมุทรปราการ สมุทรสาคร นครปฐม และภูเก็ต

ขณะที่ ดร.ยงยุทธ แฉล้มวงษ์ ผู้อำนวยการวิจัยด้านการพัฒนาแรงงาน สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย หรือทีดีอาร์ไอ แสดงความเป็นห่วงต่อการปรับค่าจ้างขั้นต่ำให้เท่ากับ 300 บาททั่วประเทศในปี 2556 ว่า การปรับค่าจ้างขั้นต่ำในรอบที่ 2 จะเกิดการช็อกเหมือนเจอแผ่นดินไหวอีกครั้งและจะใหญ่กว่า เนื่องจากจะเป็นการปรับขึ้นในอีก 70 จังหวัดที่มีค่าจ้างห่างจาก 300 บาทมาก ขณะที่ 7 จังหวัดที่ปรับไปก่อน หากไม่มีการปรับเพิ่มด้วยค่าครองชีพก็จะทำให้อำนาจซื้อลดลงไป

จากการศึกษาจึงเสนอให้นำผลการคาดการณ์ภาวะค่าครองชีพ หรือ CPI ของกระทรวงพาณิชย์ซึ่งทำทุกปีในแต่ละจังหวัดมาใช้เป็นฐานในการพิจารณา แต่หากยืนตามนโยบายรัฐบาลที่ให้ปี 2556 ทุกจังหวัดมีค่าจ้างขั้นต่ำ 300 บาท พร้อมกับให้ค่าจ้างคงที่จนถึงปี 2558 อาจทำให้อำนาจซื้อจากเงิน 300 บาทลดลงไปพอ ๆ กับค่าครองชีพที่เพิ่มขึ้น ส่งผลให้ค่าจ้างขั้นต่ำแท้จริงเฉลี่ยในปี 2556 อยู่ที่ 299 บาท โดย 7 จังหวัดแรกที่ได้ขึ้นค่าจ้างไปก่อนจะเสียเปรียบกว่า โดยกรุงเทพฯมีค่าจ้างขั้นต่ำแท้จริงเหลืออยู่ 293 บาท นครปฐมเหลือ 290 บาท ปทุมธานีเหลือ 292 บาท นนทบุรี สมุทรปราการและภูเก็ตเหลือ 289 บาท สุดท้ายสมุทรสาครเหลือ 287 บาท

พร้อมกันนี้ทีดีอาร์ไอยังเสนอ 3 แนวทางเลือกเพื่อให้ลูกจ้างไม่จนลง นายจ้างมีเวลาปรับตัว คือ 1) ปรับเพิ่มค่าจ้างเป็น 2 งวด โดยปี 2556 ขึ้นค่าจ้าง 27-55 บาท เพิ่มอีก 18 จังหวัด แล้วในปี 2557 ขึ้นค่าจ้าง 56-78 บาท ให้กับอีก 52 จังหวัดที่เหลือ ซึ่งจะทำให้ในปี 2557 มีค่าจ้างขั้นต่ำ 300 บาทเท่ากันทั่วประเทศ 2) ให้ขึ้นค่าจ้างครั้งเดียว 40% และทุกปีปรับค่าจ้าง

ขั้นต่ำตามดัชนีค่าครองชีพ แต่วิธีนี้จะต้องใช้เวลาถึง 10 ปี กว่าที่ทุกจังหวัดทั่วประเทศจะมีค่าจ้างขั้นต่ำที่ 300 บาท และ 3) ทำตามข้อเรียกร้องของสภาอุตสาหกรรมฯที่ขอเลื่อนการดำเนินนโยบายค่าแรงขั้นต่ำ 300 บาทเท่ากันทั่วประเทศเป็นมกราคม 2558 และต้องปรับค่าครองชีพ (CPI) ให้กับแต่ละจังหวัดโดยอัตโนมัติ