Thai / English

'ขาอ่อนฉันทนา' แรงงาน สมอง และความสวย



04 .. 54
ผู้จัดการ

ไม่ว่าจะในระบบเศรษฐกิจในโลกยุคปัจจุบันหรือยุคไหนๆ ก็ตาม ‘แรงงาน’ ถือเป็นกำลังหลักในการขับเคลื่อนระบบเศรษฐกิจให้ก้าวไปข้างหน้าที่มีความ สำคัญไม่แพ้กับเจ้าของทุนและภาคส่วนของการบริหารงาน เพราะถ้าขาดซึ่งแรงงานเหล่านี้แล้ว ภาคการผลิตต่างๆ ก็ต้องหยุดชะงักไปอย่างสิ้นเชิง

และจากความสำคัญของแรงงานที่ว่านี้ ทำให้มีวันแรงงานหรือที่เรียกกันว่าวันเมย์เดย์ (may day) ถือกำเนิดขึ้น เพื่อเป็นวันสำหรับคนที่ทำงานใช้แรงงานทั้งหลายจะหยุดงานและมาร่วมเฉลิมฉลอง กัน

สำหรับในประเทศไทยนั้นได้ยึดเอาวันที่ 1 พฤษภาคมของทุกปีเป็นวันแรงงาน โดยเริ่มมีวันแรงงานอย่างเป็นทางการเมื่อปี 2499 และเริ่มมีการจัดงานวันแรงงานมาตั้งแต่ปี 2517

ส่วนในวันแรงงานปี 2554 ที่จะถึงนี้ก็มีการเฉลิมฉลองเหมือนเช่นเคย ซึ่งตัวเลขของเงินที่ใช้จัดงานนั้นไม่น้อยเลย จนทำให้มีการวิพากษ์วิจารณ์กันในวงกว้าง เพราะกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานได้จัดงบปกติให้แล้ว 1.6 ล้านบาท แต่ทางคณะกรรมการจัดงานในปีนี้จะของบประมาณเพิ่มเติมอีก 3.5 ล้านบาทจากงบประมาณส่วนกลาง

และจากเงินจำนวนนี้ ทางคณะกรรมการจัดงานจะเจียดเงินจำนวนห้าแสนบาทมาใช้ในกิจกรรม 'ธิดาแรงงาน'

คุณค่าไม่ได้อยู่แค่ความงาม

อันที่จริงการจัดประกวด ‘ธิดาแรงงาน’ นั้นได้มีการประกวดกันขึ้นมาครั้งหนึ่งแล้วเมื่อปี 2551 ในครั้งนั้นไม่ได้มีกระแสต่อต้านเกิดขึ้นมากมายนัก แต่ในครั้งที่ 2 นี้จะเป็นการจัดขึ้นเพื่อการคัดเลือกผู้หญิงไปเป็นพรีเซ็นเตอร์ในโครงการ ขยายความคุ้มครองประกัน สังคมในมาตรา 40 แห่ง พ.ร.บ.ประกันสังคม โดยผู้ชนะและรองชนะเลิศทั้งหมดจะต้องเป็นตัวแทนในการถ่ายโปสเตอร์ของกระทรวง แรงงานและสำนักงานประกันสังคม

ซึ่งคุณสมบัติของผู้เข้าประกวดนั้นจะต้องเป็นสุภาพสตรีสัญชาติไทย อายุ 18-30 ปี สูง 160 เซนติเมตรขึ้นไป เป็นโสดหรือสมรสแล้วก็ได้ ซึ่งผู้ชนะจะได้รับเงินรางวัลถึง 100,000 บาทเลยทีเดียว

แต่ทว่าได้มีหลายองค์กรที่เกี่ยวข้อง ออกมาเคลื่อนไหวคัดค้านกิจกรรมดังกล่าว เนื่องจากมองว่าไม่เป็นไปตามวัตถุประสงค์ของการจัดงานวันแรงงาน โดยเฉพาะสมาพันธ์แรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ (สรส.) กับคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย (คสรท.) ที่ออกมาค้านเรื่องนี้สุดตัวโดยให้เหตุผลว่า เป็นสิ่งที่ผิดหลักการวันแรงงานสากล

“ประการแรก เราคิดว่าการประกวดธิดาแรงงาน มันไม่ใช่กิจกรรมที่บ่งบอกถึงประวัติศาสตร์การต่อสู้ของคนงาน ทำไมคณะจัดงานถึงจะเอาผู้หญิงมาเดิน กำหนดส่วนสูง สะโพก รอบเอว รอบอก ซึ่งเราคิดว่ามันไม่ใช่สำหรับวันกรรมกรสากล” ธนพร วิจันทร์ ประธานกลุ่มบูรณาการแรงงานสตรีซึ่งเป็นหนึ่งในเครือข่ายของ คสรท. กล่าว

“ถ้ารัฐบาลจะเชิญชวนให้แรงงาน นอกระบบเข้าเป็นผู้ประกันตนในปี 2554 ให้ได้ 2-3 ล้านคน ก็ต้องเพิ่มสิทธิประโยชน์ที่จูงใจพี่น้องแรงงาน เราเชื่อว่าการใช้คนสวยตรงนี้ หลักการมันก็ไม่ถูกอยู่แล้ว คิดว่าเอาผู้หญิงสวยมาเชิญชวน มันไม่ใช่ แล้วมันเป็นการบิดเบือนเจตนารมณ์ของวันกรรมกรสากลที่ประวัติศาสตร์บอกว่า ผู้หญิงร่วมสู้ ไม่ใช่มาเดินโชว์สัดส่วนให้ใครจ้องมอง เราจึงบอกว่าไม่เห็นด้วย พรีเซ็นเตอร์ไม่ต้องเอาแรงงานสวยหรอก เอาพี่น้องขับแท็กซี่ พี่น้องหาบเร่แผงลอย ก็จบแล้วแค่นั้น”

เมื่อถามว่า ยุคนี้สาวแรงงานจำนวนไม่น้อยที่มีรูปร่างหน้าตาดี แล้วเหตุใดจึงไม่ควรเปิดโอกาสให้สาวแรงงานได้แสดงออกซึ่งความสวยงามของตน บ้าง ธนพรบอกว่า เธอไม่ได้ปฏิเสธการประกวดนางงาม แต่ควรจะจัดให้ถูกกับกาลเทศะ ถ้าพี่น้องสาวแรงงานจะประกวดนางงามเวทีต่างๆ ที่มีอยู่มากมายในปัจจุบัน เธอก็ไม่ว่าอะไร แต่ไม่ใช่งานนี้

แต่อย่างไรก็ตาม คณะกรรมการจัดงานก็ได้มีมติผ่านให้มีการประกวดแล้ว ดังนั้น ทางด้านสมาพันธ์แรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ (สรส.) กับคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย (คสรท.) จะได้มีการหารือกันเพื่อทำหนังสือคัดค้านต่อไป ซึ่งถ้ายังมีการเดินหน้าประกวดต่อไป องค์กรทั้งสองก็จะไม่ขอร่วมจัดกิจกรรมวันแรงงานและขอถอนตัวออกมา

ผู้หญิงทุกคนมีสิทธิ์สวย

แม้จะยังมีข้อถกเถียงถึงความเหมาะสมในการจัดการประกวดอยู่บ้าง แต่กับหลายคนกลับมองว่านี่คือโอกาสที่จะยกระดับความสำคัญของคนที่อยู่ในฐานะ ของผู้ใช้แรงงาน และในฐานะของผู้หญิงคนหนึ่ง

“การประกวดธิดาแรงงานนั้นต้องวัดกันที่ความสามารถด้วย เพราะเป็นการสะท้อนถึงอาชีพที่เขาทำ มันแตกต่างกับการประกวดอื่นๆ แน่นอน เพราะเวทีอื่นอาจจะเน้นที่ความสวยความงามอย่างเดียว แต่นี่มันเป็นการให้ความสำคัญกับอาชีพที่เขาทำด้วย”

ประภัฒพงษ์ กันทาสุวรรณ์ เจ้า ของบริษัท ฮาร์นี่ ออร์แกนไนเซอร์ แพลนเนอร์ ซึ่งมีประสบการณ์ในการจัดการประกวดนางงามและนายแบบ - นางแบบมาหลายครั้ง เล่าให้ฟังถึงจุดเด่นที่แตกต่างของการจัดประกวดธิดาแรงงานในจินตนาการและ มาตรฐานของเขาในฐานะผู้ชำนาญการ ซึ่งบริษัทของเขาไม่ได้เป็นคนจัดการประกวดครั้งนี้ โดยมองว่า กระบวนการจัดงานนั้น ถ้าหากจะชูประเด็นเรื่องแรงงาน ก็จะต้องมีกระบวนการที่แตกต่างจากการประกวดนางงามทั่วๆ ไป

“เอาเข้าจริง ความงามแบบธิดาแรงงานนั้นไม่ต่างกับเวทีอื่นๆ เลย แต่แตกต่างในเรื่องของความสามารถพิเศษ และการพรีเซ็นต์ตัวเองมากกว่า เพราะความงามนั้นเป็นสากล ไม่ว่าจะเป็นเวทีที่ไหนเขาก็ดูกันที่ความงาม, บุคลิกภาพ, การแต่งกายทั้งนั้นซึ่งตรงนี้ก็อาจจะปรับให้เป็นการแต่งกายอาชีพก็ได้นะ คือกับเวทีนี้มันเป็นเหมือนการแนะนำอาชีพของเขามากกว่า และมันจะเปิดมุมมองในเรื่องของอาชีพแรงงานให้คนทั่วไปรู้จักอีกมุมหนึ่ง มันมีประโยชน์นะ นอกเหนือไปจากนั้น มันยังเป็นการทำให้คนที่อยู่ในระดับแรงงานตระหนักถึงคุณค่าในตนเองด้วยซ้ำไป คือผู้หญิงทุกคนสวยได้หมด แต่ธรรมดาตอนเขาทำงานอาจจะดูเฉยๆ หากจับมาแต่งเสียหน่อยก็แสดงความงามให้คนตะลึงออกมาได้

“ทว่าตรงนี้ต้องทำระเบียบการให้รัดกุม รวมไปถึงทิศทางของการโปรโมต หรือการพรีเซ็นต์ ต้องไม่เป็นการทำให้คนอื่นๆ มามองในแง่ลบ”

หัวอกสาวแรงงาน

เห็นได้ว่าการประกวดธิดาแรงงานครั้งที่ 2 ในปี 2554 นี้ มีทั้งฝ่ายที่เห็นด้วยและไม่เห็นด้วย แต่กับเหล่าสาวๆ ผู้ใช้แรงงานที่เป็นตัวละครสำคัญของความขัดแย้งครั้งนี้เขาจะรู้สึกอย่างไร กันบ้างหนอ

“จริงๆ ยังไม่ได้ยินข่าวนี้เลยนะ แต่ถ้าให้พูดถึงหนูก็คิดว่าเป็นเรื่องดีแหละ เพราะคนที่ประกวดชนะนี่เขาจะได้รางวัลด้วยใช่ไหม คือสำหรับคนอื่นเงินมันก็ไม่ได้เยอะหรอก แต่คนหาเช้ากินค่ำอย่างหนูนี่ก็ว่ามันมากพอสมควรนะ” ภัทรา (ขอสงวนนามสกุล) ซึ่งทำงานอยู่ในสายการผลิตของบริษัทในนิคมอุตสาหกรรมแห่งหนึ่งแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับการจัดการประกวดธิดาแรงงาน

ส่วน นวลจันทร์ คลังอาจ สาวโรงงานย่านมหาชัยวัย 29 ปี แสดงทัศนะเกี่ยวกับการประกวดธิดาแรงงานว่า ถือเป็นเรื่องดีที่มีการจัดการประกวดขึ้น เพราะหากประกวดแล้วมีเงินรางวัลด้วยก็ดีไปอีก อาจจะทำให้สาวโรงงานหลายคนเข้าประกวดด้วย และหากการรับสมัครเป็นเฉพาะแค่สาวโรงงานจริงๆ โดยไม่มีนางงามเดินสายก็ยิ่งจะดีใหญ่

“ถ้าคนได้ตำแหน่งไป ก็อยากให้ทำประโยชน์ให้แก่คนใช้แรงงานจริงๆ แต่ก็ไม่รู้ว่าจะให้ทำอะไรให้ เพราะคนใช้แรงงานอย่างเราจริงๆ นอกจากสวัสดิการดีๆ แล้วก็คงไม่ต้องการอย่างอื่นมากนัก”

ส่วนเรื่องคุณสมบัติของธิดาแรงงานในความคิดของนวลจันทร์นั้น ก็คงจะเหมือนกับความคิดของใครหลายๆ คน

“อย่างแรกก็คงต้องสวยมาก่อนอยู่แล้วมั้ง เพราะไม่อย่างนั้นคงไม่จัดการประกวดหรอก และก็น่าจะมาจากสาวโรงงานหรือคนที่ทำงานเกี่ยวกับโรงงานจริงๆ ด้วยนะ จึงจะเรียกว่าธิดาแรงงาน”

….....

สุดท้ายแล้วการประกวดธิดา แรงงานที่จะจัดขึ้นในปีนี้จะมีภาพออกมาบวกหรือลบ ก็คงขึ้นอยู่กับท่าทีในการประชาสัมพันธ์ของกองประกวดว่าจะออกมาในรูปไหน และสำคัญที่สุดก็คือมุมมองของคนส่วนใหญ่ในสังคมที่มองเข้าไปยังการประกวด นั่นเอง