Thai / English

ผู้นำแรงงานโวยรัฐอย่าเอาทักษะฝีมือเป็นเงื่อนไขขึ้น 300

ผู้นำแรงงานเรียกร้องรัฐบาลทำตามที่ให้คำมั่นในการหาเสียง ปรับค่าจ้างขั้นต่ำทั่วประเทศ 300 บาท อย่าเอาเรื่องทักษะฝีมือเป็นเงื่อนไข เตรียมดูข้อกฎหมายฟ้องหลอกลวง หากบิดพลิ้ว

01 .. 54
ผู้จัดการ

น.ส.วิไลวรรณ แซ่เตีย รองประธานคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย กล่าวว่า การปรับค่าจ้างขั้นต่ำ 300 บาททั่วประเทศทันที ที่ถูกใช้เป็นประเด็นหาเสียง แต่ในการแถลงนโยบายและการดำเนินการในขณะนี้ มีความพยายามที่จะบิด เลี่ยงที่จะไม่ใช้คำว่าค่าจ้างขั้นต่ำ 300 บาททั่วประเทศ โดยใช้คำว่ารายได้ และมีการโยงเรื่องทักษะฝีมือแรงงาน รวมถึงเป็นการนำร่องในบางจังหวัด ถือเป็นการสร้างเงื่อนไขใหม่ ที่ผิดคำพูดจากการหาเสียง ซึ่งในเรื่องเป็นการสะท้อนให้เห็นว่า พรรคเพื่อไทยไม่ได้มีการศึกษา เตรียมความพร้อมเพื่อให้เป็นไปตามที่หาเสียง

“เมื่อพรรคเพื่อไทยมีอำนาจ กลับเปลี่ยนคำพูด ที่ให้คำมั่นสัญญาต่อประชาชนในการหาเสียงเลือกตั้ง ที่จะปรับค่าจ้าง 300 บาทั่วประเทศใน 14 ม.ค.2555 คงต้องหารือว่าในเรื่องนี้จะเข้าข่ายหลอกลวงหรือไม่” น.ส.วิไลวรรณ กล่าวและว่า การกำหนดนโยบายเป็นเรื่องที่พรรคการเมืองต้องมีการศึกษาเป็นอย่างดีถึงความเป็นไปได้ ไม่ใช่เมื่อมีแรงต้านจากนายจ้าง ผู้ประกอบการก็เห็นใจ คล้อยตาม ไม่มั่นคงต่อแนวทางลดความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจของผู้ใช้แรงงาน ทั้งนี้ จะหารือกับนักกฎหมายและนักวิชาการเพื่อดูข้อกฎหมายว่าสามารถฟ้องร้องได้หรือไม่

ด้านนายปัณณพงศ์ อิทธิ์อรรถนนท์ กรรมการค่าจ้างฝ่ายนายจ้าง กล่าวว่า การปรับค่าจ้างเป็น 300 บาท ใน 7 จังหวัด เป็นเพียงแนวคิดของ รมว.แรงงาน แต่ไม่ใช่ข้อสรุป ในทางปฏิบัติต้องพูดคุยในรายละเอียดในที่ประชุมอีกครั้ง ซึ่งวันที่ 14 ก.ย.จะมีการประชุมคณะกรรมการค่าจ้างและคาดว่าจะได้รับทราบนโยบายของรัฐบาลผ่านทางปลัดกระทรวงแรงงาน

“ถ้านำร่อง 7 จังหวัด โรงงานใหญ่ๆ คงอยู่ได้ แต่โรงงานขนาดเล็กจะได้รับผลกระทบ แม้รัฐบาลจะลดราคาน้ำมันลง เพื่อช่วยลดต้นทุนในส่วนหนึ่ง แต่ในอนาคตไม่มีอะไร รับประกันว่าราคาน้ำมันจะไม่กลับมาเป็นแบบเดิมอีก นอกจากนี้ จังหวัดที่อยู่ติดกันจะทำอย่างไร เช่น ปทุมธานี อยู่ติดกับอยุธยา ซึ่งเป็นจังหวัดที่มีโรงงานจำนวนมากเช่นกัน แต่กลับไม่ได้ปรับค่าจ้างด้วย เรื่องนี้จะตอบคำถามผู้ใช้แรงงานอย่างไร” นายปัณณพงศ์ กล่าว

นายปัณณพงศ์ กล่าว ว่า หากรัฐบาลต้องการผลักดันเรื่องนี้จริง และร่วมมือกับฝ่ายลูกจ้างเพื่อโหวตในที่ประชุมกรรมการค่าจ้าง ฝ่ายนายจ้างไม่มีทางสู้ได้อยู่แล้ว เพราะแม้จะวอล์กเอาต์เพื่อให้องค์ประชุมไม่ครบในครั้งแรกได้ แต่การประชุมครั้งต่อไปสามารถนัดได้อีกใน 15 วัน ซึ่งรอบนี้ไม่ว่าจะมีผู้ประชุมกี่คน ก็ถือว่าองค์ประชุมครบหมด อย่างไรก็ตาม ยังเชื่อมั่นในตัวผู้แทนกระทรวงการคลัง สภาพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ และกระทรวงพาณิชย์ ว่า จะเข้าใจถึงผลกระทบที่เกิดขึ้นหากปรับขึ้นค่าจ้างอย่างก้าวกระโดดในทันที