Thai / English

เหยื่อน้ำท่วมปิดถนน โวยคูปองใช้ไม่ได้ ฟ้องหน่วยงานรัฐลวง



06 .. 55
ผู้จัดการ

ASTVผู้จัดการรายวัน - เหยื่อน้ำท่วมปิดถนนพระรามสอง โวยถูกหลอกคูปองน้ำท่วม 2,000 บาทใช้ไม่ได้ สมาคมต่อต้านสภาวะโลกร้อนฟ้องกราวรูด 5 หน่วยงานรัฐ เอี่ยวประชานิยมแหกตานโยบายใช้ไฟฟ้าฟรี เล่นกลผลักภาระให้ประชาชนและผู้ประกอบการที่ใช้ไฟเกิน 90 หรือ 50 หน่วย รับภาระจ่ายแทนรัฐ สุดงงค่าไฟพุ่งช่วงทิ้งบ้านหนีน้ำท่วม ขณะที่แรงงานไดนามิคโวยนายจ้างเบี้ยวเงินเดือนอ้างพิษน้ำท่วม

รายงานข่าวจาก จ.สมุทรสาครแจ้งว่า ตั้งแต่เช้าวานนี้ (5ม.ค.) ประชาชนในพื้นที่ประสบอุทกภัยและมีสิทธิรับคูปองแลกซื้อเครื่องใช้ไฟฟ้าครัวเรือนละ 2,000 บาท ตามโครงการมหกรรมสินค้าประหยัดไฟเบอร์ 5 เยียวยาผู้ประสบอุทกภัยของรัฐบาล ได้รวมตัวกันประท้วงที่หน้าศาลากลางจังหวัดสมุทรสาครและเคลื่อนขบวนปิดถนนพระราม 2 บริเวณใต้สะพานลอยหน้าทางเข้าตลาดมหาชัย ทั้งฝั่งขาเข้าขาออก เนื่องจากคูปองที่รัฐบาลแจ้งว่าสามารถนำไปซื้อเครื่องใช้ไฟฟ้าที่มีฉลากประหยัดไฟเบอร์ 5 จำนวน 12 รายการ ตามที่กระทรวงพลังงานได้กำหนดไว้นั้น เมื่อนำไปใช้ซื้อสินค้าจากร้านค้าที่ร่วมรายการแล้วปรากฏว่าร้านค้าได้ให้ส่วนลดไม่ตรงกัน และบางร้านก็ไม่รับ และวันนี้ซึ่งเป็นวันสุดท้ายของการใช้คูปองดังกล่าว บางร้านก็ปิด ทำให้พลาดโอกาสที่จะใช้คูปอง กลุ่มชาวบ้านจึงมารวมตัวกันเพื่อขอความชัดเจนในการใช้คูปองว่าสามารถใช้แทนเงินสด 2,000 บาทได้เลยหรือไม่ ไม่ใช่ให้เป็นส่วนลดร้อยละ 20 ตามที่บางร้านตั้งเงื่อนไข หรือไม่เช่นนั้นก็ให้รัฐบาลจ่ายเป็นเงินสดครอบครัวละ 1,500 บาท

รายงานข่าวแจ้งอีกว่า นายจุลภัทร แสงจันทร์ ผู้ว่าราชการจังหวัดสมุทรสาคร ได้ออกมารับข้อเรียกร้องจากประชาชน และได้ขอให้ไปเจรจาที่ศาลากลางจังหวัดเพื่อไม่ให้ผู้ใช้รถใช้ถนนเดือดร้อน แต่กลุ่มประชาชนหลายพันคนไม่ยินยอม และยืนยันที่จะขอทราบข้อสรุปที่ชัดเจนชัดภายในวันนี้ว่าสามารถนำคูปองไปซื้อของได้เต็มจำนวน 2,000 บาท เช่นเดียวกับประชาชนที่ได้ซื้อไปแล้ว และให้ยืนยันว่าร้านค้าจะมีสินค้าเพียงพอต่อความต้องการและไม่ปิดร้านหนี หลังจากนั้นผู้ว่าราชการจังหวัดได้ประสานไปยังภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง และได้ขอร้องให้ประชาชนเปิดถนน 1 ช่อง เพื่อให้อธิบดีกรมธุรกิจพลังงานเดินทางมาเจรจากับประชาชน ซึ่งประชาชนก็ยอมเปิดให้ แต่จะให้เวลาเพียง 1 ชั่วโมง ถ้าอธิบดียังมาไม่ถึง ก็จะปิดถนนเหมือนเดิม

รายงานข่าวแจ้งว่า เมื่อเวลาผ่านไป ข้อเรียกร้องยังไม่มีความคืบหน้า กลุ่มประชาชนจึงปิดถนนบริเวณสี่แยกมหาชัยอีกครั้ง ทำให้การจราจรภายในตลาดมหาชัย และถนนพระราม 2 ติดขัดยาวเป็นระยะทางหลายกิโลเมตร จนกระทั่งเวลาประมาณเกือบ 17.00 น.อธิบดีกรมธุรกิจพลังงานได้เดินทางมาเจรจากับผู้ชุมนุม ซึ่งผู้ชุมนุมได้ยอมเปิดเส้นทางการจราจรขาออกไป จ.สมุทรสงคราม ส่วนขาเข้ากรุงเทพฯ ยังคงปิดอยู่

ต่อมาเวลาประมาณ 17.20 น. อธิบดีกรมพัฒนาพลังงานทดแทนรับข้อเสนอชาวบ้านที่ที่ให้เปลี่ยนเป็นคูปองเงินสดไปหารือกับกระทรวงพลังงาน และขอให้ชาวบ้านเก็บคูปองเอาไว้ ซึ่งกลุ่มชาวบ้านได้ยอมสลายการชุมนุมเมื่อเวลาประมาณ 17.45 น. และนัดฟังคำตอบในวันพุธที่ 11 ม.ค. เวลา 14.00 น. ที่ศาลากลางจังหวัดสมุทรสาคร

***พพ. เล็งขยายใช้คูปองสิ้น ก.พ.

นายไกรฤทธิ์ นิลคูหา อธิบดีกรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน หรือ พพ.กล่าวว่า ได้ทำความเข้าใจกับกลุ่มชาวบ้านนับพันคน ที่ชุมนุมปิดถนนพระราม 2 เนื่องจากไม่พอใจเงื่อนไขคูปอง 2,000 บาทของกระทรวงพลังงาน ในการใช้เป็นส่วนลดเครื่องใช้ไฟฟ้าให้กับประชาชนที่ถูกน้ำท่วม ซึ่งมั่นใจว่า จะทำความเข้าใจกับประชาชนได้ เพราะเบื้องต้นปัญหาเกิดจากความเข้าใจผิดของบางร้านค้าที่เป็นผู้แทนจำหน่ายเครื่องใช้ไฟฟ้า ซึ่งที่ผ่านมาผู้ค้าทุกรายก็เข้าใจเงื่อนไงดี แต่เกิดเหตุการณ์ในครั้งนี้ มีการนำคูปองมาขึ้นเงินในลักษณะที่ผิดเงื่อนไข จากการที่ต้องใช้เป็นส่วนลดนั้น จะต้องมีการทำความเข้าใจร่วมกันใหม่

อย่างไรก็ตาม กระทรวงพลังงานเตรียมปรับวิธีการใช้คูปองให้สะดวกมากขึ้น เพราะที่ผ่านมามีการแจกคูปองล่าช้า และรอคิวนาน ขณะที่ประชาชนมาร่วมโครงการเพียงร้อยละ 20 เท่านั้น ซึ่งกระทรวงพลังงานอาจจะมีการพิจารณาขยายระยะเวลาโครงการออกไปจนถึงสิ้นเดือนกุมภาพันธ์นี้

****ฟ้อง 5 หน่วยงานรัฐผิดกฏหมาย

วานนี้ (5 ม.ค.) นายศรีสุวรรณ จรรยา นายกสมาคมต่อต้านสภาวะโลกร้อน เปิดเผยว่า สมาคมฯได้รับมอบอำนาจจากประชาชนและผู้ประกอบการเอกชน ยื่นฟ้องรัฐบาลและหน่วยงานของรัฐรวม 5 หน่วยงาน ต่อศาลปกครองกลาง ประกอบด้วย คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) คณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) คณะรัฐมนตรี (ครม.) การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) และ การไฟฟ้านครหลวง(กฟน.) ในความผิดฐานเกี่ยวกับการที่หน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐกระทำการโดยไม่ชอบด้วยกฎหมายจากกรณีที่หน่วยงานข้างต้นร่วมกันมีมติให้ประชาชนผู้ด้อยโอกาสใช้ไฟฟ้าฟรี 90 หน่วยต่อเดือน และภายหลังปรับลดเหลือ 50 หน่วยต่อเดือน เมื่อวันที่ 27 ธ.ค.54 ที่ผ่านมา

นโยบายดังกล่าวถือว่าเป็นนโยบายที่ดี ซึ่งรัฐบาลในอดีตเคยเป็นผู้รับภาระค่าใช้จ่ายทั้งหมดเอง แต่พอมาในรัฐบาลยุคนี้กลับดำเนินการผลักภาระค่าใช้จ่ายของผู้ใช้ไฟฟ้าฟรีดังกล่าวไปให้ประชาชนทุกครัวเรือน ผู้ประกอบการขนาดเล็ก จนถึงขนาดใหญ่ทุกรายที่ใช้ไฟฟ้าเกิน 90 หน่วยหรือเกิน 50 หน่วย ให้ร่วมรับผิดชอบต่อค่าไฟฟ้าฟรีดังกล่าว

นอกจากนั้น ยังพบข้อมูลจากสมาคมแช่เยือกแข็งไทย รายงานว่า ผู้ประกอบการบางจังหวัดถูกเรียกเก็บค่าไฟฟ้าสูงขึ้นกว่าอัตราที่ใช้ในแต่ละรอบเดือนตั้งแต่เดือนก.ค. 2554 ที่ผ่านมา อาทิ สงขลาเพิ่มขึ้นร้อยละ 30 ระนองเพิ่มขึ้นร้อยละ 58 จันทบุรี เพิ่มขึ้นร้อยละ 28 อีกทั้ง มีการเรียกเก็บค่าไฟฟ้าสูงกว่าปกติมากจากประชาชนบางครัวเรือนที่ประสบภัยน้ำท่วม ทั้งๆ ที่ไม่ได้อยู่บ้าน การดำเนินการดังกล่าวของรัฐบาลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องถือว่า ดำเนินการโดยมิชอบ มีการเลือกปฏิบัติอย่างไม่เป็นธรรม ขัดต่อรัฐธรรมนูญ 2550 มาตรา 30 และขัดต่อ พ.ร.บ.ประกอบกิจการพลังงาน 2550 มาตรา 7 (4)

สมาคมฯ ได้มีคำขอท้ายฟ้อง 1) ขอให้ศาลเพิกถอนคำสั่งหรือมติเกี่ยวกับมาตรการค่าไฟฟ้าฟรีเฉพาะในส่วนที่เกี่ยวกับการผลักภาระค่าไฟฟ้าฟรีสำหรับผู้ที่ใช้ไฟฟ้าเกิน 90 หรือ 50 หน่วยต่อเดือน ไปยังผู้ใช้ไฟฟ้าประเภทกิจการขนาดกลาง ขนาดใหญ่ องค์กรไม่แสวงหากำไร หรือประชาชน และให้ผู้ถูกฟ้องที่ 4 และ 5 คืนเงินที่เรียกเก็บไปแล้วจากนโยบายดังกล่าวคืนให้กับผู้ที่ถูกผลักให้รับภาระทั้งหมดตั้งแต่เดือนก.ค. 2554 เป็นต้นมาพร้อมดอกเบี้ย 2) ขอให้ยกเลิกการจำแนกประเภทของผู้ใช้ไฟฟ้าโดยให้กำหนดอัตราค่าไฟฟ้าเท่าเทียมกันโดยไม่มีการเลือกปฏิบัติอย่างไม่เป็นธรรม

3) ขอให้ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 แก้ไขคำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการกำกับอัตราค่าพลังงานโดยให้มีตัวแทนของผู้ใช้ไฟฟ้าหรือตัวแทนภาคประชาชนร่วมเป็นคณะกรรมการ 4) ขอให้จัดรับฟังความเห็นของประชาชนผู้มีส่วนได้เสียก่อนประกาศค่าไฟฟ้าผันแปรหรือค่าเอฟที และ 5) ขอให้ศาลเปิดไต่สวนและกำหนดมาตรการหรือวิธีการคุ้มครองชั่วคราวก่อนมีคำพิพากษา โดยมีคำสั่งให้ผู้ถูกฟ้องระงับการผลักภาระเก็บค่าไฟฟ้าไปยังผู้ที่ใช้ไฟฟ้าเกิน 50 หน่วยต่อเดือน

*** แรงงานไดนามิคร้องเรียน กสร.

วานนี้ (5 ม.ค.) น.ส.วิไลวรรณ แซ่เตีย รองประธานคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย (คสรท.) พร้อมทั้งลูกจ้างจำนวนหนึ่งของบริษัท ไดนามิค โปรโมชั่น จำกัด จ.สมุทรสาคร และแรงงานบางส่วนจาก จ.อยุธยา ได้เข้าร้องเรียนต่อ นายอาทิตย์ อิสโม อธิบดีกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน(กสร.) ในกรณีที่ลูกจ้างเหล่านี้ได้รับคำสั่งให้หยุดงานตั้งแต่วันที่ 2 พ.ย. 54 จนถึงปัจจุบัน เนื่องจากปัญหาน้ำท่วม ซึ่งขณะนี้ก็ยังไม่มีความชัดเจนจากทางบริษัทฯ ว่า จะจ้างต่อหรือไม่ เพราะไม่มีประกาศวันเปิดกิจการจากทางบริษัทฯ

น.ส.วิไลวรรณ กล่าวว่า ขอเรียกร้องให้ทาง กสร.เร่งรัดให้นายจ้างจ่ายค่าจ้างค้างจ่าย อัตราร้อยละ 75 ของค่าจ้าง นับตั้งแต่วันที่ 2 พ.ย.54-31 ธ.ค.54 ให้กับลูกจ้างทุกคน และจ่ายค่าจ้างเต็มตามอัตราค่าจ้างของลูกจ้างแต่ละคน ตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค. 55 เป็นต้นไป เนื่องจากโรงงงานของนายจ้างสามารถดำเนินการป้องกันน้ำท่วมได้และสามารถเปิดกิจการได้แล้ว แต่ก็ยังคงไม่เปิดดำเนินการโดยไม่แจ้งเหตุผลและวันเปิดดำเนินการให้ลูกจ้างทราบ

ด้านนายอาทิตย์ กล่าวว่า ลูกจ้างที่มีความประสงค์จะออกจากงานก็สามารถเขียนใบคำร้อง เพื่อขอรับเงินจากกองทุนสงเคราะห์ลูกจ้างได้ ส่วนลูกจ้างบางส่วนที่เป็นผู้สูงอายุนั้นหากไม่ประสงค์จะออกจากงานทาง กสร.ก็จะเข้าไปเจรจาให้เพื่อขอความชัดเจนต่อไป

อย่างไรก็ตาม ในการหารือร่วมกันได้ข้อสรุปว่าทางแกนนำ คสรท.และลูกจ้างที่ประสบปัญหาจะหารือร่วมกันอีกครั้งถึงแนวทางช่วยเหลือ เพราะในส่วนของลูกจ้างที่อายุมากยังคงต้องการกลับเข้าทำงานเพราะมีความเสี่ยงที่เมื่อออกจากงานแล้วจะไม่มีงานใหม่รองรับ

ทั้งนี้หากนายจ้างไม่ยอมจ่ายค่าจ้าง ลูกจ้างสามารถยื่นคำร้อง คร.7 เพื่อขอใช้เงินจากกองทุนสงเคราะห์ลูกจ้าง มาจ่ายค่าจ้างและค่าชดเชยบางส่วน คือ กรณีค่าจ้างค้างจ่ายจะได้ในอัตราค่าจ้างรายวัน 60 เท่า ส่วนค่าชดเชยจะได้ตามอายุงานใน 3 อัตรา คือทำงาน 120 วัน ไม่เกิน 3 ปี ได้ค่าชดเชย 30 เท่า ทำงาน 3 ปี ไม่เกิน 10 ปี ได้ค่าชดเชย 60 เท่า และ ทำงาน 10 ปีขึ้นไปได้ 90 เท่า ของค่าจ้างรายวัน ส่วนอัตราที่เหลือในอัตราค่าชดเชยที่นายจ้างต้องจ่าย กสร.จะไปติดตามจากนายจ้างมาจ่ายให้ครบต่อไป

สำหรับอัตราค่าชดเชยที่นายจ้างต้องจ่ายตามกฎหมายคุ้มครองแรงงาน หากเลิกจ้างลูกจ้างใน 5 อัตรา คือ ทำงาน 120 วัน ไม่เกิน 1 ปี ได้รับค่าชดเชย 30 เท่าของค่าจ้างขั้นต่ำ ทำงาน 1 ปี ไม่เกิน 3 ปี ได้ค่าชดเชย 90 เท่า ทำงาน 3 ปี ไม่เกิน 6 ปี ได้ค่าชดเชย 180 เท่า ทำงาน 6 ปี ไม่เกิน 10 ปี ได้ค่าชดเชย 220 เท่า และทำงาน 10 ปีขึ้นไป ได้ค่าชดเชย 300 เท่า โดยทุกอัตราจะต้องคูณกับค่าจ้างขั้นต่ำรายวันของแต่ละพื้นที่

*** ต่างด้าวโวยถูกเบี้ยวค่าจ้าง

ส่วน นายโกนาย ชาวพม่า จากมูลนิธิร่วมมิตรไทย-พม่า กล่าวว่า แรงงานต่างด้าวมีปัญหาเบี้ยวค่าจ้าง และเลิกจ้าง จากปัญหาน้ำท่วมเช่นกัน จากที่ได้รับร้องเรียนมามีชาวพม่าจาก จ.ปทุมธานี กว่า 245 คน ทำงานโดยไม่ได้รับค่าจ้าง และใน จ. นครปฐม ได้รับร้องเรียนว่าไม่จ่ายค่าจ้างตามที่ตกลงกันไว้ที่ 300 บาท แต่จ่ายจริง 285 บาท ซึ่งทำงานตั้งแต่ 7 โมงเช้า ถึง 1 ทุ่ม พอแรงงานต้องการลาออกนายจ้างกลับยึดหนังสือเดินทางไว้

“ผมได้เข้าร้องเรียนที่ สวัสดิการและคุ้มครองแรงงานจังหวัดแล้ว แต่ไม่ได้รับความร่วมมือ โดยเจ้าหน้าที่บอกว่าแรงงานต่างด้าวสื่อสารไม่รู้เรื่อง จึงอยากเรียกร้องให้ทาง กสร.เข้าเจรจากับนายจ้าง และช่วยจัดหาล่ามสำหรับแรงงานต่างด้าวประจำแรงงานจังหวัด ในส่วนพื้นที่ๆ มีแรงงานต่างด้าวทำงานอยู่หนาแน่น เช่น อยุธยา ปทุมธานี เป็นต้น” นายโกนาย กล่าว