Thai / English

จี้แรงงานเร่งสร้างอำนาจต่อรองทางการเมือง ในวาระใกล้ยุบสภาฯ



14 .. 54
ประชาไท

สภาพัฒนาการเมืองกระตุ้นแรงงานซึ่งมีจำนวนมากกำหนดนโยบายการเมือง นักวิชาการยังไม่มั่นใจมีเลือกตั้ง เหตุมีสัญญาณเตือนภัย ชี้ขบวนการแรงงานไทยถูกกันจากการเมืองในระบบ ซ้ำไม่เข้มแข็ง ถูกจำกัดอำนาจต่อรองด้วยกฎหมาย

(13 มี.ค.54) โครงการพิพิธภัณฑ์แรงงานไทยสัญจร สอนประวัติศาสตร์ สร้างสำนึกประชาธิปไตย มูลนิธิแรงงานไทย สนับสนุนโดยสภาพัฒนาการเมือง จัดการเสวนาหัวข้อ "ยุบสภา! เลือกตั้งใหม่! เล่น(กับ)การเมืองอย่างไร? ให้แรงงานไทยมีอำนาจต่อรอง" ที่โรงแรมรัตนโกสินทร์

ถามแรงงานซึ่งเป็นคนส่วนใหญ่ทำไมกำหนดการเมืองไม่ได้

ลัดดาวัลย์ ตันติวิทยาพิทักษ์ รองประธานสภาพัฒนาการเมือง ปาฐกถาในหัวข้อ "สภาพัฒนาการเมืองกับแนวทางส่งเสริมสิทธิแรงงาน" ว่า ในวาระที่อาจมีการยุบสภาเร็วๆ นี้ มีคำถามท้าทายว่า ผู้ใช้แรงงานซึ่งเป็นกลุ่มที่มีขนาดใหญ่ในสังคมได้ใช้ขบวนใหญ่ในทางการเมือง มากเพียงใด ได้เอาความคิดของผู้ใช้แรงงาน สมาชิกสหภาพแรงงาน เพื่อโยงกับการเลือกตั้งที่จะเกิดขึ้นเพียงใด

ลัดดาวัลย์เปรียบเทียบว่า ก่อนหน้านี้ สภาพัฒนาการเมืองสนับสนุนเรื่องจังหวัดจัดการตนเอง เพื่อให้คนในหมู่บ้านมีบทบาทตัดสิน ใจนโยบายในชุมชน เช่นการทำถนน การดูแลป่า เพื่อสร้างฐานให้ชุมชนเข้มแข็ง ชุมชนแรงงานก็เช่นกัน ควรมีสหภาพที่เข้มแข็ง จัดการตนเองได้ มีสมาชิกที่ช่วยคิดทำให้สหภาพเข้มแข็ง โดยขณะที่ชุมชน มีบทบาทไปถึงระดับท้องถิ่น แรงงานก็ควรมีบทบาทในพื้นที่โรงงาน โดยให้เจ้าของโรงงาน ผู้เกี่ยวข้องกับการผลิตทุกคน มีส่วนร่วมอย่างเท่าเทียมกัน เพราะการใช้แรงงานเป็นเรื่องที่มีคุณค่า ต้องไม่ให้ค่าสมองมากกว่าค่าแรงงานซึ่งเป็นผู้ก่อให้เกิดผลผลิต เมื่อนั้น โรงงานก็น่าจะเติบโต

ลัดดาวัลย์ กล่าวว่า อยากให้แรงงานตระหนักถึงคุณค่าของตนเอง และตั้งคำถามว่า ทำไมคนงานถึงปล่อยให้คนบางคนมาตัดสินใจแทน ทั้งที่เรามีจำนวนความคิดมากกว่า รวมถึงอยากเห็นพรรคแรงงาน ผู้ใช้แรงงานที่โดดเด่นเข้าไปนั่งใน สภาฯ เพื่อทำให้แรงงานเข้มแข็งขึ้น ให้ขบวนแรงงานขับเคลื่อนไปได้ ก้าวให้พ้นเรื่องค่าแรง สวัสดิการไปเรื่องอื่นๆ ให้มากขึ้น รวมถึงเกิดภาคีอื่นๆ มาร่วมกับแรงงาน

ชี้มีสัญญาณเตือนภัย ไม่มั่นใจมีเลือกตั้ง

ศักดินา ฉัตรกุล ณ อยุธยา นักวิชาการด้านแรงงาน แสดงความเห็นว่า ยังไม่มั่นใจนักว่าจะมีการเลือกตั้ง เนื่องจากมองว่ามีสัญญาณเตือนภัย เช่น เมื่อพูดเรื่องการรัฐประหาร เป็นเรื่องที่มีโอกาสอยู่เสมอ เพราะดูเหมือนคนจำนวนไม่น้อยในสังคมไทยยินดีให้ใช้การรัฐประหารเป็นเครื่อง มือแก้ปัญหาทางการเมือง นอกจากนี้ มองว่าหลังการเลือกตั้งแล้ว ความขัดแย้งจะไม่หายไป เพราะผู้ช่วงชิงอำนาจไม่มีฝ่ายใดมั่นใจว่าการเลือกตั้งจะนำมาซึ่งชัยชนะเด็ด ขาด และไม่มั่นใจกับกระบวนการเลือกตั้ง

ด้านคู่ขัดแย้งทางการเมือง ศักดินากล่าวว่า กลุ่มเสื้อเหลืองพูดเรื่องการเมืองแบบเก่า มองหาอำนาจพิเศษมาเริ่มต้นการ เมืองใหม่ ส่วนกลุ่มเสื้อแดง พูดถึงการโค่นล้มระบอบเก่า สร้างรัฐไทยใหม่ มีการพูดถึงโมเดลอียิปต์พอสมควร ขณะที่ในการชุมนุมเมื่อคืน (12 มี.ค.) แกนนำมีสัญญาณว่าจะใช้ฐานเสื้อแดงลงเลือกตั้ง อย่างไรก็ตาม ทั้งหมดนี้คงขึ้นกับสถานการณ์ว่าจะพัฒนาไปอย่างไร

นักวิชาการด้านแรงงาน กล่าวต่อว่า แรงงานไทย 37 ล้านคนเป็นผู้มีสิทธิเลือกตั้ง ในแง่การจัดสรรผลประโยชน์แล้ว สังคมผู้ใช้แรงงานควรมีรัฐบาลเป็นของตัวเอง แต่ในไทยยังไม่มี โดยยกตัวอย่างประเทศที่คนงานมีอำนาจตัดสินใจทางการเมืองว่า มีเงื่อนไขเรื่องระบบการเมืองที่เป็น ประชาธิปไตย โดยแบ่งหยาบๆ ได้ สามแบบคือหนึ่ง เสรีนิยม แบบมือใครยาวสาวได้สาวเอา แบบที่ไทยเป็น สอง ประชาธิปไตยรวมศูนย์ ที่ใช้ในประเทศคอมมิวนิสต์ และสาม สังคมประชาธิปไตย ซึ่งคำนึงถึงความยุติธรรมทางสังคม ถ้าอยากให้คนงานมีส่วนทางการเมือง คนงานควรมีสิทธิเลือกว่าต้องการประชาธิปไตยแบบไหน ทั้งนี้ สังคมต้องเปิดต่ออุดมการณ์ที่เอื้อต่อชนชั้นแรงงาน รวมถึงมีขบวนการแรงงานที่เข้มแข็ง เป็นเอกภาพ ผู้ใช้แรงงานต้องมีจิตสำนึกทางชนชั้น ความตื่นตัวทางการเมือง

ศักดินายกตัวอย่างการเข้าไปมีอิทธิพลทางการเมืองของผู้ใช้แรงงานสองแบบ โดยแบบแรกคือเข้าไปเกี่ยวพันกับพรรคการเมืองโดยตรง เช่น อังกฤษ สอง โดยอ้อม ทั้งนี้ไม่ว่าแบบไหน ล้วนแต่มีขบวนการแรงงานที่เข้มแข็ง มีสมาชิกจำนวนมาก เพื่อแข่งกับพรรคฝ่ายทุนได้ ขณะที่ไทยมีข้อจำกัด ทั้งประชาธิปไตยที่เราใช้เป็นแบบ เสรีนิยมที่เอื้อต่อทุน กำหนดโดยคนส่วนน้อย ทำให้คนงานทำได้แค่ผลักดัน ล็อบบี้ เรียกร้องบนท้องถนน ซึ่งเป็นไปอย่างจำกัด เพราะการเมืองบนท้องถนนก็กำลังถูกกีดกันด้วยกฎหมายการชุมนุมที่กำลังจะออก ด้านอำนาจต่อรอง ไม่มีจุดเชื่อมโยงกับพรรคการเมือง รวมถึงไม่มีการรวมตัวที่เข้มแข็งด้วย โดยมีคนงานเป็นสมาชิกสหภาพฯ 1.3% ขณะที่เดนมาร์ก มีคนงานเป็นสมาชิกสหภาพแรงงานมากถึง 90%

นอกจากนี้ มองว่ายังไม่มีอุดมการณ์ร่วมที่จะเรียกร้องผู้ใช้แรงงานให้เป็นหนึ่ง เดียวกัน ขาดขบวนการสามประสาน ไม่มีวิสัยทัศน์ กลายเป็นการแก้ปัญหาเฉพาะจุด และที่สำคัญ คนงานไม่ตื่นตัวทางการเมือง มองไม่เห็นความสำคัญของการเข้าไปมีอำนาจทางการเมือง

สำหรับข้อเสนอระยะสั้น ศักดินาแนะนำว่า ต้องสร้างสายสัมพันธ์ เมื่อไม่มีพรรคของตัวเอง ก็ต้องสนับสนุนผู้ใช้แรงงานที่เข้าสู่การเมือง ส่วนข้อเสนอระยะยาว ต้องมีวิสัยทัศน์ที่ชัดเจน ขยายการจัดตั้ง เชื่อมขบวนการผู้ใช้แรงงานและเครือข่ายต่างๆ เข้าด้วยกัน คิดเรื่องรูปแบบความสัมพันธ์ว่าจะเข้าไปมีส่วนร่วมทางการเมืองอย่างไร

สุดท้าย ศักดินาย้ำว่า ไม่มีทางลัดหรือเส้นทางพิเศษสำหรับผู้ใช้แรงงาน มีเพียงการทำขบวนการแรงงานให้เข้มแข็ง ซึ่งต้องใช้ความอดทนและมุ่งมั่นเท่านั้น

สุนี ไชยรส นักสิทธิมนุษยชน กล่าวว่า ไม่ว่ามีการเลือกตั้งหรือไม่ การเมืองก็ต้องเดินหน้าต่อไป เพราะการเมืองเป็นเรื่องกำหนด นโยบาย แม้ไม่มีการเลือกตั้ง แรงงานต่อสู้ทางการเมือง โดยใช้พลังของแรงงานทุกรูปแบบ พร้อมยกตัวอย่างว่า ในอดีต ยุคเผด็จการแรงงานก็เคลื่อนไหวได้

สุนีเสนอว่า ยังต้องต่อสู้แบบ "สามประสาน" ด้วยคือ การต่อสู้ร่วมกันของแรงงาน ชาวนาและปัญญาชน เพราะสังคมไทยไม่ใช่อุตสาหกรรมร้อยเปอร์เซ็นต์ ยังต้องคาบเกี่ยวกับแรงงานภาคชนบท ถ้าไม่แก้ไขทิศทางการพัฒนาเศรษฐกิจที่เอื้อต่อทุนทั้งระบบ จะส่งผลให้ผู้ใช้แรงงานในเมืองมีอำนาจต่อรองน้อยลง รวมถึงฝากว่าในวันแรงงานที่จะถึงนี้ ขบวนการแรงงานควรจะมีข้อเสนอต่อทุกพรรคการเมืองเพื่อกำหนดนโยบายในการเลือก ตั้งที่กำลังจะมาถึงด้วย

ขณะที่ นิติรัตน์ ทรัพย์สมบูรณ์ แสดงความเห็นกรณีที่ให้เลือกตัวแทนของแรงงานด้วยกันเพื่อเข้าสู่การเมืองว่า คนเหล่านั้นจะต้องผูกโยงกับขบวนการแรงงานด้วย โดยทำพันธสัญญาต่อกัน มิเช่นนั้นจะกลายเป็นลัทธิพรรคพวกไป