Thai / English

ถอดบทเรียน แรงงานเยอรมนี ค่าจ้างไทยต้องเป็นธรรม



22 .. 55
เครือมติชน

นับตั้งแต่มีการปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำเป็น 300 บาท ใน 7 จังหวัดนำร่องเมื่อต้นเดือนเมษายนที่ผ่านมา หลายสถาบันได้ทำงานวิจัยหลายชิ้น พบว่าค่าจ้างที่เพิ่มขึ้นน้อยมากเมื่อเทียบกับการเพิ่มผลิตภาพทางเศรษฐกิจ และอาจสืบเนื่องไปจนเป็นสาเหตุของวิกฤตทางการเงินได้ในที่สุด

จึงไม่น่าแปลกใจที่ประเทศไทยจะเกิดช่องว่างระหว่างคนรวยและคนจนขึ้นมากที่สุดประเทศหนึ่งของเอเชียดังนั้นหากเปรียบเทียบมุมมองนโยบายค่าจ้างที่เป็นธรรม ที่หลายประเทศทางฝั่งยุโรปยังคงให้ความสำคัญกับการมุ่งไปสู่การพัฒนาประเทศอย่างเป็นระบบ โดยใช้เชิงมิติความเป็นธรรมทางสังคม

"ดร.ธอร์เซน ซัลเทน" นักวิจัยผู้เชี่ยวชาญด้านนโยบายแรงงาน และการเจรจาต่อรองร่วมสถาบันวิจัย เศรษฐศาสตร์และสังคม ประเทศเยอรมนี ได้กล่าวในงานเสวนาเรื่อง "นโยบายค่าจ้างในยุโรป และความหมายต่อการพัฒนาเศรษฐกิจ" ที่จัดขึ้นโดยมูลนิธิฟรีดริค เอแบร์ท และกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย (คสรท.) บอกว่า การกำหนดค่าจ้างในยุโรปจะกำหนดโดยค่าจ้างขั้นต่ำระดับชาติอัตราเดียว หรือค่าจ้างพื้นฐานทางสากล

"ค่าจ้างขั้นต่ำสำหรับบางภาคอุตสาหกรรม ไปจนถึงการเจรจาเพื่อหาข้อตกลงร่วมกัน จะต้องอาศัยระบบการเจรจาร่วมที่เข้มแข็งด้วย"

"ดร.ธอร์เซน" บอกว่า จะต้องมีปัจจัยที่ทำให้ระบบการเจรจาต่อรองมีความเข้มแข็งขึ้น โดยใช้สหภาพของสมาชิกที่เข้มแข็ง หรือการเจรจาต่อรองแบบรวมศูนย์ของข้อตกลงร่วมในอุตสาหกรรม และการขยายข้อตกลงร่วม รวมถึงบางประเทศที่ให้รัฐบาลเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งในการสนับสนุนเพื่อให้เกิดการต่อรองที่ดีขึ้น

"จะเห็นได้จากพัฒนาการปรับค่าจ้างของเยอรมนีตั้งแต่ปี 2523 พบว่าส่วนแบ่งของค่าจ้างลดลงจากค่าจ้างที่แท้จริง และการกระจายรายได้จากแรงงานสู่ทุนมีการขยายตัวมากขึ้น โดยเฉพาะการขยายตัวของภาคอุตสาหกรรมที่มีค่าจ้างต่ำ ในทางกลับกันกลุ่มที่ได้ค่าจ้างสูงจะมีจำนวนเพิ่มขึ้นด้วยเช่นกัน"

"จึงเป็นผลสืบเนื่องทางเศรษฐกิจของความไม่เท่าเทียมทางรายได้ จนทำให้เกิดความอ่อนแอเชิงโครงสร้างของตลาดภายในประเทศ ซึ่งสิ่งที่ทำได้คือต้องไปชดเชยการส่งออกสินค้าเป็นหลักมากกว่าขายสินค้าในประเทศ รวมถึงมีการใช้แรงงานค่าจ้างถูก และมีการปรับขึ้นค่าจ้างอยู่ในอัตราต่ำ ไม่เป็นไปตามค่าจ้างที่แท้จริง จนทำให้การกระจายรายได้ในประเทศไม่ดีหรือความไม่สมดุลทางรายได้"

"ปัญหาทางเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นภายในประเทศ คือการกระตุ้นให้ประชาชนก่อหนี้โดยการกู้เงินและใช้บัตรเครดิต เพื่อนำเงินมาใช้จ่ายซื้อสินค้าในประเทศ ซึ่งนโยบายดังกล่าวก่อให้เกิดผลกระทบต่อเศรษฐกิจของประเทศ และกระจายไปสู่ประเทศอื่น ๆ ในยุโรปเป็นวงกว้าง"

หากมองย้อนกลับมาในบริบทของการปรับค่าจ้างในประเทศไทย "ดร.ธอร์เซน" บอกว่า ตั้งแต่มีการปรับขึ้นค่าจ้าง เรียกว่าปรับขึ้นไม่ทันกับเงินเฟ้อ นั่นจึงส่งผลให้เกิดปัญหาค่าครองชีพมีอัตรา

สูงขึ้น ทำให้ค่าจ้างของไทยไม่เป็นไปตามค่าจ้างที่แท้จริง จนอาจนำไปสู่ปัญหาความเหลื่อมล้ำทางสังคมได้

ภาพรวมของตลาดแรงงานในประเทศไทย "อาจารย์ดิลก ลัทธพิพัฒน์" สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย ได้ศึกษาหาผลกระทบของการกำหนดนโยบายค่าจ้างขั้นต่ำต่อความเหลื่อมล้ำของค่าจ้าง

การจ้างงาน และชั่วโมงการทำงาน

"พบว่าสัดส่วนแรงงานเมื่อแบ่งตามสถานการณ์ทำงานปี 2529-2553 กลุ่มที่มีสัดส่วนใหญ่ที่สุดในปี 2530 คือแรงงานในกิจการเอกชนขนาดไม่เกิน 10 คน เป็นช่วงที่เศรษฐกิจไทยมีการขยายตัวสูง คิดเป็นสัดส่วนแรงงานที่ลดลงจาก 45% ลงมาที่ระดับ 35% หลังวิกฤตเศรษฐกิจปี 2540"

"ในขณะที่กิจการเอกชนขนาดใหญ่มีการขยายตัวมากในช่วงเวลาเดียวกัน จนกระทั่งมีแนวโน้มลดลงในช่วงวิกฤตเศรษฐกิจโลกของปี 2551"

"ส่วนกิจการเอกชนขนาด 10 คนขึ้นไป มีสัดส่วนแรงงานอยู่ในภาคเกษตรเพียง 5% เท่านั้น ซึ่งเราอาจตั้งเป็นสมมติฐานได้ว่า กิจการเอกชนไม่ถึง 10 คน ส่วนมากจะอยู่ในภาคการผลิตที่ไม่เป็นทางการ"

"หลังจากปี 2540 แม้ว่าอัตราค่าจ้างขั้นต่ำที่แท้จริงจะลดลงมาอย่างต่อเนื่อง นั่นสะท้อนให้เห็นถึงอำนาจต่อรองที่ลดน้อยลงอย่างมากในด้านของลูกจ้างภายหลังวิกฤต และกลยุทธ์ของนายจ้างที่อาศัยค่าแรงราคาถูกเพื่อลดต้นทุนการผลิต และรักษาศักยภาพในการแข่งขัน"

ดูเหมือนว่าประเทศไทยจะมีความคล้ายคลึงกันกับการปรับขึ้นค่าจ้างของประเทศเยอรมนีเมื่อ 10 ปีที่แล้ว ที่ส่งผลให้ระบบเศรษฐกิจถดถอยจนนำไปสู่การเลิกจ้างในที่สุด จนไม่รู้ว่าประเทศไทยจะซ้ำรอยนี้หรือไม่

ต้องติดตามดู !