Thai / English

คสรท.ฉะนโยบายความปลอดภัยในการทำงานยังเข้าไม่ตรงจุด นายจ้างเลี่ยงจ่ายเงินสมทบกองทุน



01 .. 55
ผู้จัดการ

คสรท. ชี้นโยบายความปลอดภัยในโรงงาน ยังไม่ตรงจุด นายจ้างไม่รับผิดชอบ เน้นลดสถิติการบาดเจ็บ เลี่ยงไม่จ่ายเงินสมทบเข้ากองทุนเงินทดแทน ด้านลูกจ้างถูกเอาเปรียบ เหตุไม่รู้สิทธิ์ พร้อมหารือร่วม “เผดิมชัย” จัดงานวันความปลอดภัยร่วมกัน หวังรับฟังปัญหาแล้วผลักดันเป็นนโยบาย

วันนี้ (29 ก.พ.) น.ส.ธนพร วิจันทร์ กรรมการอำนวยการ คณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย (คสรท.) กล่าวภายหลังหารือร่วมกับนายเผดิมชัย สะสมทรัพย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ว่า ได้มีการหารือถึงการจัดงานวันความปลอดภัยแห่งชาติ ร่วมกับกระทรวงแรงงานในวันที่ 10 พ.ค. นี้ ที่ศูนย์ความปลอดภัย ตลิ่งชัน โดยนายเผดิมชัย ได้รับในหลักการไปพิจารณา

น.ส.ธนพร กล่าวว่า ที่ผ่านมาจะเหมือนกับต่างฝ่ายต่างจัด แต่ในปีนี้อยากให้มีการจัดร่วมกันเพื่อที่จะสามารถทำงานบูรณาการร่วมกันได้ โดยในวันงานจะมีการจัดเสวนาร่วมกันในเรื่องการรณรงค์ความปลอดภัยจากทุกภาคส่วน ทั้งส่วนกลางและในส่วนภูมิภาค แล้วจะเสนอให้ทางกระทรวงแรงงานกำหนดเป็นนโยบายเพื่อปรับปรุงแก้ไข

น.ส.ธนพร กล่าวอีกว่า ปัญหาที่ผ่านมาคือการบังคับใช้กฎหมายไม่ได้เข้มข้น แรงงานเข้าไม่ถึงสวัสดิการ เพราะการทำงานร่วมกันระหว่างภาครัฐ กับนายจ้าง-ลูกจ้าง มีน้อยมาก การจัดงานครั้งนี้จึงมีจุดประสงค์เพื่อให้ภาครัฐเข้าถึงปัญหาของแรงงานอย่างตรงจุด

“ปัญหาที่เห็นได้ชัดเลยคือ นายจ้างไม่รับผิดชอบ ลูกจ้างก็ไม่รู้สิทธิ์ของตัวเอง ยิ่งถ้าไม่มีสหภาพแรงงานด้วยแล้วก็แทบจะไม่รู้เรื่อะไรเลย ทางกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน(กสร.)ก็มีการให้การอบรมเรื่องสิทธิ์กับแรงงานที่เป็นสหภาพฯ แต่ถ้าไม่มีสหภาพฯ ฝ่ายบุคคลของบริษัทฯจะเข้าอบรมแทน ซึ่งฝ่ายอบรมก็ต้องรักษาผลประโยชน์ของบริษัทมากกว่าสิทธิ์ของลูกจ้าง จึงอยากให้กสร.ให้ความรู้ให้ตรวจุด”น.ส.ธนพร กล่าว

น.ส.ธนพร กล่าวต่อว่า อย่างลูกจ้างเกิดประสบอุบัติเหตุนิ้วขาด นายจ้างก็ต้องจ่ายเงินเข้ากองทุนเงินทดแทนมากขึ้น แต่นายจ้างไม่ต้องการจ่าย ก็เลยจ่ายเงินให้ลูกจ้างแทนเพื่อให้เรื่องจบ เพราะไม่ต้องการจ่ายเงินเข้ากองทุนเงินทดแทนเพิ่มขึ้น ตองการลดสถิติการบาดเจ็บ ได้ภาพลักษณ์ว่ามีความปลอดภัย ได้มาตรฐานทางการค้า

“โดยเฉพาะโครงการ Zero Accident ก็ไม่ตรงจุด เพราะเป็นเพียงการสร้างแรงจูงใจให้สถานประกอบการในการสร้างความปลอดภัยให้แก่ลูกจ้าง ถ้าทำได้ก็แจกเกียรติบัตร มอบโล่ ซึ่งบางโรงงานที่ไม่สนใจก็แค่ไม่เข้าร่วม แล้วก็ปล่อยแรงงานแบบตามมีตามเกิด บางครั้งโครงการที่เข้าร่วมเพียงต้องการลดสถิติการบาดเจ็บเพื่อสร้งภาพลักษณ์ของบริษัท ถึงขนาดให้ลูกจ้างที่นิ้วขาด ที่แพทย์สั่งให้หยุดงาน 10 วัน แต่นายจ้างก็ขอให้เข้ามาทำงานเพื่อรักษาสถิติและไม่ต้องจ่ายเงินเข้ากองทุนเงินทดแทน” น.ส.ธนพร กล่าว