Thai / English

แนะทางเลือก "สังคมสวัสดิการ" ลดภาระรัฐ-ดึงนายจ้างช่วยสร้างสวัสดิการแทน



29 .. 53
ผู้จัดการ

ณรงค์ เพ็ชรประเสริฐ" เสนอทางเลือก "สังคมสวัสดิการ" ให้รัฐออกกฎบังคับนายจ้างจัดสวัสดิการให้ลูกจ้าง ทีดีอาร์ไอ" แนะรัฐขยายฐานภาษีไปสู่แรงงานนอกระบบที่มีมากถึง 3 ใน 4 ของแรงงานทั้งหมด รวมถึงคนรวยที่ไม่เคยเสียภาษี แก้กฎหมายบังคับให้ยื่นแบบแสดงรายได้

นายสมชัย จิตสุชน ผู้อำนวยการวิจัยด้านการพัฒนาเศรษฐกิจส่วนรวมและการกระจายรายได้ สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) กล่าวถึงแนวคิดการ ขยายฐานภาษีเพื่อพัฒนาสวัสดิการ และลดความเหลื่อมล้ำในสังคมไทย ในรายการ "คมชัดลึก" เนชั่นแชนแนล ว่า ปัจจุบันรายได้ภาษีของรัฐยังน้อยในอัตรา 16-17% ของจีดีพี หากรัฐต้องการเพิ่มรายได้ทำได้ 2 ทาง คือ เพิ่มอัตราภาษี และขยายฐานภาษี ปัจจุบันมีแรงงานนอกระบบ 3 ใน 4 ของแรงงานทั้งหมดที่ยังเก็บภาษีไม่ทั่วถึง รัฐไม่ควรเก็บภาษีโดยยึดตามกลุ่มอาชีพ แต่ควรจะยึดตามความสามารถในการจ่ายภาษี ผู้ที่มีรายได้มากควรจ่ายภาษีมากกว่าผู้ที่รายได้น้อย ถ้ารัฐจัดเก็บภาษีอย่างทั่วถึงจริงๆจะทำให้รัฐมีายได้เพิ่มได้ถึง 1 แสนล้านบาทหรือมากกว่านั้น

อย่างไรก็ตามการดึงแรงงานนอกระบบที่ต้องจ่ายภาษีเข้ามาในระบบเป็นเรื่องยาก ยากในการไปตามเก็บ ยากในเรื่องการประเมินรายได้ ซึ่งหลายๆคนก็ไม่ได้ยื่นแบบแสดงเงินได้ ควรจะมีการแก้กฎหมายกำหนดให้ทุกคนที่มีอายุเกิน 18 ปีต้องยื่นแบบแสดงรายได้ ไม่ว่าจะมีรายได้หรือไม่ก็ตาม เพราะเรื่องนี้จะโยงกับระบบสวัสดิการของรัฐด้วย รัฐจะได้มีข้อมูลผู้ที่ไม่มีรายได้เพื่อจัดสรรสวัสดิการให้ ส่วนผู้มีรายได้มากถ้ายื่นแบบแจ้งเงินได้ไม่ตรงหรือหลีกเลี่ยงภาษีก็ต้องไปตรวจสอบข้อมูล นอกจากการขยายฐานภาษีแล้วยังมีภาษีที่เก็บเพิ่มได้ เช่น ภาษีที่ดิน ภาษีทรัพย์สิน เป็นต้น

นายสมชัยกล่าวว่า การไปสู่รัฐสวัสดิการขณะที่รัฐมีรายได้น้อย รัฐจะต้องจัดสรรรายจ่ายงบประมาณใหม่ เช่น แนวโน้มประชากรของประเทศไทยในระยะ 10-20 ปี จำนวน เด็กจะลดน้อยลง จำนวนผู้สูงอายุจะเพิ่มมากขึ้น รัฐต้องลดรายจ่ายเพื่อการศึกษาลง และเกลี่ยไปใช้จ่ายให้กับผู้สูงอายุ หรือใช้จ่ายในสวัสดิการให้ผู้พิการ ผู้มีรายได้น้อย หรือผู้ป่วย เป็นต้น นอกจากนี้แหากรัฐมีการใช้จ่ายในการจัดสวัสดิการเพิ่มขึ้น จะทำให้รัฐมีงบรายจ่ายสำหรับการลงทุนน้อยลง รัฐบาลควรจะลดบทบาทในการลงทุนเอง โดยให้เป็นการลงทุนจากภาคเอกชนมากขึ้น นอกจากนี้ การจัดสวัสดิการให้สังคมรัฐสามารถแบ่งความรับผิดชอบให้กลุ่มอื่นๆเข้ามามีส่วนได้เช่นกัน

นายณรงค์ เพ็ชรประเสริฐ คณะกรรมการปฏิรูปประเทศไทย (คปร.) กล่าวว่าการขยายฐานภาษีเพื่อนำไปสู่การเป็นรัฐสวัสดิการนั้น รัฐจะต้องปฏิรูปภาษีใน 3 ด้าน คือ ปฏิรูปฐานภาษี ในฐานภาษีที่มีอยู่แล้วต้องจัดเก็บให้ทั่วถึง เมื่อทั่วถึงแล้วก็ต้องขยายฐานภาษีเพิ่ม ไปสู่ผู้ที่มีความสามารถจ่ายภาษีที่ยังไม่ได้เสียภาษี ประการที่สองต้อง ปฏิรูปประเภทภาษี โดยยกตัวอย่างภาษีบางประเภทที่จัดเก็บต่ำเกินไป เช่น ค่าภาคหลวงน้ำมัน ในต่างประเทศทั่วโลกจัดเก็บในอัตรา 30-80% แต่ของประเทศไทยเก็บไม่ ถึง 10% เขากล่าวว่าแค่ปรับภาษีนี้เพิ่มขึ้นเป็น 20% ซึ่งยังต่ำกว่าประเทศอื่นๆ ก็จะทำให้รัฐมีรายได้เพิ่มหลายหมื่นล้านบาท ประการสุดท้ายรัฐต้องปรับอัตราภาษีให้เหมาะสม ดังค่าภาคหลวงน้ำมันที่ได้กล่าวแล้ว การเพิ่มภาษีมูลค่าเพิ่มให้ขึ้นมาเป็น 10% ภายใน 10 ปี รัฐสามารถทำได้ แต่จะต้องเพิ่มรายได้ให้กับลูกจ้างแรงงานก่อน ปัจจุบันมีผู้เสียภาษี 6-7 ล้านคน ปัจจุบันมีลูกจ้าง 60-70% มีรายได้ไม่ถึง 15,000 บาทต่อเดือนก็ไม่ต้องเสียภาษี ถ้ารัฐเพิ่มรายได้ให้ลูกจ้างเพิ่มขึ้น จะมีจำนวนคนที่มี ความสามารถจ่ายภาษีเพิ่มขึ้น ทำให้รัฐมีรายได้มากขึ้น ก็สามารถจัดสวัสดิการคืนสู่สังคมได้

อย่างไรก็ตาม หากรัฐไม่สามารถหารายได้เพื่อนำไปสู่รัฐสวัสดิการได้ ก็สามารถทำสังคมสวัสดิการแทนได้ นายณรงค์อธิบายว่า รัฐสวัสดิการคือการจัดสวัสดิการให้อย่าง ทั่วถึงโดยรัฐ ส่วนสังคมสวัสดิการ คือทุกภาคส่วนในสังคมร่วมกันจัดสวัสดิการ เช่น บริษัทสร้างสวัสดิการให้พนักงาน หรือบริษัทกับพนักงานร่วมกันสร้างสวัสดิการขึ้นมา ในประเทศอุตสาหกรรมเรียกว่า corporate welfare อย่างบางประเทศระบบประกันสังคมทำเองโดยบริษัทกับลูกจ้าง รัฐไม่ได้เข้าไปทำด้วยไม่ได้สมทบเงินด้วย เป็นต้น ใน กรณีการสร้างสังคมสวัสดิการสามารถทำได้โดยรัฐออกกฎหมายให้บริษัทและลูกจ้างปฏิบัติ เช่น ออกกฎหมายให้บริษัทต้องจัดสวัสดิการให้ลูกจ้างอย่างเหมาะสม เป็นต้น