Thai / English

ข่าวดี ! สปส.เตรียมเพิ่มสิทธิประโยชน์ รักษาโรคมะเร็ง 7 ชนิด



22 .. 54
เครือมติชน

นพ.สมเกียรติ ฉายะศรีวงศ์ ปลัดกระทรวงแรงงาน ในฐานะประธานคณะกรรมการประกันสังคม (ปธ.บอร์ด สปส.) กล่าวว่า ที่ประชุมคณะกรรมการการแพทย์ สปส.เมื่อวันที่ 20 เม.ย. มีมติเพิ่มคุณภาพในการรักษาพยาบาลให้ผู้ป่วยโรคมะเร็งรวม 7 ชนิด ประกอบด้วยมะเร็งเต้านม มะเร็งปากมดลูก มะเร็งรังไข่ มะเร็งโพรงจมูก มะเร็งปอด มะเร็งหลอดอาหาร และมะเร็งลำไส้ใหญ่ หลังจากที่ผ่านมา สปส.ได้มีการเหมาจ่ายเพิ่มค่าเคมีบำบัดหรือรังสีรักษาในวงเงินรายละ 50,000 บาท แต่การรักษาโรคมะเร็งมีค่าใช้จ่ายสูงมากทำให้หลายโรงพยาบาลพยายามประหยัดค่า ใช้จ่าย ด้วยการให้ยาหรือรักษาไม่เต็มที่ จนกระทบต่อคุณภาพการให้บริการ

นพ.สมเกียรติกล่าวอีกว่า การเพิ่มคุณภาพการรักษาโรคมะเร็ง 7 ชนิด จะให้สถานพยาบาลที่รักษาตามแนวทางที่กำหนด ซึ่งเป็นที่ยอมรับของแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านโรคมะเร็ง สามารถเบิกค่าใช้จ่ายตามจริงได้ถึงรายละ 272,100 บาท ซึ่งจะส่งผลดีต่อสถานพยาบาลคู่สัญญาที่ไม่ต้องกังวลกับค่าใช้จ่าย ทำให้ผู้ประกันตนมีมีความมั่นใจในการรักษาพยาบาลของ สปส.มากขึ้น โดยตนจะเร่งรัดให้นำเรื่องเสนอเข้าที่ประชุมบอร์ดสปส.พิจารณาให้ความเห็นชอบ ในการประชุมวันที่ 26 เมษายนนี้ พร้อมกับการปรับเพิ่มสิทธิประโยชน์ 7 รายการ ตามที่คณะกรรมการแพทย์อนุมัติก่อนหน้านี้ ประกอบด้วย การรับสิทธิรักษาโรคร้ายแรงต่อเนื่องตามความจำเป็น การรักษาพยาบาลกรณีฉุกเฉินได้ไม่จำกัด การเพิ่มวงเงินใส่ฟันปลอม การเพิ่มสิทธิการจ่ายยาต้านไวรัสเอชไอวี การเพิ่มยาอาทาสนาเวียร์ในบัญชียาของ สปส. การเพิ่มค่ารักษาผู้ป่วยโรคไต และปรับราคากลางยารักษาโรคไตให้ต่ำลง

ด้าน นพ.สุรเดช วลีอิทธิกุล ผู้อำนวยการสำนักจัดระบบบริการทางการแพทย์ สปส. กล่าวว่า การรักษาดังกล่าวเป็นมาตรฐานการรักษาที่ได้รับการยอมรับในสากลว่าได้ผลดี โดยโรคมะเร็ง 7 ชนิดนี้ พบบ่อยที่สุดในคนไทย ปัจจุบันมีผู้ประกันตนป่วยด้วยโรคมะเร็งทั้ง 7 ชนิดประมาณ 20,000 คน ส่วนมะเร็งชนิดอื่น ๆ คณะกรรมการการแพทย์ได้ให้คณะอนุกรรมการฯ ศึกษารายละเอียดความเป็นไปได้ในการขยายการรักษาให้ครอบคลุมโรคมะเร็งทุกชนิด ในอนาคต สำหรับการปรับวิธีการจ่ายเงินค่ารักษาแบบเหมาจ่ายให้สถานพยาบาลตามกลุ่มโรค หรือดีอาร์จี เพื่อให้การรักษามีประสิทธิภาพมากขึ้น คณะกรรมการแพทย์เห็นว่า มีผู้ป่วยในไม่กี่กลุ่มที่ยังมีข้อถกเถียงกัน วิธีดังกล่าวจึงอาจไม่มีความจำเป็น แต่จะใช้วิธีการสนับสนุนยานอกบัญชียาหลักแห่งชาติ (จ.2) ให้โรงพยาบาลตติยภูมิ โดย สปส.จะเจรจากับองค์การเภสัชในการจัดซื้อยามาให้แทน