Thai / English

“เผดิมชัย” เร่งนำเข้าแรงงานลาว‏



24 .. 55
ผู้จัดการ

รมว.แรงงานสั่ง กกจ.นำเข้าแรงงานลาว ช่วยโรงงานในพื้นที่จังหวัดภาคอีสาน หลังพบปัญหาขาดแคลนแรงงานจำนวนมาก เตือนแรงงานอย่าหลงเชื่อบริษัทจัดหางานเถื่อนหลอกเรียกหัวคิวรายละ 5 หมื่นไปทำงานอิสราเอล

วันนี้ (23 ก.พ.) นายเผดิมชัย สะสมทรัพย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน (รมว.รง.) เปิดเผยว่า เมื่อเร็วๆ นี้ได้ลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมโรงงานน้ำตาล และโรงงานผลิตเสื้อผ้าส่งออกรายใหญ่ในจังหวัดหนองบัวลำภู เพื่อหาข้อมูลเกี่ยวกับปัญหาด้านแรงงาน โดยเฉพาะในช่วงก่อนที่จะมีการปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำ 40% ทั่วประเทศ ซึ่งพบว่าสถานการณ์แรงงานในพื้นทีประสบปัญหาขาดแคลนแรงงาน โดยสถานประกอบการทั้ง 2 แห่งต่างให้ข้อมูลตรงกันว่ามีแรงงานไม่เพียงพอ ไม่สามารถขยายกำลังการผลิตได้เต็มที่ตามกำลังการผลิตที่แท้จริงได้ ประกอบกับไม่สามารถหาแรงงานพื้นที่อื่นๆ มาทดแทนได้

ทั้งนี้ จากปัญหาดังกล่าวตนได้มอบให้กรมการจัดหางานไปดำเนินการจัดหาแรงงานจากประเทศลาว เพื่อมาเสริมแรงงานที่ขาดแคลน โดยให้ออกใบอนุญาตทำงานประเภททำงานตามฤดูกาล ซึ่งจะมีระยะเวลาทำงานในประเทศไทยประมาณ 2-3 เดือน ขณะเดียวกัน กระทรวงจะรอดูสถานการณ์แรงงานหลังวันที่ 1 เม.ย.จากที่ได้ปรับค่าจ้างขั้นต่ำทั่วประเทศ ว่าจะมีแรงงานไหลเข้าสู่ระบบตลาดงานมากขึ้นหรือไม่

“ ผู้บริหารทั้ง 2 โรงงานให้ข้อมูลว่าสาเหตุหลักของปัญหาขากแคลนแรงงานในพื้นที่ เกิดจากแรงงานไม่มีความแน่นอนในการทำงาน มักจะเข้ามาทำงานในช่วงที่ว่างเว้นจากการทำนาและไร่อ้อยเท่านั้น เมื่อถึงฤดูทำนาและตัดอ้อยก็จะย้ายงานไปโดยไม่แจ้ง ทำให้บริษัทไม่สามารถขยายกำลังการผลิตได้ อย่างไรก็ตาม ทั้ง 2 บริษัทยืนยันว่ามีความพร้อมที่จะปรับเพิ่มค่าจ้างขั้นต่ำอีก 40% ในวันที่ 1 เม.ย.นี้ แต่ก็อยากให้กระทรวงแรงงานช่วยแก้ปัญหาขาดแคลนแรงงาน เพื่อขยายกำลังการผลิตได้เต็มศักยภาพ” นายเผดิมชัยกล่าว

รมว.แรงงานกล่าวอีกว่า ตนได้รับรายงานจากกกจ.และจากพูดคุยกับแรงงานในพื้นที่หนองบัวลำภู และอุดรธานี พบว่าขณะนี้มีบริษัทจัดหางานเถื่อน 2-3 แห่งเข้ามาประกาศรับสมัครงานผ่านทางอินเทอร์เน็ต และมีการตั้งโต๊ะรับสมัครไปทำงานที่อิสราเอล โดยเรียกเก็บเงินค่าหัวคิวรายละ 50,000 บาท ซึ่งขณะนี้ กกจ.ได้รายงานข้อมูลเบื้องต้นแล้วว่าบริษัทเหล่านี้ ตั้งอยู่ที่ไหน และจังหวัดใดบ้าง และอยู่ระหว่างรวบรวมหลักฐาน เพื่อดำเนินคดีตามกฎหมาย

นายเผดิมชัยกล่าวต่อไปว่า หลังจากนี้แรงงานที่ต้องการจะไปทำงานต่างประเทศ ต้องดำเนินการตามขั้นตอนกฎหมายให้ถูกต้อง เริ่มตั้งแต่การตรวจสอบข้อมูลตำแหน่งงานและเงินเดือน รวมทั้งประเทศเป้าหมาย และค่าใช้จ่ายในการเดินทาง ที่จัดหางานจังหวัด ขั้นตอนต่อมาแรงงานทุกคนจะต้องผ่านการปฐมนิเทศก่อนที่จะเดินทางไป รวมทั้งต้องผ่านการอบรมภาษา

นอกจากนี้ แรงงานยังสามารถยื่นกู้เงินจากโครงการสินเชื่อเพื่อการไปทำงานต่างประเทศ ผ่านธนาคาร 3 แห่ง ได้แก่ ธนาคารกรุงไทย ธนาคารออมสิน และธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) อย่างไรก็ตาม ในระยะยาวกระทรวงจะเร่งขยายการทำเอ็มโอยูกับประเทศต่างๆ ในการจัดส่งแรงงานไทยไปทำงานต่างประเทศ เพื่อลดค่าใช้จ่ายและป้องกันการหลอกลวง

นายอดิศักดิ์ ตรีศิริรัตน์ ผอ.ฝ่ายผลิต บริษัท เอ็น บี แอพพาเรล จำกัด ซึ่งเป็นผู้ผลิตเสื้อผ้าส่งออกรายใหญ่ในจ.หนองบัวลำภู โดยผลิตให้แก่แบรนด์อาดิดาส 100% กล่าวว่า ปัจจุบันโรงงานของเรามีกำลังการผลิตอยู่ที่ 1,200 จักร แต่สามารถผลิตได้แค่ 1,000 จักรเท่านั้น เนื่องจากปัญหาขาดแคลนแรงงาน เพราะแรงงานบางส่วนมีอาชีพทำนาและไร่อ้อย เมื่อถึงฤดูกาลเก็บเกี่ยวผลผลิตในแต่ละปี แรงงานกลุ่มนี้ก็จะหายไป และจะกลับเข้ามาจำนวนไม่มาก ทำให้เป็นอุปสรรคต่อการบริหารกำลังคน และกระทบต่อการขยายกำลังการผลิตทั้งที่บริษัทเรามีศักยภาพที่จะผลิตได้มากกว่านี้ ขณะที่ทางบริษัทมีการประกาศรับสมัครพนักงานตลอดเวลา แต่ก็ไม่มีแรงงานมาสมัครตามเป้าที่ตั้งไว้

ทั้งนี้ ทางบริษัทได้แจ้งแก่พนักว่าในวันที่ 1 เม.ย.นี้จะปรับอัตราค่าจ้างเพิ่มอีก 40% ตามกฎหมาย ซึ่งจะทำให้ค่าจ้างขั้นต่ำจากเดิมอยู่ 165 บาทต่อวัน เพิ่มเป็น 230 บาทต่อวัน ซึ่งทางผู้บริหารกำลังพิจารณาว่าจะเพิ่มค่าโอทีและสวัสดิการอื่นๆ ด้วยหรือไม่ และคาดหวังว่าการปรับค่าจ้างครั้งนี้ จะมีแรงงานไหลกลับมาสู่ระบบมากขึ้น อย่างไรก็ตาม อยากให้กระทรวงแรงงานเข้ามาช่วยพัฒนาฝีมือแรงงานเพื่อให้แรงงานผลิตชิ้นงานได้มากขึ้น รวมทั้งแก้ปัญหาขาดแคลนแรงงาน เนื่องจากการปรับขึ้นค่าจ้างส่งผลกระทบต่อต้นทุนการผลิต จำเป็นต้องเพิ่มผลผลิตให้มากขึ้น เพื่อแข่งขันกับประเทศเพื่อนบ้านที่มีค่าจ้างถูกกว่า