Thai / English

เอกสารฮิวแมนไรทส์วอช เปิดโปงไทยในเวทีโลกละเมิดสิทธิแรงงานข้ามชาติขั้นเลวร้าย



03 .. 53
เครือมติชน

หมายเหตุ"มติชนออนไลน์"-แถลงการณ์ร่วมของฮิวแมนไรทส์วอชและมูลนิธิเพื่อสิทธิมนุษยชนและการพัฒนา (มสพ.) ได้เผยแพร่ในวันที่ 1 มิถุนายน 2553 ในการประชุมคณะมนตรีสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ มีเนื้อหาเกี่ยวกับสถานการณ์ของแรงงานข้ามชาติในประเทศไทย ซึ่งออกเผยแพร่ในการอภิปรายโต้ตอบตามรายงานหัวข้อที่ 3 ของคณะมนตรีสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ ซึ่งเขียนโดยผู้รายงานพิเศษด้านสิทธิมนุษยชนของผู้ย้ายถิ่นแห่งองค์กรสหประชาชาติระหว่างปี 2552-2553

ผู้รายงานพิเศษด้านสิทธิมนุษยชนของผู้ย้ายถิ่นแห่งองค์การสหประชาชาติได้ออกหนังสือโต้ตอบด่วนและเป็นความลับมายังรัฐบาลไทยในเรื่องที่เกี่ยวข้องกับแรงงานข้ามชาติในประเทศไทย อันประกอบด้วย (1) การส่งกลับม้งลาว (2) กระบวนการพิสูจน์สัญชาติ (3) การดูแลชาวโรฮิงญาในประเทศไทย และ(4) การเลือกปฎิบัติอย่างเป็นระบบต่อแรงงานข้ามชาติที่ได้รับอุบัติเหตุจากการทำงาน

หนังสือโต้ตอบเหล่านี้ได้รเผยแพร่ในคณะมนตรีสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติในวันนี้แสดงให้เห็นว่ารัฐบาลไทยได้ตอบมาเฉพาะในประเด็นที่ (1) และ (3) เท่านั้น

หัวข้อที่ 3 การอภิปรายโต้ตอบ

ท่านประธาน

ฮิวแมนไรทส์วอช และมูลนิธิเพื่อสิทธิมนุษยชนและการพัฒนา (ประเทศไทย) ขอขอบคุณท่านผู้รายงานพิเศษด้านสิทธิมนุษยชนของผู้ย้ายถิ่นแห่งองค์การสหประชาชาติเกี่ยวกับรายงานที่แสดงถึงสถานการณ์อันเลวร้ายของแรงงานข้ามชาติในประเทศไทย มีแรงงานข้ามชาติที่ทำงานอยู่ในประเทศไทยประมาณ 2-3 ล้านคน โดยส่วนใหญ่เป็นแรงงานข้ามชาติจากประเทศพม่า รองลงมาคือแรงงานข้ามชาติจากประเทศสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาวและกัมพูชา

แรงงานข้ามชาติเหล่านี้ต้องทำงานที่เสี่ยงอันตรายและได้รับอัตราค่าจ้างต่ำ มีส่วนทำให้ผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศเติบโตร้อยละ 6-7 อีกทั้งยังคิดเป็นแรงงานร้อยละ 5-10 ในตลาดแรงงานของประเทศไทย

สิ่งที่แรงงานข้ามชาติเหล่านี้ต้องเผชิญอยู่ เป็นผลมาจากการที่รัฐบาลมุ่งเน้นเรื่องความมั่นคงของประเทศและความจำเป็นทางเศรษฐกิจมากกว่าการเคารพสิทธิมนุษยชน ประเทศไทยยังคงขาดแผนระยะยาวที่จะผสานแรงงานข้ามชาติให้เป็นส่วนหนึ่งของสังคมหรือปกป้องสิทธิขั้นพื้นฐานของคนเหล่านี้

การให้แรงงานข้ามชาติเข้าถึงสิทธิในการพักอาศัยและสุขภาพ อันเป็นสิ่งที่ได้รับการส่งเสริมอยู่ในรายงานของผู้รายงานพิเศษก็ยังคงเป็นสิ่งที่ห่างไกลความเป็นจริง นโยบายที่ส่งเสริมให้แรงงานข้ามชาติเข้าถึงบริการสุขภาพเป็นเพียงคำมั่นสัญญา แต่แรงงานข้ามชาติเองก็ยังคงถูกพิจารณาเป็นพลเมืองชั้นสองและถูกเลือกปฏิบัติอย่างเป็นระบบ และถูกจำกัดการเข้าถึงบริการเหล่านี้ในทางความเป็นจริง

ในปี 2546 ประเทศไทยและประเทศพม่าได้ตกลงที่จะดำเนินการเรื่อง “พิสูจน์สัญชาติ” เพื่อให้แรงงานข้ามชาติจากประเทศพม่าที่เดินทางเข้าประเทศไทยอย่าง “ผิดกฎหมาย” ต้องเดินทางกลับสู่ประเทศพม่าเพื่อพิสูจน์สัญชาติ หลังจากนั้นแรงงานข้ามชาติเหล่านี้จะได้รับหนังสือเดินทางชั่วคราวที่จะทำให้พวกเขาสามารถทำงานในประเทศไทยได้อย่างถูกต้องตามกฎหมาย

นโยบายที่ดูเป็นสิ่งที่ดีในการจัดการกับการย้ายถิ่นที่ผิดปกตินี้ ได้เริ่มดำเนินการเมื่อปี 2552 โดยไม่ได้มีการคำนึงถึงสิทธิมนุษยชนอย่างแท้จริง แต่กลับเป็นการคุกคามแรงงานข้ามชาติโดยการส่งกลับครั้งใหญ่ซึ่งเริ่มมีปรากฏให้เห็นได้ชัดขึ้น อีกทั้ง การพิสูจน์สัญชาตินี้อนุญาตให้เฉพาะแรงงานข้ามชาติที่จดทะเบียนแล้วเท่านั้นที่ได้รับสิทธิในการพิสูจน์สัญชาติ และนายหน้าที่ไม่ได้รับการควบคุมยังคงเรียกเก็บค่าบริการที่สูงลิ่ว

ฮิวแมนไรทส์วอชขอชมเชยผู้รายงานพิเศษที่เข้ามาตรวจสอบในประเด็นนี้และขอให้ท่านดูแลการดำเนินการต่างๆ ตามนโยบายนี้อย่างต่อเนื่อง

ที่ผ่านมาแรงงานข้ามชาติยังคงเผชิญหน้ากับการถูกแสวงหาประโยชน์จากการทำงานโดยนายจ้างอย่างต่อเนื่องและการกลไกด้านการคุ้มครองและเข้าถึงสิทธิแรงงานอย่างเป็นมีประสิทธิภาพ

สภาพการทำงานที่เสี่ยงอันตราย การถูกจำกัดสิทธิเสรีภาพด้านการเดินทางและการรวมกลุ่มอย่างรุนแรง และการตกเป็นเป้าหมายของการจับกุมและการกรรโชกทรัพย์โดยเจ้าหน้าที่ตำรวจและเจ้าหน้าที่รัฐ ถูกกล่าวหาว่าเป็นภัยต่อความมั่นคงของประเทศ จะทำให้มีการเปลี่ยนแปลงนโยบายที่กรมการขนส่งเคยให้สัญญาไว้ว่าจะอนุญาตให้แรงงานข้ามชาติสามารถทำใบขับขี่ได้ (ถึงแม้ว่าในขณะนี้พวกเขาจะสามารถเป็นเจ้าของได้อย่างถูกต้องก็ตาม)

ฮิวแมนไรทส์วอชได้แถลงในที่ประชุมคณะมนตรีสิทธิมนุษยชนเมื่อปีที่แล้วเรื่องการให้การดูแลแรงงานข้ามชาติที่ทุพพลภาพจากอุบัติเหตุจากการทำงาน ถึงแม้ว่าจะมีหนังสือโต้ตอบในเรื่องนี้ระหว่างผู้รายงานพิเศษและประเทศไทย และมีรายงานของคณะกรรมการผู้เชี่ยวชาญขององค์การแรงงานระหว่างประเทศที่สรุปว่า ประเทศไทยในฐานะที่เป็นประเทศภาคีได้ละเมิดอนุสัญญาขององค์การแรงงานระหว่างประเทศฉบับที่ 19 แรงงานข้ามชาติยังคงถูกปฏิเสธไม่ให้เข้าถึงกองทุนเงินทดแทนและถูกกีดกันไม่ให้ได้รับการจดทะเบียนคนพิการและได้รับบริการเพื่อฟื้นฟูสมรรถภาพจากการประสบอุบัติเหตุจากการทำงาน

การเลือกปฏิบัติดังกล่าวถือเป็นการละเมิดกติการะหว่างประเทศภายใต้อนุสัญญาระหว่างประเทศว่าด้วยการขจัดการเลือกปฏิบัติทางเชื้อชาติในทุกรูปแบบและขัดกับหน้าที่ของประเทศไทยในฐานะที่เป็นสมาชิกของคณะมนตรีสิทธิมนุษยชนที่จะต้องไม่เลือกปฏิบัติและต้องเคารพสิทธิของแรงงานข้ามชาติ

ท่านประธาน เราทราบว่าผู้รายงานพิเศษยังไม่ได้รับการตอบรับในการขอเดินทางมาประเทศไทยอย่างเป็นทางการ ฮิวแมนไรทส์วอชขอสนับสนุนอย่างเต็มที่ในการเดินทางมาประเทศไทยของท่าน อันเป็นการสนับสนุนอย่างสร้างสรรค์ให้กับประเทศไทยในความพยายามที่จะยึดมั่นในกติการะหว่างประเทศเพื่อส่งเสริมสิทธิแรงงานข้ามชาติและเป็นการเคารพต่อหน้าที่ต่อคณะมนตรีสิทธิมนุษยชน