Thai / English

น้ำท่วมไทยทำ'คนงานพม่า'ยิ่งลำเค็ญ ถูกทอดทิ้งแถมกลับไม่ได้'กลัวถูกจับ'



03 .. 54
ผู้จัดการ

รอยเตอร์ - พวกเขากลายเป็นบุคคลที่ถูกลืมท่ามกลางภัยพิบัติน้ำท่วมรุนแรงในไทย ด้วยไม่มีทั้งเงินหรือแม้แต่เอกสารแสดงตัวตน มิหนำซ้ำยังติดแหงกอยู่ในต่างแดนวันแล้ววันเล่าโดยที่ปราศจากอาหารและน้ำ

การอพยพหลบภัยไม่ใช่ทางเลือกสำหรับแรงงานอพยพชาวพม่าหลายพันหลายหมื่นคนซึ่งถูกปล่อยเกาะอยู่กลางพื้นที่ท่วมน้ำรอบเขตนิคมอุตสาหกรรมไทย

พวกเขาจำนวนมากล้วนเข้าเมืองอย่างผิดกฎหมาย แต่ถึงแม้จะเป็นพวกผู้อพยพถูกกฎหมายก็ตามที พวกเขาก็ยังหวาดผวาว่าจะถูกจับ หรืออาจตกเป็นเหยื่อกรรโชกขู่เข็ญจากบรรดาเจ้าหน้าที่ไทยและพม่าตามแนวชายแดน ตลอดจนแก๊งมาเฟียผู้ฉกฉวยโอกาส

“พวกเราต้องดูแลกันเอง พวกเราแบ่งปันอาหารอันน้อยนิดที่เรามีให้แก่กัน ทว่านั่นก็หมดเกลี้ยงแล้ว” โช แต วัย 34 ปี ซึ่งทำงานในโรงงานทำส่วนประกอบพิซซ่าแห่งหนึ่ง ก่อนหน้าที่น้ำจะไหลบ่าเข้าท่วมเมื่อหนึ่งเดือนที่แล้ว ให้สัมภาษณ์

“พวกเราไม่สามารถกลับบ้านได้เพราะไม่มีเงิน หรือถึงแม้เราจะกลับไปพม่าได้ ที่นั่นก็ไม่มีงานให้ทำอยู่ดี”

ในหลายจังหวัด ดังเช่น พระนครศรีอยุธยา ซึ่งอยู่ทางเหนือของกรุงเทพฯ 100 กิโลเมตร มีชาวพม่านับร้อยๆ คนพยายามดิ้นรนฟันฝ่าวิกฤตอุทกภัยครั้งเลวร้ายที่สุดในรอบครึ่งศตวรรษของไทย ด้วยการเข้าไปเบียดเสียดแออัดกันอยู่ในห้องพักเล็กๆ โดยที่ไม่มีไฟฟ้าใช้ และรอพึ่งพาเจ้าหน้าที่บรรเทาทุกข์ซึ่งนานๆ ครั้งจะเดินทางผ่านถนนซึ่งจมใต้บาดาลนี้เพื่อมาแจกจ่ายอาหาร, น้ำ และยารักษาโรคให้พวกเขา

ทั้งนี้บ้านเรือนและร้านค้าจำนวนมากถูกกระแสน้ำพัดพาเสียหาย ขณะที่โรงงานนับพันๆ ในเขตนิคมอุตสาหกรรมหลายแห่งก็ถูกบีบให้ต้องปิดดำเนินการ ส่งผลให้แรงงาน 650,000 คนไม่มีงานทำ นอกจากนี้อุทกภัยครั้งใหญ่ซึ่งเริ่มอุบัติขึ้นตั้งแต่เดือนกรกฎาคมนี้ยังคร่าชีวิตผู้คนไปแล้วมากกว่า 400 ราย

ผู้คนเฉกเช่นเดียวกับโช แต นี้ ไม่ได้ถูกลำดับความสำคัญไว้ในอันดับต้นๆ ในขณะที่เจ้าหน้าที่รัฐ, ทหาร รวมถึงอาสาสมัครช่วยเหลือบรรเทาทุกข์ พยายามเข้าถึงคนไทยหลายหมื่นคนซึ่งถูกตัดขาดจากโลกภายนอกจากน้ำที่ท่วมขังสูงถึง 2 เมตรในหลายจังหวัด เช่น พระนครศรีอยุธยา, ปทุมธานี และนครสวรรค์

ผู้ประสบภัยชาวไทยจำนวนมากพักพิงอยู่ตามศูนย์อพยพที่รัฐบาลจัดให้ หรือไม่ก็กางเต็นท์ชั่วคราวตามริมถนนทางหลวง บ้างหลับนอนอยู่ในเต็นท์เล็กๆ หรือหลังรถกระบะที่จอดทิ้งไว้ หรือใต้ผ้าใบ ซึ่งแม้จะลำบากแต่อย่างน้อยน้ำและอาหารก็สามารถเข้าถึงพวกเขาได้

**สถานการณ์ยิ่งเลวร้าย**

หลายครอบครัวแออัดกันอยู่บนเรือ ซึ่งพายไปตามท้องถนนที่เจิ่งนองไปด้วยน้ำ บ้างก็แล่นผ่านผืนนาข้าวอันมียุ้งฉางเป็นฉากหลัง รถแทรกเตอร์และรถเกลี่ยดินหลายคันจมมิดใต้ดินโคลน ยังไม่รวมน้ำมวลใหญ่ส่งกลิ่นเน่าเหม็นซึ่งทำให้จังหวัดอยุธยาแห่งนี้มีสภาพคล้ายกับพื้นที่เขตชายฝั่ง

แต่สำหรับแรงงานอพยพชาวพม่าแล้ว ถือว่าสถานการณ์เข้าขั้นเลวร้ายยิ่งกว่า โดยนักเคลื่อนไหวด้านสิทธิมนุษยชนหลายคนระบุว่า แรงงานอพยพซึ่งได้รับความเดือดร้อนจากน้ำท่วมเหล่านี้กำลังถูกทอดทิ้งไม่ได้รับการเหลียวแล

“พวกเขาไม่มีใครอื่น ไม่มีที่ไหนจะให้ไป ขณะที่เจ้าของโรงงานก็ไม่อาจดูแลพวกเขาได้” ลัดดาวัลย์ ตันติวิทยาพิทักษ์ คณะกรรมการรณรงค์เพื่อประชาธิปไตยในพม่า (กรพ.) กล่าว โดยที่คณะกรรมการชุดนี้ได้ไปแจกจ่ายอาหารให้แก่เหยื่อผู้ประสบภัยชาวพม่าเมื่อวันอังคาร (1) ที่ผ่านมา

“หลายคนสูญเสียเงินทองและเอกสารสำคัญไปกับสายน้ำ ขณะที่คนอื่นๆ เลือกที่จะหลบหนีทว่าก็ถูกจับได้เสียก่อน” ลัดดาวัลย์ บอก

ทั้งนี้เป็นที่เชื่อว่ามีชาวพม่าอพยพเพียงแค่ 250 คนที่ได้รับการช่วยเหลือโดยมีที่ให้ซุกหัวนอน ทว่าอีกหลายหมื่นคนยังคงเดือดร้อนแสนสาหัสจากพิษน้ำท่วม

กระทรวงแรงงานไทยประมาณการไว้ว่า มีแรงงานอพยพชาวต่างชาติที่เข้ามาทำงานในกรุงเทพฯ และจังหวัดรายล้อมรวมมากกว่า 1 ล้านคน ซึ่งในจำนวนนี้รวมถึงผู้ที่ลงทะเบียนอย่างถูกต้อง และผู้ที่หลบหนีเข้าเมืองอย่างผิดกฎหมาย โดยพวกที่มีเอกสารทำงานถูกต้องก็ไม่ได้รับอนุญาตให้เดินทางออกนอกเขตจังหวัดที่พวกเขาทำงานอยู่

สำหรับหลายๆ คนแล้ว การเคลื่อนย้ายอพยพ กลับหมายถึงการกักขัง หรือความเป็นไปได้ที่จะถูกถ่วงเวลาให้ช้า หรือถูกขัดขวางไม่ให้กลับไปทำงานในไทย ที่ซึ่งพวกเขาสามารถส่งเงินกลับไปเลี้ยงดูครอบครัวยากจนในพม่า

อย่างไรก็ตาม ก็มีชาวพม่าจำนวนไม่น้อยตัดสินใจกลับมาตุภูมิ โดยนักเคลื่อนไหวระบุว่า มีแรงงานหลายพันคนได้หลบหนีออกจากพื้นที่น้ำท่วมขัง และต้องยอมกัดฟันจ่ายค่าโดยสารอัตรา 2,500 บาท เพื่อเบียดเสียดกันบนรถบรรทุกซึ่งพาพวกเขาไปส่งยังเขตชายแดนไทย-พม่า ที่ซึ่งเจ้าหน้าที่บางรายจากสองฟากฝั่งของพรมแดนฉวยโอกาสเรียกเก็บค่าผ่านทางเพื่อให้พวกเขากลับเข้าเมืองได้

“มันเป็นเรื่องที่ยอมรับกันได้สำหรับเจ้าหน้าที่ไทยและพม่าในการรีดนาทาเร้นกับพวกผู้อพยพที่อยากจะกลับบ้านในช่วงเวลาที่เกิดภัยพิบัติเช่นนี้” แอนดี ฮอลล์ ผู้เชี่ยวชาญด้านผู้อพยพแห่งมหาวิทยาลัยมหิดลในกรุงเทพฯ กล่าว

“ประเทศไทยยังไม่สามารถให้ความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมอย่างมีประสิทธิภาพแก่แรงงานต่างชาติที่ได้รับผลกระทบได้เลย” ฮอลล์ ระบุ

วิน วัย 19 ปี ซึ่งลงทะเบียนเป็นลูกจ้างในโรงงานพิซซ่า และเป็นผู้ที่เกิดในไทยแต่ไม่ได้รับสัญชาติ บอกว่า เธอและเพื่อนร่วมงานต่างอยู่กันแบบแร้นแค้น และหลายคนก็ใช้ชีวิตกันด้วยความอกสั่นขวัญแขวน

“พวกเราไม่มีงานทำอีกต่อไป ทว่าเพื่อนของฉันไม่มีทางเลือกนอกเสียจากรอคอย” เธอกล่าว “มันน่ากลัวมากที่จะออกไป”