Thai / English

ขอรถเมล์ 500 คัน ฝันเล็กๆ ของ ขสมก. และคนกรุง!!!



14 .. 53
ผู้จัดการ

เชื่อว่าประชาชนคน กทม. นั้น จะต้องมีสักครั้งในชีวิตที่ยืนคอยรถเมล์อยู่ที่ป้ายจนครึ่งค่อนชั่วโมง แต่รถเมล์ที่รักก็ไม่มาเสียที หรือถ้ามาบางทีก็ไม่จอดป้ายเสียอย่างนั้น เพราะเห็นว่าที่ป้ายคนน้อย ไปรับที่ป้ายอื่นดีกว่า หรือถ้าปะเหมาะเคราะห์ดีก็จะพบกับรถเมล์สายเดียวกันวิ่งต่อกันมา 2 – 3 คัน ทำตนราวกับว่าเป็นรถไฟที่พ่วงโบกี้กันมา ซึ่งปัญหาทั้งหมดที่กล่าวมานั้น นอกจากจะเกิดจากระบบจัดการขนส่งมวลชนที่ไม่ลงตัวแล้ว อีกสาเหตุสำคัญที่ต้องนับมาเป็นตัวแปรหลักด้วยก็คือจำนวนรถของ ขสมก. เองที่ดูจะน้อยกว่าความต้องการของประชาชน

โครงการรถเมล์เอ็นจีวี 4,000 คัน เพื่อแก้ไขปัญหารถไม่พอ ก็มีนอกมีในตรวจสอบกันวุ่นวาย กลายเป็นเรื่องการเมืองประเด็นร้อนในแง่ทุจริตเชิงนโยบาย จนต้องเตะถ่วงยืดระยะเวลาออกไป

ล่าสุด สหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจองค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (ขสมก.) จึงได้ยื่นหนังสือไปยังกระทรวงคมนาคม ให้จัดหารถโดยสารมาให้ไม่ต่ำกว่า 500 คันอย่างเร่งด่วน โดยไม่ต้องรอโครงการเช่ารถโดยสารเอ็นจีวี 4,000 คัน เพราะขณะนี้มีปัญหาจำนวนรถโดยสารไม่เพียงพอกับการให้บริการประชาชน และมันก็ส่งผลมาถึงพนักงาน ขสมก. เองด้วย

เพิ่มรถ เพิ่มงาน เพิ่มรายได้

สนาน บุญงอก ประธานสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจองค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (ขสมก.) อธิบายสาเหตุของการเรียกร้องให้รัฐบาลจัดหารถโดยสารประจำทางขึ้นอีก 500 คันว่า เป็นเพราะรถที่วิ่งอยู่ในปัจจุบันมีไม่เพียงพอ โดยจำนวนที่ควรมีอยู่จริงๆ บนท้องถนนก็คือประมาณ 3,750 คัน ใน 115 เส้นทาง แต่ปัจจุบันมีเพียง 3,300 คันเท่านั้น

“รถที่เราเรียกร้องไม่ใช่รถเพิ่มขึ้นมา แต่เป็นการเรียกร้องเพื่อให้เกิดการจัดจ้าง จัดซื้อ จัดหา จัดเช่า หรือซ่อมบำรุงอะไรก็ได้ แทนรถที่ขาดหายไปในขณะนี้ ซึ่งจำนวนนี้อาจจะเป็น 500 คันใน 4,000 คันก็ได้ เอามาก่อนได้ไหม เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนตรงนี้

“เพราะโดยหลักการแล้ว พนักงานจะมีอย่างละ 2 คนต่อรถ 1 คัน แต่พอรถวิ่งไม่ได้ พนักงานก็ไม่มีงานทำ สิ่งที่ตามมาก็คือ เช้าก็ต้องมาเอารถ ให้เพื่อนวิ่งรอบ 1 หนึ่ง เขาวิ่งอีก 1 รอบ เพราะถ้าไม่วิ่งผลประโยชน์ต่างๆ อย่างเบี้ยเลี้ยง หรือเงินเปอร์เซ็นต์มันก็ไม่ได้ ที่สำคัญในแง่รายได้ของ ขสมก. หากรถไม่วิ่ง ตัวรายได้ก็จะหายไป 2-3 ล้านบาทต่อวัน ขณะเดียวกัน ยังต้องมาแบกรับพนักงานอีก 2,000 คน

สำหรับสาเหตุที่รถจำนวนหนึ่งหายไปจากระบบนั้น ประธานสหภาพอธิบายว่า ส่วนหนึ่งเป็นเพราะรถบางคันเก่ามากจนซ่อมไปก็ไม่คุ้มและต้องปลดระวางในที่สุด

“รถพ่วง สาย 145 เสียเยอะมาก และถูกจอดทิ้งอยู่ที่สวนสยามประมาณ 40 คัน แล้วก็ยังมีรถแมนของฝรั่งเศส จากเขตการเดินรถที่ 1 จอดทิ้งไว้ประมาณ 50 กว่าคัน นอกจากนั้นช่วงรัฐบาล คมช. (คณะมนตรีความมั่นคงแห่งชาติ) ที่มีการนำรถ ขสมก. ประมาณ 40 คันไปปรับเปลี่ยนเป็นรถเอ็นจีวี พอทำเสร็จก็ใช้ไม่ได้ ก็เลยถูกซ่อมกลับมา ให้กลับไปใช้ดีเซล ปรากฏว่าช่างรับเหมาเขาไม่ทำ เพราะไม่คุ้ม อันนี้ก็ทิ้งเลย แล้วอีก 30 กว่าคันก็เสียหายไปในช่วงเมษายนปี 2552 จากจลาจลเผารถเมล์ สรุปทั้งหมดที่หายไปอย่างแน่นอน 200 คัน”

ขณะที่อีกประมาณ 300 คันก็มีปัญหาในการซ่อมเพราะผู้รับเหมาซ่อมไม่สมบูรณ์ เนื่องบริษัทซ่อมขาดสภาพคล่อง โดยอ้างว่า ขสมก.ไม่มีเงินให้ตรงเวลา ก็เลยไม่สามารถหาเงินไปซื้ออะไหล่ได้

“การซ่อมบำรุงของเขา ทำได้เท่าที่ทำได้เท่านั้น เช่นมีรถอยู่ 2 คันอีกคันหนึ่งซ่อมไม่ได้ เขาตัดจอดไปเลย แล้วก็เอาอะไหล่มาใส่ในอีกคันที่ยังพอได้ สภาพมันก็เลยเป็นแบบนั้น วิ่งไปก็มีโอกาสเสียเยอะมาก”

แล้วแบบไหนล่ะคือรถในฝัน?

การเพิ่มรถนั้น นอกจากจะช่วยในแง่การสร้างงานสร้างรายได้ให้แก่พนักงาน ขสมก. แล้ว มันยังส่งผลดีต่อผู้ใช้บริการอย่างเราๆ ท่านๆ ที่ต้องคอยชะเง้อมองรถว่าเมื่อไหร่จะมาอยู่เป็นนิตย์อย่างแน่นอน

ว่าแต่ว่า ไอ้เจ้ารถ 500 คันที่จะเพิ่มขึ้นมาเนี่ย ถ้าเลือกได้ ผู้ใช้บริการ อยากจะให้เป็นรถแบบไหนกันนะ?

จิตติมา พลิคามิน สาวออฟฟิศผู้ใช้รถเมล์เป็นพาหนะหลัก ผู้ซึ่งนิยามว่าการใช้บริการรถเมล์ในกรุงเทพฯ ก็เหมือนการผจญภัย เพราะเราจะไม่รู้อะไรเลย ไม่รู้ว่ารถจะมาหรือไม่มา ถ้ามา จะมาเมื่อไหร่ ขึ้นแล้ว ไม่รู้ว่าจะมีโอกาสได้ลงหรือเปล่า กล่าวกับเราว่าสำหรับเธอแล้วอากาศที่ถ่ายเทเป็นเรื่องที่สำคัญที่สุด ดังนั้น รถครีม – แดง (รถร้อน) จึงกลายเป็นรถที่เธออยากจะให้มีมากขึ้นไปโดยปริยาย

“รถแดงกับยูโรได้ทั้งสองอย่าง แต่ไม่ชอบครีมน้ำเงินรู้สึกว่าแอร์มันไม่เย็น ไม่น่านั่ง ดูทึมๆ บางคนอาจจะไม่ชอบนั่งรถแดง ต้องนั่งรถแอร์ไว้ก่อน แต่สำหรับเราจะเลือกรถแดง เพราะอากาศมันสบายกว่า เบาะหนังของรถครีมน้ำเงิน เราว่ามันอับ พอแอร์ไม่เย็น มันก็อับ ช่วงที่มีไข้หวัดระบาด รู้สึกไม่กล้าขึ้นเลย ขนาดในภาวะปกติก็คิดว่าอะไรๆ น่าจะอบอวลอยู่ในนั้น มันไม่โอเค กลิ่นก็ไม่ดี บ้านเราไม่ใช่รถนั่ง คือถ้าแอร์ไม่เย็น แล้วคนมันแน่น มันทรมานนะ แต่ถ้าคนแน่น แล้วเป็นรถลมโกรกมันก็จะดีกว่า อากาศมันถ่ายเทมากกว่า”

ผิดกับสาวเสิร์ฟในร้านอาหารย่านสยามสแควร์ ที่ต้องโดยสารรถเมล์บนเส้นทางสายสุขุมวิททุกวัน ที่ยอมจ่ายแพงกว่าเพื่อให้ได้นั่งรถแอร์

“จริงๆ แล้วชอบรถยูโรทูมากกว่าแบบอื่นๆ เลยนะ เพราะว่าบ้านเราอยู่แถวพระโขนงแต่ต้องมาทำงานเสิร์ฟที่สยามฯ เส้นสุขุมวิทมันมีรถให้เลือกหลายสาย แต่รถแอร์ที่เราชอบนั่งมันมีไม่ค่อยพอ”

ถึงแม้ว่า นวลอนงค์ สามี จะมีรายได้ต่อเดือนเกินครึ่งหมื่นมาไม่เท่าไหร่ เธอก็มีรถยูโรทูเป็นรถในดวงใจ

“รถยูโรทูมันสะอาด แล้วมันก็โปร่งๆ ถึงแม้ไม่ได้นั่งต้องยืนตลอดทางก็ไม่ค่อยอึดอัด แต่ถ้าต้องไปยืนอัดๆ ในรถร้อนนี่ท่าจะเป็นลมไปเสียก่อน และที่สำคัญเลยคือแอร์มันเย็น ไม่เหมือนกับรถครีมน้ำเงินที่แอร์มันไม่ค่อยเย็นแล้ว”

ดังนั้น เมื่อถามนวลอนงค์ว่า ถ้าเกิดจะมีรถเข้ามาวิ่งเพิ่มนี่ อยากจะให้เป็นรถแบบไหน เธอก็ตอบมาทันทีแบบไม่ต้องคิดว่าต้องเป็นยูโรทูแน่นอน

ซึ่งความคิดเห็นของ นวลอนงค์ ก็สอดคล้องกับความเห็นของ วศินี ดีอินทร์ นักศึกษาสาวที่มีรถเมล์สาย 50 เป็นพาหนะคู่ใจ

“ถ้าจะเอากันจริงๆ ก็ชอบนั่งรถยูโรมากที่สุด เพราะว่ามันเย็นดี แต่ในชีวิตประจำวันจริงๆ ก็ไม่ค่อยได้นั่งหรอก จะไปนั่งรถร้อนมากกว่า เพราะสายที่เรานั่งประจำคือสาย 50 มันมีรถยูโรน้อยกว่ารถร้อนมาก คือบางครั้งถ้าเราไปไหนไม่ไกลมากก็ไปรถร้อน ทนๆ เอา เพราะถ้าจะรอให้รถยูโรมาเนี่ยอาจจะนานไปหน่อย มันวิ่งห่างมาก ดังนั้น ถ้าจะมีรถใหม่ เราก็อยากที่จะให้เป็นรถยูโร เพราะรถร้อนนี่มันมีเยอะแล้ว”

ปลูกเรือนตามใจผู้อยู่ ผูกอู่ตามใจผู้นอน

ถามคนนั่งไปก็เยอะแล้ว แต่สำหรับในมุมของคนขับนั้น เราก็ไม่รู้ว่าถ้าเกิดจะมีรถใหม่มาพวกเขาอยากขับรถแบบไหนกันแน่ ซึ่งเรื่องนี้ก็คงไม่มีใครจะตอบได้ดีกว่าตัวคนขับเอง

พุด จรบุรมย์ พนักงานขับรถโดยสารประจำทาง สาย 25 เป็นคนหนึ่งซึ่งมีประสบการณ์ในการขับรถมาอย่างโชกโชน ตอบคำถามของเราอย่างทันทีทันควันพร้อมคำอธิบายว่า

“ผมชอบรถยูโร ระบบมันดีกว่า เบนซ์พวงมาลัยมันห่าง ใหญ่ๆ แล้วเบรกนี่ โห ต้องขึ้นขย่ม ระบบเบรกมันคนละชั้น ยูโรทูแตะแป๊บเดียว ส่วนรถแดงร้อน สู้ยูโรทูไม่ได้ รถร้อนก็ดีนะ แต่หน้าฝนก็มีรั่ว แล้วก็ร้อนไม่มีที่ติเลย (หัวเราะ) ถ้าจะเปลี่ยนก็อยากเปลี่ยนเป็นยูโรทู เคยมีช่วงหนึ่งสาย 25 ได้รถยูโรทูมา 5 คัน ขับอยู่อาทิตย์เดียวก็ต้องเอาไปให้สายอื่น เหลือแต่รถร้อน เมื่อก่อนมีเบนซ์อยู่ 20 คัน แต่ทุกวันนี้ต้องเอาไปให้สาย 536 เพราะว่าเขาเปิดสายใหม่ รถไม่มีวิ่งก็ต้องไปให้เขา

“รถเบนซ์พังเยอะครับ ซ่อมไม่ได้ก็มี รื้ออะไหล่คันนั้นมาใส่คันนี้มั่วไปหมด เคยเสียกลางทาง โห ถ้ารถเบนซ์นี่นอนเป็นคืนเลย บางทีสองวัน พนักงานต้องเฝ้ารถ ช่างมาดูก็บอกว่าเดี๋ยวไปหาอะไหล่ก่อน คนขับก็ต้องเฝ้า ก็อยู่บนรถนั่นแหละ บางทีเสียช่วงบ่ายโมง กว่าจะเสร็จตีสองตีสาม (หัวเราะ) เขาไปหาอะไหล่ ไม่เหมือนพวกยูโร มันก็เสีย แต่ช่างเขามาไว ซ่อมได้ไวกว่า มีอะไหล่”

ชัดเจนแล้วว่าพุดอยากขับรถแบบไหน แต่สำหรับ บุญเลิศ เกิดพุ่ม พนักงานเก็บค่าโดยสารที่ผ่านรถเมล์มาทุกแบบบอกกับเราว่า

“ผมได้หมดนะแหละ มันอยู่ที่แต่ละคัน รถแอร์มันก็สบายดี เย็น แต่พอคนเยอะๆ มันอึดอัด มันอู้ หายใจไม่ออก แต่รถร้อนมันสบาย อากาศมันถ่ายเท แต่ถ้าจอดนิ่งๆ ก็ร้อน”

แต่ที่น่าสนใจ บุญเลิศคิดว่า อันที่จริงไม่ใช่ว่ารถไม่พอหรอก แต่ที่ผู้โดยสารรู้สึกว่ารถไม่พอ นานๆ มาทีนั้น เป็นเพราะรถมันติดต่างหาก ซึ่งเป็นเรื่องที่เขาได้ยินมานานจนชาชิน แต่ก็ทำอะไรไม่ได้

ถ้า ขสมก. มีรถเพิ่มขึ้นมา 500 คันจริงๆ ก็ต้องรอดูกันว่า ภาพของคนที่ยืนชะเง้อคอรอรถเมล์ทีละชั่วโมง สองชั่วโมงจะหมดไป หรือเราจะได้เห็นขบวนรถเมล์ที่วิ่งต่อตูดกันเหมือนรถไฟหนาตาขึ้น แล้วรถก็ขาดช่วงเหมือนเดิม

*****

ตรวจเครื่องใน รถ ขสมก.

หลายคนอาจสงสัยว่าจริงๆ แล้วรถ ขสมก. นั้นแบ่งเป็นกี่ประเภท และแต่ละประเภทนั้นเป็นอย่างไร เพื่อขจัดข้อสงสัย เราจึงได้รวบรวมข้อมูลมาให้ดังนี้

1. รถโดยสารประจำทางธรรมดา สีครีม-แดง เป็นรถที่มีการวิ่งอยู่บนท้องถนนมากที่สุด คือประมาณ 1,600 คัน มีอายุการใช้งานหลากหลาย บางคันอยู่ยงคงกระพันกว่า 20-30 ปี และอีกหลายคันก็เพิ่งสั่งซื้อเมื่อ 10 กว่าปีนี้เอง สนนราคาค่าโดยสารคือ 7 บาทสำหรับรถทั่วไป และ 8.50 บาท สำหรับรถที่วิ่งตอนกลางคืน (หลัง 4 ทุ่ม)

2. รถโดยสารประจำทางธรรมดา สีขาว-เขียว ลักษณะคล้ายๆ รถร่วมบริการ มีจำนวนราว 100 คัน ส่วนใหญ่วิ่งอยู่ตามชานเมือง และฝั่งธนบุรี มีอายุการใช้ประมาณ 10 กว่าปี อัตราค่าโดยสารอยู่ที่ 8 บาท

3. รถโดยสารประจำทางปรับอากาศ สีครีม-น้ำเงิน รถแอร์ราคาประหยัด อายุการใช้งานแตกต่างกันไปตามยี่ห้อ โดยเบนซ์ถือว่าเก่าสุด เพราะวิ่งมาแล้วกว่า 20 ปี ปัจจุบันเหลือวิ่งอยู่ประมาณ 400 คัน โดยคิดค่าโดยสารตั้งแต่ 11-19 บาท

4. รถโดยสารประจำทางปรับอากาศ สีขาว-เขียว-แดง (รถพ่วงปรับอากาศ) เป็นรถโบราณที่เหลือวิ่งอยู่แค่สาย 145 เป็นรถ 2 ตอนขนาดยาว 18 เมตร ปัจจุบันเหลือวิ่งอยู่ 50 คัน ถือเป็นรถที่กำลังอยู่ในขั้นวิกฤต ใกล้ยกเลิก เพราะเมื่อเสียแล้วไม่สามารถหาอะไหล่มาซ่อมได้

5. รถโดยสารประจำทางปรับอากาศ สีขาว-เขียว-น้ำเงิน (ใช้ก๊าซธรรมชาติ) คล้ายๆ รถพ่วง แต่ขนาดย่อมเยากว่า ปัจจุบันเหลือวิ่งอยู่แค่สาย 503 ราว 40 คัน และกำลังเผชิญวิกฤตเดียวกันคือ เสียแล้วซ่อมไม่ได้

6. รถโดยสารประจำทางปรับอากาศ สีส้ม (ยูโรทู) เป็นรถน้องใหม่ล่าสุดของ ขสมก. มีอยู่ราว 1,000 คัน จุดเด่นก็คือ นั่งได้น้อยแต่วิ่งในระยะทางที่ไกลกว่ารถประเภทอื่นๆ ขนาดที่พนักพิงหลักก็สั้นกว่ารถอื่นๆ มาก สำหรับราคาอยู่ 12-24 บาท

วิธีเอาตัวรอดเพื่อใช้บริการรถเมล์ในกรุงเทพฯ ให้สบายที่สุดเท่าที่จะทำได้

รถเมล์มีน้อยและตามสภาพของบริการก็ไม่สามารถใช้สอยอย่างประหยัดได้ การใช้บริการรถเมล์ไม่ต่างกับการเสี่ยงโชค คุณไม่มีทางรู้ว่าต้องรอแค่ 5 นาทีหรือ 1 ชั่วโมง ไม่มีทางรู้ว่าจะได้นั่งหรือยืนจนเข่าเสื่อม

ตามทฤษฎีวิวัฒนาการ สิ่งมีชีวิตที่สามารถปรับตัวเข้ากับสภาวะแวดล้อมได้ดีที่สุดจึงจะอยู่รอด คนกรุงเทพฯ ที่ไม่เงินถุงเงินถังจึงต้องเรียนรู้วิธีการใช้รถเมล์เพื่อไม่ให้ตัวเองต้องทุกข์ทรมานเกินไป บางทีดูมักง่าย หยาบคาย บ้างก็เนียนๆ แต่เพราะใครก็ไม่รู้ที่ไร้สมรรถภาพในการจัดการระบบขนส่งมวลชน การดิ้นรนเพื่อเอาชีวิตรอดก็เป็นสิ่งที่เลี่ยงไม่ได้ แม้ว่าจะต้องใช้หัวใจที่ผิดรูปไปบ้าง

1.การดักรอรถเมล์ก่อนถึงป้าย เพื่อสร้างโอกาสในการขึ้นก่อน ได้นั่งก่อน

2.วิธีการปลีกย่อยจากข้อแรก ถ้าคุณยืนรอผู้โดยสารคนอื่นลงจากรถอยู่ที่ประตูรถเมล์แล้ว คุณอาจใช้มือข้างหนึ่งจับราวไว้ ทำนองว่าเป็นความเคยชินหรือจับยึดตัวเองไว้ไม่ให้ล้มเวลาถูกเบียดเสียด แต่ความจริงคือการบล็อกคนอื่นไว้ไม่ให้ขึ้นก่อนคุณ

3.ถ้าโชคดีมีเบาะแบบติดกัน 2 ที่นั่งว่างอยู่ จงเลือกเบาะริมหน้าต่าง เพราะถ้าในอนาคต มีคนแก่ คนท้อง หรือเด็กขึ้นมา คุณจะมีข้ออ้างที่ชอบธรรมเพียงพอที่จะไม่เสียสละ เพราะคนที่นั่งติดทางเดินจะต้องเป็นเสียสละแทนคุณ

4.ถ้าคุณนั่งเบาะริมทางเดินและไม่อยากสูญเสียมันไปให้แก่ใคร ไม่ว่าจะเป็นเด็กหรือคนชรา การหลับก็ยังถือเป็นวิธีการคลาสสิกที่ยังได้ผล

5.ในกรณีที่คุณเป็นผู้หญิง ถ้าเลือกได้ อย่านั่งที่สำรองของพระภิกษุเด็ดขาด เพราะทันทีพระคุณเจ้าขึ้นรถ คุณจะต้องคนแรกที่ต้องรีบลุก

6.รถยูโรทู เบาะตอนหน้ารถเป็นเบาะเดียว ตอนหลังเป็นเบาะคู่ กรณีที่รถเต็ม ควรเดินสู่ตอนหลังของรถ หลักความน่าจะเป็นง่ายๆ ตอนหน้ารถ มีที่นั่งน้อยกว่า แต่มีพื้นที่ยืนมากกว่า โอกาสที่คนจะลงย่อมน้อยกว่า ขณะที่คุณต้องแย่งที่นั่งกับคนจำนวนมากกว่า ซึ่งตรงข้ามกับตอนหลัง ที่นั่งมากกว่า คนยืนน้อยกว่า โอกาสย่อมมากกว่า

7.กรณีที่ไม่มีที่นั่งจริงๆ การยืนพิงเสาสำหรับจับก็พอทุเลาได้ดีกว่าการพิงพนักเก้าอี้ ที่เหลือคือคุณต้องไม่แยแสกระเป๋ารถหรือใครๆ ก็ตามที่พยายามให้คุณเคลื่อนย้ายจากเสาที่คุณสิงสถิต

8.กรณีที่รถเมล์ขึ้นทางด่วน ปริมาณการยัดทะนานมาสูงนัก และคุณก็อยู่ใกล้ๆ ประตูพอดี ทางขึ้น-ลงนั่นแหละ คือที่นั่งที่ดีที่สุด แต่อย่าสนใจสายตาใคร

9.ถ้าคุณยืนเบียดเสียด แล้วเผอิญว่าผู้โดยสารข้างคุณกำลังจะลง จงใช้แขนให้เป็นประโยชน์ จับพนักเก้าอี้ตัวนั้นให้แน่นหนา เพื่อกันไม่ให้คนด้านหลังคุณเข้าถึงที่นั่งได้ก่อน ส่วนด้านหน้า...ใครเร็วใครได้

10.วิธีการที่ดูทำร้ายจิตใจคนดีที่สุดคือการใช้เด็กเล็กๆ เป็นอุปกรณ์เรียกน้ำใจ วิธีนี้ได้ผลเกือบร้อยเปอร์เซ็นต์ อย่า...อย่าได้คิดว่าไม่มีใครใช้วิธีนี้ การดิ้นรนในกรุงเทพฯ โหดร้ายกว่าที่คุณคิด

11.สุดท้าย ไม่ต้องสนใจใดๆ ทั้งสิ้น มีที่นั่ง จงนั่ง ไม่ต้องลุก ไม่ต้องสนใจ ถ้ายืน ยามที่มีคนลง จงทำทุกวิถีทางเพื่อไปถึงที่นั่งนั้นให้เร็วที่สุด