Thai / English

คนงานหลักพันเดินเท้าเข้ากรุงฯ จี้ รัฐฯ แก้ปัญหาละเมิดสิทธิแรงงาน



15 .. 54
ประชาไท

คนงานร่วมสองพันคนจากบริษัทแม็กซิสฯ-บริษัท พีซีบี เซ็นเตอร์-บริษัท ฟูจิตสึ เจเนรัล เดินเท้าต่อไป ก.แรงงาน หลังตั้งต้นเดินเท้าจากระยองมากรุงเทพฯ ตั้งแต่วันที่ 1 ก.พ.หวังให้รัฐบาลช่วยเหลือกรณีละเมิดสิทธิแรงงาน พ้อยื่นหนังสือมาหลายหน่วยงาน แต่ยังไม่ได้รับการแก้ไข

เมื่อเวลาประมาณ 6.00 น.ของวันที่ 14 ก.พ. 54 คนงานเกือบสองพันคนจากบริษัทแม็กซิ ส อินเตอร์เนชั่นแนล (ประเทศไทย) จำกัด ผลิตยางรถยนต์ ที่จ.ระยอง พนักงานของบริษัท พีซีบี เซ็นเตอร์ จำกัด ผู้ผลิตแผงวงจรอิเล็กทรอนิกส์ และพนักงานของบริษัท ฟูจิตสึ เจเนรัล จำกัด ผู้ผลิตและประกอบเครื่องปรับอากาศ ที่ จ.ชลบุรี ซึ่งส่วนหนึ่งเริ่มเดินเท้าจากระยองตั้งแต่วันที่ 1 ก.พ.ที่ผ่านมา ได้ออกเดินทางจากที่ปักหลักชุมนุมที่โรงงานไม้อัดไทย ถ.สรรพาวุธ โดยใช้เส้นทาง แยกบางนา-สุขุมวิท-ราชประสงค์-ราช ปรารภ-สามเหลี่ยมดินแดง ไปยังกระทรวงแรงงาน เพื่อขอความช่วยเหลือจากรัฐบาล กรณีมีการละเมิดสิทธิแรงงาน ซึ่งเคยยื่นหนังสือถึงหลายหน่วยงานแล้วก่อนหน้านี้ แต่ก็ยังไม่ได้รับการแก้ไข

สำหรับสหภาพแรงงานแม็กซิส ประเทศไทย ถูกนายจ้างปิดงานตั้งแต่วันที่ 25 พ.ย.2553 โดยอ้างเครื่องจักรเสียจำเป็นต้องปิดซ่อมแซม แต่กลับมีการนำแรงงานข้ามชาติและแรงงานเหมาค่าแรงมาทำงานแทน ทำให้พนักงานได้รับความเดือดร้อน โดยที่ผ่านมา มีการลดสวัสดิการของพนักงานลงเรื่อยๆ ทั้งที่บริษัทมีกำไรมากขึ้นมหาศาลจากปีก่อน

ธนชัย ที่รักษ์ รองประธานสหภาพแม็กซิส ประเทศไทย เล่าว่าวันที่อ้างว่าเครื่องจักรเสียนั้น มีการจ้างชายชุดดำมาปิดทางเข้าและกั้นรั้วสังกะสี ทำให้พวกตนต้องไปชุมนุมในบริเวณอื่น โดยที่ผ่านมา ได้เรียกร้องไปยังแรงงานจังหวัดแล้วก็ไม่ได้รับการแก้ปัญหา จึงอยากเรียกร้องต่อรัฐบาลให้เห็นใจพวกตนบ้าง เพราะสิ่งที่ต้องการคือได้กลับเข้าทำงานเท่านั้น พร้อมตัดพ้อด้วยว่าทั้งที่พวกตนก็เสียภาษี แต่ไม่เคยได้รับการดูแลเลย

สำหรับสหภาพแรงงาน ฟูจึซึ เจอร์เนอร์รัล ประเทศไทย ถูกนายจ้างประกาศปิดงานหลังไม่สามารถตกลงเรื่องข้อเรียกร้องได้ ต่อมาเมื่อวันที่ 9 ก.พ.54 มีหมายศาลให้ตัวแทนทั้ง 15 คนขึ้นศาลโดยอ้างว่าพาพวกปิดถนนหน้าบริษัท ศาลมีคำสั่งกักขังตัวแทนทั้ง 15 คน ตั้งแต่วันที่ 9-16 ก.พ. โดยล่าสุดได้ประกันตัวตัวแทนผู้หญิง 2 รายซึ่งถูกฝากขัง 2 วัน แต่ตัวแทนชายอีก 13 คนยังไม่ได้รับการประกันตัวและอยู่ในชั้นอุทธรณ์

ชรัมภ์ บุญสังข์ สมาชิกสหภาพแรงงานฟูจิตสึฯ ซึ่งเป็นผู้ดูแลขบวนของคนงานฟูจิตสึในครั้งนี้ กล่าวว่า การกระทำของนายจ้างนั้นขัดแย้งกัน ทั้งที่เมื่อตกลงเรื่องข้อเรียกร้องไม่ได้ นายจ้างเป็นฝ่ายปิดงานก่อน ลูกจ้างจึงมีมตินัดหยุดงาน แต่นายจ้างได้อ้างต่อศาลว่าจะฟ้องร้องแกนนำที่ทำให้กิจการได้รับความเสียหาย

นอกจากนี้ ชรัมภ์กล่าวถึงสำนักงานส่งเสริมการลงทุนหรือ BOI ด้วยว่าขณะที่มุ่งส่งเสริมการลงทุน แต่กลับไม่เคยตรวจสอบเลยว่าคนงานซึ่งทำงานอย่างเหนื่อยยากได้อะไรตอบแทนบ้าง

ส่วนบริษัท พีซีบี เซ็นต์เตอร์ จำกัด หลังบริษัทเกิดอุบัติเหตุเพลิงไหม้ ซึ่งทำให้มีผู้ได้รับบาดเจ็บจำนวนมากและเสียชีวิต 3 ราย เมื่อกลางปีที่ผ่านมา บริษัทฯ ได้ประกาศจ่ายค่าจ้างให้พนักงาน 75% จนกว่าบริษัทฯจะปรับปรุงโรงงานให้แล้วเสร็จ และเปิดทำการใหม่ภายในเดือน ธ.ค. 2553 แต่การจ่ายค่าจ้างกลับผิดนัดมาตลอด และวันที่ 21 ม.ค.2554 บริษัทฯ ก็ประกาศปิดกิจการเลิกจ้างพนักงานทุกคน แต่ไม่จ่ายค่าชดเชยตามกฎหมาย

ตัวแทนพนักงานบริษัท พีซีบี เซ็นต์เตอร์ จำกัด อายุงาน 14 ปีกล่าวว่า นายจ้างได้ยื่นข้อเสนอจ่ายเงิน 6 ล้านบาทให้พนักงาน 500 กว่าคน ซึ่งไม่เป็นไปตามกฎหมาย โดยเมื่อคำนวณค่าชดเชยบวกกับค่าค้างจ่ายต่างๆ แล้ว พวกตนควรจะได้รับเงินทั้งสิ้นประมาณ 61 ล้านบาท อย่างไรก็ตาม หากจะอ้างว่าไม่มีเงินจ่าย พวกตนก็พร้อมเจรจาลดหย่อน โดยที่ผ่านมาเคยขอเป็น 20 ล้านบาทแล้ว แต่ก็ไม่เคยมีการเจรจาใดๆ เกิดขึ้น ที่ผ่านมาได้ยื่นหนังสือถึงนายกฯ 1 ครั้งและกระทรวงแรงงาน 2 ครั้งแล้วแต่ก็ยังไม่ได้รับการแก้ปัญหา

ทั้งนี้ ตัวแทนของพนักงานบริษัทพีซีบี เซ็นต์เตอร์ ระบุด้วยว่า พนักงานแต่ละคนที่ถูกลอยแพนั้น อายุงาน 10 กว่าปีขึ้นไปทั้งสิ้น แต่ละคนอายุ 35-44 ปี หางานใหม่ก็คงจะยาก สำหรับการเรียกร้องครั้งนี้ โชคดีที่ได้รับการสนับสนุนจากสหภาพอื่นๆ บริจาคเงินช่วยเหลือด้วย

ตลอดเส้นทาง มีการแจกเอกสารและประกาศชี้แจงกับผู้ใช้รถใช้ถนนเป็นระยะๆ ถึงสาเหตุของการเดินขบวนครั้งนี้โดยแถลงการณ์ร่วมของลูกจ้างทั้งสามบริษัทระบุ ต้องการให้รัฐบาลแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้น ดังนี้

1. กรณีของบริษัทแม็กซิสฯและฟูจิตสึฯ ให้หาข้อยุติในข้อพิพาทแรงงานที่เกิดขึ้นเพื่อให้พนักงานได้กลับไปทำงานทุกคน และให้นายจ้างยอมรับการรวมตัวของลูกจ้างในสถานประกอบการ ให้เจ้าหน้าที่ของรัฐได้ดำเนินการใช้อำนาจหน้าที่ตามกฎหมายอย่างจริงจัง

2. กรณีบริษัทพีซีบีฯให้นายจ้างจ่ายค่าชดเชยตามกฎหมายคุ้มครองแรงงาน2541กรณี ปิดกิจการเลิกจ้างไม่จ่ายค่าชดเชย ให้ดำเนินคดีกับนายจ้างกรณีเกิดเพลิงไหม้มีผู้เสียชีวิตและกรณีนายจ้างค้าง จ่ายค่าจ้างและไม่จ่ายค่าชดเชย

3. ให้รัฐบาลทบทวนนโยบายส่งเสริมการลงทุนกรณีที่นายทุนต่างชาติมาลงทุนแต่ไม่ ให้ความเป็นธรรมกับแรงงานและนำแรงงานข้ามชาติมาทำงานอย่างผิดกฎหมายทั้งๆที่ แรงงานไทยก็ไม่ได้ขาดแคลนตามที่รัฐบาลเปิดโอกาสให้นายทุนรับแรงงานข้ามชาติ มาทำงานแทนแรงงานไทย เพราะรัฐบาลมีนโยบายส่งเสริมการลงทุนและต้องการเห็นคุณภาพชีวิตของคนทำงานมีคุณภาพชีวิตที่ดี แต่ไม่ดูแลลูกจ้างที่ถูกละเมิดสิทธิอย่าปล่อยให้นายทุนข้ามชาติที่ไม่มีคุณธรรมและจริยธรรมมาเอารัดเอาเปรียบลูกจ้างแรงงานไทย ซึ่งขัดกับนโยบายที่รัฐให้ไว้กับประชาชน