Thai / English

นายกฯหนุนสิทธิสตรี ทบทวนประกันสังคมแรงงานนอกระบบ

"อภิสิทธิ์"ยืนยันรัฐบาลหนุนสิทธิสตรี ทบทวนประกันสังคมแรงงานนอกระบบ หยุดปัญหาว่างงาน

07 .. 54
กรุงเทพธุรกิจ

มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์- นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี เดินทางมาร่วมงานฉลอง 100 ปี วันสตรีสากล พร้อมรับหนังสือประกาศเจตนารมณ์จากตัวแทนองค์กรสตรีฯ โดยมีเนื้อหาว่า 1.ผู้หญิงทำงานทุกกลุ่มจะต้องได้ทำงานในระบบ สามแปดที่เป็นจริง โดยมีระบบสวัสดิการสังคมที่จำเป็นจากเกิดจนตาย ทั้งแรงงานในระบบนอกระบบ ลูกจ้างภาครัฐ หญิงบริการ แรงงานเกษตรและประมง ให้เกษียณอายุจากการทำงานเมื่อครบ 60 ปี ยอมรับให้เข้าสู่ระบบประกันสังคม โดยรัฐส่งเงินสมทบในอัตราไม่ต่ำกว่าครึ่งหนึ่ง ให้มีบำนาญประชาชน ต้องมีมาตรการเด็ดขาดห้ามเลิกจ้างคนท้อง ส่งเสริมให้มีศูนย์เลี้ยงเด็กที่มีคุณภาพ และต้องรับรองอนุสัญญา ILO ฉบับที่ 183 ว่าด้วยสิทธิ์การคุ้มครองการเป็นมารดา เพื่อให้ได้รับสวัสดิการข้าจ้างในช่วงที่คลอดบุคร

2. ส่งเสริมการเข้าถึงสิทธิสุขภาพอนามัยเจริญพันธ์ ซึ่งเป็นเรื่องเฉพาะสำหรับผู้หญิงอย่างมีคุณภาพ 3.การคุ้มครองดูแลผู้หญิงจากทัศนคติเหมารวม และเลือกปฏิบัติ ทั้งในกรณีตั้งท้องไม่พร้อม การคุกคามทางเพศ และความรุนแรงในครอบครัว และ 4. ผู้หญิงต้องมีส่วนร่วมตัดสินใจวางแผนทุกระดับ เช่นคณะกรรมการไตรภาคี กรรมการองค์กรอิสระ และการมีสัดส่วนนักการเมืองหญิงเพิ่มขึ้นทุกระดับ

จากนั้นนายกฯ กล่าวบรรยายในหัวข้อ “ ผู้หญิงทำงาน สู้เพื่อคุณภาพชีวิตที่ยั่งยืนทุกคน ” ว่า การประกาศเจตนารมณ์ในวันนี้ถือว่ามีความสำคัญต่อคุณภาพชีวิต โดยเฉพาะสตรี ปัญหาที่เกี่ยวข้องกับความก้าวหน้าในเรื่องสิทธิสตรี ขอย้ำว่ารัฐบาลได้ให้ความสนใจใส่ใจติดตามแก้ปัญหาอย่างต่อเนื่อง เมื่อตนเข้ามาบริหารราชการแผ่นดิน บ้านเมืองเจอวิกฤตเศรษฐกิจโลก ทำให้เกิดผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทย และต้องยอมรับว่าเรามีปัญหาเรื่องโครงสร้างที่ไม่เป็นธรรมในสังคม ทำให้ต้องทบทวนนโยบาย เพื่อประโยชน์ของคุณภาพชีวิต เพราะเมื่อเกิดปัญหาเศรษฐกิจผลกระทบจะเกิดขึ้น โดยเฉพาะแรงงานที่เป็นผู้หญิง จะมีการปลดแรงงาน ด้วยเหตุผลนี้รัฐบาลได้เน้นย้ำการที่จะฟื้นเศรษฐกิจขึ้นมา ต้องหยุดยั้งปัญหาการว่างงาน จึงเป็นที่มาของการกระตุ้นเศรษฐกิจเพื่อให้ประชาชนไม่ตกงาน ที่สำคัญมีโครงการต้นกล้าอาชีพ ถือเป็นการช่วยให้เศรษฐกิจไทยในประเทศในช่วงวิกฤตสามารถดำเนินการไปได้

"ขอยืนยันว่ารัฐบาลได้ดำเนินการผลักดัน ทั้งเรื่องค่าจ้างแรงงาน โดยเพิ่มค่าแรงขั้นต่ำ นอกจากนี้ได้มีการทบทวนระบบประกันสังคม อย่างเป็นระบบในครั้งแรก สำหรับกรณีของผู้หญิงที่มีปัญหาเป็นการเฉพาะ โดยส่วนตัวได้ติดตามปัญหามาโดยตลอด ที่พบเห็นชัดเจนขณะนี้คือข้อจำกัดของสตรีไม่ได้เกิดขึ้นเฉพาะในประเทศไทย เท่านั้น หลายครั้งพบความจริงว่ามีการแก้กฎหมายเพื่อให้เกิดความเสมอภาค แต่ในทางปฏิบัติก็ยังติดขัดในบางปัญหา โดยเฉพาะปัญหาด้านทัศนคติของคนในสังคม ทำให้เจตนารมณ์ของกฎหมายไม่ได้รับการเคารพ นอกจากนนี้สถิติในหลายประเทศยังพบว่าโอกาสการทำงานของผู้หญิงจะถูกจำกัด เมื่อเริ่มต้นมีครอบครัว ตรงนี้จึงจำเป็นที่ต้องผลักดันนโยบายที่เป็นข้อเฉพาะ เพื่อแก้ปัญหาในเรื่องนี้โดยตรง "นายกฯ กล่าว

นายกรัฐมนตรี กล่าวต่ออีกว่า ในภาพรวมของคำประกาศเจตนารมณ์ กับสิ่งที่รัฐบาลได้ดำเนินการมาแล้วและปรากฏผล ถือว่าเป็นสิ่งที่สอดคล้องต้องกัน และตนตระหนักดีว่ามีหลายเรื่องที่ยังทำไม่เสร็จ ต้องทำเพิ่มเติม และยืนยันว่ารัฐบาลจะทำงานใกล้ชิดเครือข่ายภาคประชาชน หวังว่าทุกท่านจะช่วยกันผลักดันต่อไป เพราะโครงสร้างทางสังคมจะต้องมีการปรับเปลี่ยน เช่น ค่าแรงขั้นต่ำ จะเป็นประเด็นสำคัญในการกำหนดโครงเศรษฐกิจไทย เพราะตนคิดว่าถึงเวลาแล้วที่ประเทศไทยจะประกาศว่าไม่ใช่เศรษฐกิจที่จะพึ่ง ค่าแรง แต่ต้องเป็นเศรษฐกิจที่สร้างโอกาสให้กับแรงงาน และการที่เรามีค่าแรงที่สูงจะทำให้เศรษฐกิจภายในประเทศมีความสำคัญและเข้ม แข็งมากยิ่งขึ้น เป็นการลดความเสี่ยงในการพึ่งพาเศรษฐกิจต่างประเทศ แต่ต้องใช้เวลาในการดำเนินการเพื่อให้เกิดการยอมรับจากทุกภาคส่วน

“ สำหรับการมีส่วนร่วมในทางการเมืองและเรื่องอื่นๆนั้น ผมคิดว่าการเลือกตั้งที่จะมีขึ้นนี้จะเป็นโอกาสดี ที่พรรคการเมืองต่างๆจะได้นำเสนอแนวคิดที่เกี่ยวข้องกับสิทธิสตรีและความ ก้าวหน้ากับคุณภาพชีวิต ให้มีความมั่นคงและยั่งยืนสำหรับหญิงชายให้เสมอภาคกัน ” นายกฯ กล่าว

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ก่อนนายกฯจะขึ้นเวทีกล่าวบรรยาย ได้นั่งฟังเพลงที่กลุ่มสตรีได้ร่วมกันขับร้อง และพอเพลงจบ นางจิตตรา คชเดช ตัวแทนจากสมาพันธ์แรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ ได้ตะโกนดังๆว่า “ มือเปื้อนเลือด ” จากนั้นก็วาดรูปมือขนาดใหญ่ใส่กระดาษ A4 แล้วเขียนข้อความในกระดาษว่า “ มือใคร เปื้อนเลือด ” แล้วชูขึ้นเหนือศีรษะ ระหว่างที่นายกฯขึ้นเวที เพื่อกล่าวบรรยาย โดยนายกฯตอบโต้ทันทีว่า “ วันนี้เป็นวันสตรี ถ้าต้องการแสดงความคิดเห็นทางการเมือง ให้รอฟังในสภา ตนจะตอบเพื่อจะได้ทราบข้อเท็จจริงทั้งหมด เพราะท่านควรจะรู้ความจริงว่าใครบ้างที่ต้องการทำให้เกิดการเสียชีวิตขึ้นใน เหตุการณ์เมื่อปีที่แล้ว ”

จากนั้นนางสุนีย์ ไชยรส ที่ปรึกษากลุ่มบูรณาการแรงงานสตรี ได้เข้ามาพูดคุยและพยายามไกล่เกลี่ย แต่กลุ่มสตรีกลุ่มดังกล่าวไม่รับฟัง และนางจิตตรา ก็เขียนข้อความว่า “ เหรอ..... ” แล้วชูขึ้นให้นายกฯอ่าน พร้อมทั้งชูกระดาษที่พิมพ์ข้อความว่า “ ดีแต่พูด ” ตลอดเวลาที่นายกฯกล่าวบรรยาย นอกจากนั้นยังมีการส่งกระดาษข้อความดีแต่พูดให้สตรีอีก 2 คนที่นั่งเกือบด้านหน้าเวที ช่วยกันชูข้อความด้วย ทั้งนี้ขณะนายกฯกล่าวบรรยายนั้น สีหน้าไม่ค่อยสู้ดีนัก และพยายามหลีกเลี่ยงที่จะมองมาที่ป้ายข้อความนั้น

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ภายหลังนายกฯเสร็จสิ้นภารกิจบรรยาย ก็เดินลงจากเวทีเพื่อจะไปชั้นล่าง ปรากฏว่ามีผู้หญิงคนหนึ่งตะโกนถามว่า “ จักร 150 ตัวที่นายไพฑูรย์ (นายไพฑูรย์ แก้วทอง อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน) เอาไป อยู่ไหน ” และเมื่อนายกฯเดินมาให้สัมภาษณ์สื่อที่ชั้น 1 กลุ่มนางจิตตรา พยายามจะเข้ามาหาอีก แต่ทีมรปภ.นายกฯ ได้ยืนกันไว้ เพื่อไม่ให้เข้ามาก่อความวุ่นวาย และเมื่อนายกฯขึ้นรถไปแล้ว กลุ่มดังกล่าว ก็ชูตีนตบ เสียงดังเป็นการส่งท้าย