Thai / English

เด็กไม่เชื่อ ป.ตรีรับหมื่นห้า 5.5ล.คนได้300



07 .. 54
ผู้จัดการ

ASTVผู้จัดการรายวัน-นักศึกษาไม่แน่ใจ เงินเดือนป.ตรี 15,000 บาท ทำได้จริง แถมจะทำให้หางานยากขึ้น นักธุรกิจอึ้ง แรงงาน 5.5 ล้านคน เข้าข่ายได้ค่าจ้างวันละ 300 บาท ลูกจ้างยันต้องขึ้นพร้อมกันทั่วประเทศ 1 ม.ค.ปีหน้า พร้อมเรียกแรงงานร่วมลงชื่อฟ้องศาลปกครอง

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ศูนย์วิจัยมหาวิทยาลัยกรุงเทพ (กรุงเทพโพลล์) ได้สำรวจในหัวข้อเรื่อง “นศ. ปี 4 กับเงินเดือนปริญญาตรี 15,000 บาท ” โดยผลสำรวจความคิดเห็นของนิสิต นักศึกษาชั้นปีสุดท้ายที่เรียนอยู่ในสถาบันอุดมศึกษาทั้งรัฐและเอกชนในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑลจำนวน 1,185 คน พบว่า นิสิตนักศึกษาร้อยละ 41.9 ไม่แน่ใจในนโยบายของรัฐบาล ที่ให้ผู้ทำงานวุฒิปริญญาตรีมีรายได้ไม่ต่ำกว่าเดือนละ 15,000 บาท ว่าจะสามารถทำได้จริงหรือไม่ ในขณะที่ ร้อยละ 29.5 เชื่อว่าทำได้ และร้อยละ 28.6 เชื่อว่าทำไม่ได้

ทั้งนี้ ส่วนใหญ่เห็นด้วยกับแนวทางที่รัฐบาลจะดำเนินนโยบายดังกล่าว ไม่ว่าจะเป็นการให้เริ่มมีผลบังคับใช้ ตั้งแต่ 1 ม.ค.2555 เป็นต้นไป โดยเห็นด้วยร้อยละ 61.7 การใช้คุณภาพของบัณฑิตเป็นตัวชี้วัดว่าใครควรจะได้ค่าจ้างเดือนละ 15,000 บาท เห็นด้วยร้อยละ 57.1 และสำหรับผู้มีวุฒิปริญญาตรีขึ้นไปแต่รายได้ยังต่ำกว่า 15,000 บาท ใช้วิธีเพิ่มค่าครองชีพ เพื่อให้ได้รับเงินเดือนรวมแล้วเป็น 15,000 บาท ต่อเดือน เห็นด้วยร้อยละ 56.9

กรุงเทพโพลล์ยังระบุอีกว่า นิสิตนักศึกษาส่วนใหญ่เห็นว่าหากนโยบายข้างต้นมีผลบังคับใช้จริงจะส่งผลกระทบต่อการหางานเมื่อจบการศึกษาถึง ร้อยละ 69.4 โดยอาจทำให้หางานยากขึ้น และเกณฑ์ในการรับสมัครน่าจะเข้มขึ้น ขณะที่ร้อยละ 30.6 ระบุว่า ไม่ส่งผลกระทบ โดยให้เหตุผลว่า เรียนในสาขาที่มีงานรองรับอยู่แล้ว มีสถานประกอบการเยอะ และตั้งใจจะเรียนต่อปริญญาโท

สำหรับความกังวลต่อนโยบายดังกล่าว คือ กังวลว่าบริษัทเอกชนจะเปิดรับผู้ที่จบปริญญาตรีเข้าทำงานลดลง ร้อยละ 30.0 รองลงมา คือ กลัวจะถูกเลิกจ้างเมื่อทำงานไปได้ระยะหนึ่ง เพราะหน่วยงานแบกรับภาระเรื่องค่าจ้างไม่ไหวร้อยละ 18.5 และกลัวจะไม่มีงานทำและว่างงานร้อยละ 17.9

ทางด้านการปรับขึ้นค่าจ้างแรงงาน 300 บาทต่อวัน นายพยุงศักดิ์ ชาติสุทธิผล ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าวว่า จากการหารืออย่างไม่เป็นทางการกับนพ.สมเกียรติ ฉายะศรีวงศ์ ปลัดกระทรวงแรงงาน และนางจิราภรณ์ เกษรสุจริต อธิบดีกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน ถึงการเดินหน้านโยบายปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำเป็นวันละ 300 บาท ทางกระทรวงแรงงานแจ้งว่า มีแรงงานที่ทำงานในโรงงาน ภาคการค้า และบริการ ที่อยู่ในข่ายจะได้ขึ้นค่าแรงประมาณ 5.5 ล้านคน

นายอรรถยุทธ ลียะวณิช เลขาธิการสภาองค์การนายจ้างผู้ค้าและบริการเครื่องอุปโภคบริโภค กล่าวถึงแนวทางช่วยเหลือผู้ประกอบการขนาดกลางและเล็ก (SMEs) ที่ได้รับผลกระทบจากการขึ้นรายได้ขั้นต่ำ 300 บาท ว่า ปลัดกระทรวงแรงงานจะหารือกับกระทรวงการคลังอีกครั้ง โดยมี 2 แนวทาง คือ การอุดหนุนค่าไฟฟ้าและค่าน้ำประปา และจัดสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำเพื่อเสริมสภาพคล่องให้กับ SMEs โดยเห็นว่าแนวทางดังกล่าวเป็นแค่มาตรการชั่วคราว แต่การขึ้นค่าจ้าง 300 บาท เป็นมาตรการถาวร ซึ่งแตกต่างกันมาก และไม่เห็นด้วยกับนโยบายดังกล่าว เพราะไม่ได้ขึ้นโดยกลไกตลาด

นายทวี เตชะธีราวัฒน์ ประธานสภาองค์การลูกจ้างสมาพันธ์แรงงานแห่งประเทศไทย และคณะทำงานการแรงงานและสวัสดิการสังคม สภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ กล่าวว่า ฝ่ายลูกจ้างยังยืนยันข้อเสนอที่จะให้ปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำเป็น 300บาทต่อวันพร้อมกันทั่วประเทศในวันที่ 1 ม.ค.ปีหน้า เพราะรัฐบาลได้ประกาศนโยบายหาเสียงไว้แล้ว

นายชาลี ลอยสูง ประธานคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย (คสรท.) กล่าวว่า ในวันที่ 7 ต.ค.นี้ คสรท.จะร่วมกับองค์กรแรงงานจัดกิจกรรมรณรงค์เรียกร้องค่าตอบแทนที่เป็นธรรม โดยจะใช้โอกาสนี้เข้าไปทวงถามนายกรัฐมนตรีเพื่อให้ได้คำตอบที่ชัดเจนในเรื่องการปรับค่าจ้างขั้นต่ำเป็นวันละ 300 บาท ส่วนการล่ารายชื่อแรงงาน 5 ล้านรายชื่อเพื่อฟ้องศาลปกครองนั้น จะมีทั้งสภาแรงงาน รัฐวิสาหกิจและแรงงานนอกระบบ รวมถึงภาคราชการที่ประกอบด้วยลูกจ้างชั่วคราว และแรงงานรับเหมาช่วง รวมถึงแรงงานกลุ่มอื่นๆ ก็มาร่วมได้