Thai / English

บอร์ดสั่งทบทวนค่าจ้างขั้นต่ำ10ปีย้อนหลัง

บอร์ดค่าจ้างกลางมีมติให้ทบทวนอัตราค่าจ้างขั้นต่ำ10ปีย้อนหลัง หลังพบสถิติการปรับค่าจ้างมีตัวเลขสะสมไม่สอดคล้องค่าครองชีพ

12 .. 53
กรุงเทพธุรกิจ

นายสมเกียรติ ฉายะศรีวงศ์ ปลัดกระทรวงแรงงาน ในฐานะประธานคณะกรรมการค่าจ้าง เปิดเผยภายหลังการประชุมคณะกรรมการค่าจ้าง ชุดที่ 17 ว่า ที่ประชุมบอร์ดค่าจ้างยังไม่สามารถหาข้อยุติเรื่องตัวเลขการปรับขึ้นค่าจ้าง ขั้นต่ำ เนื่องจากต้องมีการวางกรอบแนวคิดการปรับค่าจ้างให้สอดคล้องกับค่าครองชีพและ สภาวะเงินเฟ้อ 4 ประการ ได้แก่ 1.การปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำ จะต้องคำนึงถึงการยกระดับการใช้ชีวิตของผู้ใช้แรงงานขั้นพื้นฐานให้มากขึ้น โดยไม่ส่งผลกระทบกับความสามารถในการจ่ายเงินของนายจ้าง

2.มอบหมายให้คณะอนุกรรม การวิชาการและกลั่นกรอง ที่มีนายสุนันท์ โพธิ์ทอง รองปลัดกระทรวงแรงงาน เป็นประธาน ศึกษาย้อนหลังการปรับค่าจ้างขั้นต่ำในช่วง 10 ปีที่ผ่านมาจนถึงปัจจุบัน (2540-2553) เนื่องจากจะต้องพิจารณาค่าจ้างให้สอดคล้องกับค่าครองชีพสะสม 10 ปีที่ผ่านมาด้วย 3.ศึกษาและวางแนวทางในเรื่องมาตรการเพื่อลดต้นทุนการผลิตของสถานประกอบการ และ 4.ศึกษาวางมาตรการเพื่อพัฒนาทักษะฝีมือแรงงานให้กับแรงงานกลุ่มใหม่ที่จะ เข้าสู่สถานประกอบการ

นายสมเกียรติ กล่าวอีกว่า การศึกษาแนวทางทั้ง 4 ข้อจะได้ข้อสรุปปลายเดือน พฤศจิกายน 2553 เพื่อให้ทันต่อการขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำ ซึ่งจะมีผลบังคับใช้ในวันที่ 1 มกราคม 2554 ทั้งนี้ ยืนยันว่า บอร์ดค่าจ้างไม่ได้มีการถกเถียงหรือต่อรองในการประชุมค่าจ้างครั้งนี้ แต่ต้องการให้การปรับขึ้นค่าจ้างเป็นไปด้วยความรอบคอบและใช้เวลาในการ พิจารณา

นอกจากนี้ บอร์ดค่าจ้างยังไม่ได้พูดถึงหลักเกณฑ์การขึ้นค่าจ้าง 250 บาทต่อวัน ตามที่นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี ได้ปรารภไว้ แต่เพราะการขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำในรอบนี้ บอร์ดค่าจ้างต้องการที่จะลบล้างกรอบความคิดเดิม ที่มีปัญหาว่าการขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำ มักจะต่ำกว่าอัตราเงินเฟ้อมาโดยตลอด

"สอดคล้องกับเงินเฟ้อ จะมีช่องว่างเท่าไร ถ้าไม่มีผลกระทบมากก็จะปรับขึ้นทีเดียว แต่ถ้ามีผลกระทบต่อผู้ประกอบการ ก็อาจจะต้องทยอยปรับตามความเหมาะสม" นายสมเกียรติ กล่าว

ในที่ประชุมค่าจ้าง ได้มีการนำตารางเปรียบเทียบอัตราค่าจ้างขั้นต่ำกับอัตราเงินเฟ้อทั้งประเทศ โดยพบว่าในปี 2540 ค่าจ้างขั้นต่ำไม่ได้มีการปรับขึ้น แต่อัตราเงินเฟ้อเพิ่มขึ้นไปที่ร้อยละ 5.6 ส่วนในปี 2541 ค่าจ้างขั้นต่ำขึ้นมาที่ร้อยละ 1.8 ขณะที่อัตราเงินเฟ้อขึ้นไปที่ร้อยละ 8.1 ในปี 2542 อัตราค่าจ้างขั้นต่ำไม่มีการปรับขึ้นค่าจ้าง ขณะที่อัตราเงินเฟ้ออยู่ที่ร้อยละ 0.3 ในปี 2543 อัตราค่าจ้างขั้นต่ำไม่มีการปรับขึ้น ขณะที่เงินเฟ้ออยู่ที่ร้อยละ 1.6

ในปี 2544 ค่าจ้างขั้นต่ำเฉลี่ยอยู่ที่ 2.2 อัตราเงินเฟ้ออยู่ที่ร้อยละ 1.6 ในปี 2545 ค่าจ้างขั้นต่ำปรับขึ้นที่ร้อยละ 0.2 อัตราเงินเฟ้ออยู่ที่ร้อยละ 0.7 ในปี 2546 ค่าจ้างขั้นต่ำปรับขึ้นร้อยละ 0.9 อัตราเงินเฟ้ออยู่ที่ร้อยละ 1.8 ในปี 2547 ค่าจ้างขั้นต่ำปรับขึ้นร้อยละ 1.0 อัตราเงินเฟ้ออยู่ที่ร้อยละ 2.7

ขณะที่ในปี 2548 มีการปรับขึ้นค่าจ้าง 2 ครั้ง คือ ครั้งแรก (1 ม.ค.) อัตราค่าจ้างขั้นต่ำปรับขึ้นร้อยละ 2.9 ครั้งที่ 2 (1 ส.ค.) อัตราค่าจ้างขั้นต่ำปรับขึ้นร้อยละ 3.0 ขณะที่อัตราเงินเฟ้อในปีนั้นอยู่ที่ร้อยละ 4.5 ในปี 2549 อัตราการปรับค่าจ้างขั้นต่ำอยู่ที่ร้อยละ 0.9 อัตราเงินเฟ้ออยู่ที่ร้อยละ 4.7 ในปี 2550 มีการปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำที่ร้อยละ 3.1 อัตราเงินเฟ้ออยู่ที่ร้อยละ 2.3

ส่วนในปี 2551มีการปรับขึ้นค่าจ้าง 2 ครั้ง คือ ครั้งแรก (1 ม.ค.) อัตราการปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำอยู่ที่ร้อยละ 1.2 ครั้งที่ 2 (1มิ.ย.) อัตราค่าจ้างขั้นต่ำปรับขึ้นที่ร้อยละ 4.0 อัตราเงินเฟ้ออยู่ที่ร้อยละ 5.5 และในปี 2552 อัตราค่าจ้างขั้นต่ำไม่มีการปรับขึ้น ส่วนอัตราเงินเฟ้ออยู่ที่ร้อยละ -0.9