Thai / English

คนงานทำยางร่วมพัน ลงมตินัดหยุดงานเป็นเอกฉันท์



29 .. 55
http://voicelabour.org

วันที่ 26 กุมภาพันธ์ 2555 เวลา 17.00 น.สหภาพแรงงานมิชลินประเทศไทยเปิดประชุมใหญ่วิสามัญประจำปี 2555 วาระขอมตินัดหยุดงาน ณ สำนักงานคณะทำงานกลุ่มแรงงานแหลมฉบังสัมพันธ์ ต.ทุ่งศุขลา อ.ศรีราชา จ.ชลบุรี โดยมีนาย สมหวัง หมอยาดี เจ้าหน้าที่แรงงานจากสวัสดิการคุ้มครองแรงงานจังหวัดชลบุรีทำหน้าที่ตรวจสอบ นาย ยงยุทธ เม่นตะเภา ประธานสหพันธ์ยานยนต์แห่งประเทศไทย นาย สมพร ขวัญเนตร ประธานกลุ่มสหภาพแรงงานภาคตะวันออก พร้อมผู้นำแรงงานในพื้นที่และย่านใกล้เคียงร่วมสังเกตการณ์ ซึ่งสมาชิกตามทะเบียน 1,150 คน ลงทะเบียนทั้งสิ้น 964 คน ใช้สิทธิ 952 คน และผลการลงมตินัดหยุดงาน 938 เสียง ไม่นัดหยุดงาน 9 เสียง บัตรเสีย 5 เสียง ทั้งนี้สาเหตุของการขอมตินัดหยุดงานในครั้งนี้สืบเนื่องมาจากการเจรจาข้อพิพาทแรงงานไม่สามารถหาข้อยุติลงได้ โดยการเจรจาจะมีขึ้นอีกครั้งในวันที่ 29 กุมภาพันธ์ 2555 ณ สำนักงานสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานจังหวัดชลบุรี

นาย สมหมาย ประไว เลขาธิการสหภาพแรงงานมิชลินประเทศไทยเปิดเผยว่า วันนี้รู้สึกตื้นตันใจจนกลั้นน้ำตาไว้ไม่อยู่ ที่เห็นพลังของเพื่อนสมาชิกสหภาพมาร่วมประชุมอย่างท่วมท้นและมีมติเอกฉันท์ ถึงแม้ตนเองและตัวแทนเจราจาทั้งหมด 7 คนถูกงดมอบหมายงานและไม่ให้เข้าโรงงานตั้งแต่เดือนธันวาคมปีที่แล้วซึ่งนายจ้างอ้างว่าเพื่ออำนวยความสะดวกแก่ตัวแทนเจรจาก็ตามซึ่งตรงนี้ตนคิดว่านายจ้างต้องการกีดกันแกนนำไม่ให้พบปะกับสมาชิกเพื่อไม่ให้สามารถเคลื่อนไหวได้สะดวก ด้านสมาชิกเองถึงแม้จะถูกกดดันและกีดกันจากนายจ้างต่างๆนาๆ เช่น หัวหน้างานเรียกเข้าพบแบบตัวต่อตัว ถามว่าถ้าเกิดมีการนัดหยุดงานจะเข้าร่วมกับสหภาพหรือเปล่า โดยเฉพาะในวันประชุมใหญ่วิสามัญ สมาชิกเล่าให้ฟังว่าคนที่กำลังทำงานอยู่ในช่วงเวลาพักหากจะออกมาใช้สิทธิจะต้องลงชื่อก่อนออกจากโรงงาน ซึ่งก่อนหน้านั้นหากเป็นเวลาพักพนักงานจะออกนอกโรงงานได้ตามปกติ แต่สมาชิกได้พิสูจน์ความเข้มแข็งให้เห็นแล้วเนื่องจากตอนพักได้ออกมาใช้สิทธิกันอย่างล้นหลามโดยไม่สนใจว่าจะต้องลงชื่อก่อน

ทั้งนี้ตนคิดว่าประเด็นที่ทำให้คนงานเกิดความตื่นตัวมากน่าจะเป็นเรื่องความไม่เป็นธรรมจากการบริหารของฝ่ายบริหารและค่าตอบแทนที่ไม่สมน้ำสมเนื้อกันเมื่อเทียบกับความทุ่มเทของคนงาน โดยเฉพาะเรื่องของการปรับค่าจ้างที่ไม่เป็นธรรม ไม่มีโครงสร้างที่ชัดเจน รวมทั้งเรื่องของโบนัสที่บริษัทประกาศเพียง 2.4 เดือน ทั้งที่ก่อนหน้านี้เมื่อปี 2552 ซึ่งเป็นปีที่บริษัทอ้างว่ายอดการสั่งซื้อลดลงและใช้มาตรการตัดค่าจ้างคนงาน 13.04 % ปีนั้นบริษัทมีกำไร 1,000 กว่าล้านบริษัทจ่ายโบนัส2.8 เดือน แต่มาปี2554 คนงานทำยอดทะลุเป้าทุกเดือนเห็นได้จากบริษัทแจกคูปองยอดการผลิตทะลุเป้าในแต่ละเดือนและยอดกำไรซึ่งนายจ้างแจ้งว่าได้กำไร 2,344 ล้านบาทแต่ประกาศจ่ายโบนัสเพียง 2.4 เดือนโดยอ้างมหาอุทกภัยและผลกระทบจากเศรษฐกิจยุโรป

นาย สมหมาย ยังกล่าวต่ออีกว่า ด้านข้อเรียกร้องของสหภาพแรงงานที่ยื่นทั้งหมด 11 ข้อ มีการเจรจากันเรื่อยมาโดยสหภาพแรงงานได้ถอนหลายข้อเนื่องจากบริษัทพยายามอ้างว่าเป็นเรื่องของนโยบายกลุ่มไม่สามารถเปลี่ยนแปลงได้ มีเพียงเรื่องเดียวคือค่าเดินทางที่สามารถขอมาได้เพราะที่อื่นเขามีรถรับส่ง ส่วนค่าเช่าบ้านบริษัทอ้างว่าได้ปรับให้เมื่อปี 2539 (16 ปีที่แล้ว)และกลุ่มไม่มีนโยบาย สหภาพก็ยอมถอน ที่หนักสุดเรื่องเบี้ยขยัน บริษัทสยามมิชลินพระประแดงซึ่งเป็นกลุ่มเดียวกันมีเบี้ยขยัน พอสหภาพบรรจุในข้อเรียกร้องบริษัทกลับอ้างข้างๆคูๆว่าไม่มีนโยบายทั้งที่บริษัทอ้างตลอดว่าบริหารงานแบบกลุ่มถ้าปรับสวัสดิการจะต้องปรับทั้งกลุ่มแต่พอเรื่องเบี้ยขยันกลับไม่พิจารณา ซึ่งข้อนี้สหภาพก็ยอมถอนให้อีก ยังเหลืออีก 2 ข้อที่สหภาพมีความเห็นว่าไม่สามารถยอมได้อีกแล้วนั่นก็คือการปรับค่าจ้างที่เป็นธรรมทุกระดับชั้นตามนโยบายรัฐบาลและโบนัสเงินบวก ซึ่งทั้งสองข้อนี่เองที่ทำให้พนักงานและสมาชิกส่วนใหญ่เห็นว่าบริษัทไม่มีความจริงใจและแบ่งผลประโยชน์ค่าตอบแทนที่ไม่เป็นธรรมนำมาซึ่งการรวมตัวของคนงานและมาร่วมลงมตินัดหยุดงานอย่างท่วมท้น

อย่างไรก็ตามการเจรจาจะมีขึ้นอีกครั้งในวันที่ 29 กุมภาพันธ์ 2555 เวลา 10.00 น. ณ สำนักงานสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน จังหวัดชลบุรี ซึ่งเป็นวันที่ชี้ชะตาอีกครั้งว่าบทสรุป ทั้งสองฝ่ายจะดำเนินไปในทิศทางใด

นักสื่อสารแรงงานศูนย์สื่อสารแรงงานภาคตะวันออก รายงาน