Thai / English

คนงาน กับ สิทธิเลือกตั้งนอกเขต แต่ไม่มีสิทธิเลือกคนในพื้นที่


มงคล ยางงาม นักสื่อสารแรงงาน ศูนย์อ้อมน้อย-อ้อมใหญ่
06 .. 54
http://voicelabour.org/?p=5101

คงต้องยอมรับว่าประเทศไทยได้กลายเป็นประเทศอุตสาหกรรมเต็มรูปแบบ เพราะพื้นที่เกษตรกรรมได้แปรเปลี่ยนเป็นโรงงานอุตสาหกรรม เกษตรกรจำนวนมากได้แปรสภาพเป็นแรงงานอพยพ ทิ้งไร่ทิ้งนา มาเป็นคนงานในโรงงาน ทิ้งความเป็นพลเมืองเต็มขั้นที่บ้านเกิดมาเป็นพลเมืองแฝงตามเมืองใหญ่

คำว่า “พลเมืองแฝง” ใช้เรียกประชากรที่อพยพถิ่นฐานมาทำมาหากินในพื้นที่อื่นที่ตนไม่มีสำเนาทะเบียนบ้านอยู่ และไม่มีสิทธิเสียงในการกำหนดตัวผู้ปกครองในท้องที่รวมถึงการรับผลประโยชน์ต่างๆ จากท้องที่นั้น ซ้ำยังถูกมองว่าเป็นภาระของท้องที่ ทั้งที่ความจริงเราจะเห็นว่าเมืองอุตสาหกรรมต่างๆเช่น สมุทรสาคร สมุทรปราการ อยุธยา ชลบุรี ระยองฯลฯ มีการเติบโตทางเศรษฐกิจภายในสูงมากโดยเฉพาะจังหวัดระยอง เคยมียอดผลิตภัณฑ์มวลรวมสูงที่สุดในประเทศไทย นั่นเพราะมีคนงานส่วนใหญ่ไม่ใช่คนในพื้นที่ เป็นผู้ขับเคลื่อนเศรษฐกิจ จนส่งผลให้ในพื้นที่นั้นๆเติบโต จนเทศบาลหลายแห่ง ถูกยกสถานะจากเทศบาลตำบลเป็นเทศบาลเมือง และเทศบาลนครตามลำดับ เช่นเดียวกับเทศบาลอ้อมน้อย จังหวัดสมุทรสาคร ใช้เวลาเพียง 16 ปี ยกสถานะเป็นเทศบาลนครอ้อมน้อย แต่คนงานที่มาสร้างความเจริญให้กับท้องถิ่นกลับไม่ค่อยได้รับการเหลียวแลจากผู้ปกครองในจังหวัดเลย

ในช่วงที่หลายพรรคการเมืองกำลังหาเสียงเลือกตั้ง ต่างก็ชูนโยบายประชานิยม ลด แลก แจก แถม หวังซื้อใจประชาชน โดยไม่มีพรรคใดใส่ใจในข้อเสนอของคณะกรรมการปฏิรูปที่นำเสนอในเรื่อง การลดความเหลื่อมล้ำทางสังคม และการกระจายอำนาจไปสู่ท้องถิ่น โดยการทำให้ประชาชนเข้าถึงทรัพยากร ไม่ว่าจะเป็น

1. ทรัพยากรธรรมชาติ เช่น ที่ดิน ป่าไม้ ต้นน้ำ สิ่งแวดล้อม

2. ทรัพยากรเศรษฐกิจ ได้แก่ ทุน แรงงาน เกษตร ภาษี ตลาด อุตสาหกรรม พานิชยกรรม

3. พลังงาน ทรัพยากรสังคม ได้แก่ การศึกษา ศาสนา วัฒนธรรมคุณภาพชีวิตและความปลอดภัยในชีวิตทรัพย์สิน

4. ทรัพยากรทางการเมือง ได้แก่ โครงสร้างอำนาจ กระบวนการยุติธรรม กองทัพ การเข้าถึงข้อมูลข่าวสาร ซึ่งถือเป็นหัวใจในการพัฒนาให้เกิดความเท่าเทียมในสังคม เพราะถ้าประชาชนเข้มแข็งเข้าถึงทรัพยากรอย่างใกล้เคียงกันมีอำนาจในการต่อรองสังคมจึงเกิดความเท่าเทียมมากขึ้น

หากย้อนไปดูข้อเสนอของคณะกรรมการปฏิรูปในส่วนของการปฏิรูปแรงงาน จะเน้นในเรื่องของอำนาจในการต่อรองของแรงงาน ซึ่งมีข้อเสนอให้มีการปฏิรูปการเลือกตั้ง ทั้งในส่วนของคณะกรรมการไตรภาคี (ลูกจ้าง นายจ้าง และรัฐบาล) ที่มีข้อเสนอให้มีการเลือกตั้งโดยตรง คือ หนึ่งคนหนึ่งเสียง ซึ่งเดิมจะใช้สิทธิผ่านสหภาพแรงงาน หรือกรรมการสวัสดิการ และการเลือกตั้งทางการปกครอง ไม่ว่าในระดับท้องถิ่น หรือในระดับชาติ มีข้อเสนอให้คนงานที่ทำงานในพื้นที่ตั้งแต่ 3 ปีขึ้นไป มีสิทธิเลือกตั้ง และรับเลือกตั้ง ในเขตพื้นที่นั้นได้ ซึ่งจะสอดคล้องกับข้อเสนอของขบวนการแรงงานที่เสนอมาหลายปี ให้คนงานสามารถเลือกตั้งในพื้นที่ที่ตนเองทำงานอยู่ แต่ยังไม่เคยได้รับความสนใจจากรัฐบาลไหนเลย

ข้อเสนอ เรื่องการขอใช้สิทธิในการเลือกตั้งผู้แทนในพื้นที่ ไม่ได้เป็นการเกินเลย จนไม่สามารถปฏิบัติได้จริงเพราะหากดูตัวอย่างจากกรณีของ ทหารเกณฑ์ที่ต้องย้ายสำเนาทะเบียนบ้านไปอยู่ในกรมกองที่ตนสังกัด และสามารถใช้สิทธิในการเลือกสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (สส.) ในพื้นที่ที่สังกัดนั้นได้ หากมาดูคนงานก็สามารถทำได้แค่เพียงบังคับใช้พระราชบัญญัติ การทะเบียนราษฎร พ.ศ. 2534 ได้เลย แต่คงต้องมีมาตรการที่เอื้ออำนวยกับสภาพความเป็นจริง เช่น มีทางเลือกให้หลายทางเช่นให้เป็นหน้าที่ของเจ้าของห้องเช่าหรือให้ใช้บ้านเลขที่ของสถานประกอบการหรืออาจให้ใช้ที่อยู่ตามสำนักงานประกันสังคมจังหวัด ซึ่งเป็นเรื่องทางเทคนิคที่ผู้มีอำนาจที่เกี่ยวข้องต้องนำไปพิจารณาและเริ่มทำให้เป็นจริงให้ได้

การเลือกตั้งตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2550ได้กำหนดให้การเลือกตั้งเป็นหน้าที่ ดังนั้นคนไทยทุกคน จึงมีหน้าที่ไปใช้สิทธิเลือกตั้ง เพราะหากไม่ไปใช้สิทธิ จะเสียสิทธิในการเสนอกฎหมาย สิทธิในการยื่นถอดถอนนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรี เสียสิทธิในการลงสมัครเลือกตั้งทั้งในระดับท้องถิ่นและระดับชาติ แต่หากมามองกันที่ผลประโยชน์จากการใช้สิทธิเลือกตั้ง ผู้ที่เลือกควรที่จะได้รับผลประโยชน์และสามารถกำหนดตัวผู้แทนให้ตอบสนองความต้องการโดยตรงของผู้เลือกเองแต่คนงานเองกลับมีสิทธิแค่ไปเลือกตั้ง แต่ยังไม่สามารถที่จะเลือกตัวแทนที่จะมาทำงานรับใช้โดยตรงได้เพราะในขณะที่คนงานทำงานและอยู่อาศัยในพื้นที่ที่ทำงานแต่ต้องไปเลือกผู้แทนตามภูมิลำเนาแล้วก็ต้องกลับมาทำงานและอยู่อาศัยในพื้นที่ที่ตนทำงานอีกซึ่งแทบไม่ได้รับประโยชน์อะไรเลยจากการใช้สิทธิเลือกตั้ง

คนงานกว่าสิบล้านเสียง กลับไม่มีอำนาจในการต่อรอง และขับเคลื่อนประเด็นของตนเอง แค่ประเด็นที่มีกฎหมายรองรับอยู่แล้ว และทำได้ทันทีกลับไม่ได้รับความสนใจจากรัฐบาลชุดไหนเลย โจทย์นี้ คนงานเองต้องกลับมาคิดทบทวน และสรุปบทเรียนเอาเองว่า เป็นเพราะเหตุใดให้คนงานมีสิทธิออกเสียงเลือกตั้งแต่ไม่ยอมให้สิทธิเลือกคนที่จะมาทำงานรับใช้ ทั้งที่ไม่ได้รับผลประโยชน์อันใดจากการเลือกตั้งเลย เลือกเสร็จแล้วก็ ต้องมาอยู่ในที่ที่ตนไม่มีสิทธิไม่มีเสียง รวมทั้งไม่ได้รับความสนใจจากนักการเมืองท้องถิ่นนั้นเลย เพราะไม่ใช่ฐานเสียงไม่มีประโยชน์กับนักการเมือง เลือกแล้วไม่รับใช้จะเลือกไปทำไม ไม่รู้ว่า รัฐจะส่งเสริมให้คนไปใช้สิทธิเลือกตั้ง หรือจะส่งเสริมให้คนเบื่อหน่ายการเลือกตั้งกันแน่ หรือคนงานจะเป็นเพียงหมากเบี้ยที่ผู้มีอำนาจจะจับวางตรงไหนก็ได้ เสียงคนงานกว่าสิบล้านเสียง ถูกแบ่งซอยจนละเอียดไม่สามารถต่อรองอะไรได้ เป็นเด็กดีห้ามดื้อ ห้ามซน จะให้อะไรต้องรับ จะห้ามอะไรต้องเชื่อฟัง นี่หรือเปล่าที่รัฐบาลปฏิเสธข้อเสนอของคนงานที่ต้องการใช้สิทธิเลือกตั้งนักการเมืองในเขตพื้นที่ ที่ตนได้อาศัยและทำงาน

เพื่อสะท้อนเจตนารมณ์ในสถานะประชาชนที่ไม่ใช่พลเมืองแฝง การเลือกตั้งครั้งนี้ ท่านจะเลือกพรรคที่ทำเพื่อคนงาน หรือพรรคที่ไม่เคย แม้แต่จะคิดถึงคนงานเลย อนาคตของขบวนการแรงงานคงต้องอยู่ที่คนงานเอง