Thai / English

รำลึก 20 ปี ทนง โพธิ์อ่าน ผู้นำแรงงานที่สาบสูญ "แล" ชี้ กม.ด้านสิทธิเพิ่มปริมาณ ไม่เพิ่มคุณภาพ



20 .. 54
ประชาไท

(19 มิ.ย.54) มูลนิธิพิพิธภัณฑ์แรงงานไทย พร้อมด้วยเครือข่ายองค์กรแรงงาน และญาติอดีตผู้นำแรงงาน ร่วมกันจัดงาน "รำลึก 20 ปี ทนง โพธิ์อ่าน" อดีตวุฒิสมาชิกสายแรงงานและประธานสภาองค์การลูกจ้างสภาแรงงานแห่งประเทศไทย ซึ่งหายตัวไปอย่างลึกลับเมื่อวันที่ 19 มิถุนายน 2534 หลังออกมาคัดค้านการยุบเลิกสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจ และต่อต้านการรัฐประหารของ รสช. โดยในช่วงเช้า มีการจัดพิธีทำบุญอุทิศส่วนกุศลให้กับนายทนง พร้อมด้วยอดีตผู้นำแรงงานที่เสียชีวิต บริเวณห้องประชุมอนุสรณ์สถาน 14 ตุลา

ศาสตราภิชาน แล ดิลกวิทยรัตน์ อาจารย์ประจำคณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาฯ ปาฐกถาในหัวข้อ “20 ปีการหายสาบสูญของทนง โพธิ์อ่าน กับภาพสะท้อนอำนาจเถื่อนของรัฐต่อผู้ใช้แรงงาน” โดยระบุว่า เวลาที่ผ่านมาทำให้ความทรงจำเกี่ยวกับทนง โพธิ์อ่านเริ่มเลือนหายไป ทั้งนี้ การหายตัวไปของทนงสะท้อนให้เห็นว่า แม้บ้านเมืองจะดูดีขึ้นในทางการเมือง เช่น รัฐธรรมนูญดีขึ้นในด้านสิทธิเสรีภาพ มีสถาบันรับรองสิทธิเสรีภาพผู้คนมากขึ้น อาทิ ศาลปกครอง ศาลรัฐธรรมนูญ หน่วยงานยุติธรรม คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนฯ แต่เป็นการเพิ่มขึ้นเชิงปริมาณ ไม่ได้ชี้ให้เห็นถึงการเพิ่มเชิงคุณภาพ เพราะไม่มีหลักประกันการได้มาและรักษาไว้ซึ่งสิทธิเสรีภาพเลย การหายตัวของทนงสะท้อนถึงการปฏิเสธสิทธินี้ และการปฏิเสธนั้นยังดำรงอยู่มาตลอด 20 ปี

นอกจากนี้ สะท้อนด้วยว่าขบวนการแรงงานยังไร้อำนาจต่อรองทางการเมืองมาก ซึ่งมีสาเหตุมาจากการขาดความเป็นปึกแผ่นของขบวนการ ดังนั้น ผู้ใช้แรงงานจึงไม่อาจทำให้ความเป็นความตายของผู้นำแรงงานมีความสำคัญและได้รับการติดตามจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้

ศาสตราภิชานแล กล่าวว่า การหายไปของทนงสะท้อนว่าผู้นำยุคสมัยไหนก็เหมือนกันคือไม่สนใจเรื่องราวของคนตัวเล็กๆ อย่างผู้ใช้แรงงาน คนรับผิดชอบโดยตรงก็ดองเรื่องจนหายไป ไม่เคยแสดงให้เห็นถึงการติดตามอย่างจริงจัง ผู้นำรัฐบาลยุคต่อมาก็รู้สึกว่าควรลืม เพราะตัวเองไม่ได้ก่อ ไม่ต้องสานต่อ เรื่องนี้ได้อุทาหรณ์ว่า ผู้นำประเทศหรือรัฐบาล มีแนวโน้มที่จะเกี้ยเซี้ยกันในมู่ชนชั้นผู้นำมากกว่าลงมาแก้ไขปัญหาของอีกชนชั้น

อาจารย์ประจำคณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาฯ เตือนความจำว่า ก่อนการหายตัวไปของทนงนั้น ทนงได้ลั่นวาจาว่า หาก รสช.ยกเลิกค่าจ้างขั้นต่ำจะนำผู้ใช้แรงงานทั้งหลายมาประท้วงเต็มสนามหลวง แต่ในวันนี้ที่ค่าจ้างขั้นต่ำเป็นประเด็นหาเสียงสำหรับการเลือกตั้งที่จะมาถึง ดูเหมือนคนจะลืมไปแล้วว่าผู้ที่พยายามปกป้องให้การจ่ายค่าจ้างขั้นต่ำดำรงอยู่ได้หายไปและไม่มีใครพูดถึงอีก

เขาบอกว่า ขณะที่ฝ่ายบ้านเมืองใช้ "เวลา" ให้ฆ่าคนที่เป็นประจักษ์พยานให้ล้มหายตายสูญไป ฆ่าความทรงจำให้ถูกลืม เราจะต้องย้อนรอยด้วยการตอกย้ำความทรงจำเป็นระยะๆ ทำให้เรื่องของทนงอยู่ในประวัติศาสตร์ที่มีชีวิต

"อย่าลืมว่าสิ่งที่เกิดกับคุณทนงจะเกิดกับเราเมื่อไหร่ก็ได้ เราอยากให้เกิดขึ้นและจบลงอย่างไร ขึ้นกับเราในที่นี้และผู้ใช้แรงงานในทุกที่" ศาสตราภิชานแลทิ้งท้าย