Thai / English

เปรมศักดิ์ เพียยุระ: วิกฤตตกงานจากน้ำท่วมนับล้าน วาระแห่งชาติที่ต้องเร่งเยียวยา ข้อเสนอแผนฉุกเฉินถึงผ่าตัดใหญ่


นายแพทย์เปรมศักดิ์ เพียยุระ อดีตประธานคณะกรรมาธิการการแรงงาน สภาผู้แทนราษฎร
03 .. 54
ประชาไท

เรื่องใหญ่ของน้ำท่วมใหญ่คราวนี้ก็คือมียอดผู้ใช้แรงงานได้รับผลกระทบระหว่าง 750,000 คน ไปถึง 1 ล้านคน และอาจต้องถูกเลิกจ้างมากกว่า 1 แสนคน แต่ปัญหาใหญ่กว่านั้นคือรัฐมนตรีแรงงานบอกว่า"ไม่มีผลกระทบอะไร เดี๋ยวน้ำลดก็ดีเอง" ผมเลยขอเสนอข้ามไปยังผู้นำรัฐบาลเลยแล้วกันว่า ได้โปรดยกเรื่องนี้ขึ่นเป็นวาระแห่งชาติให้ไว ดังนี้

1.มาตรการฉุกเฉินและบรรเทาทุกข์ ดูแลการดำรงชีพ

2.มาตรการเฉพาะหน้า ทำไมรัฐบาลไม่ลงทุนจ้างคนงานที่ว่างงานมาเร่งช่วยฟื้่นฟูประเทศ คนเหล่านี้คือมืออาชีพ ดีกว่าให้อาสาสมัครทำ อย่างเดียว เหมือนยิงปืนนัดเดียวได้นกสองตัว แก้คนว่างงานด้วย ฟื้่นฟูประเทศให้ฟื้นตัวเร่งด่วนด้วย

3.มาตรการอุดหนุนโรงงานให้ฟื้นตัวโดยไว และหากจำเป็นรัฐอาจต้องลงทุนเพื่อจ้างงานเอง

4.มาตรการระยะยาว เพราะภูมิศาสตร์เศรษฐกิจพลิกโฉมแล้ว เมื่อไทยเสี่ยงภัยธรรมชาติติดอัีนดับโลก เราต้องกระจายความเสี่ยงเพื่อความยั่งยืนในการจ้างงานระยะยาว

ยอดคนงานได้รับผลกระทบน้ำท่วมยังไม่นิ่ง ได้รับผลกระทบตั้งแต่ 7.5 แสน-1 ล้านคน

น้ำท่วมใหญ่เมืองไทยปี2554นี้กระทบไปทุกหย่อมย่านครับ หนักหนาสาหัสที่ตามมาก็คือคนตกงาน เพราะน้ำท่วมนิคมอุตสาหกรรม โรงงานย่อยยับจมหายไปกับสายน้ำ นี่ไม่รวมการค้าการขายพาณิชยกรรม และภาคบริการอีกไม่นับ ชีวิตของคนงานก็ต้องมาประสบเคราะห์กรรมตกงาน

ตัวเลขเวลานี้ยังไม่นิ่งครับ เมื่อตอนวันที่ 18 ตุลาคมที่ผ่านมา นายอาทิตย์ อิสโม อธิบดีกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน (กสร.) กระทรวงแรงงาน เปิดเผยว่า ได้รับรายงานจากสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานจังหวัด ซึ่งเป็นข้อมูล ณ วันที่ 18 ตุลาคมที่ผ่านมา เวลา 12.00 น. พบว่าใน 20 จังหวัด มีลูกจ้างได้รับผลกระทบจากน้ำท่วม 663,218 คน และสถานประกอบการได้รับผลกระทบ 14,172 แห่ง

ในจำนวนนี้ เฉพาะในส่วนของจังหวัดปทุมธานีที่เดียวมีแรงงานได้รับผลกระทบ 218,474 คน สถานประกอบการที่ได้รับผลกระทบ 3,326 แห่ง โดยในส่วนของนิคมอุตสาหกรรมนวนครที่ถูกน้ำท่วมเต็มพื้นที่ไปแล้วมีลูกจ้างได้รับผลกระทบกว่า 1.75 แสนคน จากสถานประกอบการ 227 แห่ง ทำให้สถานประกอบการต้องหยุดกิจการชั่วคราวและลูกจ้างต้องหยุดงาน

ต่อมาในวันที่ 1 พฤศจิกายน อธิบดีกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน เปิดเผยเพิ่มเติมว่า ตั้งแต่เกิดปัญหาน้ำท่วมจนถึงขณะนี้มีลูกจ้างได้รับผลกระทบทั้งสิ้น 752,439 คน จากสถานประกอบการ 19,251 แห่ง และมีลูกจ้างกว่า 3,000 คน ที่ถูกเลิกจ้างใน 2 จังหวัด คือปทุมธานี 4 แห่ง และพระนครศรีอยุธยา 6 แห่ง

นอกจากนี้ ปัญหายังลุกลามไปยังสถานประกอบการในพื้นที่กรุงเทพฯเพิ่มขึ้นอีก 5 เขต มีโรงงานได้รับผลกระทบกว่า 1,855 แห่ง ลูกจ้างกระทบจนต้องหยุดงาน 23,166 คน โดยนายจ้างในกรุงเทพฯ ส่วนใหญ่ยังยืนยันยังไม่เลิกจ้าง และยังคงจ่ายค่าจ้างให้เต็มจำนวน และบางส่วนจ่าย 75%

ขณะเดียวกัน ยังคงยืนยันตัวเลขคาดการณ์ของลูกจ้างที่อาจจะถูกเลิกจ้างมากกว่า 1 แสนคน เพราะมีการส่งสัญญาณจากนายจ้างเข้ามามากขึ้น โดยการโทรมาสอบถามที่ กสร.ถึงกรณีหากต้องประกาศเลิกจ้างพนักงานจะต้องทำอย่างไร และรัฐบาลจะช่วยดูแลอย่างไร ซึ่งส่วนใหญ่เมื่อโทร.เข้ามาถามลักษณะอย่างนี้ไม่นานก็จะประกาศเลิกจ้างทุกราย

ขณะที่ภาคเอกชนพ่อค้าใหญ่อย่างนายสันติ ภิรมย์ภักดี กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท บุญรอดบริวเวอร์รี่ จำกัด เปิดเผยว่า จากปัญหาอุทกภัยน้ำท่วมที่เกิดขึ้นในครั้งนี้ถือว่ารุนแรงมากที่สุดตั้งแต่เริ่มดำเนินธุรกิจในรอบ 78 ปี แม้ว่าก่อนหน้านี้จะเกิดวิกฤติน้ำท่วมใหญ่กรุงเทพฯ เกิดขึ้นบ้าง ไม่ว่าจะเป็นปี 2485 หรือปี 2538 แต่ก็ไม่ถือว่ารุนแรงมากหากประเมินมูลค่าด้านความเสียหายทางเศรษฐกิจ เนื่องจากในช่วงเวลาดังกล่าวยังไม่มีแหล่งอุตสาหกรรม จึงไม่สามารถนำมาเปรียบเทียบหรือประเมินมูลค่าด้านความเสียหายได้

เพราะจากนิคมอุตสาหกรรมหลายแห่งที่ต้องจมน้ำรวมประมาณ 1,000 โรงงาน ส่งผลให้หลังน้ำลดอาจมีพนักงานตกงานไม่ต่ำกว่า 1 ล้านคน ซึ่งจากผลกระทบที่เกิดขึ้นดังกล่าวคาดว่าจะใช้ระยะเวลาในการฟื้นฟูเศรษฐกิจและโรงงานที่ได้รับผลกระทบจากปัญหาน้ำท่วมประมาณ 2 ปี เนื่องจากเครื่องจักรบางตัวต้องใช้ระยะเวลาในการซ่อมบำรุง

ยังช่วยเหลือได้แค่หลักหมื่นจากผู้ได้รับกระทบนับล้าน

ขณะที่สถานการณ์การจ้างงานในช่วงวิกฤตขณะนี้ อธิบดีกสร.เปิดเผยว่า มีสถานประกอบการจำนวน 320 แห่ง ใน 38 จังหวัด ได้แจ้งความประสงค์ที่จะรับผู้ใช้แรงงานที่ประสบอุทกภัยเป็นการชั่วคราว 42,090 อัตรา ส่วนใหญ่อยู่ในจังหวัดนครปฐม สมุทรปราการ สมุทรสาคร กรุงเทพมหานคร และชลบุรี

โดยประเภทตำแหน่งงานส่วนใหญ่เป็นพนักงานฝ่ายการผลิต พนักงานคลังสินค้า ช่างเชื่อม ช่างไฟ ช่างก่อสร้าง ผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ อิเล็กทรอนิกส์ อาหารสำเร็จรูป วิศวกร และ สิ่งทอ เป็นต้น ซึ่งล่าสุดมีนายจ้างในจังหวัดพระนครศรีอยุธยาตอบรับเข้ามาว่าจะส่งต่อลูกจ้างจำนวน 2,800 คน ไปทำงานชั่วคราวตามโครงการนี้

หนักสุดคือลูกจ้างรายวันที่ต้องตกงานกลับบ้าน เร่งบรรเทาทุกข์

นายชาลี ลอยสูง ประธานคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย (คสรท.) กล่าวว่า จากเหตุการณ์น้ำท่วมในหลายจังหวัดเบื้องต้นประเมินว่ามีลูขณะนี้สถานประกอบการยังจ่ายค่าจ้างอยู่ ซึ่งมีอัตราตั้งแต่ 100% 75% และ 50% ของเงินเดือน

ขณะที่คนงานที่หนีตายออกมาจากโรงงานท่วมนิคมอุตสาหกรรมนวนครหลายรายกล่าวด้วยน้ำตานองหน้าว่า จำนวนมากที่เป็นลูกจ้างรายวัน และเมื่อโรงงานน้ำท่วมก็โดนเลิกจ้างโดยปริยาย ไม่มีจ่ายเงินชดเชยใดๆ ต้องกลับบ้านต่างจังหวัดเท่านั้่น

ตอนนี้ผู้ใช้แรงงานได้จัดตั้งเครือข่ายแรงงานไทยช่วยภัยน้ำท่วมขึ้น ระดมขอรับบริจาคอาหาร สิ่งของของใช้ที่จำเป็นต่อการดำรงชีวิต อาทิ อาหารแห้ง น้ำดื่ม ยารักษาโรค หรืองบประมาณเพื่อจัดซื้อสิ่งของที่จำเป็น ตามศูนย์แรงงานกลุ่มย่าน สหพันธ์แรงงาน และสมาพันธ์แรงงาน จำนวน 10 ศูนย์ ก็ขอเชิญชวนพี่น้องคนไทยช่วยสนับสนุนด้วยครับนี่คือคนกลุ่มใหญ่มากนับแสนคนที่ได้รับผลกระทบ(ดูรายละเอียดที่ http://voicelabour.org/?p=6997)

จี้รัฐมีมาตรการแก้ไขปัญหาทั้งบรรเทาทุกข์ฉุกเฉิน และระยะยาว แต่รมต.แรงงานบอกไม่กระทบ

เครือข่ายแรงงานไทยช่วยภัยน้ำท่วมได้เรียกร้องต่อรัฐบาลว่า ควรมีมาตรการช่วยเหลือเยียวยาเฉพาะหน้า รวมทั้งมีมาตรการระยะยาวในการแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นอย่างเป็นรูปธรรม ทั้งต่อผู้ใช้แรงงานและผู้ประกอบการ อาทิ นโยบายส่งเสริมการฟื้นฟูสถานประกอบการและการชดเชยรายได้แก่ผู้ใช้แรงงาน หากรัฐบาลไม่มีมาตรการที่ชัดเจน ก็มีแนวโน้มว่าผู้ใช้แรงงานจำนวนมากอาจจะถูกเลิกจ้างจากการปิดโรงงานของผู้ประกอบการ อันจะส่งผลสูญเสียต่อภาพรวมระบบเศรษฐกิจภายในประเทศ

ปัญหาเฉพาะหน้าเวลานี้ที่คนไม่รู้คือเจ้าของโรงงานที่เสียหายจากน้ำท่วมมีประกันภัยไว้เป็นส่วนใหญ่ แต่คนงานไม่มีหลักประกันใดๆ

นายเผดิมชัย สะสมทรัพย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ให้สัมภาษณ์กับ สำนักข่าว ไอ.เอ็น.เอ็น. ว่า การช่วยเหลือแรงงานในนิคมอุตสาหกรรมต่างๆ นั้น จะให้การช่วยเหลืออย่างดีที่สุด ทั้งแรงงานไทยและแรงงานชาวต่างด้าว ส่วนปัญหาเรื่องการว่างงานนั้น ตนเองมองว่า เมื่อสถานการณ์ดีขึ้นแล้ว ปัญหาดังกล่าวจะไม่เกิดขึ้น เพราะแรงงานไทยเป็นแรงงานที่มีฝีมือ ขณะนี้ทางโรงงานอุตสาหกรรมของประเทศญี่ปุ่น ก็ได้ติดต่อให้แรงงานไทยไปทำงานที่ประเทศญี่ปุ่นแล้วกล่าว 3,000 คน และจากการพูดคุยกับเจ้าของกิจการโรงงานอุตสาหกรรมต่างๆ ก็จะยังคงดำเนินกิจการในประเทศไทยต่อไป

ฟังท่านรัฐมนตรีแล้วก็เหนื่อยใจแทนคนงานครับ ท่านไม่ได้มองว่าเป็นปัญหาอะไรใหญ่โตเลย ไม่ต้องแก้อะไร เหมือนเป็นไข้หวัด เดี๋ยวก็หายเอง รัฐบาลไม่ต้องเยียวยาอะไร...

โครงการ New Thailand อย่าลืมแรงงาน ถึงรมต.แรงงานของท่านทำทองไม่รู้ร้อน

ต้องหวังกับรัฐบาลนายกฯยิ่งลักษณ์ครับที่ว่า กำลังจะแจ้งเกิดโปรแกรมการวางแผนประเทศไทยใหม่ หรือ “New Thailand” โดยคาดว่าจะใช้งบประมาณทั้งหมดประมาณ 6-8 แสนล้านบาท เสนอแผนฟื้นฟูสองระยะ คือ

ระยะแรกภายใน 1 ปีหลังจากน้ำลด จะใช้งบประมาณ 1 แสนล้านบาทเข้าไปฟื้นฟู เช่น การฟื้นฟูนิคมอุตสาหกรรม ซึ่งจะช่วยเรื่องเศรษฐกิจและอัตราการว่างงาน

ส่วนในแผนระยะยาวก็มีความจำเป็นอย่างมาก เพราะหากประเทศไทยประสบกับภาวะวิกฤติลักษณะนี้อีก จะเป็นเรื่องใหญ่ ฉะนั้นต้องมีการแก้ไขปัญหาระบบน้ำของประเทศทั้งหมด เพื่อพลิกวิกฤตให้เป็นโอกาส ซึ่งขณะนี้ได้มีประเทศต่างๆ เช่น สหรัฐอเมริกา เนเธอร์แลนด์ ญี่ปุ่น ได้เสนอแผนฟื้นฟูประเทศไทยเป็นแบบแพ็กเกจมาแล้ว ทั้งเงินทุนและวิทยาการ

ในเวลาที่บ้านเมืองเจอภัยพิบัติขนาดนี้ เรื่องปัญหาการว่างงานต้องยกระดับขึ้่นมาเป็นวาระแห่งชาติแล้วครับ และนอกจากการบรรเทาทุกข์ฉุกเฉินแล้ว การจะไปรอฟื้นฟูหลังน้ำลดเพื่อให้เอกชนกลับมาจ้างงานกันได้แบบรอฟ้ารอฝนนั้นคงไม่ได้

แนวทางแก้ไขปัญหานั้นผมว่า ควรปัดฝุ่นตำราเศรษฐศาตร์ของนักเศรษฐศาสตร์เลื่องชื่อ คือ จอห์น เมอร์นาด เคนส์ (John Maynard Keynes) มากอบกู้โดยไว นั่นก็คือ เมื่อยามเศรษฐกิจของประเทศถดถอย เจอภัยพิบัติอย่างนี้ เอกชนขาดความเชื่อมั่น ไม่กล้าลงทุน รัฐบาลจะต้องเป็นผู้ลงทุน เพื่อสร้างการหมุนเวียนของเงินในระบบเศรษฐกิจ เช่นการลงทุนในโครงการที่สร้างความสามารถในการแข่งขันของประเทศในระยะยาว เช่น โครงสร้างพื้นฐาน ถนนหนทาง รถไฟฟ้า เขื่อน หรือการฟื้นฟูโรงานที่ได้รับความเสียหายขึ้นมาใหม่ โครงการเหล่านี้จะส่งผลต่อการจ้างงานในระบบเศรษฐกิจอย่างน้อยสองถึงสามปีแบบต่อเนื่อง

โปรแกรมฉุกเฉินเปิดรับคนตกงานมาร่วมฟื้นฟูประเทศโดยด่วน ลงทุน 1 ได้ 2

หรือแม้แต่ระยะฉุกเฉินนี้แทนที่จะปล่อยให้คนตกงานหลายแสนเกือบล้านอยู่ว่างๆ และระทึกใจว่าจะได้กลับไปทำงานหรือจะตกงานยาว? รัฐบาลควรต้องจ้างคนเหล่านี้แหละครับเข้ามาเป็นมืออาชีพในการฟื้นฟูประเทศ แทนมืออาสาสมัคร หรือมือสมัครเล่นทั้งหลาย (ซึ่งนับวันจะหาได้ยาก) อยากได้คนกรอกทราย คนแพ็กของบริจาค คนขับรถบรรทุก ขับเรือไปช่วยเหลือผู้บริจาค คนสร้างศูนย์พักพิงผู้ประสบภัย คนซ่อมแซมก่อสร้างบ้าน ซ่อมโรงงาน ซ่อมแซมสาธารณูปโภค ถนนหนทางสารพัด รวมทั้งคนที่จะซ่อมบ้านซ่อมเมือง ทำไมไม่ลงทุนจ้างคนตกงานเหล่านี้ไปเลยครับ คนเหล่านี้ล้วนมีทักษะฝีมือ

ตั้งโต๊ะรับเลยครับให้คนมาแห่สมัครงานจะ7แสนกว่าคนแบบอธิบดี กสร.ว่า หรือนับล้านแบบเจ้าของเบียร์สิงห์ว่าก็ต้องทำ แล้วเชิญรัฐมนตรีแรงงานมาดูว่ามากมายมหาศาลขนาดไหน อย่าไปนั่งในห้องแอร์สัมภาษณ์สื่อว่า"ไม่มีผลกระทบอะไร"

ทำแบบนี้เหมือนยิงกระสุนนัดเดียวได้นกสองตัวครับ คนตกงานก็แก้ได้ บ้านเมืองก็ฟื้นฟูได้ไว

ระยะยาวต้องการกระจายความเสีี่ยง ภูมิศาสตร์เศรษฐกิจถึงคราวต้องเปลี่ยน

หากไม่มีเหตุภัยน้ำท่วมใหญ่ คนไทยก็คงยังเข้าใจผิดๆตลอดไปว่าเราเป็นดินแดนแห่งความสุข ไม่มีปัญหาพิบัติภัยใหญ่ๆต้องเจอเหมือนที่อื่นเขา แต่จากรายงานของธนาคารโลกล่าสุดบอกว่าเมืองไทยเรา มีความเสี่ยงด้านภัยธรรมชาติอยู่อันดับที่ 13 ของโลก โดยเขาคิดจากคิดจากความเสียหายโดยรวมต่อGDP เป็น % หากเกิดภัยพิบัติขั้นร้ายแรงที่สุดขึ้นจริงมากกว่า 2 เหตุการณ์ (ดูที่นี่ครับรายละเอียด http://www.whereisthailand.info/2011/10/haz-nature-gdp/)

โดยสำหรับประเทศไทย หากเกิดภัยพิบัติรุนแรง ซึ่งประเมินว่าจะเกิดจากอุทกภัยเพียงอย่างเดียวนั้น จะทำลายพื้นที่ 47.8% ของประเทศ และส่งผลกระทบต่อประชาชน 70.1% ของจำนวนประชากรทั้งหมด ถือว่าเป็นประเทศในกลุ่มที่มีอัตราความเสี่ยงสูงมาก

ตัวเลขแบบนี้คงเป็นปัญหากระทบต่อความเชื่อมั่นของนักลงทุนต่างชาติแน่ครับ รายที่เคยลงทึนอยู่ก็คิดหนักว่าจะอยู่ต่อไหม หรือย้ายฐาน รายที่จะไปกวักมือเรียกเขามาใหม่ เขาก็ต้องคิดเรื่องความเสี่ยงตรงนี้ จากเดิมคิืดว่าเมืองไทยคงไม่มีปัญหาเรื่องนี้

วิธียกเครื่องระยะยาวต้องมีการกระจายความเสี่ยง สามารถทำได้ทั้งในเชิงภูมิศาสตร์ เช่น กระจายความเจริญให้ทั่วพื้นที่มากกว่าให้กระจุกตัวอยู่ในเมืองใหญ่ไม่กี่แห่ง อย่างกรุงเทพฯ ปทุมธานี อยุธยา โดนน้ำท่วมเข้าไปโครมเดียวก็วูบไปเลย

ต้องกระจายฐานผลิตไปยังภาคตะวันออก ภาคเหนือ ภาคกลาง ภาคใต้ ภาคอีสาน เพราะหากเกิดปัญหาที่โซนใดโซนหนึ่ง โซนอื่นก็ยัีงไปต่อได้ ไม่ใช่โครมเดียวพังครืนแบบนี้

นี่ก็จะเป็นหลักประก้นระยะยาวสำหรับผู้ใช้แรงงานอย่างแท้จริงครับ