Thai / English

“ใครๆบนแผ่นดินไทยก็เข้าถึงบริการสุขภาพได้” :หัวใจอยู่ที่ระบบบริการปฐมภูมิ (Primary care)


บุษยรัตน์ กาญจนดิษฐ์ ศูนย์ข่าวข้ามพรมแดน (Cross Border News Agency)
06 .. 54
ประชาไท

(1)

“ไม่ใช่คนทุกคนบนแผ่นดินไทย จะเข้าถึงบริการสุขภาพถ้วนหน้าได้”

“อู” หนุ่มแรงงานข้ามชาติชาวไทใหญ่ที่อพยพมาจากรัฐฉาน ประเทศพม่า ทำงานอยู่ในไร่สตรอเบอรี่บ้านแม่ยางห้า ต.บ่อแก้ว อ.สะเมิง จ.เชียงใหม่ หมู่บ้านที่มีการทำไร่สตรอเบอรี่ที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทย และมีการจ้างแรงงานอพยพข้ามชาติเข้ามาทำงานในไร่ เฉพาะบ้านแม่ยางห้าไม่ต่ำกว่าหนึ่งพันคนเดินหน้าเศร้าเข้ามาหาตอนที่ฉันขึ้นไปที่หมู่บ้านเมื่อกลางพฤษภาคม 2554 เขาพูดด้วยน้ำเสียงกะท่อนกะแท่นพยายามที่จะสื่อสารภาษาไทยให้ได้มากที่สุดว่า “ช่วงนี้ผมเป็นอะไรก็ไม่รู้ เวียนหัว คลื่นไส้ ท้องเสียบ่อยครั้ง ตามตัวเป็นผื่นแดง บางครั้งก็หายใจไม่ค่อยออก บางทีก็ตาแดง อาการแบบนี้จะเป็นทุกครั้งหลังจากที่พ่นยาฆ่าแมลงเสร็จแล้ว กว่าอาการจะหายใช้เวลาถึง 3-4 วัน แต่ตอนนี้วันไหนที่ไม่พ่นยา ผมก็เป็นแบบนี้เหมือนกัน อยากให้พี่ช่วยเป็นเพื่อน พาไปสถานีอนามัยหน่อยครับ ผมไม่ได้ต่อบัตรแรงงานมาหลายปีแล้ว เพราะปีๆหนึ่งทำสตรอเบอรี่แค่ 7 เดือนเท่านั้น ต่อบัตรไปก็ไม่คุ้ม ค่าใช้จ่ายในการต่อบัตรแพงมาก ผมไม่กล้าไปคนเดียว เพื่อนๆที่นี่ก็กลัวเหมือนกัน ไม่รู้ค่ายาจะแพงไหม เพราะผมไม่มีบัตรต่างด้าว อยากให้พี่ช่วยคุยกับหมอให้ผมหน่อยครับ”

กรณีของ “อู” ทำให้ฉันอดคิดถึง “ไม้” หนุ่มวัยรุ่นชาวมอแกนจากเกาะพยาม เกาะแห่งหนึ่งกลางทะเลอันดามัน อ.เมือง จ.ระนอง ขึ้นมาทันที กลางเดือนเมษายน 2554 ขณะที่ฉันกำลังจะเดินข้ามน้ำทะเลที่ไม่ลึกมากนักไปยังหมู่บ้านซึ่งอยู่อีกฝั่งหนึ่งของอ่าวเขาควาย ได้มีโอกาสเจอกับ “ไม้” เขาเล่าให้ฟังว่า “แม้ว่าชาวมอแกนจะไม่มีบัตรประจำตัวอะไรเลย แต่หมอที่สถานีอนามัยเกาะพยามก็ให้การรักษาพวกเราอย่างดี ไม่สนว่าจะมีบัตรหรือไม่มีบัตร แต่นั่นล่ะครับ ไม่ค่อยมีใครอยากไปหาหมอถ้าไม่เจ็บป่วยหนักจริงๆ ถ้าวันไหนน้ำทะเลลด เราต้องเดินข้ามมาที่ฝั่งนี้ ใช้เวลาไม่ต่ำกว่าชั่วโมง แม้จะเป็นระยะใกล้ๆก็ตาม แต่ถ้าน้ำขึ้น น้ำก็ต้องขึ้นจนพอที่เรือจะแล่นเข้ามาเทียบที่ท่าหมู่บ้านได้ ถึงจะไปได้ แต่นั่นล่ะมาถึงที่ฝั่งก็ต้องเดินไปที่สถานีอนามัยอีก ซึ่งอยู่ห่างไปถึง 2-3 กิโลเมตร บนเกาะใช้ได้แต่มอเตอร์ไซด์เท่านั้น ส่วนพวกผมต้องเดินกันอย่างเดียว สู้รักษากันที่หมู่บ้านง่ายกว่า อีกเรื่องที่ไม่มีใครอยากไปหาหมอ คือ ต้องเสียค่ายาแพง เพราะหมอบอกว่าเราไม่มีบัตรประชาชนและบัตรประกันสุขภาพ ทำให้ต้องเรียกเก็บเงิน ทั้งๆที่หมอก็สงสารและรู้ดีว่าพวกเราไม่มีเงินจ่าย บางครั้งมีชาวบ้านบางคนต้องถูกส่งไปรักษาต่อที่โรงพยาบาลระนอง อยู่บนฝั่งทางโน้น พวกเราก็ไม่รู้จะเดินทางไปเยี่ยมอย่างไร จะถูกตำรวจจับไหม เพราะไม่มีบัตรอะไรเลย ไหนจะค่าเดินทาง ค่าอาหาร ค่ารักษาอีก วุ่นวายมาก จะเอาเงินมาจากไหน ชาวบ้านบางคนบอกว่าปล่อยให้ตายไป ง่ายกว่า”

นี้ไม่นับกรณีของ “ดาว” สาวกะเหรี่ยง แรงงานอพยพข้ามชาติถูกกฎหมาย ต่อบัตรแรงงานทุกปีตามนโยบายรัฐบาลไทย ทำงานเป็นลูกจ้างอยู่ที่ร้านขายเนื้อหมูแห่งหนึ่ง ย่านสะพานควาย กรุงเทพฯ “ครั้งหนึ่งหลายปีมาแล้ว ตอนดาวยังไม่รู้จักครู [2] ดาวเคยหั่นหมูจนมีดบาดนิ้ว ตอนนั้นง่วงมาก ตาหลับแล้วแต่ยังต้องแล่เนื้อหมูอยู่เลย ครั้งหนึ่งหั่นโดนนิ้วตัวเอง แต่เจ๊ก็ไม่สนใจ ต้องไปโรงพยาบาลเองกับเพื่อน แต่ดาวพูดไม่ชัด พอถึงโรงพยาบาลดาวพูดภาษาไทยไม่ได้ ไม่รู้จะบอกอย่างไร เวลาพยาบาลถาม ดาวไม่เข้าใจ ตอบไม่ได้ พยาบาลก็ไม่สนใจ ปล่อยดาวไว้ ไม่มาทำแผลให้ เพราะคุยกันไม่ได้ มีคนไทยคนหนึ่งสงสาร เดินไปบอกพยาบาลว่าดาวคงเป็นต่างด้าว พูดภาษาไทยไม่ได้ แม้โรงพยาบาลที่นี่จะมีภาษาพม่า แต่ดาวอ่านภาษาพม่าไม่ออก ดาวเป็นกะเหรี่ยง อยู่ที่พม่าก็ไม่เคยเข้าโรงเรียน ดาวไม่รู้จะทำอย่างไรเหมือนกัน ครูเคยบอกว่าดาวมีบัตร ดาวไปโรงพยาบาลได้ ตำรวจไม่จับ แต่ทำไมหมอไม่รักษา เพราะดาวพูดภาษาไทยไม่ได้ใช่ไหมคะ ครูต้องช่วยให้ดาวพูดภาษาไทยให้ได้”

เช่นเดียวกับ “นาง” สาววัย 40 กว่า ชาวปลาง ซึ่งเป็นกลุ่มชาติพันธุ์กลุ่มหนึ่งที่บรรพบุรุษอพยพมาจากสิบสองปันนา มณฑลยูนนาน ประเทศจีน และมาอาศัยก่อตั้งรกรากเป็นหมู่บ้านที่ อ.แม่สรวย อ.แม่สาย จ.เชียงราย นานหลายสิบปี จนในที่สุดคนในหมู่บ้านมีบัตรประจำตัวประชาชนที่มีเลขขึ้นต้นด้วยเลข “6” หมายถึง เป็นกลุ่มซึ่งได้รับการสำรวจทำทะเบียนประวัติและได้รับบัตรประจำตัวผู้ไม่มีสัญชาติไทย (สมัยก่อนคือกลุ่มที่เรียกว่า “บัตรสี”) คนกลุ่มนี้หลายร้อยคนอพยพโยกย้ายมารับจ้างเป็นแรงงานในสวนกล้วยไม้ ต.บางเลน อ.บางเลน จ.นครปฐม บางคนอยู่ที่นี่มานานไม่ต่ำกว่าสิบปีแล้ว นางเล่าให้ฟังว่า “การทำงานในสวนกล้วยไม้ ปัญหาหลักๆ คือ ปัญหาจากผลกระทบจากการใช้สารเคมี ยาฆ่าแมลง แต่พวกเราก็ไม่มีทางเลือกมากนัก จะให้ไปทำอาชีพอื่นก็ไม่รู้จะทำอะไร อยู่ที่นี่รายได้ก็พอเลี้ยงตัวเอง และส่งกลับบ้านที่แม่สรวยได้บ้าง นายจ้างก็เข้าใจ ดูแลกันอย่างดี ไม่มีปัญหาเรื่องค่าจ้าง แต่เรื่องใหญ่สุดคือ เวลาไปโรงพยาบาล เราต้องเสียค่ารักษาพยาบาลเอง ไม่เหมือนพวกแรงงานต่างด้าว ที่โชคดีไปโรงพยาบาลก็เสียแค่ 30 บาท อย่างเราอยู่ประเทศไทยมานานแล้ว พูดภาษาไทยชัดแจ๋ว มีบัตรประชาชน แต่ทำไมเรายังต้องเสียเงินอยู่อีก ทำให้หลายคนเวลาเจ็บป่วยจึงเลือกไปสถานีอนามัยแทน เพราะค่ายาถูกกว่า หรือไม่อย่างนั้นก็ไปคลินิกแทนเลย เพราะอย่างไรก็เสียเงินอยู่แล้ว” ฉันถามนางต่อว่า “เมื่อปีที่แล้วรัฐบาลไทยมีนโยบายให้คนกลุ่มบัตรเลข 6 เลขเดียวกับที่นางถือบัตรอยู่ ไปขึ้นทะเบียนที่โรงพยาบาลที่นางมีทะเบียนบ้านอยู่ เพื่อให้มีสิทธิรักษาพยาบาลเหมือนคนไทยได้ นางไม่ได้กลับบ้านแม่สรวยไปทำเหรอ” นางทำหน้างุนงง และบอกว่า “ไม่เข้าใจ คืออะไร ? ไม่เห็นมีใครมาบอกเรื่องนี้เลย คนในหมู่บ้านที่เป็นคนปลางก็ไม่มีใครทราบเรื่องนี้เหมือนกัน”

4 เรื่องเล่าที่กล่าวมา คือ ปัญหาหลักของการเข้าไม่ถึงบริการของรัฐด้านสุขภาพของคนทุกคนที่อาศัยอยู่บนแผ่นดินไทย โดยเฉพาะคนกลุ่มที่เรียกว่า “แรงงานข้ามชาติและผู้มีปัญหาสถานะบุคคล” ซึ่งเป็นคนที่ตกอยู่ในสถานะไร้รัฐ หรือไร้สัญชาติ หรือไม่มีสถานะที่ได้รับการรับรองอย่างถูกกฎเกณฑ์ทางกฎหมายหรือระเบียบที่เกี่ยวข้องของประเทศไทย

แน่นอนแม้ว่าวันนี้ประเทศไทยจะมีพระราชบัญญัติหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ.2545 เป็นนโยบายที่สำคัญที่ทำให้คนไทยที่มีเอกสารแสดงตนว่าเป็นคนไทยเข้าถึงบริการด้านสุขภาพได้ [3] ผนวกกับมติคณะรัฐมนตรีวันที่ 23 มีนาคม 2553 ที่ครม.อนุมติงบประมาณจำนวน 918,137,900 บาท (ปี 2554) ดูแลประชากรกลุ่มนี้ในแผ่นดินไทยเพิ่มขึ้นอีก 3 กลุ่ม รวมทั้งสิ้น 457,409 คน คือ (1) กลุ่มที่ ครม.มีมติรับรองสถานะให้อาศัยอยู่ถาวร (เลขประจำตัวบัตรประชาชนขึ้นต้นด้วยเลข 3,4,5,8) (2) กลุ่มที่ถือบัตรประจำตัวผู้ไม่มีสัญชาติไทย (เลขประจำตัวขึ้นต้นด้วยเลข 6,7) และ (3) กลุ่มที่ถือบัตรบุคคลผู้ไม่มีสถานะทางทะเบียน (เลขประจำตัวขึ้นต้นด้วยเลข 0) ซึ่งเป็นนักเรียนในสถาบันการศึกษา,คนไร้รากเหง้า และบุคคลที่ทำคุณประโยชน์ [4] รวมถึงกลุ่มแรงงานข้ามชาติที่ขึ้นทะเบียนเพื่อขอรับใบอนุญาตทำงาน โดยกลุ่มแรงงานข้ามชาตินั้นจะถูกกำหนดให้ต้องซื้อหลักประกันสุขภาพ ซึ่งเริ่มดำเนินการมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2547

อย่างไรก็ตามพบว่ามีประชากรบางกลุ่มบนแผ่นดินไทย ได้ตกหล่นไปจากระบบหลักประกันสุขภาพ อย่างน้อยได้แก่

(1) บุคคลผู้ไม่มีสถานะทางทะเบียนราษฎร (กลุ่มบัตรเลข 0 กลุ่มที่ 1 ตามยุทธศาสตร์การจัดการปัญหาสถานะและสิทธิของบุคคล ตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 18 มกราคม 2548) เป็นกลุ่มที่อยู่อาศัยในประเทศไทยมานาน กลับประเทศต้นทางไม่ได้ รวม 148,389 คน

(2) ผู้ลี้ภัยในพื้นที่พักพิงชั่วคราวแถบชายแดนไทย-พม่าทั้ง 9 แห่ง รวม 138,076 คน

(3) ผู้ติดตามแรงงานข้ามชาติที่มาจากประเทศต้นทาง เช่น บุตร หลาน ญาติพี่น้อง หรือบุพการี ที่ไม่ได้ทำงาน ในที่นี้ทราบเฉพาะบุตรของแรงงานข้ามชาติที่ขึ้นทะเบียนเมื่อปี พ.ศ.2552 จำนวน 5,317 คน

(4) แรงงานข้ามชาติที่ไม่ได้จดทะเบียน รวมถึงผู้ลี้ภัยนอกค่ายที่ไม่มีค่ายพักพิง เช่น ผู้ลี้ภัยชาวไทใหญ่ ชาวปะโอ หรือชาวโรฮิงญา เป็นต้น ซึ่งไม่ทราบจำนวนที่แท้จริง

(5) คนไทยจริงๆที่ไม่มีการบันทึกตัวตนในฐานข้อมูลการทะเบียนราษฎรของรัฐไทย หรือเรียกว่า "คนไทยไร้ตัวตน" เป็นคนไทยที่เกิดในแผ่นดินไทยแต่ตกหล่นจากการจดทะเบียนการเกิด รวมทั้งไม่ได้เข้าสู่การสำรวจตามยุทธศาสตร์การจัดการปัญหาสถานะและสิทธิฯ จึงไม่มีบัตรประจำตัวใดๆ ในที่นี้ไม่ทราบจำนวนที่แท้จริง

ในความเป็นจริงแล้วโรงพยาบาลทุกแห่งต้องให้บริการกลุ่มคนเหล่านี้ตามหลักมนุษยธรรม ไม่มีโรงพยาบาลใดที่สามารถปฏิเสธการรักษาคนเหล่านี้ได้ จึงจำเป็นต้องเจียดงบประมาณที่ได้รับสำหรับการรักษาคนไทยมารักษากลุ่มคนเหล่านี้ ส่งผลให้หน่วยบริการเหล่านี้มีภาระหนี้สินจำนวนมาก จากข้อมูลของกระทรวงสาธารณสุข ปี 2551 พบว่า มีโรงพยาบาล 172 แห่ง จาก 15 จังหวัด ต้องรับภาระค่าใช้จ่ายส่วนนี้ เป็นเงินกว่า 500 ล้านบาท แบ่งเป็นผู้ป่วยใน 75,798 คน เป็นเงิน 447 ล้านบาท ผู้ป่วยนอก 747,825 ครั้ง เป็นเงิน 21 ล้านบาท ซึ่ง 5 โรงพยาบาลที่ต้องรับภาระค่าใช้จ่ายมาที่สุด คือ รพ.แม่สอด รพ.เชียงราย รพ.มหาราชนครเชียงใหม่ รพ.นครพิงค์ และ รพ.ระนอง

แน่นอนที่กล่าวมาทั้งหมดนี้เรียกว่า “การไม่มีนโยบายที่เอื้อต่อการเข้าถึง”

อย่างไรก็ตามมิได้หมายความว่า “กลุ่มที่มีนโยบายอยู่แล้วจะมิพักประสบปัญหา” ไม่ว่าจะเป็น

- กลุ่มคนตามมติครม. 23 มีนาคม 2553 ในกลุ่มนี้พบว่าประชากรกลุ่มเป้าหมายไม่สามารถเดินทางมาลงทะเบียนได้ตามเวลาที่กำหนด เนื่องจากไม่รู้ว่าตนเองมีสิทธิหรือไม่ อย่างไร รวมถึงจำนวนมากออกไปทำงานนอกสถานที่ ไม่ได้อาศัยอยู่ในภูมิลำเนาที่ตนเองมีชื่อในหน่วยบริการอยู่ ทำให้ไม่ได้กลับมาลงทะเบียนแจ้งชื่อ นี้ไม่นับว่าหน่วยบริการปฏิเสธการรักษาหากมารับบริการไม่ตรงกับชื่อหรือภูมิลำเนาที่อยู่ในทะเบียนบ้าน อีกทั้งกลุ่มเป้าหมายไม่สามารถใช้บริการข้ามเขตจังหวัดได้ หรือบางคนที่มีสิทธิแล้วมาใช้บริการก็เกิดปัญหาเรื่องการไม่สามารถสื่อสารภาษาไทยกับเจ้าหน้าที่โรงพยาบาลได้เพราะส่วนใหญ่เป็นกลุ่มชาติพันธุ์บนพื้นที่สูง รวมถึงในเขตกรุงเทพมหานคร ก็สามารถใช้บริการได้เพียงที่รพ. 3 แห่งเท่านั้น คือ รพ.เลิดสิน รพ.ราชวิถี และรพ.นพรัตนราชธานี นอกจากนั้นแล้วสำหรับการดูแลสุขภาพคนกลุ่มนี้ที่ปัจจุบันยังเป็นเพียงมติคณะรัฐมนตรีเท่านั้น ก็มีความจำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องผลักดันให้มีกฎหมายมารองรับอย่างถาวร เพื่อเป็นการสร้างหลักประกันที่มั่นคงและยั่งยืนให้กับประชาชน

- กลุ่มแรงงานข้ามชาติที่ขึ้นทะเบียนและหรือต่ออายุรายปี ต้องประสบปัญหา ปัญหาเรื่องการสื่อสารต่างภาษา ความไม่คุ้นเคยและหวาดกลัวในการเข้ารับบริการ ประกอบกับความเสี่ยงจากการถูกจับ หรือรีดไถระหว่างเดินทางมาโรงพยาบาล เป็นปัญหาสำคัญที่ส่งผลให้ผู้ที่มีประกันสุขภาพมาใช้บริการน้อย และจำนวนมากมาโรงพยาบาลก็ต่อเมื่อป่วยหนักมากแล้ว ทำให้หน่วยบริการสุขภาพมีค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาลค่อนข้างสูง นอกจากนั้นแล้วยังพบว่าระบบประกันสุขภาพที่แรงงานจ่ายเงินตอนขึ้นทะเบียนปีละ 1,300 บาท ก็ยังไม่ครอบคลุมไปถึงเรื่องการรักษาโรคเอดส์ ทำให้แรงงานข้ามชาติไม่มีโอกาสได้รับยาต้านไวรัส และโรคติดต่อบางโรคด้วยเช่นกัน รวมถึงการรักษาผู้ป่วยไตวายเรื้อรังระยะสุดท้ายด้วยการล้างไต และการฟอกเลือดด้วยเครื่องไตเทียมก็ยังไม่ครอบคลุม

ดังนั้นถึงเวลาแล้วคงต้องยอมรับความจริงว่าวันนี้ระบบหลักประกันสุขภาพของไทยยังมีเงื่อนไข ปัจจัย ข้อจำกัดที่ทำให้คนทุกคนบนแผ่นดินไทย ไม่ว่าจะเป็นใคร ถูกเรียกชื่อว่าอย่างไร แต่พวกเขาและเธอคือคนที่มีตัวตนจริงๆที่ตกหล่นไปจากระบบดังกล่าว ยังไม่สามารถเข้าถึงบริการสุขภาพได้อย่างแท้จริง อีกหลายคนก็ไม่ได้รับการคุ้มครองจากความเจ็บป่วย

(2)

“ใครๆบนแผ่นดินไทยก็เข้าถึงบริการสุขภาพได้”: หัวใจอยู่ที่ระบบบริการปฐมภูมิ (Primary care) [5]

การกล่าวโทษและโยนความผิดเรื่องการเข้าถึงบริการสุขภาพของคนทุกคนบนแผ่นดินไทยไปให้ใครคนใดหรือหน่วยงานใดหน่วยงานหนึ่ง นี้มิใช่เป็นการแสวงหาทางออกที่ดีร่วมกัน เอาเข้าจริงๆแล้วมีความพยายามของคนหลายภาคส่วน ทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน รวมถึงองค์กรพัฒนาเอกชนในระดับท้องถิ่นที่ต่างมีส่วนได้ส่วนเสียกับประชากรกลุ่มนี้ หรือเป็นคนที่เดือดร้อนหรือได้รับความเดือดร้อนเหมือนกัน ลุกขึ้นมาจัดการปัญหาร่วมกัน มาสร้างกลไกในระดับพื้นที่บางอย่างที่ทำให้ผู้ตกหล่นได้มีโอกาสเข้าถึงการบริการและการดูแลด้านสุขภาพของรัฐไทย โดยเฉพาะคนที่ไม่มีบัตรไม่มีสิทธิใดๆเลย นี้คือโจทย์ที่ท้าทายในการจัดการอย่างยิ่ง ข่ายความร่วมมือเล็กๆนี้ก่อเกิดในหลายพื้นที่จากเหนือจรดใต้ จากตะวันออกจรดตะวันตก ส่วนใหญ่แล้วอยู่ในพื้นที่ชายแดนที่มีความเป็นพลวัตรสูง ทำงานยาก ซับซ้อน เลื่อนไหล ไม่แน่นอน แต่พื้นที่ต่างประสบกับปัญหานี้ร่วมหรือคล้ายคลึงกัน เป็นการพยายามทำให้ทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมาเป็น “เจ้าของปัญหา” ตามบทบาทและความถนัดที่แตกต่างกันออกไป

ที่จังหวัดเชียงใหม่ เชียงราย แม่ฮ่องสอน

เครือข่ายสุขภาพชาติพันธุ์บนพื้นที่สูงได้พัฒนาให้เกิดอาสาสมัครทำหน้าที่เป็นล่ามประจำชุมชนด้านสุขภาพ ซึ่งปัจจุบันมีล่ามประจำชุมชนจำนวน 43 คน มาจาก 7 กลุ่มชาติพันธุ์ ได้แก่ ไทยใหญ่ กะเหรี่ยง ดาระอั้ง(ปะหล่อง) คะฉิ่น อาข่า ลาหู่ และไทยวน ประจำอยู่ที่ชุมชนในพื้นที่อำเภอแม่สาย อำเภอแม่ฟ้าหลวง และอำเภอเชียงของ จังหวัดเชียงราย, อำเภอเชียงดาว อำเภอฝาง อำเภอแม่แจ่ม จังหวัดเชียงใหม่ และอำเภอขุมยวม จังหวัดแม่ฮ่องสอน โดยล่ามประจำชุมชนจะมีบทบาทหน้าที่ช่วยเหลือผู้ป่วยในชุมชนตนเอง เช่น พาผู้ป่วยไปรักษาตัวที่โรงพยาบาล แปลภาษา ที่ปรึกษาเรื่องโรคต่างๆ ตลอดทั้งการเป็นกลไกในการเข้าถึงการบริการด้านสาธารณสุขและรายงานสถานการณ์ปัญหาสุขภาพในระดับพื้นที่ เพื่อเป็นข้อมูลในการนำไปใช้ผลักดันในระดับนโยบายต่อไป เช่น ที่โรงพยาบาลแม่ฟ้าหลวง ต.เทอดไทย พื้นที่นี้มีความหลากหลาย ทั้งหลากหลายทางชาติพันธุ์และภาษา ทพ.ญ.ปาริชาติ ลุนทา ผอ.โรงพยาบาล เล่าว่า “ผู้มารับบริการส่วนใหญ่จะเป็นเด็กเล็ก ผู้หญิงคนชรา และ 99 เปอร์เซ็นต์เป็นชาติพันธุ์บนพื้นที่สูง ที่พูดภาษาไทยไม่ได้ ล่ามประจำชุมชนอาสาจะพาเข้าไปลงทะเบียนประวัติผู้ป่วย พาผู้ป่วยเข้าห้องตรวจเป็นสื่อกลางระหว่างหมอกับคนไข้ในการซักถามอาการป่วย หลังจากการตรวจเสร็จแล้วล่ามจะแปลคำแนะนำของหมอเพื่อบอกต่อกับคนไข้ เรื่องวิธีการดูแลรักษาสุขภาพครั้นตรวจเสร็จจะพาไปห้องรับยา ล่ามก็จะบอกขั้นตอนและวิธีการกินยาว่า ต้องกินยาหลังอาหาร หรือก่อนอาหาร กี่ครั้งต่อวัน ช่วยทำให้หมอและพยาบาลทำงานได้สะดวกง่ายขึ้น เพราะเมื่อคนป่วยมาถึงมือหมอ เราจะทราบรายละเอียดเกี่ยวกับอาการของคนไข้ทั้งหมดผ่านล่าม จะทำให้การตรวจรักษาเร็วยิ่งขึ้น”

ที่จังหวัดระนอง

แรงงานข้ามชาติจากพม่าอาศัยอยู่เป็นจำนวนมากใน ต.บางริ้น อ.เมือง จ.ระนอง โดยเฉพาะในหมู่ที่ 4, 5, 6 ซึ่งถือว่าเป็นชุมชนหนาแน่นแออัด ส่งผลให้คนในชุมชนทั้ง “คนไทย” และ “ไม่ใช่คนไทย” มีปัญหาในเรื่องสุขภาพตามมา ทางมูลนิธิศุภนิมิตแห่งประเทศไทย จ.ระนอง จึงได้ประสานความร่วมมือกับสถานีอนามัยบางริ้นบ้านมิตรภาพจัดตั้งศูนย์สาธารณสุขมูลฐานไทย-พม่า โดยใช้ศูนย์สาธารณสุขมูลฐานชุมชน (ศสมช.) ซึ่งเป็นศูนย์ปฏิบัติงานของอาสาสมัครสาธารณสุขหมู่บ้านหรือที่รู้จักกันดีว่า อสม. โดยหวังให้มีการรวมกลุ่มของ อสม. และตัวแทนของแรงงานข้ามชาติในชุมชนเพื่อทำงานร่วมกัน ในการให้บริการด้านสุขภาพแก่คนในชุมชน ซึ่งหมายรวมถึงแรงงานข้ามชาติทั้งมีบัตรและไม่มีบัตร เพื่อทำให้กลุ่มแรงงานข้ามชาติเข้าถึงบริการด้านสาธารณสุขได้มากขึ้น เพราะมีศูนย์กระจายอยู่ตามหมู่บ้าน เกิดการรวมกลุ่มกันของชาวไทยและแรงงานข้ามชาติทำให้มีการช่วยเหลือหรือสื่อสารกันได้ เมื่อมีการดูแลรักษากันในเบื้องต้นแล้วไม่ดีขึ้นก็จะส่งต่อเข้าสู่ระบบโดยผ่านมูลนิธิ

ศุภนิมิต สถานีอนามัย และโรงพยาบาลต่อไป จนในที่สุดงานดังกล่าวนี้พัฒนาเป็นกลไกเล็กๆในรูปคณะทำงานที่เป็นกลไกความร่วมมือการดูแลสุขภาพแรงงานข้ามชาติ ระหว่างสำนักงานสาธารณสุขอำเภอ สถานีอนามัย องค์การบริหารส่วนท้องถิ่น ผู้นำชุมชน และอาสาสมัครสาธารณสุข เพื่อดูแลสุขภาพแรงงานข้ามชาติใน ต.บางริ้น อ.เมือง จ.ระนอง ผ่านกลไก “ศูนย์สาธารณสุขมูลฐานชุมชนไทย-พม่า มิตรภาพ (ศสมช.ทม)”

นอกจากนั้นแล้วการดำเนินโครงการดูแลสุขภาพแรงงานข้ามชาติจังหวัดระนอง ภายใต้ความร่วมมือของกระทรวงสาธารณสุขกับองค์กรระหว่างประเทศเพื่อการโยกย้ายถิ่นฐาน (IOM) รวมทั้งโครงการพัฒนาระบบบริการสุขภาพแรงงานข้ามชาติ ภายใต้โครงการฟ้ามิตรจังหวัดระนอง ซึ่งทั้ง 2 โครงการเน้นไปที่เสริมสร้างศักยภาพของชุมชนแรงงานข้ามชาติ รวมทั้งหน่วยงานบริการสาธารณสุขที่มีอยู่ในการให้บริการที่เป็นมิตรแก่แรงงานต่างด้าว โดยเฉพาะการสนับสนุนพนักงานสาธารณสุขต่างด้าว และล่ามประจำโรงพยาบาล ตลอดจนการพัฒนาทัศนคติบุคลากรสาธารณสุข เป็นต้น เป็นอีกรูปแบบหนึ่งที่เอื้อต่อการเข้าถึงบริการสุขภาพ

ปฏิเสธไม่ได้ว่าการทำงานทั้ง 3 ภาคส่วนนี้เองสอดคล้องกับนโยบายในระดับจังหวัด นับตั้งแต่เดือนตุลาคม 2552 เป็นต้นมา กลุ่มงานสาธารณสุขชายแดนซึ่งเป็นกลุ่มงานหนึ่งในสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดระนอง ได้มีการบูรณาการแผนการทำงานดูแลสุขภาพแรงงานอพยพข้ามชาติจากประเทศพม่า กับแผนยุทธศาสตร์ของจังหวัดและแผนความมั่นคงจังหวัด เป็นลักษณะของการพัฒนากลไกการประสานงานสาธารณสุขชายแดนโดยบูรณาการทั้งภาครัฐและเอกชน ผ่านยุทธศาสตร์การดำเนินงาน 5 ด้าน คือ (1) พัฒนาระบบสุขภาพประชากรต่างด้าวและการเข้าถึงบริการสุขภาพ (2) การสร้างหลักประกันสุขภาพ (3) การมีส่วนร่วมของแรงงานต่างด้าวและชุมชนในการดูแลสุขภาพตนเองและครอบครัว (4) การพัฒนาระบบสารสนเทศ (5) ประสานความร่วมมือกับประเทศเพื่อนบ้าน

ที่จังหวัดอำนาจเจริญ และอุบลราชธานี

มูลนิธิพัฒนรักษ์ได้สำรวจข้อมูลพบว่าในพื้นที่ชายแดนอีสานใต้ได้มีแรงงานจากลาวจำนวนมากลักลอบข้ามชายแดนเข้ามาทำงานตามฤดูกาล เช่น ดำนา เกี่ยวข้าว ตัดอ้อย ปลูกยาสูบ ทำงานในสวนยางพารา ส่วนใหญ่เป็นกลุ่มแรงงานที่ตกหล่นจากระบบการจดทะเบียน มูลนิธิจึงได้พัฒนาโครงการเพื่อทำกิจกรรมนำร่องโดยเน้นการประสานความร่วมมือกับภาคีในท้องถิ่นต่างๆ เช่น องค์การบริหารส่วนตำบล สำนักงานสาธารณสุขอำเภอ เพื่อหาแนวทางในการทำงานพัฒนาคุณภาพชีวิตของแรงงานข้ามชาติโดยเฉพาะในด้านสุขภาพ เนื่องจากแรงงานกลุ่มนี้ต้องเจอกับสภาพปัญหาในหลายๆด้าน อาทิ ไม่มีที่พัก ไม่มีห้องน้ำที่เหมาะสม นายจ้างมักจะให้นอนอยู่ในพื้นที่ไร่นา เพื่อจะได้หลบหลีกไม่ให้เจ้าหน้าที่บ้านเมืองเห็น ไม่มีน้ำสะอาดใช้อย่างเพียงพอ และกินอยู่อย่างไม่ถูกสุขลักษณะในระหว่างการทำงาน เมื่อได้รับอุบัติเหตุจากการทำงานหรือมีอาการเจ็บป่วยก็จะไม่ไปหาหมอเนื่องจากกลัวถูกจับ และมักจะไปหาหมอเมื่อมีอาการหนักแล้วทำให้รักษายากและส่งผลอันตรายต่อชีวิต การรับจ้างทำงานไม่มีอัตราค่าจ้างที่แน่นอน ไม่ได้คำนึงถึงอัตราค่าแรงขั้นต่ำของแต่ละพื้นที่ แรงงานที่ทำงานในพื้นที่เกษตรที่มีการใช้สารเคมีสูง ไม่มีอุปกรณ์ที่เหมาะสมในการป้องกันตัวเองจากสารเคมี แรงงานที่ทำงานตามสถานบันเทิงไม่มีความรู้ในการรักษาตัวเองให้ปลอดภัยจากโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ เอดส์ และหลายคนกลายเป็นเหยื่อของการค้ามนุษย์ เป็นต้น

ที่จังหวัดกาญจนบุรี

สภาคริสตจักรในประเทศไทยได้เปิดหน่วยบริการสุขภาพขึ้นมาชื่อว่า สถานพยาบาลคริสเตียนแม่น้ำแควน้อย ตั้งอยู่ที่ ต.หนองลู อ.สังขละบุรี เพื่อดูแลคนที่ไม่มีสัญชาติไทยหรือคนที่ตกหล่นจากการเข้าถึงบริการของรัฐโดยเฉพาะ เดิมในอดีตพื้นที่อำเภอสังขละบุรีไม่มีโรงพยาบาล แต่ละปีชาวบ้านส่วนใหญ่เป็นชาวกะเหรี่ยงและมอญเจ็บป่วยเป็นจำนวนมากโดยเฉพาะไข้มาลาเรีย ทางหน่วยงานจึงเปิดโรงพยาบาลขนาดเล็กจำนวน 25 เตียงขึ้นมา ปัจจุบันพบว่าในปี 2552-2553 จำนวนผู้ป่วยนอกสัญชาติไทยเข้ารับบริการ 5,167 ครั้ง ในขณะที่ผู้ไม่มีสัญชาติไทยมารับบริการถึง 12,538 ครั้ง คิดเป็นอัตราส่วนการเข้ารับการรักษาเป็นผู้ป่วยนอกไม่มีสัญชาติไทย 71% ผู้ป่วยนอกไทย 29 % และจำนวนผู้ป่วยในสัญชาติไทยเข้ารับบริการ 377 ครั้ง ผู้ไม่มีสัญชาติไทย 1,585 ครั้ง คิดเป็นอัตราส่วนการเข้ารับบริการผู้ป่วยใน ไม่มีสัญชาติไทย 88 % ผู้ป่วยในไทย 12 % ทั้งนี้โรงพยาบาลต้องรับภาระหนี้สินจากประชากรกลุ่มนี้ปีละหลายสิบล้านบาท

ที่จังหวัดตาก

แพทย์หญิงซินเธีย หม่อง เจ้าของคลินิกแม่ตาว หรือที่เรียกว่าคลินิกหมอซินเธีย คลินิกแห่งนี้ก่อตั้งขึ้นเมื่อปี พ.ศ.2532 ที่ ต.ท่าสายลวด อ.แม่สอด เพื่อให้บริการด้านอนามัยและสังคมสงเคราะห์กับประชาชนที่ไม่สามารถเข้าถึงบริการดังกล่าวได้ ปัญหาทางการเมืองและเศรษฐกิจในพม่าได้ทำให้ประชาชนจำนวนมากต้องหลั่งไหลเข้ามายังประเทศไทย ส่งผลให้ประเทศไทยต้องแบกรับภาระในหลายด้าน การให้บริการสาธารณสุขของคลินิกแห่งนี้จึงเป็นการช่วยเหลือประชาชนจากประเทศพม่าและแบ่งเบาภาระทางด้านสาธารณสุขของไทยด้วยเช่นกัน ที่นี่รับรักษาโดยไม่เสียค่าใช้จ่ายใดๆทั้งสิ้น และนี้คงเป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้ประชาชนชาวพม่าที่เจ็บป่วย และถูกทางการปฏิเสธการรักษาเพราะพวกเขาไม่มีเงิน ต่างดั้นด้นเดินทางข้ามชายแดนที่ไกลและลำบากมาให้แม่ตาวคลินิกแห่งนี้รักษาให้ ตลอดเวลาที่ผ่านมาทางคลินิกได้ส่งเจ้าหน้าที่ประสานงานกับหน่วยงานสาธารณสุขจ.ตากมาโดยตลอด รายงานประจำปี 2551ของคลินิกแม่ตาว ระบุว่าคลินิกฯให้บริการผู้ป่วยนอก 29,874 ราย ผู้ป่วยใน 3,918 ราย มีผู้ป่วยแผนกศัลยกรรม 7,074 ราย มีเด็ก 13,438 คน มารักษาที่แผนกผู้ป่วยนอกเด็ก ดูแลผู้ป่วยที่มีปัญหาทางตา 9,782 รายโดย 1,545 คนได้รับการผ่าตัดตา มีผู้ได้รับขาเทียมรายใหม่ 221 ราย และมีผู้มารักษาโรคฟัน 4,741 ราย นอกจากนี้ทางคลินิกยังช่วยเหลือในงานด้านรณรงค์ด้านสาธารณสุขในกลุ่มแรงงานข้ามชาติอีกหลายด้าน ปัจจุบันมีผู้ป่วยเข้ารับการรักษาวันละ 300 คน ถือได้ว่าเป็นการช่วยแบ่งเบาภาระของทางโรงพยาบาลแม่สอดซึ่งประสบปัญหางบประมาณไม่เพียงพอปีละไม่ต่ำกว่า 10 ล้านบาทไปได้มาก

ครั้งหนึ่งนายแพทย์รณไตร เรืองวีรยุทธ รองผู้อำนวยการโรงพยาบาลแม่สอด ได้กล่าวยกย่องคุณหมอซินเธียไว้ว่า “คลินิกของเธอช่วยเราควบคุมและป้องกันการแพร่กระจายโรค เราทั้งสองฝ่ายใช้มาตรการทางสาธารณสุขที่ดีและทำงานร่วมกันในการให้วัคซีน ในเมื่อโรคภัยต่างๆ ไม่สนใจเส้นแบ่งเขตแดน ความช่วยเหลือทางด้านมนุษยธรรมก็ไม่มีการแบ่งแยกพรมแดนเช่นกัน คุณต้องให้วัคซีนแก่เด็กที่เดินทางข้ามไปมาทั้งสองฝั่งเส้นแดน มันคงไม่มีความหมายอะไรเลยหากคุณจะพุ่งเป้าไปแค่คนกลุ่มเดียว แม่ตาวคลินิกฝึกอบรมคนจากหมู่บ้านในฝั่งพม่าให้สามารถบริหารจัดการการให้วัคซีน และนี่คือสิ่งสำคัญที่จะช่วยหยุดยั้งการแพร่กระจายของโรคติดต่อต่างๆ คลินิกหมอซินเธียมีบทบาทด้านสาธารณสุขที่มีประสิทธิภาพในการหยุดยั้งการแพร่กระจายการติดเชื้อและเชื้อโรคต่างๆ คลินิกเป็นปราการด่านแรกในการจัดการปัญหาที่แอบซ่อนอยู่ จึงนับว่ามีความสำคัญอย่างยิ่งในการรับมือกับปัญหาการระบาดของโรคได้อย่างทันท่วงที”

ที่จังหวัดสมุทรสาคร

สำนักงานสาธารณสุขจังหวัด โรงพยาบาลสมุทรสาคร ร่วมกับองค์กรพัฒนาเอกชนในพื้นที่ เช่น มูลนิธิรักษ์ไทย มูลนิธิเครือข่ายส่งเสริมคุณภาพชีวิตแรงงาน พัฒนาให้เกิดกลไกอาสาสมัครสาธารณสุขต่างด้าว (อสต.) และพนักงานสาธารณสุขต่างด้าว (พสต.) ในชุมชนและสถานประกอบการ เพื่อทำงานร่วมกับเจ้าหน้าที่สาธารณสุขในการดูแลสุขภาพของแรงงานข้ามชาติ แรงงานข้ามชาติที่นี่ซึ่งมีกว่า 1 แสนคน จำนวนมากเมื่อเจ็บป่วยมักไม่กล้าไปรักษา เพราะมีปัญหาเรื่องการสื่อสารหรือกลัวถูกจับ ดังนั้นการดูแลสุขภาพคนกลุ่มนี้จึงต้องทำในเชิงรุกแทน รวมทั้งแรงงานบางอาชีพถูกจำกัดพื้นที่ทำงานหรือแรงงานไม่มีบัตรอนุญาตทำงาน ก็ยิ่งทำให้ยากต่อการเข้าถึง ดังนั้นการพัฒนาเครือข่ายอาสาสมัครแรงงาน ซึ่งสื่อสารได้ทั้งภาษาไทยและภาษาของกลุ่มแรงงาน เช่น ภาษากะเหรี่ยง ภาษามอญ ให้เป็นผู้เชื่อมโยงกับชุมชนแรงงานและผู้ให้บริการสุขภาพในพื้นที่ จึงเป็นทางเลือกหนึ่งในการดูแลสุขภาพแรงงานข้ามชาติที่ดี

การทำงานอย่างน้อย 6 พื้นที่ ที่กล่าวมาผ่านข่ายต่างๆเหล่านี้ เป็นเพียงปรากฏการณ์เล็กๆแต่กลับทำให้แรงงานข้ามชาติ ผู้ติดตาม และผู้มีปัญหาสถานะบุคคล ไม่ว่าจะถูกกฎหมายหรือไม่ถูกกฎหมายก็เข้าถึงบริการด้านสุขภาพได้จริง ในทางวิชาการเรียกการทำงานลักษณะนี้ว่า “ระบบบริการสุขภาพแบบปฐมภูมิ (Primary care)” เพราะเป็นบริการด่านแรกที่อยู่ใกล้ชิดกับคนในพื้นที่มากที่สุด โดยเฉพาะสำหรับกลุ่มผู้ด้อยโอกาสในสังคม เพื่อสร้างความเป็นธรรมในการเข้าถึงบริการสุขภาพของคนอย่างต่อเนื่อง ด้วยค่าใช้จ่ายไม่สูงเกินไป อยู่ใกล้ สอดคล้องกับวิถีชีวิตกลุ่มเป้าหมายจริง ให้ชุมชนมีส่วนร่วมในการจัดการ รวมถึงมีการทำงานเป็นทีมของบุคลากรด้านวิชาชีพสาธารณสุขที่เชื่อมประสานกับองค์กรต่างๆและชุมชน โดยเฉพาะในลักษณะของการทำหน้าที่หน่วยบริการในชุมชน นอกเหนือจากการมีโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลหรือสถานีอนามัยพื้นฐานแล้ว แน่นอนการทำงานของหน่วยบริการปฐมภูมิไม่สามารถทำงานอย่างโดดเดี่ยวได้ การพัฒนาเป็นลักษณะแบบเครือข่าย (District Health System) เพื่อให้เกิดเครือข่ายกับโรงพยาบาลแม่ข่ายในพื้นที่ ถือว่าเป็นเรื่องสำคัญในอนาคตยิ่ง รวมถึงการเชื่อมประสาน การระดมทุนจากองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น กองทุนสุขภาพตำบล ชุมชนไทยในพื้นที่ มาใช้ในการพัฒนางานบริการสุขภาพ ทั้งการร่วมกำหนดทิศทาง บริหารจัดการ สนับสนุนทรัพยากร และติดตามประเมินผล เพื่อให้มีระบบบริการปฐมภูมิที่ยั่งยืนในพื้นที่ ก็เป็นเรื่องที่ต้องพัฒนาไปพร้อมกันในระยะต่อไป

เชิงอรรถ

[1] นักวิจัยในโครงการวิจัยเรื่อง : ปัญหาและข้อเสนอเชิงนโยบายเพื่อขับเคลื่อนความเป็นธรรมทางสุขภาวะของแรงงานข้ามชาติ ร่วมกับนายณัฐพงษ์ มณีกร และนางรำพึง จำปากุล จากหน่วยงานพัฒนาและบริการสังคม สภาคริสตจักรในประเทศไทย ได้รับทุนวิจัยจากชุดโครงการความไม่เป็นธรรมด้านเศรษฐกิจและแรงงาน: ปัญหาและข้อเสนอเชิงนโยบาย ภายใต้การสนับสนุนของสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ระยะเวลาดำเนินการ 1 มีนาคม 2554 – 31 กรกฎาคม 2555

[2] ดาว เรียกผู้เขียนว่า “ครู” เพราะเคยสอนภาษาไทยให้ร่วม 3 ปี

[3] รวมถึงในกรณีของระบบประกันสังคม ระบบสวัสดิการข้าราชการและรัฐวิสาหกิจ เป็นหลักประกันสุขภาพอีกรูปแบบหนึ่งสำหรับคนไทยอีกกลุ่มหนึ่ง

[4] อย่างไรในกลุ่มนี้ครม.ได้อนุมัติงบประมาณถึงปี 2554 เท่านั้น ซึ่งเป็นประเด็นที่ต้องผลักดันเกิดเป็นนโยบายที่ถาวรต่อไป กลุ่มเลข 3,4 คือ คนเข้าเมืองโดยชอบด้วยกฎหมายคนเข้าเมือง ได้สิทธิอาศัยถาวร เลข 3 จำนวน 58,995 คน เลข 4 จำนวน 286 คน

กลุ่มเลข 5,8 คือ คนต่างด้าวที่เข้าเมืองโดยชอบด้วยกฎหมาย มีสิทธิอาศัยถาวร เป็นกลุ่มคนประเภทเดียวกัน เพียงแต่การมีชื่อในทะเบียนราษฎรต่างเวลากัน เลข 5 เพิ่มชื่อในทะเบียนบ้านก่อน 22 มีนาคม 2535 จำนวน 3,045 คน ส่วนเลข 8 เพิ่มชื่อในทะเบียนบ้าน หลัง 22 มีนาคม 2535 จำนวน 27,707 คน กลุ่มเลข 6 คือ คนต่างด้าวที่เข้าเมืองโดยชอบด้วยกฎหมายในลักษณะชั่วคราว (ม.12, 13, 34, 35 พรบ.คนเข้าเมือง พ.ศ.2522) และคนต่างด้าวที่เข้าเมืองโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย (ม.17 พรบ.คนเข้าเมือง พ.ศ. 2522) จำนวน 234,501 คน กลุ่มเลข 7 คือ บุตรคนกลุ่มเลข 6 จำนวน 62,362 คน กลุ่มเลข 0 คือ บุคคลผู้ไม่มีสถานะทางทะเบียน ซึ่งกรมการปกครองได้เริ่มสำรวจตั้งแต่วันที่ 1 กรกฎาคม 2548 (มีเลข 13 หลักขึ้นต้นด้วยเลข 0) ในส่วนที่เป็นกลุ่มเด็กนักเรียนในสถานศึกษาที่รับสวัสดิการจากรัฐบาลด้านการศึกษา จำนวน 66,937 คน กลุ่มเลข 0 ที่เป็นคนไร้รากเหง้า จำนวน 3,553 คน กลุ่มเลข 0 ที่เป็นคนที่ทำประโยชน์ให้กับประเทศ จำนวน 23 คน

[5] ข้อมูลบางส่วนเป็นผลมาจากการทำงานของภาคีโครงการพัฒนาคุณภาพชีวิตแรงงานข้ามชาติและผู้มีปัญหาสถานะบุคคล (คพรส.) ภายใต้การสนับสนุนของสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ เมื่อตุลาคม 2552 –พฤษภาคม 2554