Thai / English

แรงงานไทยในมุมมอง 'ศักดินา'

ชื่อจริงแปลว่าอำนาจเหนือที่นา แต่ตัวตนจริงของเขาคือนักวิชาการแรงงานผู้คลุกคลีเรื่องค่าแรงขั้นต่ำมาหลายสิบปี และวันนี้ 300บาทพอไหม เขาจะตอบ
อนันต์ ลือประดิษฐ์
02 .. 54
กรุงเทพธุรกิจ

“จุดประกาย-ทอล์ค” นัดหมาย ศักดินา ฉัตรกุล ณ อยุธยา ในยามสายของวันหนึ่ง ณ ร้าน “แพนเค้ก คาเฟ่” บนชั้น 3 ของห้างสรรพสินค้า พาราไดส์ พาร์ค ย่านถนนศรีนครินทร์ การสนทนาของเราในเรื่องค่าจ้างแรงงานขั้นต่ำ ในบรรยากาศของร้านเครื่องดื่มสุดหรู ดูจะเป็นความขัดแย้งที่แปลก เช่นเดียวกันกับชื่อของเขา “ศักดินา” ที่เจ้าตัวเลือกจะทุ่มเททำงานให้แก่แวดวงชนชั้นกรรมาชีพโดยเฉพาะ

“ชื่อผม คำว่าศักดินา แต่เดิมความหมายดี แปลว่าอำนาจเหนือที่นา ก็ดีครับ แต่พอยุคสมัยเปลี่ยนไป คนที่มีอำนาจเหนือที่ดิน เริ่มเอารัดเอาเปรียบ คำๆ นี้จึงเริ่มเป็น negative เมื่อหนังสือโฉมหน้าศักดินาไทยของ จิตร ภูมิศักดิ์ออกมา topic มันจึงเป็นเรื่องการของเอารัดเอาเปรียบ เคยมีคนใช้เป็นคำด่าในรัฐสภาตั้งแต่ปี 2490 กว่าแล้ว ด่าว่าเป็นซากเดนศักดินา”

นักวิชาการวัยอาวุโส ให้คำอธิบายเมื่อถามถึงชื่อของเขา พร้อมกับเล่าถึงความสนใจในปัญหาด้านแรงงานว่า มีขึ้นตั้งแต่สมัยยังเป็นนักศึกษา

“ผมเติบโตในรุ่น 14 ตุลา ซึ่งสนใจแรงงานเป็นกลุ่มเป้าหมายอยู่แล้ว แล้วพอมาสอนหนังสือที่มหาวิทยาลัยเกริก ผมกับเพื่อนๆ ก็ตั้งสหภาพแรงงานที่นั่น จากนั้นผมก็ลาออกมาทำงานที่มูลนิธิฟรีดริค เอแบร์ท เป็นชื่อประธานาธิบดีคนแรกของเยอรมนี เป็นพรรคสังคมประชาธิปไตย และเขาเคยเป็นผู้ใช้แรงงานมาก่อน ผมก็มาทำเรื่องแรงงานกับเรื่องการส่งเสริมประชาธิปไตยที่นี่ ทำงานอยู่ที่นี่ 18 ปี ก็ลาออกมาเมื่อ 3 ปีที่แล้ว”

นอกจากใช้เวลาอยู่กับการจัดเวทีแลกเปลี่ยนความคิดเห็น อีกด้านหนึ่งของนักวิชาการคนนี้ คืองานสอนหนังสือที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์มานานกว่า 10 ปี เขารับผิดชอบวิชาแรงงานสัมพันธ์ของโครงการปริญญาโทที่นั่น ขณะเดียวกันยังสนใจประวัติศาสตร์แรงงานเป็นพิเศษ ด้วยการลงมือทำพิพิธภัณฑ์แรงงานขึ้นที่ย่านมักกะสัน

สถานภาพของแรงงานไทยในเวลานี้เป็นอย่างไร

เรามีประวัติศาสตร์ มีพัฒนาการที่ยาวนาน แต่เหมือนกับคนงานยังได้ส่วนแบ่งจากการพัฒนาของอุตสาหกรรมน้อยเกินไป เพราะรัฐไทยหรือคนที่มีอำนาจ ไม่ใช่แรงงาน คนงานถูกกดไว้ ไม่มีอำนาจในการต่อรองเท่าไหร่ ดังนั้น การกำหนดนโยบายต่างๆ จึงเป็นไปในลักษณะที่เป็นประโยชน์ต่อฝ่ายอุตสาหกรรมมากกว่าฝ่ายแรงงาน

เวลาเราพัฒนาประเทศ พัฒนาอุตสาหกรรม จะมีฝ่ายนายทุนหรือผู้ประกอบการ กับอีกฝ่ายคือฝ่ายแรงงาน ที่ผ่านมา นโยบายรัฐจะค่อนไปทางปกป้องผลประโยชน์ของอุตสาหกรรมมากเกินไป แล้วเอาคนงานเป็นส่วนของการสร้างความได้เปรียบในการแข่งขัน กดค่าแรงเอาไว้ให้ต่ำ

เพราะแรงงานเป็นหนึ่งในต้นทุนการผลิต และโดยปรัชญา องค์กรธุรกิจก็ต้องแสวงหากำไรสูงสุด ?

ก็จริงครับที่แรงงานเป็นต้นทุนการผลิต แต่แรงงานก็เป็นมนุษย์ด้วย เป็นเพื่อนร่วมสังคม และที่สำคัญเป็นคนส่วนใหญ่ของสังคม วันนี้เรามีคนงาน 37-38 ล้านคน

ผมว่าเราคงต้องเปลี่ยนพร้อมๆ กันหลายอย่าง เหมือนเราพัฒนาโดยไม่ได้คำนึงถึงคนส่วนใหญ่มายาวนาน และมันเกี่ยวข้องกับเรื่องความเป็นประชาธิปไตยในสังคมด้วย ประชาธิปไตยยังไม่ได้เกิดขึ้นจริง เราก็ยังไม่ได้พัฒนาคน ประชาธิปไตยต้องให้คนเข้ามามีส่วนร่วม แต่กระบวนการตลอด 80 ปี เราไม่ได้ให้คนเข้ามามีส่วนร่วมในการพัฒนาประเทศ ดังนั้น คนส่วนใหญ่ หรือผู้ใช้แรงงานก็ถูกละเลยไป

กรอบการพัฒนาประเทศที่ผ่านมา เราเอาใจคนส่วนน้อย ที่สำคัญที่สุดคือวัฒนธรรมทางการเมืองและความเชื่อ เราไม่ได้พยายามปรับเปลี่ยน ยังเป็นวัฒนธรรมแบบอุปถัมภ์ดั้งเดิม วัฒนธรรมที่ยอมรับความไม่เสมอภาคในสังคม ปล่อยให้ความไม่เสมอภาคดำรงอยู่ได้ ถือว่าเป็นเรื่องธรรมดา ถ้าเราไม่ปรับเปลี่ยนวัฒนธรรมแบบนี้ เขาก็จะถือว่าผู้ใช้แรงงานเป็นลูกจ้าง ส่วนผู้ประกอบการเป็นนายจ้าง คือมีความไม่เท่ากัน และความไม่เท่ากันคือธรรมชาติที่ยอมรับได้

แต่ในสังคมสมัยใหม่ เราต้องเปลี่ยนกรอบคิดนี้ ต้องมองว่านายจ้างกับลูกจ้างคือหุ้นส่วนกัน ดังนั้นการจะแบ่งปันกันอย่างเป็นธรรม ก็ต้องปรึกษาหารือกัน ฝ่ายหนึ่งเอาทุนมาลง อีกฝ่ายหนึ่งเอาแรงของตัวเองมาลง แล้วจะแบ่งปันกันอย่างไร ถ้าปล่อยให้ฝ่ายหนึ่งกำหนด แน่นอนก็จะถูกดึงไปให้อีกฝ่ายหนึ่ง แต่ถ้าเราส่งเสริมให้เขามีการพูดคุย มีการแบ่งปันกันอย่างสมเหตุสมผล ก็จะมีการแบ่งปันกันอย่างเป็นธรรม ด้วยกรอบคิดนี้ ความเหลื่อมล้ำที่เราพูดถึงเป็นเรื่องจริง เพราะเราปล่อยให้คนส่วนหนึ่งเป็นคนตัดสินใจว่า ผลกำไรที่ว่าจะไปอยู่ตรงส่วนไหน

เป็นเพราะโมเดลเศรษฐกิจไทยไม่ใช่สังคมนิยม ?

ใช่ครับ คือเวลาเราพูดถึงสังคมนิยม คนจะมองไปที่จีนหรือโซเวียต แต่จริงๆ แล้ว สังคมนิยมมีหลากหลาย ในยุโรปมีระบบสังคมนิยมประชาธิปไตย มองว่าคนเท่ากันและแบ่งปันกัน สังคมนิยมคือการตัดสินใจแบบสังคม คือให้ประโยชน์มาตกอยู่ร่วมกันในสังคม ได้แบบวิน-วิน

หัวใจใหญ่ของเรื่องนี้ คือการปฏิรูปการศึกษา ในหลายประเทศจะมี civic education คือให้การศึกษาประชาชน เพื่อให้ประชาชนกลายเป็น "พลเมือง" คือคนที่รู้จักสิทธิ รู้จักหน้าที่ และรู้จักความรับผิดชอบต่อสังคม แต่กระบวนการนี้มันต้องมีการวางแผน ต้องมีหลักสูตร ต้องมีการทำอย่างจริงจัง เพราะคนเราเกิดมา เขายังไม่ได้เป็นพลเมือง เขาไม่รู้จักสิทธิ ไม่รู้หน้าที่ และไม่รู้จักความรับผิดชอบต่อสังคม ก็เป็นแค่ประชากร คุณต้องมีการจัดการศึกษาในแง่นี้ ทั้งในระบบและนอกระบบ ทำไปพร้อมๆ กัน เราถึงจะเปลี่ยนให้คนตระหนักในเรื่องนี้ได้

ที่ผ่านมา มีการรวมตัวเมื่อใด แรงงานส่วนนี้มักถูกบีบให้ออกจากงาน ?

เพราะเราไม่ยอมรับสิทธิของคนงาน จริงๆ แล้ว มีสิทธิอยู่ 4 หมวด เป็นอนุสัญญาหลักว่าด้วยสิทธิของแรงงาน ถือเป็นสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐาน หมวดที่หนึ่งว่าด้วย การไม่ใช้แรงงานบังคับ สอง - ไม่ใช้แรงงานเด็กแบบทารุณกรรม สาม - ไม่เลือกปฏิบัติ และสี่ - สิทธิในการรวมตัวและเจรจาต่อรองร่วมของคนงานกับนายจ้าง ซึ่งในบ้านเรา เรื่องอื่นจะพูดกันมาก แต่ในเรื่องสิทธิการรวมตัวและเจรจาต่อรองร่วม ยังถูกปฏิเสธ เราเป็นประเทศที่เหลืออยู่เพียงไม่กี่ประเทศในโลกที่ไม่ยอมให้สัตยาบัน ฉบับที่ 87 และ 88 ขององค์การแรงงานระหว่างประเทศ ซึ่งประเทศที่เหลือเหล่านี้ ส่วนใหญ่เป็นประเทศล้าหลัง หรือเป็นประเทศที่เป็นสหพันธรัฐ ที่แต่ละรัฐจะมีกฎหมายเฉพาะ และยากที่จะหาข้อตกลงร่วมกันได้

คุณมองบทบาทของรัฐบาลกับการแก้ไขปัญหาเรื่องแรงงานอย่างไร

รัฐบาลให้ความสนใจในเรื่องแรงงานค่อนข้างน้อย การเลือกตั้งครั้งนี้ ถือเป็นความประหลาดที่สุดในประวัติศาสตร์การเลือกตั้งในประเทศไทย ที่มีการหยิบเอาประเด็นว่าด้วยค่าจ้างแรงงานมาใช้ในการหาเสียง ซึ่งน่าสนใจ และเป็นผลดีแก่ประเทศชาติ เพราะเราอยู่ในสังคมที่กดค่าแรงไว้ต่ำมายาวนาน

เราพัฒนาอุตสาหกรรมสมัยใหม่มา 50 ปี หลังการใช้แผนพัฒนาเศรษฐกิจฯ ส่งเสริมการลงทุนต่างๆ รักษาให้ประเทศไทยมีอุตสาหกรรมการส่งออก โดยอาศัยแรงงานราคาถูก ดังนั้น การหยิบเอาเรื่องค่าจ้างขั้นต่ำที่มีอัตราที่สูงขึ้นมาพูดถึง จึงเป็นนิมิตหมายอันดีที่เราจะได้ทบทวน เพราะประเทศที่พัฒนามายาวนาน เขาก็พัฒนาให้ประเทศเป็นอุตสาหกรรมที่มีทักษะ มีฝีมือ มีค่าจ้างสูง ถ้าเราต้องการรักษาให้ประเทศมีขีดการแข่งขันในระดับล่างต่อไปเรื่อยๆ คนงานก็จะต้องทุกข์ระทม

เรื่องค่าจ้างขั้นต่ำ 300 บาท มีทั้งคนเห็นด้วยและไม่เห็นด้วย ?

ตามหลักการ เวลาเราคิดเรื่องนี้ เราต้องมองก่อนว่า เราเอาอะไรเป็นตัวตั้ง ถ้าเราเอาประโยชน์ของส่วนรวม ของประเทศชาติ ของคนส่วนใหญ่ก็ต้องตั้งเป็นเป้าไว้ว่าทำแล้วประเทศชาติจะได้ประโยชน์ เพราะคนงานเป็นคนส่วนใหญ่ของสังคม ถ้าคนงานมีค่าจ้างสูง แน่นอนว่าอำนาจการซื้อก็จะสูงขึ้น จะลดระบบเศรษฐกิจของเรา ที่พึ่งพิงการส่งออกมากเกินไป เราพึ่งพิงการส่งออกตั้ง 70 เปอร์เซนต์ ก็จะกลับมาที่ตลาดภายในประเทศ ทำให้เรามีเสถียรภาพมากขึ้นในระบบเศรษฐกิจ

ถ้าคิดแบบนี้รวมๆ แล้ว คงตัดสินใจไม่ยากว่า เราคงจะต้องไปในทิศทางนั้น แต่จะไปอย่างไร ก็คงเป็นเรื่องที่ต้องใช้เหตุใช้ผล มันไม่ใช่เรื่องง่ายเหมือนกัน เพราะเรากดมานาน แล้วในช่วง 10 กว่าปีนี้ อีกทั้งช่วงปี 40 เราไปเปลี่ยนการกำหนดอัตราค่าจ้างขั้นต่ำในแบบกระจาย ซึ่งทำให้เรามีอัตราค่าจ้างขั้นต่ำที่แตกต่างกันถึง 32 อัตรา จากเมื่อก่อนมีเพียงแค่ 3 อัตรา คือกรุงเทพฯและปริมณฑล เมืองใหญ่ และเมืองที่เหลือ

เมื่อเป็นเช่นนี้ ทำให้บางจังหวัดถูกกดไว้ต่ำมาก เช่นพะเยา 161 บาท เมื่อจะขึ้นมา 300 บาท มันก็ไม่ใช่เรื่องง่าย โดยเฉพาะเจ้าของกิจการที่โน่น อันนี้คือเรื่องที่ต้องคุยต้องคิดกัน แต่ถ้าถามว่ามันมีความจำเป็นหรือยังที่เราจะขยับขึ้นมา จากประเทศที่เรามีค่าจ้างต่ำ มาเป็นประเทศที่ให้ความเป็นธรรมกับคนงาน ผมคิดว่าถึงเวลาแล้วที่เราต้องทำ

ค่าจ้างขั้นต่ำที่ปรับเพิ่มขึ้น จะจูงใจหรือมีผลกระทบต่อแรงงานข้ามชาติอย่างไร

ตอนนี้เรามีแรงงานข้ามชาติอยู่ในประเทศราว 4 ล้านคน คือมันไม่ใช่เหตุผลกัน การอพยพของแรงงานข้ามชาติเข้ามาในไทย ไม่ใช่เรื่องค่าจ้างอย่างเดียว แต่เป็นความต้องการของนายจ้างที่ต้องการจ้างแรงงานราคาถูก จริงๆ แล้ว หากมีการขึ้นเป็น 300 บาท ก็ต้องมีการบังคับกับแรงงานไทยและแรงงานข้ามชาติด้วย เพราะกฎหมายระบุไว้ชัดเจนว่าเลือกปฏิบัติไม่ได้ ค่าจ่างขั้นต่ำบังคับใช้กับแรงงานทั้งหมด ไม่เลือกชาติภาษาอยู่แล้ว

ในทางกลับกัน ถ้าต้องจ่ายแรงงานข้ามชาติ 300 บาท นายจ้างคงเลือกจ้างคนไทยมากกว่า เพราะคุยกันรู้เรื่องมากกว่า ดังนั้น ผมคิดว่ามันไม่ใช่เหตุผล แล้วหากเราดูอัตราการว่างงาน เรามีอัตราการว่างงานที่ต่ำมาก ราว 0.5 เปอร์เซนต์ เหมือนกับว่า เราไม่ว่างงาน แท้ที่จริงแล้ว เราขาดแคลนแรงงานด้วยซ้ำ และที่บอกว่า ถ้าขึ้นค่าแรงไปแล้ว คนจะตกงาน ก็อาจจะตกส่วนหนึ่ง แต่บางธุรกิจยังต้องการ เช่นที่ประกาศเมื่อเร็วๆ นี้ในอุตสาหกรรมยานยนต์ที่ยังต้องการแรงงานเป็นแสนคน

ในอดีตตอนเราเปิดประเทศ และมีแรงงานรับจ้าง จีนเป็นแรงงานส่วนใหญ่ที่มีมากว่า 100 ปี การมีแรงงานข้ามชาติอยู่ในประเทศ ไม่ใช่เรื่องแปลกในสังคมไทย และต่อไป เมื่อเปิดประชาคมอาเซียน การเคลื่อนย้ายของแรงงานจะมีเสรีมากยิ่งขึ้น เราจะต้องอยู่กับสิ่งเหล่านี้อย่างปฏิเสธได้ยาก เราจะต้องอยู่กับการเคลื่อนย้ายของแรงงาน หลังจากทุนเคลื่อนย้ายมาก่อนหน้านี้แล้ว

แล้วถ้าเราไม่ปรับค่าจ้างให้สูงขึ้น แรงงานไทยนี่แหละจะอพยพไปที่อื่น โดยเฉพาะแรงงานไทยที่มีฝีมือดี ก็จะอพยพไปยังที่ๆ เขาให้ค่าจ้างดีกว่า

จากข้อถกเถียงเรื่อง 300 บาท มีใครบอกได้ไหมว่า อัตราค่าจ้างเท่าไหร่ถึงจะเหมาะสมพอดี

(นิ่ง) นั่นล่ะครับ เราไม่ได้ใช้วิธีการวิทยาศาสตร์ในการคำนวณกัน ที่จริงเรามีเกณฑ์คำนวณนะครับ เมื่อ 3 ปีที่แล้ว คณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทยได้ทำงานสำรวจคนงานว่า ถ้าเขาจะอยู่ได้ เขาควรจะได้รับเท่าไหร่ โดยไม่ต้องทำโอที เป็นลักษณะ 3 - 8 คือ ทำงาน 8 ชั่วโมง พักผ่อน 8 ชั่วโมง และมีเวลาค้นคว้าหาความรู้อีก 8 ชั่วโมง เขาบอกว่าค่าจ้างที่จะทำให้คนงานอยู่ได้อย่างมีศักดิ์ศรีคือ 421 บาท อันนั้นคือการศึกษาอย่างเป็นวิทยาศาสตร์ ดูค่าใช้จ่ายต่างๆ จากอัตราค่าครองชีพในเมืองไทย

ผมอยากจะเรียนว่า เอาเข้าจริงๆ ค่าครองชีพในกรุงเทพ หรือต่างจังหวัด ไม่ได้แตกต่างกันมากเท่าไหร่ ราคาสินค้าในเซเวน-อีเลฟเวนก็ราคาเดียวกัน เผลอๆ ในต่างจังหวัดอาจจะแพงกว่าเพราะต้องบวกค่าขนส่ง ดังนั้น อัตราค่าจ้างขั้นต่ำแบบกระจาย ไปตามแต่ละจังหวัด และทำให้เรตค่าจ้างแตกต่างกันมาก มันเป็นการบิดเบือนความจริง

กลไกของการกำหนดค่าจ้างขั้นต่ำ จริงๆ แล้วเป้าหมายอยู่ที่คนงาน เขาเอาประเด็นทางสังคมเป็นตัวตั้ง เขาไม่ได้เอาประโยชน์ของอุตสาหกรรมเป็นตัวตั้ง แต่ตอนนี้เหมือนกับเราทำให้มีการกดค่าจ้างต่ำในบางจังหวัด เพื่อทำให้อุตสาหกรรมย้ายไปลงในพื้นที่นั้น แต่นั่นไม่ใช่หลักการค่าจ้างขั้นต่ำ ซึ่งในอนุสัญญาระหว่างประเทศมีการกำหนดไว้ชัดเจน ว่าค่าจ้างขั้นต่ำ หมายถึงค่าจ้างที่ดูแลคนงานและครอบครัวได้

เราพูดถึงการรวมตัวของแรงงานเพื่อเรียกร้องต่อรอง แต่คราวนี้เรื่องนโยบายค่าจ้างกลับออกมาจากฝ่ายการเมือง ?

ผมมองอย่างนี้ สาเหตุที่ทำให้พรรคการเมืองหันมาเล่นประเด็นนโยบายค่าจ้าง คงเริ่มจากรัฐบาลของนายกฯอภิสิทธิ์ ตอนที่เกิด hamburger crisis รัฐบาลอภิสิทธิ์ได้ทำโครงการเช็คช่วยชาติ 2 พันบาทที่แจกให้ผู้ประกันตน มันทำให้เห็นว่าเศรษฐกิจฟื้นขึ้นมาได้ เป็นการทดแทนอำนาจซื้อจากต่างประเทศ ทำให้ได้ข้อสรุปว่า ถ้าเราเพิ่มอำนาจซื้อให้คนทำมาหากิน เช่น ผู้ประกันตน คนทำงานระดับล่าง ก็ทำให้เศรษฐกิจขยายตัวได้

ผมเข้าใจว่านี่คือข้อสรุปว่า เมื่อมีการเพิ่มค่าจ้าง ก็ทำให้อำนาจการซื้อในประเทศเพิ่มขึ้น ด้วยเหตุนี้ ทำให้คุณอภิสิทธิ์ดึงเอาประเด็นนี้ขึ้นมา โดยกำหนดที่ 250 บาท ตอนหลังมาปรับเป็น 25 เปอร์เซนต์ภายใน 2 ปี ก็เท่ากับ 250 บาท อันนี้เป็นจุดเริ่มต้นให้ได้รับการขานรับจากคนงาน คนงานส่งเสียงขานรับอันนี้ ทำให้พรรคการเมืองต่างๆ หยิบเอาประเด็นขึ้นมาเป็นนโยบายหาเสียง ซึ่งจะทำให้ได้รับการต้อนรับจากฝ่ายแรงงาน

หลายคนเป็นห่วงว่า ถึงจะได้ 300 บาท แต่รายได้ที่แท้จริงจะเพิ่มขึ้นสักกี่มากน้อย หากข้าวของขยับราคาขึ้นตามไปด้วย

เป็นสิ่งที่กังวลครับ แต่รัฐบาลก็ต้องมีมาตรการ จะให้แรงงานมาแบกรับภาระไว้คนเดียว ก็ไม่สมควร ดังนั้น จึงเป็นหน้าที่ของรัฐในการกำกับดูแล เรื่องเงินเฟ้อ ข้าวของขึ้นราคาอย่างมีเหตุผลหรือไม่ ซึ่งต้นทุนค่าแรง อย่างที่ อ.แล (ดิลกวิทยรัตน์) บอก มันมีตัวเลขที่ทำวิจัยไว้ สูงสุดต้นทุน 10 เปอร์เซนต์ บางอุตสาหกรรม 2-3 เปอร์เซนต์ อย่างที่ผมทราบมา อุตสาหกรรมยานยนต์ต้นทุนอยู่ที่ 2 เปอร์เซนต์เท่านั้นเอง อันนี้เป็นตัวเลขที่ผมได้มาจากแรงงานฝ่ายยานยนต์ ดังนั้น เมื่อปรับค่าจ้างขึ้นมา ก็ไม่ได้มีผลกระทบต่อต้นทุนอย่างขนานใหญ่ ก็ต้องมีมาตรอื่นๆ ที่ตามมา

ทีนี้ เวลาเราพูดถึงเรื่องค่าจ้าง มันไม่ได้หมายถึงค่าจ้างขั้นต่ำอย่างเดียว แต่บ้านเรา คนงานมีอำนาจในการต่อรองน้อย เพราะเขาไม่ยอมรับการรวมตัว ดังนั้น ค่าจ้างขั้นต่ำจึงสำคัญสำหรับคนงาน หลายโรงงาน ไม่ขึ้นค่าจ้างนะครับ ถ้าค่าจ้างขั้นต่ำไม่ปรับ เขาปรับตามค่าจ้างขั้นต่ำ ดังนั้น หากเราอยากจะพัฒนาเศรษฐกิจด้วยนโยบายค่าจ้าง หากเราจะส่งเสริมให้ค่าจ้างสูง เพื่อเพิ่มอำนาจการซื้อ รัฐบาลก็ต้องดูทั้งระบบของค่าจ้าง โดยค่าจ้างขั้นต่ำเป็นส่วนหนึ่ง แต่มันยังมีค่าจ้างอื่นๆ เป็นค่าจ้างเหนือขึ้นไป โดยดูจากผลประกอบการ

คือค่าจ้างเป็นส่วนแบ่งมาจากผลประกอบการ ที่ผ่านมา มันถูกกำหนดโดยฝ่ายนายจ้าง เพราะเขามีอำนาจในการตัดสินใจ ถ้าเราไปดูข้อตกลงร่วม ที่เรียกกันว่า collective bargaining ที่นายจ้างกับลูกจ้าง สูงสุดเมื่อปีที่แล้วมันอยู่ที่ 400 ฉบับ อันนี้เฉพาะแรงงานในระบบ ทั้งที่เรามีสถานประกอบการอยู่ที่ 390,000 แห่ง แต่มีแค่ 400 กว่าฉบับ นี่คือการแบ่งปันที่นายจ้าง-ลูกจ้างคุยกัน ส่วนที่เหลือนายจ้างเป็นคนกำหนด ถ้าเป็นแบบนี้ มันยากที่จะแบ่งปันผลประโยชน์ที่กระจายลงมา ที่สะท้อนความจริงว่าเขาทำงาน เขามี productivity ขนาดนี้ ก่อให้เกิดกำไรขึ้นมาขนาดนี้ แล้วจะแบ่งปันกันอย่างไร ตรงนี้เรายังไม่มีการพูดถึง และเป็นส่วนหนึ่งที่ก่อให้เกิดความเหลื่อมล้ำ ช่องว่างระหว่างกลุ่มที่รวยกับกลุ่มที่จน เพราะเราไม่คิดเรื่องการแบ่งปันที่เป็นธรรม

ถ้าเราปล่อยไว้แบบนี้ ช่องว่างก็จะห่างขึ้น เพราะฝ่ายผู้ประกอบการมีอิสระอย่างเต็มที่ในการแสวงหากำไรสูงสุด ขณะที่คนงานมีอำนาจในการดึงจากผลประกอบการน้อยมาก ดังนั้น การจะไปสู่สังคมที่เป็นธรรม ควรจะใช้โอกาสนี้ที่กำลังมีการตื่นตัวเรื่องค่าจ้าง มาคุยกันถึงเรื่องที่เราจะทำให้มีการแบ่งปันกันอย่างเป็นธรรม ซึ่งมีหลายอย่าง เช่น การให้คนงานมีส่วนร่วมในการตัดสินใจ เรื่องการเจรจาต่อรอง ซึ่งในบ้านเราถือว่ากระบวนการนี้ยังน้อย ขณะที่ประเทศอื่นๆ โดยเฉพาะในยุโรป เขาทำกันหมดแล้ว ในประเทศที่มีช่องว่างระหว่างคนรวยกับคนจนน้อย มาจากการที่เขายอมรับสิทธิในการรวมตัว และเจรจาต่อรอง

ในสแกนดิเนเวียมีสหภาพแรงงานเยอะ ประเทศที่ต่ำสุดคือประเทศที่เกิดเหตุโศกนาฏกรรม คือนอร์เวย์มี 54 เปอร์เซนต์ คือมีคนงานเป็นสมาชิก 54 เปอร์เซนต์ของแรงงานทั้งหมด ต่ำสุดในกลุ่มนอร์ดิก ขณะที่บ้านเรามีเพียง 1.3 เปอร์เซนต์ ประมาณ 5 แสนคน ซึ่งไม่สามารถก่อให้เกิดอำนาจการต่อรองที่เป็นธรรม ซึ่งผลจากการสำรวจของคณะปฏิรูปของคุณอานันท์ (ปันยารชุน) ก็ระบุว่า สาเหตุจากความเหลื่อมล้ำ มาจากโครงสร้างอำนาจที่ไม่เป็นธรรม คนเล็กคนน้อยไม่มีอำนาจในการต่อรอง

ตั้งแต่ทำงานด้านแรงงานมา ส่วนตัวประทับใจในเรื่องใดบ้าง

คนที่ทำงานในแวดวงนี้ ส่วนใหญ่เป็นคนที่อยากเห็นสังคมเป็นธรรม ส่วนใหญ่เป็นคนที่ถูกเอารัดเอาเปรียบ สิ่งที่ประทับใจคือคนที่ลงมาทำงานเป็นคนที่มีจิตใจดี สหภาพแรงงานที่ผมทำงานด้วย ส่วนใหญ่เป็นคนเสียสละ ที่ทำด้วยความยากลำบาก อย่างคุณวิไลวรรณ แซ่เตีย แกทำโดยไม่เห็นแก่ความยากลำบาก ทั้งที่รายได้แกมากกว่าค่าจ้างขั้นต่ำนิดเดียว และยังเป็นพนักงานรายวันอยู่ ชีวิตลำบากอยู่แล้ว แต่ยังลุกขึ้นมาต่อสู้เพื่อให้คนส่วนใหญ่ได้ประโยชน์ มีคนแบบนี้เยอะแยะ ผมคิดวาการได้ทำงานกับคนแบบนี้ถือเป็นเกียรติแก่ตัวเรา และรู้สึกมีความสุข

มองอนาคตแรงงานไทยอย่างไร เราผ่านยุคเข่นฆ่าผู้นำแรงงานมาแล้วใช่ไหม

เราคงผ่านยุคแบบนั้นมาแล้ว หวังว่าความป่าเถื่อนจะลดน้อยลง เราคงหนีไม่พ้นโลกในอนาคต ที่ลูกจ้างกับนายจ้างนั่งคุยบนโต๊ะเดียวกันได้ อย่างมีเหตุมีผล ทำงานร่วมกัน ไม่มีใครเหนือกว่าใคร จะแบ่งอย่างไรถึงจะยุติธรรม วันหนึ่งเราคงไปถึงจุดนั้น แต่จะไปถึงจุดนั้น เราคงต้องต่อสู้ ต้องเปลี่ยนทัศนคติว่านายจ้างคือคนที่มีอำนาจสูงสุดในการตัดสินใจ ว่าเรายังไม่เชื่อในเรื่องการเป็นเพื่อนร่วมงานกัน เป็นหุ้นส่วนกัน.