Thai / English

ค่าแรง...ลอยน้ำ


โดย...ทีมข่าวการเงิน
02 .. 53
โพสต์ทูเดย์

ค่าแรง...ลอยน้ำ

02 พฤศจิกายน 2553 เวลา 08:54 น. | เปิดอ่าน 36 | ความคิดเห็น 0

ค่าแรงขั้นต่ำ 250 บาท กลายเป็นประเด็นหาเสียงของรัฐบาล นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี

โดย...ทีมข่าวการเงิน

ค่าแรงขั้นต่ำ 250 บาท กลายเป็นประเด็นหาเสียงของรัฐบาล นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี

เดิมตั้งใจว่าจะ แกะกล่อง เป็นของขวัญปีใหม่ให้แรงงาน 35 ล้านคน วันที่ 1 ม.ค. 2554

แต่ปัญหาน้ำท่วมใหญ่ที่น่าจะยืดเยื้ออีก 12 เดือน อาจทำให้หัวข้อการปรับค่าแรงไม่ใช่เรื่องใหญ่สำหรับรัฐบาล

เมื่อทรัพยากร งบประมาณ และเวลาทั้งหมดจะต้องทุ่มลงไปกับ การเยียวยาแก้ปัญหา ให้ผู้ประสบภัย

ขณะที่ภาคเอกชนกำลังเผชิญกับปัญหา ค่าเงินบาทแข็ง ส่งออกไม่มีกำไร และผลกระทบตามมาในอุตสาหกรรมต่อเนื่องเป็นลูกโซ่

ก็เป็นอีกเหตุผลหนึ่งที่ถูกหยิบยกขึ้นมา “เบรก” การปรับค่าแรงเอาไว้

ส่งผลให้ที่ประชุมคณะกรรมการค่าจ้างกลาง ที่มี นายสมเกียรติ ฉายะศรีวงศ์ ปลัดกระทรวงแรงงาน เป็นประธาน ยังหาข้อสรุปไม่ได้

เนื่องจากคณะกรรมการต้องกลับไปศึกษาผลกระทบจากการปรับอัตราค่าจ้างขั้นต่ำที่มีต่อสภาพเศรษฐกิจและผู้ประกอบการให้รอบคอบ

น.ส.วิไลวรรณ แซ่เตีย ประธานคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย กล่าวว่า ไม่อยากให้รัฐบาลและผู้ประกอบการนำผลกระทบเรื่องน้ำท่วมมาเป็นเหตุให้ยื้อเวลาในการปรับค่าแรงขั้นต่ำ

เนื่องจากอีก 23 เดือนเมื่อน้ำลดลง ค่าครองชีพจะสูงขึ้นมาก โดยเฉพาะในต่างจังหวัด เพราะคนจนอยู่แล้วจะลำบากมาก

“ไม่ควรนำข้ออ้างมากลบเกลื่อนข้อเท็จจริง เพราะบางอุตสาหกรรมกำลังการผลิตสูงมาก การส่งออกก็ยังปกติ ดังนั้นจึงไม่อยากเห็นการซ้ำเติมคนจน” น.ส.วิไลวรรณ ระบุ

สิ่งที่แรงงานอยากเห็นก็คือ คณะกรรมการค่าจ้างกลาง เร่งพิจารณาค่าแรงใหม่อย่างเป็นธรรม และรัฐบาลอย่าปล่อยให้โรงงานฉวยโอกาสเรื่องน้ำท่วม เลิกจ้างคนงานหรือหยุดกิจการ

ตัวเลขของ สำนักงานสถิติแห่งชาติ พบว่า เดือน ส.ค. 2553 มีผู้มีงานทำทั้งประเทศ 38.7 ล้านคน แยกเป็นผู้ทำงานในภาคเกษตรกรรม 15.82 ล้านคน และนอกภาคเกษตรกรรมจำนวน 22.89 ล้านคน

เมื่อลงไปในรายละเอียด พบว่า ผู้มีงานทำนอกภาคเกษตรกรรม อยู่ในสาขา การขายส่งและขายปลีกสูงสุด

รองลงมาคือ ภาคการผลิต โรงแรม และภัตตาคาร การก่อสร้าง การศึกษา การขนส่งและคมนาคม

ขณะที่ ผู้ว่างงาน ขณะนี้ต่ำมาก อยู่ที่ 0.9% เรียกว่าอยู่แค่ 3 แสนคน เป็นผู้จบการศึกษาระดับอุดมศึกษามากที่สุด 33.7%

ในบทวิจัยของ ธนาคารไทยพาณิชย์ มองว่า การกำหนดให้ทุกจังหวัดมีค่าแรงขั้นต่ำเท่ากันหมดทั้งประเทศ 250 บาท กระทบกับอุตสาหกรรมและธุรกิจในบางจังหวัดอย่างรุนแรง

โดยจากทั้งหมด 76 จังหวัด มีถึง 39 จังหวัดที่ค่าจ้างเฉลี่ยต่อวัน “ต่ำกว่า” ค่าแรงขั้นต่ำในปัจจุบัน

ในบางจังหวัดอาจต้องเพิ่มค่าแรงสูงมากเกือบ 100 บาทต่อคน เช่น แม่ฮ่องสอน ศรีสะเกษ และพะเยา

ทำให้ผู้ประกอบการเหล่านี้จำเป็นต้องลดการจ้างงานลง โดยจะส่งผลกระทบโดยตรงต่อลูกจ้างในจังหวัดเหล่านี้ด้วย และน่าจะมีการหลีกเลี่ยงจ่ายค่าแรงขั้นต่ำมากขึ้น

ข้อสังเกตของไทยพาณิชย์ ตรงกับสิ่งที่นายกรัฐมนตรีหวั่นวิตกคือหันไปใช้แรงงานต่างด้าว หรือไม่ก็ลดการจ้างงานไปเลย

โดยนายอภิสิทธิ์ ยืนยันว่า การปรับค่าแรงขั้นต่ำเป็นนโยบายอยู่แล้ว เพียงแต่ถ้าไม่มีเรื่องแรงงานต่างด้าวจะทำให้รัฐบาลตัดสินใจได้ง่ายขึ้น

หมายความว่า หากรัฐบาลปรับค่าแรง 250 บาทจริงๆ จะมีผู้ประกอบการจำนวนมากเลิกจ้างแรงงานไทยหันไปใช้บริการแรงงานชาวพม่า กัมพูชา และลาว ซึ่งมีราคาถูกกว่าเท่าตัว

ไทยพาณิชย์ ยังพบว่า ในช่วงไตรมาสแรกของปี 2553 มี 4 จังหวัด ได้แก่ กรุงเทพฯ นนทบุรี ปทุมธานี และภูเก็ต มีค่าจ้างเฉลี่ยต่อวันสูงกว่า 250 บาทอยู่แล้ว

ดังนั้นด้วยค่าจ้างที่สูงกว่าค่าแรงขั้นต่ำที่เสนอใหม่อยู่แล้ว ทำให้ผู้ประกอบการในจังหวัดเหล่านี้จะได้รับผลกระทบจากข้อเสนอนี้ค่อนข้างน้อย

ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา ค่าจ้างแท้จริงเพิ่มขึ้นน้อยมาก แน่นอนว่ามีความจำเป็นที่จะต้องเพิ่มค่าจ้างให้สูงขึ้น แต่ควรทำผ่านการเพิ่มผลิตภาพแรงงาน (Labor Productivity) ซึ่งจำเป็นต้องเพิ่มการลงทุนโดยเฉพาะในคน

นายวิถี สุพิทักษ์ ประธานสภาอุตสาห กรรมจังหวัดตรัง กล่าวว่า ตามที่จะมีการปรับค่าแรงขั้นต่ำในอัตรา 250 บาท เพื่อที่จะให้ทุกจังหวัดได้มีค่าแรงขั้นต่ำเท่ากันหมด หากมีการปรับค่าแรงขั้นต่ำ 250 บาทนั้น ก็จะส่งผลกระทบต่อผู้ประกอบการโรงงานอุตสาหกรรมและผู้ประกอบการต่างๆ ที่จ้างแรงงานต้องแบกภาระเพิ่มมากขึ้น

เนื่องจากค่าแรงขั้นต่ำใน จ.ตรัง อยู่ที่ 162 บาทต่อวัน ซึ่งถ้าหากมีการปรับค่าแรงขั้นต่ำก็จะทำให้มีการปรับขึ้นเกือบร้อยเปอร์เซ็นต์

สำหรับการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำนั้น ทางสภาอุตสาหกรรมจังหวัดตรังไม่เห็นด้วยอย่างยิ่ง เนื่องจากผู้ประกอบการประสบปัญหาหลายด้าน เช่น ปัญหาค่าเงินบาท ปัญหาราคาน้ำมันที่ปรับตัวเพิ่มสูงขึ้น และปัญหาการขาดแคลนแรงงาน

หากมีการปรับค่าจ้างขั้นต่ำที่ 250 บาทต่อวัน ก็ยิ่งจะทำให้ผู้ประกอบการและโรงงานต่างๆ อาจจะถึงขั้นต้องปิดโรงงาน เนื่องจากไม่มีเงินจ่ายค่าแรง จึงอยากให้ทางรัฐบาลทบทวนการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำอีกครั้ง

เมื่อประมวลภาพรวมทั้งหมดแล้ว จะเห็นว่าขณะนี้โอกาสในการขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ 250 บาทไม่ใช่ไม่มี แต่อยู่ที่ “จังหวะ” มากกว่า

โดยเฉพาะต้นปีหน้า มีความเหมาะสมมากที่สุด เพราะเป็นช่วงที่ใกล้การเลือกตั้งใหม่ รัฐบาลประชาธิปัตย์ต้องการหาเสียงโค้งสุดท้าย...ใครขออะไรมาก็ให้

เพราะการปรับค่าจ้างคือประชานิยมที่กวาดรวดเดียว 38 ล้านคน ได้ใจ คนชั้นกรรมาชีพ แบบสุดๆ

ปัญหาก็คือ บรรดานายทุนทางการเมืองของรัฐบาลจะยอมหรือไม่

บรรดาตัวแทนภาคเอกชนที่ใกล้ชิดกับรัฐบาลน่าจะวิ่ง ล็อบบี้ กันฝุ่นตลบ

ตัวเลข 250 บาท อาจจะเป็นแค่ฝันกลางวันของชนชั้นแรงงาน หรือเป็นของหวานทางการเมือง...อีกไม่นานได้รู้กัน