Thai / English

'กิตติรัตน์'ลั่นค่าแรง300ทำทันทีไม่หวั่นสินค้าขึ้นตาม

'กิตติรัตน์'เดินหน้านโยบายทันทีหลังแถลงรัฐสภา ขึ้นค่าแรง300บาท-เงินเดือนปริญญาตรี 15,000 บาท เมินสินค้าขึ้นราคาตาม

23 .. 54
กรุงเทพธุรกิจ

นายกิตติรัตน์ ณ ระนอง รองนายกรัฐมนตรีและรมว.พาณิชย์ เปิดเผยว่า หลังจากแถลงนโยบายของรัฐบาลต่อสภาผู้แทนราษฏรในวันที่ 23 - 24 ส.ค.นี้แล้ว จะเร่งดำเนินการตามนโยบายด่วนของรัฐบาล โดยเฉพาะการเตรียมความพร้อมผลักดันปรับค่าแรงขั้นต่ำ 300 บาทต่อวันและนโยบายผู้จบปริญญาตรี มีเงินเดือน 15,000 บาทให้เป็นรูปธรรมโดยเร็ว

ขณะนี้มีภาคเอกชนหลายราย พร้อมปรับอัตราค่าแรงขั้นต่ำและระบบเงินเดือนใหม่ ตามนโยบายที่รัฐบาลกำหนดไว้ เพื่อสร้างความสมดุลให้กับระบบเศรษฐกิจ อย่างไรก็ตามยอมรับว่า นโยบายในส่วนของการเพิ่มรายได้ให้กับประชาชนนั้น คงไม่สามารถทำได้ทันทีทั้งระบบ ขึ้นอยู่กับความพร้อมของเอกชนแต่ละบริษัท ซึ่งจากการหารือขณะนี้มีหลายบริษัทที่จดทะเบียนอยู่ในตลาดหลักทรัพย์ มีความพร้อมในการปรับอัตราค่าจ้างขึ้นได้ และสำหรับในส่วนของภาคเอกชนที่ยังไม่มีความพร้อมทันที ก็จะมีการหารือในคณะกรรมการไตรภาคี เพื่อพิจารณากำหนดกรอบกันต่อไปว่าจะมีการลดปัญหาอุปสรรคในการปรับโครงสร้างการจ้างงานในครั้งนี้อย่างไร ซึ่งจะพยายามให้แนวนโยบายนี้เสร็จในกรอบระยะเวลาที่กระชับที่สุด

“แนวนโยบายที่จะแถลงไม่ใช่เป็นมาตรการหรือเรื่องที่จะต้องทำแล้วให้เกิดผลการเปลี่ยนแปลงทันที แต่เป็นสิ่งที่ทำแล้วเชื่อมโยงกันไปสู่เป้าหมายที่ใหญ่กว่า โดยมาตรการด้านเศรษฐกิจทั้งการขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ การรับจำนำสินค้าเกษตร จะเป็นประโยชน์ในอนาคตที่จะเปลี่ยนสมดุลด้านเศรษฐกิจของประเทศไทยได้ ซึ่งจะทำเป็นระบบและไม่มีผลกระทบเกิดขึ้นด้วย”นายกิตติรัตน์ กล่าว

อย่างไรก็ตามในส่วนที่มีความกังวลว่า หากภาคธุรกิจปรับอัตราค่าจ้างขั้นต่ำขึ้นแล้ว จะทำให้ต้นทุนการผลิตสินค้าและบริการมีราคาเพิ่มขึ้นนั้น เชื่อว่า คงจะไม่เกิดผลกระทบถึงขั้นให้ภาคธุรกิจ ต้องมีการปรับราคาสินค้าขึ้นทันที เพราะหลังจากมีการดำเนินนโยบายด้านเศรษฐกิจแล้ว มีหลายส่วนที่จะช่วยลดต้นทุนให้กับภาคเศรษฐกิจ ไม่ว่าจะเป็นด้านพลังงาน ที่จะมีการลดการจัดเก็บเงินเข้ากองทุนน้ำมัน ทำให้ราคาน้ำมันซึ่งเป็นต้นทุนในการขนส่งสินค้าจะลดลง ในด้านภาษีที่จะมีการลดภาษีลง 7 % นั้น ก็จะส่งผลให้ภาคเอกชนสามารถคำนวณ ค่าใช้จ่าย ต้นทุน กำไร ที่เหลือได้

นอกจากนี้หากคณะกรรมการนโยบายการเงิน(กนง.)มีการทบทวนถึงเรื่องอัตราดอกเบี้ยให้ไม่สูงมากนัก หากสิ่งเหล่านี้เกิดขึ้นพร้อมกัน ก็จะไม่ส่งผลต่อราคาสินค้าอย่างแน่นอน

“ในส่วนของภาคธุรกิจ เอสเอ็มอี ที่อยู่ในระบบจ่ายภาษี หากมีการปรับโครงสร้างแรงงานแล้วเกิดผลกระทบ ทำให้ไม่สามารถจ่ายภาษีได้ แน่นอนว่ารัฐบาลจะต้องเข้าไปดูแล ทั้งการให้ภาคธุรกิจปรับตัวได้ใช้แรงงานอย่างมีประสิทธิภาพ ฝึกอบรมแรงงานให้มีความชำนาญ หาเครื่องไม้เครื่องมือที่มีราคาถูกเพื่อลดต้นทุนให้ “นายกิตติรัตน์ กล่าว