Thai / English

แรงงานพม่านัดหยุดงาน-ขอขึ้นค่าแรง 20 บาท



12 .. 54
ประชาไท

แรงงานพม่าที่บริษัทผลิตรองเท้าที่ชายแดน จ.กาญจนบุรี ตรงข้ามด่านเจดีย์สามองค์นัดหยุดงาน หลังข้อเรียกร้องขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำ 20 บาท ไม่ได้รับการตอบสนอง ก่อนที่ฝ่ายผู้บริหารจะยอมรับข้อเสนอ ทำให้แรงงานทั้งหมดกลับเข้าทำงานแล้ว

เมื่อวันที่ 7 ก.ค. ที่ผ่านมา คนงานทั้งหมดของโรงงานผลิตรองเท้าของบริษัท PTK มีแรงงานอยู่ทั้งหมดราว 3,000 คนในโรงงาน 3 แห่ง รวมถึงที่มาจากฝั่งชายแดนพม่า เพื่อเรียกร้องค่าจ้างขึ้นอีก 20 บาทต่อวัน

"พวกเราเจรจายอมรับข้อตกลงกันได้เมื่อตอน 8 โมงเช้าวันนี้" นายมาห์น เถียน (Mahn Thean) ผู้จัดการบริษัทกล่าวในฐานะตัวแทนของบริษัท PTK

โดยเมื่อวันที่ 8 ก.ค. แรงงานข้ามชาติชาวพม่ากว่า 400 คน ที่ประท้วงอยู่ที่ด่านเจดีย์สามองค์ได้ตกลงยกเลิกการประท้วงและกลับไปทำงานในวันถัดไป หลังจากที่นายจ้างชาวไทยยอมขึ้นเงินเดือนให้ตามข้อเรียกร้อง

ทั้งนี้การประท้วงเริ่มต้นเมื่อคนงานปฏิเสธกลับไปทำงานหลังพักเที่ยงเมื่อวันที่ 7 ก.ค. เพื่อทำการประท้วงที่บริษัทไม่ยอมรับข้อเรียกร้องของพวกเขา

"พวกเราเรียกร้องให้ขึ้นค่าแรงวันละ 20 บาท แต่พวกเขาบอกว่าจะขึ้นให้เราแค่ 10 บาท นั่นเป็นเหตุผลว่าทำไมเราถึงหันกลับบ้าน" นายอ่อง ทุน (Aung Tun) หนึ่งในแรงงานที่ร่วมประท้วงกล่าว

แรงงานเหล่านี้ยังได้แสดงความไม่พอใจด้วยการเดินกลับไปยังชายแดนอีกฝั่งหนึ่งของพม่าแทนการกลับบ้านด้วยรถบัสของบริษัท โดยแรงงานที่หยุดงานประท้วงนั้นมีผู้อพยพชาวพม่ารายอื่นๆ ในเมืองเข้าร่วมประท้วงด้วย ทำให้มีแรงงานนัดหยุดงานมารวมตัวกันที่ด่านเจดีย์สามองค์รวมทั้งหมด 2,000 คน ประกาศว่าพวกเขาจะไม่กลับไปทำงานหากข้อตกลงยังไม่ได้รับการยอมรับ

แรงงานในโรงงานได้รับค่าจ้างราว 70 ถึง 115 บาท จากการทำงาน 10 ชั่วโมงต่อวัน โดยจ่ายตามประสบการณ์การทำงาน ซึ่งค่าจ้างเหล่านี้ถือว่าน้อยกว่าค่าจ้างเฉลี่ยของไทย ทำให้คนงานจำนวนมากรู้สึกว่าพวกเขาถูกเอาเปรียบ

สิ่งที่ยิ่งทำให้พวกเขาจำเป็นต้องออกมาเรียกร้องเนื่องจากความจริงที่ว่าค่าจ้างที่ได้รับเพิ่มขึ้นนั้นไม่ได้พอเพียงต่อราคาสินค้าในปัจจุบันเลย แรงงานจำนวนมากบอกว่าพวกเขาไม่สามารถมีเงินพอส่งกลับบ้านได้เนื่องจากราคาอาหารที่เพิ่มขึ้น

"ทุกอย่างแพงขึ้นหมด แต่ต่าแรงยังเท่าเดิม นี่คือเหตุผลว่าทำไมพวกเขาถึงหยุดงานประท้วง" นาย ลิด รอด (Nai Lyit Rot) ผู้นำชุมชนด่านเจดีย์สามองค์กล่าว

มีแรงงานผู้อพยพชาวพม่าอยู่ราว 5,000 รายในเขตพื้นที่ด่านเจดีย์สามองค์ แต่ละคนต่างก็มาจากเขตพื้นที่ต่างๆ ในประเทศพม่า เมืองนี้มีโรงงานอยู่กว่า 30 โรงงาน เป็นโรงงานผลิตถุงมือ, สิ่งทอ และรองเท้า

งานตามโรงงานจึงเป็นแหล่งงานหลักงานเมืองนี้ เนื่องจากการค้าขายระหว่างชายแดนแทบจะหยุดนิ่งเนื่องจากความไม่มั่นคงทางการเมืองในเขตฝั่งพม่า

แหล่งข่าวในพื้นที่ระบุว่านักธุรกิจไทยจะไม่ทำการซื้อขายสินค้าในฝั่งชายแดนพม่าเนื่องจากการปะทะที่เกิดขึ้นในช่วงนี้โดยก่อนหน้านี้เมื่อวันที่ 14 มิ.ย. มีร้านค้าแห่งหนึ่งตกเป็นเป้าโจมตีเนื่องจากถูกสงสัยว่าให้การสนับสนุนกองทัพพม่า

อีกปัจจัยหนึ่งที่ทำให้ราคาสินค้าเพิ่มขึ้นคือสภาพภูมิอากาศ สินค้าส่วนใหญ่ถูกลำเลียงมาทางน้ำ ซึ่งมีความยากลำบากกว่าเดิมในช่วงฤดูฝน

ที่มา: แปลและเรียบเรียงจาก

Strike Ends in Three Pagodas Pass, 08-07-2011, The Irrawaddy

http://www.irrawaddy.org/article.php?art_id=21659