Thai / English

ค่าครองชีพพุ่ง แรงงานดันค่าจ้างเป็นธรรม ลดเหลื่อมล้ำนำร่อง 300 บาทต้องทั่วประเทศ



27 .. 55
http://voicelabour.org

คณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย เตรียมเคลื่อนไหวใหญ่ ทวงสัญญาหาเสียงขจัดความเหลื่อมล้ำของพรรคเพื่อไทย ชี้เงินเฟ้อค่าครองชีพเพิ่มสวนทางค่าจ้างต่ำ ติงนายจ้างอ้างเหตุน้ำท่วมฟ้องศาลระงับขึ้นค่าจ้างเป็นเรื่องฉวยโอกาส ขณะแรงงานต่างจังหวัดโอดรัฐบาล 2 มาตรฐานขึ้น 300 บาทแค่ 7 จังหวัด แต่ข้าราชการได้ขึ้นเงินเดือนแล้วเท่ากันทั่วประเทศ เล็งฟ้องพรรคเพื่อไทยหากไม่มีการขึ้นค่าจ้างตามสัญญาหาเสียง

นายชาลี ลอยสูง ประธานคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย (คสรท.) เปิดเผยว่า ในวันอังคารที่ 28 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2555 ตั้งแต่เวลา 9 นาฬิกา เครือข่ายองค์กรแรงงานกำหนดเคลื่อนไหวใหญ่เพื่อแสดงท่าทีของฝ่ายแรงงานที่ต้องการให้รัฐบาลปรับขึ้นค่าจ้าง 300 บาทเท่ากันทั่วประเทศตามนโยบายหาเสียงของพรรคเพื่อไทยที่ต้องการขจัดความยากจนลดความเหลื่อมล้ำในสังคมไทย โดยจะมีเวทีเสวนาวิชาการเรื่อง รัฐบาลพรรคเพื่อไทยกับนโยบายค่าจ้างขั้นต่ำ 300บาท ที่บริเวณลานพระบรมรูปทรงม้า จากนั้นจะเคลื่อนขบวนไปยังทำเนียบรัฐบาลเพื่อเปิดเวทีปราศรัยโดยแกนนำแรงงานพื้นที่ต่างๆ และจะเข้ายื่นหนังสือต่อนายกรัฐมนตรีเพื่อสนับสนุนให้รัฐบาลปรับขึ้นค่าจ้างที่เป็นธรรมและเท่าเทียมกัน

นายชาลีกล่าวว่า ที่ผ่านมาผู้ใช้แรงงานเตรียมการเคลื่อนไหวเรื่องค่าจ้างตั้งแต่รัฐบาลเริ่มเข้าบริหารประเทศและมีท่าทีว่าจะไม่ทำตามสัญญาที่หาเสียงเรื่องค่าจ้างขั้นต่ำ 300 บาทเท่ากันทั่วประเทศ แต่ติดขัดที่เกิดเหตุการณ์วิกฤตอุทกภัยขึ้นจึงต้องชะลอไว้ก่อน การเคลื่อนไหวในช่วงนี้ถือว่าเหมาะสมที่จะช่วยย้ำให้รัฐบาลขจัดความเหลื่อมล้ำในสังคมไทยโดยสร้างความเป็นธรรมในเรื่องค่าจ้างนำร่องจากนโยบายค่าจ้าง 300 บาทของรัฐบาลก่อน เพราะขณะนี้ค่าครองชีพก็สูงขึ้นจากการที่มีการขึ้นราคาเชื้อเพลิง และราคาของกินของใช้ก็ขยับขึ้นตามหลังจากที่รัฐบาลประกาศขึ้นเงินเดือนข้าราชการและรัฐวิสาหกิจไปแล้วก่อนหน้านี้ ทั้งนี้แม้จะมีเสียงขู่จากฝ่ายนายทุนอุตสาหกรรมว่าจะฟ้องศาลปกครองให้ระงับการขึ้นค่าจ้างในวันที่ 1 เมษายนนี้ โดยมีการอ้างเรื่องผลกระทบจากน้ำท่วมโรงงานด้วย ซึ่งตนเห็นว่าเป็นการฉวยโอกาสของนายจ้างส่วนใหญ่ที่ไม่ได้รับผลกระทบจากเหตุน้ำท่วมแต่อย่างใด กลับเป็นคนงานที่นอกจากบางส่วนจะต้องถูกผลกระทบจากเหตุน้ำท่วมจนต้องตกงาน หรือสูญเสียรายได้แล้ว คนงานส่วนอื่นก็ได้รับผลกระทบจากค่าครองชีพที่ปรับสูงตัวข้าวของเครื่องใช้ขึ้นราคา ซึ่งหากไม่มีการปรับเพิ่มค่าจ้างแล้วลูกจ้างก็คงจะมีชีวิตอยู่กันอย่างยากลำบากมาก เพราะในความเป็นจริง คสรท.เคยทำงานสำรวจเรื่องค่าจ้างของแรงงานทั่วประเทศ ผลออกมาว่าต้องมีค่าจ้างไม่ต่ำกว่าวันละเกือบ 400 บาทและหากต้องเลี้ยงครอบครัวด้วยก็จะต้องมีค่าจ้างวันละ 500 กว่าบาท

นายชาลียังกล่าวอีกว่า เครือข่ายแรงงานขอคัดค้านมติคณะรัฐมนตรีและมติคณะกรรมการค่าจ้างเรื่องปรับค่าจ้าง 300 บาทเฉพาะ 7 จังหวัด และจะไม่มีการปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำไปอีก 3 ปี เพราะขัดกับสภาพความเป็นจริงที่ค่าครองชีพต้องมีการปรับตัวสูงขึ้นไปเรื่อยๆ ต่อไปเมืองไทยคงจะมีคนจนมากขึ้นเกิดช่องว่างทางสังคมมากขึ้น ซึ่งตนคิดว่าพรรคเพื่อไทยที่มีฐานเสียงส่วนใหญ่มาจากคนยากคนจนคงไม่อยากให้เกิดสภาพเช่นนั้นแน่

ขณะที่นายบุญสม ทาวิจิตร เลขาธิการ คสรท. และประธานกลุ่มผู้ใช้แรงงานสระบุรีและใกล้เคียงกล่าวว่า ลูกจ้างต่างจังหวัดถูกเลือกปฏิบัติ ทั้งที่คนต่างจังหวัดเป็นฐานเสียงสำคัญของพรรคเพื่อไทย การปรับขึ้นค่าจ้าง 300 บาทเฉพาะกรุงเทพปริมณฑลและเมืองใหญ่เพียง 7 จังหวัดถือเป็นการกระทำแบบ 2 มาตรฐานซึ่งเป็นเรื่องที่เครือข่ายพรรคเพื่อไทยเคยรังเกียจและต่อต้าน เห็นได้จากแม้แต่ข้าราชการรัฐบาลยังปรับขึ้นเงินเดือนให้แล้วและเป็นอัตราเดียวกันทั้งประเทศด้วย ที่จริงแล้ว ทุกวันนี้ค่าครองชีพต่างจังหวัดไม่ได้ต่ำกว่ากรุงเทพเลย เดินเข้าห้างซื้อของราคาก็เท่ากัน แถมราคาน้ำมันเชื้อเพลิงแพงกว่าด้วยซ้ำ ตนเห็นว่า หากไม่มีการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำเพราะถูกนายจ้างฟ้องศาล ต่อไปแรงงานอาจต้องฟ้องยุบพรรคเพื่อไทยฐานสัญญาหาเสียงแล้วไม่ปฏิบัติตาม

สำหรับเครือข่ายแรงงานที่จะมาร่วมชุมนุมเคลื่อนไหวกำหนดไว้ประมาณ 1,000 คน ประกอบด้วยสมาชิกของ คสรท.จากกลุ่มสหภาพแรงงานย่านอุตสาหกรรมต่างๆ เช่น สมุทรปราการ ฉะเชิงเทรา อ้อมน้อย-อ้อมใหญ่ รังสิต อยุธยา อ่างทอง สระบุรี ชลบุรี-ระยอง สมาพันธ์แรงงานเครื่องใช้ไฟฟ้า อิเล็คทรอนิค ยานยนต์ และโลหะแห่งประเทศไทย (TEAM) รวมทั้งสมาพันธ์แรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ สภาองค์การลูกจ้างสภาพัฒนาแรงงานแห่งประเทศไทย และสภาแรงงานยานยนต์แห่งประเทศไทย

นักสื่อสารแรงงาน รายงาน 24/2/55